ทำความรู้จักกับไวรัสมาร์เบิร์ก และวิธีป้องกันตัวเองจากไวรัสชนิดนี้

 

Microscope image of Marburg virus

ที่มาของภาพ, Getty Images

พบผู้เสียชีวิตแล้ว 2 ราย ในกานาจากการติดเชื้อไวรัสมาร์เบิร์ก และยังมีอีก 98 คนต้องอยู่ในสถานกักกันเพราะมีการสัมผัสเสี่ยงสูงกับผู้ติดเชื้อ การระบาดครั้งนี้ทำให้เกิดความกลัวว่าจะเกิดการแพร่ระบาดของโรคติดต่อร้ายแรงนี้เป็นจำนวนมาก โดยไวรัสดังกล่าวก่อให้เกิดอาการไข้ ปวดกล้ามเนื้อ ท้องร่วง อาเจียน และในหลายกรณีอาจเสียชีวิตจากการสูญเสียเลือดอย่างรุนแรง

ไวรัสมาร์เบิร์กคืออะไร

ตามรายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุไว้ว่าไวรัสมาร์เบิร์กมีรหัสพันธุกรรมเดียวกันกับเชื้อไวรัสอีโบลาที่มีความร้ายแรงพอ ๆ กัน ไวรัสชนิดนี้ถูกค้นพบเป็นครั้งแรกหลังจากมีผู้ติดเชื้อ 31 คนและเสียชีวิต 7 รายในช่วงการระบาดเดียวกันเมื่อปี 1967 ในเมืองต่อไปนี้

  • มาร์เบริ์กและแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี
  • เบลเกรด ประเทศเซอร์เบีย
An African green monkey on the jungle floor

ที่มาของภาพ, Getty Images

การระบาดเกิดขึ้นจากลิงเขียวแอฟริกา ที่นำเข้ามาจากยูกันดา และไวรัสก็เริ่มติดต่อกันผ่านสัตว์ชนิดอื่น ๆ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

สำหรับการติดเชื้อกันระหว่างมนุษย์ ส่วนใหญ่จะแพร่กระจายกันในกลุ่มผู้ที่ทำงานหรือใช้เวลาอยู่ในในถ้ำและเหมืองที่มีค้างคาวอาศัยอยู่เป็นเวลานาน

นี่เป็นการแพร่ระบาดครั้งแรกของกานา แต่มีประเทศในแอฟริกาหลายประเทศที่มีการระบาดของไวรัสชนิดนี้ ได้แก่:

  • สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก
  • เคนยา
  • แอฟริกาใต้
  • ยูกันดา
  • ซิมบับเว

การระบาดในปี 2005 ที่แองโกลาคร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่า 300 คน

แต่ว่าในยุโรป พบผู้เสียชีวิตเพียงรายเดียวในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา และอีกหนึ่งรายในสหรัฐอเมริกา หลังจากกลับจากการสำรวจไปยังถ้ำในยูกันดา

line

การระบาดใหญ่ในโลกจากอดีตถึงปัจจุบัน

  • ยูกันดา ปี 2017: พบผู้ติดเชื้อ 3 ราย และมีผู้เสียชีวิต 3 ราย
  • ยูกันดา ปี 2012: พบผู้ติดเชื้อ15 ราย และมีผู้เสียชีวิต 4 ราย
  • แองโกลา ปี 2005: พบผู้ติดเชื้อ 374 ราย และมีผู้เสียชีวิต 329 ราย
  • สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ปี 1998-2000: พบผู้ติดเชื้อ 154 ราย และมีผู้เสียชีวิต 128 ราย
  • เยอรมนี ปี 1967: พบผู้ติดเชื้อ 29 ราย และมีผู้เสียชีวิต 7 ราย

ที่มา: WHO

line

หากติดแล้วจะมีอาการอย่างไร

อาการเริ่มแรกที่เกิดขึ้นอย่างกระทันหัน

  • มีไข้สูง
  • ปวดหัวอย่างรุนแรง
  • ปวดกล้ามเนื้อ

อาการที่มักจะตามมาหลังติดเชื้อไวรัสได้สามวัน

  • ท้องเสีย ถ่ายเป็นน้ำ
  • อาการปวดท้อง
  • คลื่นไส้
  • อาเจียน
ไวรัสมาร์เบิร์ค

ที่มาของภาพ, Getty Images

องค์การอนามัยโลกกล่าวว่า: “ลักษณะทางกายภาพของผู้ป่วยในระยะนี้ มีการอธิบายเอาไว้ว่ามีลักษณะ ‘เหมือนผี’ ผู้ป่วยจะมีตาที่ลึก สีหน้าที่ไม่แสดงออกทางอารมณ์ และมีลักษณะเฉื่อยช้าและเซื่องซึมอย่างสุดขีด”

คนไข้หลายรายมีภาวะเลือดออกจากส่วนต่าง ๆ ของร่างกายและเสียชีวิตใน 8-9 วัน นับจากวันที่ล้มป่วยวันแรก เนื่องจากเสียเลือดมากจนเกิดอาการช็อก

WHO อธิบายว่าโดยเฉลี่ยแล้ว ไวรัสคร่าชีวิตของผู้ติดเชื้อไปกว่าครึ่ง แต่สายพันธุ์ที่อันตรายที่สุดได้คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วถึง 88%

ไวรัสแพร่กระจายอย่างไร

ค้างคาวผลไม้อียิปต์มักเป็นพาหะนำเชื้อไวรัสมาร์เบิร์ก เช่นเดียวกันกับ ลิงเขียวแอฟริกาและหมูก็สามารถเป็นพาหะของโรคได้

Egyptian rousette fruit bat being held in a gloved hand

ที่มาของภาพ, Getty Images

การติดเชื้อจากคนสู่คน มักแพร่กระจายผ่านสารคัดหลังในร่างกาย และเครื่องนอนที่มีเชื้อไวรัสปนเปื้อนอยู่

และแม้ว่าผู้ที่หายดีจากการติดเชื้อไวรัสชนิดนี้แล้วแล้ว สารคัดหลั่งอย่างเลือดหรือน้ำอสุจิของพวกเขา ก็สามารถแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นได้เป็นเวลาอีกหลายเดือนหลังจากนั้น

มีวิธีรักษาอย่างไร

ในตอนนี้ยังไม่มีวัคซีนหรือการรักษาเฉพาะสำหรับเชื้อไวรัสมาร์เบิร์ก

แต่ WHO ยืนยันว่า วิธีการรักษาที่สกัดมาจากเลือด และการบำบัดด้วยยาและภูมิคุ้มกันกำลังอยู่ระหว่างขั้นตอนการพัฒนา

โดยในปัจจุบัน แพทย์อาจสามารถบรรเทาอาการป่วยจากไวรัสชนิดนี้ได้โดยให้ผู้ป่วยในโรงพยาบาลได้รับของเหลวเข้าร่างกายมาก ๆ และทดแทนเลือดที่เสียไปผ่านการถ่ายเลือด

ไวรัสมาร์เบิร์ค

ที่มาของภาพ, Getty Images

เราจะควบคุมโรคนี้ได้อย่างไร

องค์กรพันธมิตรเพื่อวัคซีนกาวี (Gavi) ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ส่งเสริมการเข้าถึงวัคซีนกล่าวว่าประชาชนในแอฟริกาควรหลีกเลี่ยงการกินหรือจัดการกับเนื้อสัตว์ป่า

องค์การอนามัยโลกกล่าวว่าประชาชนควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสุกรในพื้นที่ที่มีการระบาด

ผู้ชายที่ติดเชื้อไวรัสควรใช้ถุงยางอนามัยเป็นเวลาหนึ่งปีหลังจากเริ่มมีอาการหรือจนกว่าน้ำอสุจิจะตรวจพบผบเป็นลบสองครั้ง

ส่วนผู้ที่จะทำพิธีฝังศพของผู้เสียชีวิตจากไวรัสมาร์เบิร์กควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสศพโดยตรง

…..


ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว