ไขข้อสงสัยว่าทำไมผลสำรวจส่วนใหญ่ถึงเอาแต่พูดถึง Gen Z พร้อมทำความรู้จัก 3 พฤติกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของคนเจเนอเรชั่นนี้ และอิทธิพลที่มีผลต่อแบรนด์สินค้าและองค์กรในปัจจุบัน
เชื่อว่า หลายคนต้องสงสัยอย่างแน่นอนว่า เหตุใดผลสำรวจถึงยึดโยง Gen Z เป็นหลัก แม้ว่าในผลสำรวจนั้นจะไม่ได้ผลลัพธ์จากคนเจเนอเรชั่นนี้เป็นอันดับ 1 ก็ตาม บทความนี้ ‘ประชาชาติธุรกิจ‘ พาไปทำความรู้จักกลุ่มคน Gen Z ว่าคือช่วงวัยไหน และมีความสำคัญอย่างไร
Gen Z คือ คนที่เกิดในปี 1997-2012 (อายุ 12-27 ปี) เป็นช่วงวัยของนักศึกษา และวัยทำงาน นับเจเนอเรชั่นที่เติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยี โซเชียลมีเดีย และอินเตอร์เน็ต จึงถูกนิยามว่า ชนพื้นเมืองดิจิทัล (Digital Natives) เนื่องจากเติบโตมาพร้อมกับโลกที่ก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีดิจิทัล จึงเป็นวัยที่เข้าถึงแหล่งข้อมูลความรู้ต่าง ๆ บนโลกอินเตอร์เน็ตได้อย่างง่ายดายและมีประสิทธิภาพ
สำหรับสถานะของคนเจเนอเรชั่นนี้อยู่ในช่วงสร้างรายได้ให้กับตัวเอง ทำให้เป็นกลายมาเป็นแรงที่จะมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศ และกำลังสำคัญในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างด้านต่าง ๆ ของโลก อาทิ โครงสร้างทางวัฒนธรรม สังคม องค์กร และวิถีชีวิตของประชากรเจเนอเรชั่นอื่น
ดังนั้น การใช้ชีวิตของ Gen Z จึงมีอิทธิพลต่อมหภาคทั่วโลก แม้ว่าแต่ละเจเนอเรชันมีพฤติกรรม ทัศนคติ และคาแรกเตอร์เฉพาะตัวแตกต่างกันไป ตามช่วงเวลาและสภาพแวดล้อมสังคมช่วงที่เติบโตมา แต่การแยกกลุ่มประชากรออกเป็นเจเนอเรชันจะทำให้นำลักษณะเฉพาะตัวไปวิเคราะห์ ทำความเข้าใจ เพื่อต่อยอดสำหรับการสร้างแบรนด์ที่จะมาเจาะกลุ่มแต่ละเจเนอเรชัน
สำหรับ Gen Z นับเป็นประชากรกลุ่มแรกที่สัมผัสโลกของดิจิทัลอย่างเต็มตัว ต่างจากเจนอื่นที่เกิดมากับยุคแอนะล็อก ก่อนจะเปลี่ยนผ่านมาสู่ดิจิทัล โดยชีวิตของเจเนอเรชั่นนี้ที่เกิดมาท่ามกลางความก้าวหน้า เชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตตลอดเวลา โดยใช้เวลากว่า 60% ของวันไปกับโลกออนไลน์ ดังนั้นพฤติกรรมและไลฟ์สไตล์ก็จะแตกต่างจากเจเนอเรชั่นอื่น
ยกตัวอย่างพฤติกรรมของกลุ่มคน Gen Z อย่างการดูภาพยนตร์ที่มักจะดูในสตรีมมิ่งแทนการเดินทางไปดูในโรงภาพยนตร์ หรือการซื้อของก็มักจะใช้แอปพลิเคชันแทนการเดินเข้าห้างสรรพสินค้า รวมถึงการเปิดกว้างทางความคิดในเรื่องทัศนคติ วัฒนธรรม และการให้ความสำคัญกับประเด็นสังคมอยู่เสมอ อาทิ ความเท่าเทียมทางสังคม ภาวะโลกร้อน และความหลากหลายทางเพศ
ถึงแม้ว่าปัจจุบัน Gen Z จะมีประชากรไม่มากเท่า Baby Boomer และ Gen Y รวมถึงมีกำลังซื้อที่น้อยกว่า แต่ก็นับเป็นกลุ่มประชากรที่มีแนวโน้มว่าจะมีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้น ความมั่งคั่ง และการเติบโตอย่างรวดเร็ว จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่หลายองค์กรจะให้ความสำคัญกับพฤติกรรมของคน Gen Z เพื่อปรับตัวให้เข้ากับความต้องการของคนเจเนอเรชันนี้
EY เปิดเผย 3 พฤติกรรมที่น่าสนใจของชาว Gen Z ว่า
1. ผสานโลกความจริงกับโลกออนไลน์
ตัวตนของ Gen Z บนโลกโซเชียลคล้ายคลึงกับชีวิตประจำวันอย่างสมบูรณ์ สิ่งนี้ถูกนำมาใช้กับการทำงาน การซื้อของ การเข้าสังคม การเสพสื่อบันเทิง ขณะที่เจเนอเรชันอื่นอาจไม่ได้พึ่งพาโลกโซเชียลในหลากหลายด้านเทียบเท่า ด้วยเหตุผลนี้ก็นำมาสู่การตลาดของแบรนด์สินค้าที่ต้องการเจาะกลุ่มเป้าหมาย Gen Z ในปัจจุบันที่มักจะนำเสนอคอนเทนต์ผ่านโซเชียลมีเดียอยู่เสมอ
ยิ่งไปกว่านั้นสังคมของคน Gen Z ขึ้นอยู่กับการเชื่อมต่อกันทางอินเตอร์เน็ต ทั้งการรักษาความสัมพันธ์กับเพื่อน ครอบครัว และเพื่อนร่วมงาน เนื่องจากคน Gen Z พึ่งพาช่องทางนี้ในการโต้ตอบ พบปะกับผู้อื่นจนถือเป็นเรื่องปกติ และกลายมาเป็นวิถีชีวิตในที่สุด โดยช่องทางสื่อสารหลักของ Gen Z ในปัจจุบัน ได้แก่ X, TikTok, Instagram, Line เป็นต้น
2. ให้ความสำคัญกับความจริงใจ
กลุ่มคนเจเนอเรชั่นนี้ให้ความสำคัญกับความจริงใจต่อตัวเองมากที่สุด จากผลสำรวจร้อยละ 92 เปิดเผยว่า การซื่อสัตย์ต่อตัวเองนั้นสำคัญกว่าอย่างอื่นที่แม้ว่าจะเป็นเรื่องดีสำหรับเราในอนาคต อาทิ ความอิสระ การเปลี่ยนแปลงของโลก หรือความร่ำรวย และมีชื่อเสียง เป็นเรื่องยากที่จะทำให้สำเร็จหากปราศจากการซื่อสัตย์
ด้วยเหตุผลที่ว่า คน Gen Z เติบโตมากับสังคมที่มีเรื่องอื้อฉาว ความยุติธรรม และความไม่เท่าเทียม จนทำให้เกิดความไม่ไว้ใจผู้คนรอบตัว การเปิดกว้างและตรงไปตรงมาจึงเป็นกุญแจสำคัญที่จะได้รับการไว้วางใจจากคนกลุ่มนี้ในฐานะผู้บริโภคที่มีความ loyalty ต่อแบรนด์สินค้าหรือองค์กรนั้น ๆ
3. หาวิธีการดูแลสุขภาพกายและสุขภาพจิต
ภายหลังการระบาดของโควิด-19 ทำให้ Gen Z ประสบกับความเครียด วิตกกังวล และภาวะซึมเศร้า จนอัตราเพิ่มขึ้นและเข้าขั้นวิกฤต การเปิดเผยสถานการณ์ด้านสุขภาพจิต หรือการเข้ารับการรักษาของคนเจเนอเรชันนี้จึงถูกมองเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากพวกเขามองว่าเป็นการเอาชีวิตรอดมากกว่าความฟุ่มเฟือย นอกจากนี้ Gen Z ยังตระหนักรู้ในตนเองและต้องการการสนับสนุนในการทำเรื่องต่าง ๆ มากกว่าคนรุ่นก่อน เนื่องจากคนบางส่วนจมอยู่กับความเครียด และมองหาแรงบันดาลใจในการประสบความสำเร็จมากเกินไป จึงมองหาช่องทางคลายเครียดและฟื้นฟูตัวเอง
นอกจากนี้พฤติกรรมและความคาดหวังที่กล่าวมาของ Gen Z ส่งผลกระทบต่อบริษัทในฐานะผู้บริโภคหรือพนักงานในอนาคต ดังนี้
- เทคโนโลยีและกระบวนการ
สิ่งที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดของกลุ่มคน Gen Z กับคนรุ่นอื่น คือ ความสามารถในการเข้าถึงอินเตอร์เน็ต และมีทัศนคติที่ปรับไปตามความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของเทคโนโลยี เป็นผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมอยู่ตลอดเวลา ความรวดเร็วจนเป็นสิ่งที่จำเป็น เนื่องจาก Gen Z ไม่มีความอดทนต่อเทคโนโลยีที่พังหรือกระบวนการที่ไม่มีประสิทธิภาพ คนเจเนอเรชั่นนี้จึงคาดหวังการเข้าถึงเทคโนโลยีที่ใช้งานง่ายและราบรื่นในทุกด้านของชีวิตประจำวัน
- การสื่อสารที่ชัดเจน
ความโปรงใส่เป็นความคาดหวังพื้นฐานของคนเจเนอเรชั่นนี้ที่มีต่อแบรนด์สินค้าและองค์กรจ้างงาน โดยองค์กรหรือแบรนด์ที่ไม่เปิดเผยข้อมูลอย่างชัดเจนจะโดนวิพากษ์วิจารณ์เรื่องแนวทางปฏิบัติด้านแรงงานและนโยบายพนักงาน การรักษามาตรฐานบริษัทให้สูงอยู่เสมอ และการมีจุดยืนที่ชัดเจน จึงเป็นสิ่งที่ควรทำขององค์กรในยุคนี้
- ความไว้วางใจนำมาสู่ loyalty
ความภักดีต่อแบรนด์สินค้าหรือองค์กรของ Gen Z แตกต่างจากคนรุ่นก่อนที่มักจะเน้นไปทางการสร้างผ่านการสะสมคะแนน มอบสิ่งจูงใจ สำหรับคนรุ่นนี้ที่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องรอบตัวมากขึ้น การตัดสินใจซื้อสินค้าจึงต้องผ่านการตรวจสอบบริษัทและสินค้าอย่างถี่ถ้วน และมุ่งเน้นไปที่ผลลัพธ์ที่จะได้รับมากกว่าการมองหาส่วนลด หรือสิทธิพิเศษต่าง ๆ
- แนวทางการทำงาน
ด้วยการเติบโตมากับเทคโนโลยีของ Gen Z นำมาสู่การนำมาประยุกต์ใช้กับที่ทำงานมากขึ้น เนื่องจากความต้องการความคล่องตัวในไลฟ์สไตล์อยู่ตลอดเวลา องค์กรสมัยใหม่จึงต้องให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยีมากขึ้นเพื่อประสิทธิภาพในการทำงาน
- ความหลากหลายและการไม่แบ่งแยก
สิ่งสำคัญที่ต้องเข้าใจเกี่ยวกับคนเจเนอเรชั่นนี้ คือ การปฏิบัติตัวอย่างเท่าเทียมกับคนทุกเพศ ทุกเชื้อชาติ และทุกช่วงวัย เนื่องจากความหลากหลายเป็นสิ่งที่สามารถเปิดเผยได้สำหรับคนวัยนี้ เราจึงจะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงจากสังคมที่ให้ความสนใจแต่ “ตัวเอง” ไปสู่สังคมที่ให้ความสนใจ “ทุกคน” โดยมองหาผลประโยชน์ที่คนในสังคมได้ร่วมกันมากกว่าใครคนใดคนหนึ่ง