หมอจุฬาฯชี้ ผู้ป่วยโควิดใส่ท่อช่วยหายใจนาน เสี่ยงเกิด “ภาวะเส้นเสียง”

ภาวะเส้นเสียงถูกทำร้าย เมื่อหายจากโรคโควิด-19
ภาพจาก pixabay

ผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่รักษาหายแล้ว แพทย์ รพ.จุฬาฯ เผย การใส่ท่อช่วยหายใจเป็นเวลานานขณะป่วย อาจทำให้เกิด “ภาวะเส้นเสียง”

วันที่ 29 กันยายน 2564 เฟซบุ๊กเพจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โพสต์ข้อความเรื่อง ภาวะของเส้นเสียงเมื่อหายจากโรคโควิด-19 ระบุว่า ผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรงและจำเป็นต้องใส่ท่อช่วยหายใจเป็นเวลานาน เมื่อหายป่วยหรือถอดท่อช่วยหายใจออกแล้ว อาจส่งผลให้เส้นเสียงได้รับบาดเจ็บ บวม ช้ำ อักเสบ โดยแบ่งภาวะความเจ็บป่วยของเส้นเสียง ดังนี้

  • ภาวะเส้นเสียงหดเกร็ง เกิดขึ้นขณะใส่ท่อช่วยหายใจและนำท่อช่วยหายใจออกจึงเกิดการบีบเกร็งของกล้ามเนื้อเส้นเสียง ทำให้ออกซิเจนไม่ผ่านเข้าปอด
  • ภาวะเส้นเสียงอักเสบ อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การกระแทกเสียดสีจากภายในเส้นเสียง เช่น การใส่ท่อช่วยหายใจเพื่อดมยาสลบหรือการใส่ท่อช่วยหายใจเพื่อให้ออกซิเจน, การติดเชื้อโรคอื่น ๆ เช่น ไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา วัณโรค, ใช้งานเส้นเสียงมากเกินไป เช่น ไอแรง ไอเรื้อรัง ขากเสมหะเป็นประจำ, มีสิ่งระคายเคืองเส้นเสียง เช่น การหายใจเอามลพิษเข้าไป สูบบุหรี่ อาเจียน

การรักษา

  • การให้ยา โดยแพทย์จะพิจารณาจากสาเหตุของโรคเป็นหลัก เช่น ยาแก้อักเสบ ยาฆ่าเชื้อ ยาแก้ไอ ยา กรดไหลย้อน
  • การผ่าตัด ในกรณีที่มีเนื้องอกหรือแผลเป็นในเส้นเสียง โดยแพทย์จะสอดท่อผ่านเข้าไปทางช่องปาก และผ่าตัดด้วยอุปกรณ์สำหรับเส้นเสียงโดยเฉพาะ นอกจากนี้ผู้ป่วยควรพักการใช้เสียงอย่างน้อย 2 สัปดาห์ โดยพูดเท่าที่จำเป็น ไม่ตะโกนหรือร้องเพลง งดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

คำแนะนำจากแพทย์ ระบุว่า ผู้ป่วยที่หายจากโรคโควิด-19 ควรสังเกตอาการเกี่ยวกับเส้นเสียงของตนเอง โดยหากมีความผิดปกติดังต่อไปนี้ ควรพบแพทย์ทันที

  • เสียงแหบ หรือพูดแล้วเสียงเบาลง
  • กลืนเจ็บ หรือกลืนลำบาก
  • ระคายเคืองคอตลอดเวลา หรือมีอาการกระแอมไอเป็นประจำ
  • หายใจลำบาก หายใจเสียงดัง หรือหายใจเร็วผิดปกติ

อาการระยะยาวจากโควิด

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า อาการระยะยาวจากโควิด-19 ซึ่งเป็นอาการที่พบในผู้ติดเชื้อมากกว่า 4 สัปดาห์ โดยอาจมีอาการเหล่านี้ต่อเนื่องหลายสัปดาห์ ซึ่งอาการที่พบอาจเป็นอาการที่เกิดขึ้นใหม่ อาการเดิมที่ไม่ดีขึ้น หรืออาการที่หายไปแล้วกลับมาเป็นใหม่ ทั้งนี้สามารถเกิดอาการขึ้นได้ในหลายระบบ โดย 10 อาการที่พบมากที่สุด มีดังนี้

  1. เหนื่อยล้าอ่อนเพลีย
  2. ปวดศรีษะ
  3. ไม่มีสมาธิ
  4. ผมร่วง
  5. หายใจเหนื่อย
  6. ลิ้นไม่รับรส
  7. จมูกไม่ได้กลิ่น
  8. หายใจเร็ว
  9. ปวดข้อ
  10. ไอ

คำแนะนำจากแพทย์

ผู้ป่วยที่หายจากโรคโควิด-19 แล้ว อาจเกิดอาการระยะยาวจากโรคโควิด-19 ได้ โดยแพทย์จะทำการซักประวัติและตรวจร่างกายเพื่อแยกกับโรคอื่น ๆ หากอาการไม่รุนแรง จะใช้วิธีการติดตามอาการเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม หากมีอาการที่รุนแรงมากขึ้น ควรพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาเพิ่มเติม