รู้จักโรค “ชิคุนกุนยา” หรือไข้ปวดข้อ ยุงลายเป็นพาหะ ระบาดหนักช่วงหน้าฝน

หมอแล็บแพนด้า เตือน หน้าฝนนี้ระวัง
ภาพจาก pixabay

หมอแล็บแพนด้าเตือน ช่วงนี้ระวังชิคุนกุนยา หรือโรคปวดข้อยุงลายระบาด มีอาการเดินไม่ได้ บางรายอาจยาวนานเป็นเดือนถึงปี

วันที่ 13 กันยายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟซบุ๊กเพจ หมอแล็บแพนด้า ของ ทนพ.ภาคภูมิ เดชหัสดิน หรือหมอแม็ก นักเทคนิคการแพทย์ หัวหน้างานตรวจโรคติดเชื้อทางโลหิตวิธีอณูชีววิทยา ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย โพสต์เตือนให้ประชาชนระมัดระวังโรคชิคุนกุยา ซึ่งกำลังระบาดอยู่ ดังนี้

“โรคไข้ปวดข้อยุงลาย หรือโรคชิคุนกุนยา” ชื่อโรคเหมือนน่ารัก แต่เวลาเป็นแล้วทรมานมาก ๆ เมื่อก่อนผมเคยเป็น ตอนไปเจอหมอแทบยืนไม่ได้เลยแหละ เพราะหมอบอกว่า “เชิญนั่งครับ” 555

โรคนี้เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อไวรัส ก็เพราะยุงลายเจ้าเดิมนี่แหละค้าบ ถ้าโดนยุงลายกัด ไวรัสก็จะเข้าสู่ร่างกายเรา อาการจะคล้าย ๆ กับโรคไข้เลือดออกเลย มีอาการไข้สูงอย่างรวดเร็ว มีผื่นแดงตามร่างกาย ปวดกระบอกตา แต่โรคไข้เลือดออกจะรุนแรงมากกว่า

โรคชิคุนกุนยาส่วนใหญ่จะไม่อันตรายถึงตายแต่มันโคตรทรมาน เดินอย่างกะซอมบี้ เพราะมันจะปวดตามข้อมือ ข้อเท้า ข้อต่อแขนขา ข้อไก่ทอดไม่ปวด แต่บางคนปวดกล้ามเนื้อก็มี อาการปวดข้อจะพบได้หลาย ๆ ข้อ ปวดไล่ไปเรื่อย เปลี่ยนตำแหน่งไปเรื่อย ๆ จะเดินก็ไม่ได้ เข่าและข้อต่อไม่มีแรง บางคนปวดข้อเรื้อรัง นานเป็นเดือนหรือเป็นปีก็มี

ไม่มีการรักษาที่จำเพาะ มีแต่รักษาแบบประคับประคองกันไป เพราะฉะนั้นการป้องกันจึงสำคัญที่สุด หน้าฝนนี้ก็ระมัดระวังยุงลายให้ดี ๆ นะครับ อย่าให้มันกัดเราได้เด้อออ

สาเหตุที่เด็กมักเป็นชิคุนกุนยา

เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2563 พญ.ภัสสร บุณยะโหตระ อนุสาขากุมารเวชศาสตร์โรคติดเชื้อ ได้เผยแพร่ข้อมูล เรื่อง ชิคุนกุนยา อีกหนึ่งโรคร้ายจากยุงลายที่ควรรู้จัก ผ่านเว็บไซต์ โรงพยาบาลสมิติเวช ระบุว่า ยุงลาย นอกจากเป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออกแล้ว ยังเป็นพาหะของโรคชิคุนกุนยา (Chikungunya) หรือโรคไข้ปวดข้ออีกด้วยซึ่ง 2 โรคนี้ มีอันตรายไม่แพ้กัน โดยเฉพาะเมื่อเกิดขึ้นกับเด็ก อาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนและรุนแรง ต่ออวัยวะสำคัญของร่างกาย เช่น ตับ ไต และหัวใจได้

ชิคุนกุนยา เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา เป็นเชื้อไวรัสที่อยู่ในตระกูล Togaviridae โดยมียุงลายสวน (Aedes albopictus) และยุงลายบ้าน (Aedes aegypti) เป็นพาหะนำโรค ซึ่งพบได้ทั่วไปทั้งในเมืองใหญ่และชนบท มักระบาดในช่วงฤดูฝน หรือ บริเวณที่มีน้ำขัง ทั้งนี้ยุงลายมักชุกชุมและออกหากินช่วงกลางวัน ทำให้เด็ก ๆ ที่ชอบออกมาเล่นนอกบ้านหรืออยู่ในโรงเรียน เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อโรค นอกจากนี้แม่ตั้งครรภ์ที่เป็นโรคชิคุนกุนยายังสามารถถ่ายทอดไปยังทารกได้อีกด้วย

อาการของโรคชิคุนกุนยา

เนื่องจากโรคไข้เลือดออก และโรคชิคุนกุนยามียุงลายเป็นพาหะเช่นเดียวกัน รวมถึงอาการที่แสดงออกยังคล้ายคลึงกัน จึงอาจพบผู้ป่วยเป็นทั้ง 2 โรคพร้อม ๆ กันได้ อย่างไรก็ตาม โรคชิคุนกุนยามีความรุนแรงน้อยกว่าโรคไข้เลือดออกมาก ทั้งนี้ผู้ป่วยที่ติดเชื้อชิคุนกุนยาจะมีไข้สูงขึ้นอย่างเฉียบพลันกว่าโรคไข้เลือดออก และระยะเวลาของไข้ก็สั้นกว่าเพียง 2 วันเท่านั้น

ขณะที่ไข้เลือดออก จะเป็นไข้นานถึง 4 วัน ส่วนใหญ่ไม่พบว่าผู้ป่วยโรคชิคุนกุนยาเกิดอาการช็อก เพราะเชื้อชิคุนกุนยาไม่ทำให้ พลาสม่ารั่วออกนอกเส้นเลือด ทั้งนี้ยังพบผื่นแดงตามร่างกาย ตาแดง และภาวะปวดตามข้อได้มากกว่าผู้ป่วยไข้เลือดออกด้วย

เชื้อชิคุนกุนยามีระยะฟักตัวของโรค 3-7 วัน หลังจากถูกยุงลายกัด และเมื่อครบระยะฟักตัว อาการจะแสดงออกดังนี้

  • ไข้สูงเฉียบพลัน และอาจสูงถึง 40 องศาเซลเซียส หลังจากนั้น 2-3 วัน ไข้จะเริ่มลดลง
  • ปวดข้อและเมื่อยกล้ามเนื้อ มีภาวะข้ออักเสบ โดยพบในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก แต่สามารถหายเองได้ใน 2 สัปดาห์ ในผู้ใหญ่ที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไปอาจมีภาวะปวดข้อเรื้อรังได้
  • เกิดผื่นแดงตามแขนขาหรือทั่วร่างกาย
  • ตาแดง
  • รับประทานอาหารไม่ได้
  • คลื่นไส้ อาเจียน และปวดศีรษะ
  • อ่อนเพลีย หรืออาจท้องเสีย

การวินิจฉัยโรคชิคุนกุนยา

แพทย์เริ่มต้นด้วยการซักประวัติและอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้น หลังจากนั้นแพทย์จะใช้การเจาะเลือดผู้ป่วยส่งห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันโรค และหาเชื้อไวรัส ซึ่งเป็นการวินิจฉัยโรคชิคุนกุนยาที่ดีที่สุด โดยทราบผลเร็วภายใน 1–2 วัน หรือถ้านานอาจทราบใน 1–2 สัปดาห์

การรักษาโรคชิคุนกุนยา

ปัจจุบันยังไม่มียารักษาไวรัสชิกุนคุนยาโดยเฉพาะ รวมถึงไม่มีวัคซีนป้องกัน ดังนั้นการรักษาจึงเป็นไปตามอาการ โดยแพทย์อาจให้ยาลดไข้ แก้ปวด ซึ่งผู้ป่วยควรปฏิบัติตัวดังนี้

  • ดื่มน้ำมาก ๆ ให้เพียงพอ อย่าปล่อยให้ร่างกายขาดน้ำเด็ดขาด
  • พักผ่อนให้เต็มที่
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ครบ 5 หมู่
  • รับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด

การป้องกันโรคชิคุนกุนยา

วิธีป้องกันโรคชิคุนกุนยาที่สำคัญที่สุดคือการหลีกเลี่ยงไม่ถูกยุงลายกัด ซึ่งสามารถทำได้โดย

  • รักษาความสะอาดของบ้าน ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง โดยไม่ให้มีน้ำท่วมขัง
  • ปลูกต้นไม้หรือจัดสวนให้โปร่งโล่ง ให้แสงแดดส่อง
  • นอนในมุ้งหรือห้องที่มีมุ้งลวดเพื่อป้องกันยุงกัด
  • ช่วงที่มีการระบาดของยุงลาย ควรใส่เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว รวมถึงทายากันยุง แม้จะเป็นเวลากลางวันก็ตาม

แม้โรคชิกุนคุนยาจะไม่อันตรายถึงชีวิตและมีความร้ายแรงน้อยกว่าโรคไข้เลือดออกก็ตาม แต่โรคภัยไข้เจ็บทุกโรคย่อมส่งผลเสียให้กับร่างกาย โดยเฉพาะผู้ที่มีความต้านทานโรคต่ำ เช่น เด็กและผู้สูงอายุ อาจเกิดผลแทรกซ้อนที่ยากแก่การรักษา ดังนั้น จึงควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายสม่ำเสมอ รวมถึงหากมีอาการไข้สูง เบื่ออาหาร ขาดน้ำ ฯลฯ ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกวิธีและมีประสิทธิภาพ