จับเข่าคุย “ธรรมวิทย์ ศิริพรเลิศ” ชู “ณ สัทธา” ประตูบานใหม่ หนุนท่องเที่ยวราชบุรี

“สวนผึ้ง” จุดหมายท่องเที่ยวแสนป๊อปที่ต้องนึกในแว๊บแรกที่พูดถึงจังหวัด “ราชบุรี” แต่ไม่ใช่กับ “ธรรมวิทย์ ศิริพรเลิศ” หรือ เซี้ยะ นักธุรกิจหนุ่มเจ้าของ “ณ สัทธา อุทยานไทย” ผู้ซึ่งรับบทบาทช่วยดูแล “ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดราชบุรี” ที่มองว่า ราชบุรีต้องไม่ได้มีแต่สวนผึ้ง เพราะสวนผึ้งเป็นเพียงหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยว จากอีกมากมายในราชบุรี

“ผมไม่ได้มองสวนผึ้งเป็นคู่แข่ง ถ้าจะทำให้เป็นเมืองท่องเที่ยว ราชบุรีทั้งหมดต้องโตไปพร้อมกัน ผมมองว่าสวนผึ้งก็คือราชบุรี ผู้ประกอบการสถานที่เที่ยวอื่นๆ ก็คือพันธมิตรผม” ธรรมวิทย์ กรรมการของชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดราชบุรี ผู้เคยร่วมงานกับหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวของรัฐอย่างสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดราชบุรี, สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดราชบุรี, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานกาญจนบุรี รวมทั้งงานส่งเสริมการท่องเที่ยวของภาคเอกชน อาทิ บริษัท ประชารัฐราชบุรี จำกัด กล่าว

เพราะศรัทธา…จึงมาเป็น “ณ สัทธา”

ธรรมวิทย์ ในฐานะกรรมการบริหาร บริษัท ณสัทธา จำกัด เล่าว่า “ศรัทธา” คือจุดเริ่มต้นของ ณ สัทธา อุทยานไทย “หลายคนบอกผมว่า ‘ถ้าไม่ศรัทธาทำไม่ได้หรอก’ ขอโทษนะ บางคนบอกว่า ‘คนบ้าเท่านั้นที่ทำแบบนี้’ เราลองไปดูสิ่งปลูกสร้าง พระพุทธรูปองค์จริงหลายร้อยเมตร มีเงินอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีศรัทธาด้วย เอาเงินไปเที่ยวรอบโลกได้เลย นี่เกิดจากสิ่งที่ทำมาตลอดชีวิต เพราะอยากให้คนได้มากเรียนรู้ มาพักผ่อน มาเที่ยว สนุกและได้ความรู้กลับไปโดยที่ไม่รู้สึกกดดัน”

ธรรมวิทย์ เล่าว่า การที่ ณ สัทธา มาสู่วันนี้ได้เกิดจากแรงกายแรงใจของทีม ณ สัทธา ไม่เฉพาะแต่ครอบครัว ใช้ทั้งคนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่า เอาความทันสมัยกับความดั้งเดิมมาทำยำให้ออกมารสชาติกลมกล่อม แต่ท้ายที่สุดก็อยากนำเสนอสิ่งที่คนรุ่นใหม่อย่างเราชอบและอยากให้เป็นนำสู่สายตานักท่องเที่ยวมากกว่า

ปั้นแลนด์มาร์คใหม่ราชบุรี ดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติ

ธรรมวิทย์ ชี้ว่า เมืองท่องเที่ยวทางฝั่งตะวันออกอย่างพัทยา ชลบุรี เป็นเมืองท่องเที่ยวสำหรับคนต่างประเทศ ส่วนทางซีกตะวันตกอย่างกาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี สมุทรสงครามและสมุทรสาคร เป็นเมืองท่องเที่ยวของคนไทย แต่ส่วนตัวแล้วก็อยากให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมีโอกาสมาสัมผัสกับราชบุรี เพราะเชื่อมั่นในคุณค่าของสถานที่ของตน

“อยากให้นักท่องเที่ยวต่างชาติมาเที่ยวฝั่งตะวันตกบ้าง เพราะเรามองเห็นคุณค่าที่จะนำเสนอเขา อยากให้บริษัททัวร์มองว่าเราเป็นสินค้าที่มีคุณค่า อยากให้พากรุ๊ปทัวร์มาลงที่นี่ดู ทำไมเราไมลองนำเสนอสินค้าที่นักท่องเที่ยวจะเห็นแล้วว้าว มากกว่าขี่ช้างหรือลงเรือ เคยมีชาวยุโรปหลงเข้ามาที่นี่ เขาอยู่ครึ่งค่อนวัน เขาบอกว่า ชอบที่นี่มาก เลยหวังนักท่องเที่ยวแบ็คแพ็คเข้ามาเอง จากรีวิวหรือคำแนะนำปากต่อปาก”

ดัน “ณ สัทธา” ดันท่องเที่ยวราชบุรีเติบโต-หลากหลาย

กรรมการบริหาร บริษัท ณสัทธา จำกัด มองว่า ณ สัทธา อุทยานไทย เป็นสถานที่เที่ยวที่เข้ามาเพิ่มความหลากหลายให้กับราชบุรี โดยหวังว่าที่นี่จะเป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม ที่เมื่อคนมาเที่ยวราชบุรีแล้ว ต้องนึกถึงที่นี่ และไปเที่ยวยังสถานที่อื่นๆ ในราชบุรีต่ออีกด้วย

“ถ้าคุณอยู่ที่ไหน มีความพร้อม ทำสถานที่คุณให้ดี เดี๋ยวก็มีคนไป ‘ณ สัทธา’ มีคอนเซ็ปต์ของ ณ สัทธา เอง ผู้ประกอบการรายอื่นก็มีจุดยืนของเขาเอง แต่ทุกคนก็อยู่ในราชบุรีหมด” ธรรมวิทย์กล่าว และต่อว่า “ผมจะทำให้เมืองราชบุรีหลากหลายมากกว่านี้ อย่างให้อาหารแกะมีคนตาม เพราะทำง่าย แต่อย่าง ณ สัทธา ใครอยากทำตามก็ทำสิ เลียนแบบเลย แต่ผมรู้ว่าเลียนแบบยาก” ธรรมวิทย์ กล่าว

ชูศักยภาพ “ราชบุรี” ปลายทางนักท่องเที่ยว

ธรรมวิทย์ มองว่า จังหวัดราชบุรีมีศักยภาพสูงพอที่จะเป็นเมืองท่องเที่ยวปลายทางของนักท่องเที่ยว ไม่ใช่แค่ทางผ่านไปยังจังหวัดอื่น

“ก่อนจะเที่ยวที่อื่นคุณก็แวะมาเที่ยวที่นี่ก่อนได้ ราชบุรีไม่ใช่แค่เมืองผ่านอย่างเดียว เป็นเมืองที่ไหนๆ ก็เดินทางออกมาเที่ยวก็เที่ยวให้คุ้ม ให้นักท่องเที่ยวได้ช็อปปิ้งก่อน ใครชอบศิลปะ ใครชอบไหว้พระ ใครชอบธรรมชาติ ใครชอบชุมชน ใครชอบวิถีไทย ใครชอบริมน้ำ มีครบหมด นี่คือจังหวัดเดียว” ธรรมวิทย์ กล่าว และต่อว่า “จากกทม. เดินทางมาที่นี่ประมาณ 1-1.30 ชม. และค่าใช้จ่ายเมืองราชบุรีก็ไม่สูง”

เมื่อปี 2558 ททท. ยกให้ราชบุรีเป็น 1 ใน 12 จังหวัด “ต้องห้าม…พลาด” ในคอนเซป “ชุมชนคนอาร์ต จ.ราชบุรี” ร่วมกับลำปาง เพชรบูรณ์ น่าน เลย บุรีรัมย์ สมุทรสงคราม จันทบุรี ตราด ชุมพร นครศรีธรรมราช และตรัง


ไม่ว่าจะบทบาท ‘นักธุรกิจ’ ที่หวังจะดันสถานที่เที่ยวของตนให้เป็นที่นิยมของราชบุรี หรือ บทบาท ‘กรรมการชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยว’ ที่ต้องการให้ราชบุรีบูมเรื่องการท่องเที่ยวมากกว่าที่เป็นอยู่ แต่ทั้งนี้ ‘ธรรมวิทย์ ศิริพรเลิศ’ ก็มีเป้าหมายหลักคือ การยกระดับการท่องเที่ยวของจังหวัดราชบุรีให้กลายเป็นเมืองท่องเที่ยวจุดหมายปลายทางที่มีความหลากหลาย ตอบสนองนักท่องเที่ยวได้ครบครัน ตามความเชื่อของเขาที่ว่า “ราชบุรีมีศักยภาพเพียงพอ เพียงแต่คนยังไม่รู้” เท่านั้นเอง…