โรคภัยไข้เจ็บหลาย ๆ โรคไม่ค่อยมีอาการเตือนล่วงหน้า หรือบางโรคมีอาการเตือน แต่ตัวผู้ป่วยหรือคนรอบข้างก็ไม่รู้ว่าอาการนั้นกำลังจะนำไปสู่อะไร
โรคอัลไซเมอร์เป็นหนึ่งในโรคที่กว่าจะรู้ก็เป็นไปแล้ว และเป็นแล้วรักษาไม่หายขาด ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่โรคร้ายแรงคร่าชีวิต แต่ก็เป็นโรคที่ทำให้ไม่สามารถควบคุมดูแลตัวเองได้อย่างคนปกติ และอาจจะนำไปสู่อันตรายต่อชีวิตในหลายรูปแบบ ดังนั้นน่าจะดีหากรู้ว่าอาการที่ตัวเองหรือคนใกล้ตัวเป็นอยู่ เป็นอาการเตือนที่นำไปสู่อัลไซเมอร์ ซึ่งถ้ารู้แต่เนิ่น ๆ ก็จะป้องกันหรือรักษาทัน
ในปีนี้มีนวัตกรรมที่มาตอบโจทย์นั้นแล้ว เมื่อคณะนักวิจัยได้คิดค้นแอปพลิเคชั่น การตรวจคัดกรองโรคอัลไซเมอร์และการรู้คิดบกพร่องเล็กน้อยอย่างอัตโนมัติด้วยเสียงพูด โดยใช้งานผ่านสมาร์ทโฟนและทราบผลภายในครึ่งชั่วโมง เป็นนวัตกรรมที่คว้ารางวัลเหรียญทองเกียรติยศ จากการประกวดสิ่งประดิษฐ์ระดับโลกจากงาน International Exhibition of Inventions of Geneva ครั้งที่ 45 ณ กรุงเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา และปัจจุบันถูกนำไปใช้งานจริงแล้วในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
ผลงานชิ้นนี้ รศ.ดร.จาตุรงค์ ตันติบัณฑิต อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ เป็นหัวหน้าคณะวิจัย ทำการวิจัยแบบบูรณาการร่วมกับ พญ.โสฬพัทธ์ เหมรัญชโรจน์ จากภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.จุฑามณี อ่อนสุวรรณ ภาควิชาภาษาอังกฤษและภาษาศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ดร.กฤษณ์ โกสวัสดิ์ จากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC)
รศ.ดร.จาตุรงค์ ตันติบัณฑิต หัวหน้าทีมวิจัย กล่าวว่า ในปัจจุบันพบว่าผู้สูงอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ร้อยละ 50-70 กำลังเผชิญกับโรคอัลไซเมอร์ สาเหตุของภาวะสมองเสื่อม โดยที่ผู้สูงอายุบางคนไม่รู้ตัว บางคนรู้ตัวช้าจนรักษาไม่ได้แล้ว ทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลงและเป็นภาระต่อผู้ใกล้ชิด
เหตุผลหนึ่งที่ทำให้การรักษาโรคอัลไซเมอร์ไม่ทันท่วงทีคือ การคัดกรองโรคใช้เวลานานและค่าใช้จ่ายสูง อีกทั้งขาดแคลนของบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลห่างไกล
สำหรับการใช้งานแอปพลิเคชั่น การตรวจคัดกรองโรคอัลไซเมอร์และการรู้คิดบกพร่องเล็กน้อยอย่างอัตโนมัติด้วยเสียงพูด ผู้เข้ารับการคัดกรองต้องตอบคำถาม 21 ข้อ
ใช้เวลาประมาณ 20 นาที เมื่อตอบคำถามครบ เสียงพูดจะถูกนำไปวิเคราะห์ ทั้งคุณลักษณะทางสัญญาณ เช่น ความถี่มูลฐาน ความเข้ม การหยุด จังหวะในการพูด และวิเคราะห์คุณลักษณะการใช้คำประเภทของคำต่าง ๆ ในภาษาเช่น คำนาม คำสรรพนาม คำกริยา คำวิเศษณ์ เป็นต้น
จากนั้นปัญญาประดิษฐ์จะประมวลผลออกมา 3 ระดับ คือผู้มีภาวะปกติ ผู้มีภาวะความจำบกพร่องเล็กน้อย และผู้ป่วยอัลไซเมอร์
การตรวจคัดกรองด้วยแอปฯนี้ช่วยประหยัดเวลาได้มาก จากเดิมใช้เวลา 2-3 ชั่วโมง ที่สำคัญคือสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการตรวจ และประหยัดงบประมาณของโรงพยาบาลที่ใช้ซื้อเครื่องตรวจ ที่สำคัญมีความถูกต้องแม่นยำถึง 99 เปอร์เซ็นต์ มากกว่าเครื่องตรวจแบบเดิมที่ถูกต้อง 70-90 เปอร์เซ็นต์
น่าภาคภูมิใจที่งานชิ้นนี้ไม่ใช่เพียงแค่สร้างคุณประโยชน์แก่วงการแพทย์ของไทยเท่านั้น แต่ยังได้รับรางวัลเหรียญทองเกียรติยศจากการประกวดสิ่งประดิษฐ์ระดับโลกจากงาน International Exhibition of Inventions of Geneva ครั้งที่ 45 ณ กรุงเจนีวา สมาพันธรัฐสวิตเซอร์แลนด์ด้วย รศ.ดร.จาตุรงค์กล่าว
ขณะนี้แอปพลิเคชั่นอยู่ระหว่างการพัฒนาเรื่องการประมวลผลให้รวดเร็วยิ่งขึ้น และปรับปรุงเซิร์ฟเวอร์ให้ใช้งานได้เสถียรหากมีผู้ใช้งานจำนวนมาก อีกทั้งเพิ่มความปลอดภัยความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน คาดว่าจะพัฒนาแล้วเสร็จและเปิดให้ดาวน์โหลดได้ใน 6 เดือนข้างหน้า