ปัจจัยอะไรทำให้คนปัจจุบันอายุยืนยาวเกิน 100 ปีมากขึ้น

  • เฟอร์นานโด ดูอาร์เต
  • บีบีซี เวิลด์ เซอร์วิส

คนในครอบครัวของ โฮเซฟา มาเรีย ดา คองเซเซา เริ่มรู้สึกถึงความผิดปกติของหญิงชราผู้นี้เมื่อช่วงต้นปี หลังจากเธอหยุดขอสูบบุหรี่อย่างที่เคยทำเป็นประจำทุกวัน

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากอดีตเกษตรกรหญิงชาวบราซิลผู้นี้เพิ่งได้ฉลองงานวันเกิดของเธอ ซึ่งครอบครัวระบุว่าเป็นวันเกิดปีที่ 120

“แม่ของฉันสูบบุหรี่มาทั้งชีวิต” ซิเซียรา หนึ่งในลูกสี่คนที่ยังมีชีวิตอยู่จากทั้งหมด 22 คนของโฮเซฟา มาเรีย กล่าว

“พอแม่อายุมากขึ้น พวกเราพยายามขอให้แม่เลิกบุหรี่ แต่แม่ขู่ว่าจะไปหาซื้อบุหรี่มาสูบเอง” เธอเล่า

ตอนนี้ครอบครัวของโฮเซฟา มาเรีย บอกว่าหญิงชราผู้นี้เริ่มมีกำลังวังชาน้อยลงกว่าปีก่อน ๆ ตอนที่เธอเป็นที่รู้จักในบราซิล หลังจากผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ในท้องถิ่นยกให้เธอเป็น “ผู้หญิงอายุมากที่สุดในโลก”

บัตรประจำตัวประชาชนของโฮเซฟา มาเรีย ระบุว่าเธอเกิดเมื่อวันที่ 7 ก.พ. 1902 แต่น่าเสียดายที่ความพยายามยื่นเรื่องให้ได้รับการรับรองสถิติโลกจากกินเนสส์เวิลด์เรคคอร์ดส์ไม่ประสบผลสำเร็จ โดยสถิติโลกของบุคคลอายุมากที่สุดในปัจจุบันเป็นของ ลูซิล ร็องดอน หญิงชาวฝรั่งเศสวัย 118 ปี ซึ่งเป็นที่รู้จักในนามของ “แม่ชีอองเดร”

ส่วนตำแหน่งชายอายุมากที่สุดในโลกเป็นของ ฮวน วินเซนเต โมรา วัย 113 ปี

แต่สถิติโลกของพวกเขาอาจไม่ใช่เรื่องที่พบเห็นได้ยากอีกต่อไปในอนาคต เพราะจำนวนคนที่มีอายุเกิน 100 ปี หรือที่เรียกว่า “ศตวรรษิกชน” (centenarian) กำลังเพิ่มขึ้นทั่วโลก

Josefa Maria da Conceicao being fed by her 76-year-old-daughter Cicera

ประชากรวัยเกินร้อยใกล้ทะลุ 1 ล้านคน

ฝ่ายประชากรขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ประเมินว่าในปี 2021 มีประชากรอายุเกิน 100 ปีอยู่ในโลกกว่า 621,000 คน และคาดว่าจะทะลุ 1 ล้านคนภายในช่วงปลายทศวรรษนี้

ในปี 1990 มีประชากรโลกที่อายุยืนเกิน 100 ปี เพียง 92,000 คน

การที่มนุษย์เรามีอายุยืนยาวขึ้นเป็นผลมาจากความเจริญก้าวหน้าในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านการแพทย์ อาหาร และสภาพความเป็นอยู่ที่ดีกว่าในอดีต

โดยคนที่เกิดในปี 1960 ซึ่งเป็นปีที่ยูเอ็นเริ่มบันทึกข้อมูลประชากรโลกนั้น มักมีชีวิตอยู่โดยเฉลี่ยเพียง 52 ปี

แต่ถึงอย่างนั้น การจะมีอายุถึง 100 ปีก็ยังเป็นเรื่องที่พบเห็นได้น้อยในยุคปัจจุบัน โดยข้อมูลจากยูเอ็นระบุว่า คนวัย 100 ปีขึ้นไปมีสัดส่วนคิดเป็น 0.008% ของประชากรโลกในปี 2021

French nun Sister Andre in a wheelchair

ที่มาของภาพ, Getty Images

คนในยุคปัจจุบันส่วนใหญ่มีอายุคาดเฉลี่ยอยู่ที่ 73 ปี

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มนี้มีความแตกต่างกันในแต่ละประเทศ ยกตัวอย่างญี่ปุ่นที่อายุคาดเฉลี่ยของประชากรอยู่ที่ 85 ปี ในขณะที่ตัวเลขดังกล่าวของคนในสาธารณรัฐแอฟริกากลางอยู่ที่เพียง 54 ปี

นอกจากนี้ คนที่มีอายุยืนยาวถึงร้อยปีมักเผชิญกับโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ มากมาย

ศาสตราจารย์ เจเน็ต ลอร์ด ผู้เชี่ยวชาญด้านชีววิทยาของเซลล์จากมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม ในอังกฤษ กล่าวว่า “การมีอายุยืนไม่ได้มีความหมายเท่ากับการมีชีวิตที่ดี”

เธออธิบายว่า โดยเฉลี่ยชายชรามักใช้ชีวิตในช่วง 16 ปีสุดท้ายกับโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ตั้งแต่โรคเบาหวานไปจนถึงภาวะสมองเสื่อม ส่วนระยะเวลาของผู้หญิงอยู่ที่ 19 ปี

ไขความลับของ “อภิศตวรรษิกชน”

การเป็นศตวรรษิกชน หรือ “คนร้อยปี” ถือเป็นเรื่องยากแล้ว แต่การเป็น “อภิศตวรรษิกชน” (supercentenarian) หรือ คนที่มีอายุเกิน 110 ปีนั้นยิ่งยากขึ้นไปอีก โดยผลการศึกษาระยะยาวของมหาวิทยาลัยบอสตัน ในสหรัฐฯ ประเมินว่า มีชาวอเมริกันเพียง 1 ใน 5 ล้านคนที่จะมีอายุยืนยาวเป็นอภิศตวรรษิกชน

อย่างไรก็ตาม คนกลุ่มนี้กำลังเพิ่มมากขึ้น โดยจากการเก็บข้อมูลของทีมวิจัยพบว่ามีจำนวนอภิศตวรรษิกชนอยู่ราว 60 – 70 คนในปี 2010 แต่ในปี 2017 ตัวเลขนี้ได้เพิ่มขึ้นเป็น 150 คน

อภิศตวรรษิกชน นับเป็นกลุ่มคนที่นักวิทยาศาสตร์ให้ความสนใจในการศึกษาเรื่องความแก่ชราของมนุษย์

ศาสตราจารย์ ลอร์ด กล่าวว่า “คนกลุ่มนี้สามารถต้านทานกับปัญหาที่เกิดขึ้นกับคนในวัยชราส่วนใหญ่ได้ และเราก็ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเพราะอะไร”

An elderly man sitting on a hospital bed

ที่มาของภาพ, Getty Images

นอกจากจะมีอายุที่ยืนยาวกว่าคนทั่วไปแล้ว อภิศตวรรษิกชนยังมีสุขภาพค่อนข้างดีเมื่อพิจารณาจากอายุของพวกเขาด้วย

ตัวอย่างเช่น โฮเซฟา มาเรีย ซึ่งครอบครัวระบุว่าเธอไม่จำเป็นต้องกินยาเป็นประจำ อีกทั้งยังคงกินเนื้อแดงและของหวานตามปกติ

ซิเซียรา ลูกสาววัย 76 ปีของโฮเซฟา มาเรีย เล่าว่า ถึงแม้แม่ของเธอจะมีความจำเลอะเลือนและสายตาที่แย่ลงไปบ้าง แต่บางครั้งคนในครอบครัวก็รู้สึกฉงนกับความแข็งแรงของแม่ในวัย 120 ปี

“ถึงแม้แม่จะเดินเหินไม่ได้มากเหมือนแต่ก่อน พวกเราต้องอุ้มท่าน และเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ท่านเหมือนทารก แต่ฉันยังรู้สึกประหลาดใจที่แม่มีอายุยืนยาวทั้งที่สูบบุหรี่มาตั้งแต่เด็ก และทำงานหนักมาหลายสิบปี” ซิเซียรา กล่าว

คนอายุยืนไม่ใช่ต้นแบบการใช้ชีวิตที่ดีต่อสุขภาพ

สิ่งที่สร้างความฉงนใจให้เหล่าผู้เชี่ยวชาญด้านความแก่ชราเป็นอย่างมากเกี่ยวกับคนที่มีอายุยืนเกิน 100 ปีก็คือการที่คนเหล่านี้ไม่ใช่ตัวอย่างที่ดีของการใช้ชีวิตที่ดีต่อสุขภาพ

A collage of a woman at a younger and older age

ที่มาของภาพ, Getty Images

โฮเซฟา มาเรีย คือตัวอย่างในเรื่องนี้ เธอเป็นคนที่สูบบุหรี่มาทั้งชีวิต แถมยังเติบโตมาในพื้นที่ยากจนทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของบราซิล

งานวิจัยน่าสนใจชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of the American Geriatric Society เมื่อปี 2011 ได้ศึกษาชาวยิวในสหรัฐฯ ที่มีอายุ 95 ปีขึ้นไป จำนวนกว่า 400 คน และพบว่าคนจำนวนมากในกลุ่มนี้มีพฤติกรรมที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ทั้งการสูบบุหรี่หนัก ไม่ออกกำลังกายเพียงพอ และมีปัญหาโรคอ้วนมาเกือบทั้งชีวิต มีเพียง 3% เท่านั้นที่กินอาหารมังสวิรัติ

ศาสตราจารย์ ริชาร์ด ฟาราเกอร์ อาจารย์ด้านชีววิทยาวัยชราจากมหาวิทยาลัยไบรตัน ในอังกฤษ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญชั้นแนวหน้าในสาขาวิชานี้ระบุว่า “สิ่งแรกที่เราจำเป็นต้องบอกผู้คนที่สนใจเรื่องการมีอายุยืนยาวก็คือ การไม่ขอคำแนะนำถึงเคล็ดลับการใช้ชีวิตจากบรรดาศตวรรษิกชน และ อภิศตวรรษิกชน”

ศาสตราจารย์ ฟาราเกอร์ อธิบายว่าที่เป็นเช่นนี้เพราะคนกลุ่มนี้มีความพิเศษที่ติดตัวมาแต่กำเนิด จึงทำให้มีอายุเกินร้อยปีได้ แม้ว่าพวกเขาจะมีพฤติกรรมที่ตรงข้ามกับสิ่งที่เรารู้ว่าช่วยให้คนมีอายุที่ยืนยาว

ความพิเศษทางพันธุกรรม ?

นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่าปัจจัยทางพันธุกรรมอาจมีบทบาทสำคัญที่ทำให้คนมีอายุยืนยาว

ดูเหมือนว่าศตวรรษิกชน และอภิศตวรรษิกชนจะมีเกราะป้องกันตนเองจากความเสื่อมโทรมทางร่างกายอันเป็นผลมาจากความแก่ชรา และยังดูเหมือนว่าพวกเขาจะสามารถต่อสู้กับความเสื่อมถอยนี้ได้แม้จะมีพฤติกรรมที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้คนทั่วไปเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

ผู้เชี่ยวชาญอย่างศาสตราจารย์ ลอร์ด และ ศาสตราจารย์ ฟาราเกอร์ พยามค้นหาข้อได้เปรียบที่ว่านี้ ซึ่งไม่ปรากฏชัดเจนอย่างที่คิด

งานวิจัยอีกชิ้นที่ตีพิมพ์ในปี 2020 เกี่ยวกับชาวยิวที่มีอายุเกิน 100 ปี แสดงให้เห็นว่า คนกลุ่มนี้มีความแปรผันทางพันธุกรรมที่ไม่ดี ซึ่งจะก่อให้เกิดโรคในวัยชรา อยู่มากพอ ๆ กับประชากรทั่วไป

การที่โลกมีประชากรอายุเกิน 100 ปี เพิ่มขึ้นในปัจจุบันยังทำให้นักวิทยาศาสตร์เกิดความสนใจถึงประเด็นที่ว่ามนุษย์จะสามารถยืดอายุให้ยืนยาวขึ้นได้มากแค่ไหน

คนอายุมากที่สุดที่มีการบันทึกไว้

จนถึงปัจจุบัน บุคคลที่ได้รับการรับรองว่ามีอายุยืนยาวที่สุดในโลกคือ ฌาน กาลม็อง หญิงชาวฝรั่งเศสที่เสียชีวิตในปี 1997 ขณะมีอายุ 122 ปี และถือเป็นมนุษย์เพียงคนเดียวที่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการว่ามีชีวิตยืนยาวเกิน 120 ปี

Jeanne Calmet being fed cake on her 122nd birthday in 1997

ที่มาของภาพ, Getty Images

แต่ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ในสหรัฐฯ คาดการณ์ว่าภายในศตวรรษนี้ (ภายในปี 2100) จะพบมนุษย์ที่มีอายุยืนยาวถึง 125 ปี หรืออาจถึง 130 ปี

ไมเคิล เพียซ นักสถิติที่ทำงานกับศาสตราจารย์เอเดรียน ราฟเตอรี ใช้ฐานข้อมูล International Database on Longevity ที่บันทึกข้อมูลผู้มีอายุเกิน 105 ปีขึ้นไป มาทำแบบจำลองแนวโน้มของคนในอนาคต และได้ข้อสรุปที่เกือบจะแน่นอน 100% ว่าจะมีคนอายุยืนทำลายสถิติของฌาน กาลม็อง และมีความเป็นไปได้ 68% ที่จะมีคนอายุยืนถึง 127 ปี

An illustration showing the stages of ageing in a human male

ที่มาของภาพ, Getty Images

ดร.ริชาร์ด เซียว ผู้อำนวยการโครงการวิจัยด้านความแก่ชราที่คิงส์ คอลเลจ มหาวิทยาลัยลอนดอน เชื่อว่าการทำความเข้าใจเรื่องความแก่ชราเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรสูงวัยที่กำลังเพิ่มขึ้นทั่วโลก โดยยูเอ็นประเมินว่า ขณะนี้โลกมีประชากรวัย 65 ปีมากกว่าเด็กอายุ 5 ขวบ

องค์กร HelpAge International ที่ให้ความช่วยเหลือคนชราทั่วโลกระบุว่า การหาหนทางที่ช่วยให้คนชรามีสุขภาพที่แข็งแรงจะช่วยให้ประชากรสูงวัยที่กำลังเพิ่มสูงขึ้นไม่เป็นภาระต่อสังคม และยังสามารถสร้างประโยชน์ให้ในหลายด้าน รวมถึงในเชิงเศรษฐกิจด้วย

………

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว