“ลำพูน” ช้า แต่ลักเซอรี่ เมืองมรดกพันปี ดี มีความสุข และศักดิ์สิทธิ์

ลำพูนซ่อนตัวเองอย่างเงียบ ๆ ช้า ๆ อยู่หลังกำแพงเมืองเชียงใหม่ อันรุ่งเรืองมากว่าพันปี

1,000 กว่าปีก่อน วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร ก่อมณฑปขึ้นด้วยอิฐก้อนแรก ครอบโกศทองคำภายในบรรจุพระบรมธาตุ

108 ปีก่อน น้ำทิพย์จากดอยขะม้อ ตำบลมะเขือแจ้ อำเภอเมืองลำพูน ได้รับใช้ราชสำนักรัชกาลที่ 6 ในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี 2453

93 ปีก่อน น้ำทิพย์จากบ่อเดียวกันนี้ ถูกนำเข้าร่วมพิธีสรงน้ำศักดิ์สิทธิ์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เมื่อปี 2468

68 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ก็ทรงสรงน้ำมุรธาภิเษกจากบ่อน้ำทิพย์จากดอยขะม้อ ในพระราชพิธีที่ศักดิ์สิทธิ์ ก่อนขึ้นทรงราชย์ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์

ลำพูน บนเส้นรุ้งที่ 18 องศาเหนือ เป็น 1 ในศูนย์กลางความรุ่งเรืองของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ทรงคุณค่ามากพอที่ อรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัด จะกัดฟันหาเงินกว่าพันล้าน เพื่อปั้นวัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร และเขตเมืองลำพูน เข้าสู่วาระการเป็นมรดกโลกในไม่ช้า

 

“ลำพูนเราเหมือนเมืองเกียวโตของญี่ปุ่น เป็นเมืองในแอ่งอารยธรรมโบราณ เป็น Truly Lanna เรามีเจดีย์เกินพันปี เป็น 1 ใน 8 แห่งทั่วประเทศไทย มีตำนานการสร้างพระรอด โดยพระราชบิดาแห่งพระแม่เจ้าจามเทวี ที่วัดมหาวัน มีคัมภีร์โบราณ ภาษาล้านนา และภาพเขียนสีฝาผนังที่ล้ำค่า อายุกว่า 200 ปี ที่วัดหนองเงือก สีสันโคมนับแสนดวง ถูกแขวนแน่นทั่วเมือง ในช่วงเดือนตุลาคมของทุกปี” อรรษิษฐ์เล่าเรื่องเมืองช้าทรงคุณค่า

ที่หมู่บ้านหนองเงือก เป็นหมู่บ้านดั้งเดิมของชาวยอง ที่ย้ายมาจากมณฑลยูนนาน แคว้นสิบสองปันนา เป็นชุมชนโบราณ มีทั้งพิพิธภัณฑ์ไทยอง และสถาปัตยกรรมตึกโบราณแบบมอญผสมยุโรป สร้างไว้ตั้งแต่ 112 ปีที่แล้ว

 

ความช้า-ความเนิ่นเนิบที่ลักเซอรี่ มีผลให้จิตใจคนลำพูนไม่ฟุ้งเฟื่องไปกับการบริโภคเร่งด่วน สุดยอดธุรกิจ-ตัวพ่อของทุนนิยมปราบเซียนอย่างร้าน 7-11 ถึงกับต้องปิดกิจการ เพราะคนในอำเภอทุ่งช้าง แหล่งผ้าไหมยกดอก ไม่นิยมซื้อหา ความคึกคักและศิลปวิทยาการ กลับไปรวมตัวกันที่บ้านดอนหลวง เมืองท่องเที่ยวเล็ก ๆ ท่ามกลางสวนลำไย บนพื้นที่หมื่นกว่าไร่ ได้รวบรวมทั้งคนทำหัตถกรรม ทอผ้าปลูกผักเกษตรอินทรีย์

จากร้านเพิงหมาแหงน เปลี่ยนแปลนเป็น 80 ร้านค้า ที่ใช้หน้าบ้านซึ่งเป็นทั้งที่อยู่อาศัยทอผ้า และค้าขาย สารพัดผ้าฝ้ายหลากหลายแบบ ตั้งแต่คุณภาพสูง จนถึงงานทอจักร เย็บมือ ด้วยลายที่เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร เป็น “ลายน้ำไหล ไล่สลับสี” สืบทอดกันต่อมากว่า 200 ปีแล้ว

งานผ้าฝ้ายจากบ้านดอนหลวง ถูกส่งตามออร์เดอร์ ไปสู่ย่านค้าส่งยักษ์อย่างตลาดโบ๊เบ๊ ข้ามทวีปไปถึงช็อปในเมืองจีน โรงแรม รีสอร์ต ทั่วทุกภูมิภาคในประเทศไทย ใช้ผ้าฝ้ายจาก “บ้านดอนหลวง” หน้าร้านบางบ้านมียอดขายทะลุหลักแสนบาทต่อเดือน

ขณะที่ผลผลิตด้านการเกษตร “ลำไยพันธุ์สีทอง” ที่ขึ้นทะเบียน GI ถูกแปรรูปขึ้นเสิร์ฟในสายการบินแห่งชาติ และขึ้นเรือส่งออกไปตลาดจีน ปีละกว่าพันล้าน

หญิง-ชายวัยแรงงานกว่า 8 หมื่นคน มีงานทำในนิคมอุตสาหกรรมลำพูน ที่ชุมนุมบริษัทยักษ์ใหญ่ ทั้งสหพัฒนพิบูล,เบทาโกร, แพนดอรา, มูราตะ อิเล็กทรอนิกส์

ส่วนคนวัยหลังแรงงาน ปั่นด้าย ทอผ้าทำเกษตร หัตถกรรมที่บ้าน เพราะการอยู่-กิน ทำมาหาเลี้ยงชีวิตเช่นนี้ จึงทำให้ลำพูนมีรายได้ต่อหัวอยู่อันดับ 1 ของภาคเหนือ

กลุ่มคนที่อยู่ไม่ผ่านเกณฑ์ จปฐ. มีแค่หลักร้อยกว่าคนเท่านั้น ก่อนจะประกาศแผนแม่บท ทำโปรแกรมท่องเที่ยว เขาจึงซักซ้อมความเข้าใจกับชาวบ้านก่อนทุกครั้ง

แน่นอนว่าความตื่นตัวต่อส่วนรวมของคนที่นี่ ปรากฏเป็นรูปธรรม ด้วยการเป็นอันดับ 1 ทุกครั้ง ที่มีการเลือกตั้ง 12 ครั้งที่ผ่านมา

เรื่องรักถิ่นฐานบ้านเกิดถูกปลูกลงในใจข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ผ่านการจัดกิจกรรมบันเทิง นันทนาการ วิชาการ จะไม่ออกนอกจังหวัด แต่จะจัดประชุมสัมมนาในพื้นที่ เน้นกิน-เน้นใช้ เพื่อให้เศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชนทั้งจังหวัด

“เสน่ห์ของลำพูน ไม่ได้คิดจากรายได้ แต่เอาความสุขของคนเป็นตัวตั้ง ให้ชาวบ้านระเบิดจากข้างใน มีใจให้ส่วนรวม” คือ ความตั้งใจของพ่อเมืองลำพูน