เผยกลยุทธ์ไต้หวัน ใช้นวัตกรรม-เทคโนโลยี ต่อสู้กับโควิด เดินหน้าเศรษฐกิจ

ขณะที่แต่ละประเทศกำลังรับมือกับผลกระทบของโรคระบาด ความสำเร็จในการป้องกันโรคโควิด-19 ของไต้หวันเป็นที่สนใจและได้รับการยกย่องจากชาวโลก

วันที่ 26 พฤษภาคม 2565 นายสวี๋ เว่ย หมิน (Herbert HSU) รองผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย เผยแพร่บทความ กลยุทธ์ในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ของไต้หวัน โดยใช้นวัตกรรมทางเทคโนโลยีและหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ดังนี้

ไต้หวันมีประชากรกว่า 23.5 ล้านคน ณ วันที่ 10 พฤษภาคม 2565 มียอดผู้ติดเชื้อยืนยันสะสมเพียง 390,000 ราย และมีผู้เสียชีวิต 931 ราย อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ GDP ของไต้หวันในปี 2564 สูงขึ้นถึง 6.45%

นี่เป็นผลลัพธ์ของความพยายามร่วมกันของภาครัฐและประชาชนชาวไต้หวัน

ปี 2565 สถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทยเริ่มทรงตัว รัฐบาลไทยมีนโยบายเปิดประเทศอย่างค่อยเป็นค่อยไป ประชาชนหวังว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้เร็วที่สุด

ยุคหลังโรคระบาด ไต้หวันและไทยสามารถแลกเปลี่ยนมาตรการป้องกันโรคและแผนยุคหลังโรคระบาดซึ่งกันและกัน เพื่อบรรลุเป้าหมาย “ใช้ชีวิตได้อย่างปกติ ป้องกันโรคเชิงรุก และเปิดประเทศอย่างมั่นคง”

เผยหลักสำคัญสู้โควิด

ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าไต้หวัน (National Health Insurance หรือ NHI) ครอบคลุมประชากรไต้หวันถึง 99.9% ประกอบกับระบบข้อมูลสารสนเทศที่ทันสมัยและฐานข้อมูลที่ครบถ้วนสมบูรณ์ เป็นหลักสำคัญที่ทำให้ไต้หวันประสบความสำเร็จด้านการป้องกันโรคระบาด

ตั้งแต่ปี 2563 ช่วงแรก ๆ ของการเกิดการระบาดใหญ่ รัฐบาลไต้หวันได้บูรณาการระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ฐานข้อมูลของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและศุลกากร เพื่อสร้าง “ระบบกักกันคนเข้าเมือง” และ “ระบบตรวจสอบอัจฉริยะ” ใช้พิกัดโทรศัพท์มือถือติดตามตำแหน่งผู้กักตัวในบ้านและดำเนินการตามมาตรการตรวจโรค

อีกทั้งยังมี “ระบบจำหน่ายหน้ากากอนามัยแบบยืนยันตัวตน” โดยใช้บัตรประกันสุขภาพเป็นหลักฐานยืนยันสิทธิในการซื้อหน้ากาก เพื่อให้ประชาชนทุกคนสามารถซื้อหน้ากากอนามัยได้ รักษาความสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน

พร้อมเพิ่มฟังก์ชั่นค้นหาประวัติการเดินทางและประวัติสัมผัสความเสี่ยงในระบบสืบค้นข้อมูลรักษาพยาบาลในระบบประกันสุขภาพ (NHI MediCloud) บุคลากรทางการแพทย์สามารถประเมินความเสี่ยงการติดเชื้อและใช้มาตรการป้องกันควบคุมโรคที่เกี่ยวข้องได้

เพื่อพัฒนาบริการประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้เป็นระบบดิจิทัล รัฐบาลได้พัฒนาแอปพลิเคชั่น NHI Express APP อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการนัดหมายฉีดวัคซีน ตรวจสอบประวัติการรักษาส่วนบุคคล ประวัติการฉีดวัคซีน และผลการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ฯลฯ

รัฐบาลยังมุ่งมั่นส่งเสริมระบบเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ (EMR) และระบบบริการการแพทย์ทางไกล เพื่อลดความเสี่ยงในการสัมผัสเชื้อ พร้อมขยายขอบเขตการรักษาพยาบาลครอบคลุมพื้นที่ห่างไกล ให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ครอบคลุมมากขึ้น

เพื่อบรรลุเป้าหมายสุขภาพดีถ้วนหน้าขององค์การอนามัยโลก นอกจากนี้ เมื่อปลายปี 2564 ไต้หวันได้เข้าร่วมระบบเอกสารรับรองเกี่ยวกับโควิด-19 ของสหภาพยุโรป (EU Digital COVID Certificate : EU DCC) อย่างเป็นทางการ

ระบบนี้มีสมาชิกประชาคมโลกเข้าร่วมจำนวนมาก และเป็นหนึ่งในระบบมาตรฐานสากลแรก ๆ ที่ใช้สำหรับการเดินทางระหว่างประเทศ ประชาชนชาวไต้หวันสามารถถือเอกสารรับรองดังกล่าวเดินทางเข้าประเทศในสหภาพยุโรป 64 ประเทศ

ที่ผ่านมา ไต้หวันใช้เทคโนโลยีป้องกันโรคระบาดที่แม่นยำ รัฐบาลใช้มาตรการควบคุมการเข้าออกไต้หวัน คัดกรองตรวจสอบโรคอย่างเข้มงวด และเปิดเผยข้อมูล จนนำไปสู่ความสำเร็จในการยับยั้งโรคระบาด โดยที่ผู้คนสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนปกติ ทั้งนี้ยังทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ

อย่างไรก็ตาม โรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) เริ่มระบาดในปลายปี 2564 ที่ผ่านมา ทั่วโลกเผชิญกับการระบาดในชุมชนเป็นวงกว้าง โรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนระบาดและติดต่อเร็วกว่าสายพันธุ์อื่น ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการ ป่วยหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย หากใช้มาตรการควบคุมการระบาดอย่างเต็มรูปแบบต่อไป อาจกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชนเป็นอย่างมาก

ดังนั้น ตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมา รัฐบาลไต้หวันเน้นหลักการ “จำนวนผู้ป่วยอาการวิกฤตเป็นศูนย์ ควบคุมผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง และเน้นดูแลผู้ป่วยที่มีอาการปานกลางหรืออาการวิกฤต” ประกอบการใช้ชุดตรวจโควิด-19 (Antigen Test Kit – ATK) ให้ผู้ป่วยยืนยันและผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยยืนยันกักตัว เพื่อลดจำนวนวันกักตัวและระดับความเข้มข้นของมาตรการควบคุมโรค

นอกจากนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนตรวจคัดกรองโรคด้วยตัวเอง รัฐบาลได้สั่งซื้อชุดตรวจโควิด-19 (ATK) และใช้ระบบยืนยันตัวตนในการซื้อชุดตรวจโควิด-19 ประชาชนสามารถใช้บัตรประกันสุขภาพสั่งซื้อ ATK ผ่านร้านขายยาที่รัฐบาลกำหนด เพื่อคัดแยกผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการและผู้ป่วยอาการวิกฤตได้อย่างมีประสิทธิภาพและลดภาระให้กับระบบสาธารณสุข

ให้ผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อยรักษาตัวที่บ้าน และให้กลุ่มผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ผู้ป่วยอาการหนักหรือปานกลาง ผู้สูงอายุให้เข้ารักษาตัวที่สถานพยาบาล ในขณะรักษาตัวที่บ้าน ผู้ป่วยสามารถดาวน์โหลดแอปลิเคชั่นบนมือถือ เพื่อขอคำปรึกษาการรักษาพยาบาล ทั้งยังสามารถขอคำปรึกษาและขอให้จัดส่งยาถึงบ้านจากเภสัชกรและร้านยาในพื้นที่ต่าง ๆ ผ่านระบบสื่อสาร

ขณะที่ทั่วโลกยังคงเผชิญกับความท้าทายหลากหลายมิติจากวิกฤตโรคโควิด -19 ทุกประเทศควรร่วมมือกันและเตรียมความพร้อมเพื่อป้องกันโรคระบาดครั้งใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ไต้หวันได้ร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมกับประเทศต่าง ๆ มาโดยตลอด

ไม่ว่าแลกเปลี่ยนการวิจัยพัฒนาวัคซีนและยา บริจาคอุปกรณ์ทางการแพทย์และเวชภัณฑ์ให้กับประเทศอื่น เช่น หน้ากากอนามัยและยา ร่วมสกัดกั้นโรคระบาด แสดงให้เห็นว่า “ไต้หวันช่วยได้ และไต้หวันกำลังช่วยอยู่” (Taiwan can help, and Taiwan is helping)

การประชุมสมัชชาอนามัยโลก (WHA) ครั้งที่ 75 เตรียมเปิดฉากในเดือนพฤษภาคมนี้ ตลอด 5 ปีที่ผ่านมาไต้หวันไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว ไต้หวันเป็นพันธมิตรที่จำเป็นสำหรับระบบสาธารณสุขโลก เพื่อเรียกร้องไม่ให้ไต้หวันถูกละทิ้งอยู่นอกการครอบคลุมของระบบสาธารณสุขโลก

ไต้หวันจะเรียกร้องขอโอกาสเข้าร่วมการประชุมสมัชชาอนามัยโลกครั้งที่ 75 ต่อไป เพื่อไม่ให้มีช่องโหว่ด้านการป้องกันโรคร่วมกับประชาคมโลก ซึ่งเป็นความคาดหวังขององค์การอนามัยโลก

ไต้หวันขอเรียกร้องให้ WHO และทุกฝ่ายร่วมสนับสนุนให้ไต้หวันเข้าร่วมกิจกรรมของ WHO ได้อย่างเต็มที่ ร่วมมือกับทุกประเทศทั่วโลก เพื่อเป็นไปตามหลักการ “สุขภาพเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน” ซึ่งเป็นกฎบัตรของ WHO และ “ไม่ละทิ้งผู้ใดไว้เบื้องหลัง” (Leave no one behind) ซึ่งเป็นเป้าหมายของสหประชาชาติ