THORR พัฒนาเสื่อกกอีสานสู่ของแต่งบ้านสไตล์โมเดิร์น

ถึงแม้จะรู้ว่าพรมผืนสวยที่เรารับเอาวัฒนธรรมการตกแต่งบ้านจากตะวันตกมานั้นไม่เหมาะกับสภาพอากาศร้อนของเมืองไทยเท่าไหร่นัก แต่หลายบ้าน และโดยเฉพาะตามโรงแรมก็ยังใช้พรมวางตกแต่งพื้นห้อง เพราะที่ผ่านมา ยังไม่มีสิ่งทดแทนที่สวยงามพอแทนที่พรมผืนสวยได้

…แต่ระยะหลังเราเริ่มเห็นเทรนด์การใช้สิ่งทอจากวัสดุอื่นประดับตกแต่งบ้านและโรงแรมแทนพรมแล้ว นั่นก็คือ เสื่อ ที่คนไทยคุ้นเคยกันมานานนั่นเอง ซึ่งเห็นหลายแบรนด์ทำขายกันผ่านโซเชียลมีเดียต่าง ๆ มีทั้งเสื่อที่ทอจากกกธรรมชาติ และจากวัสดุพลาสติกก็มี

จากการที่ทีมงาน “ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” ได้ไปเดินชมงานฝีมือที่โซนไอคอนคราฟต์ (ICONCRAFT) ในไอคอนสยาม ก็เกิดสะดุดตากับแบรนด์ THORR (ทอ) ที่นำงานฝีมือการทอเสื่อกกของชาวบ้านในภาคอีสานมาประยุกต์เป็นโปรดักต์ของแต่งบ้านหลากหลายอย่าง ทั้งเสื่อปูพื้นแทนพรม เป็นชิ้นงานตกแต่งผนัง เป็นเสื่อปูพาดประดับบนโต๊ะ เป็นที่รองแก้วน้ำเป็นกระเป๋าตังค์ ฯลฯ เราจึงอยากพาผู้อ่านไปทำความรู้จักแบรนด์นี้

หลังจากที่ได้เข้าไปดูเฟซบุ๊กแฟนเพจของแบรนด์ ก็พบว่ามีผู้ติดตามอยู่ 7 พันกว่าคน และมีเฟรนด์ในเฟซบุ๊กติดตามแบรนด์นี้อยู่หลายคนทีเดียว

THORR เป็นแบรนด์ที่เริ่มมาปีกว่า จากยอดขายหลักพันบาทต่อเดือน เพิ่มเป็นหลักหมื่น และปัจจุบันเป็นหลักแสนกว่าบาทต่อเดือน มีกำไร 30-40% จากตอนแรกเริ่มจ้างช่างทอ 2-3 คน ตอนนี้เพิ่มเป็น 30 กว่าคน ทั้งตัวโปรดักต์และการเกิด การเติบโตของ THORR ด้วยการบริหารจัดการของผู้หญิงคนเดียวถือว่าเป็นอะไรที่น่าสนใจอย่างมาก

แบรนด์ THORR เกิดจากไอเดียของ อิ๋ง-ธัญญ์นภัส กิ่งสุวรรณ สาวนักการตลาดวัย 34 ที่จบทั้งปริญญาตรีสถาปัตยกรรมและปริญญาโทบริหารธุรกิจ

ด้วยความที่จังหวัดอำนาจเจริญบ้านเกิดของเธอมีชาวบ้านทอเสื่อกกกันเป็นจำนวนมาก เธอเกิดความคิดว่า เสื่อกกของชาวบ้านเป็นงานฝีมือเช่นกันกับงานฝีมือแขนงอื่น แต่กลับเป็นงานที่มีมูลค่าน้อยมาก เธอจึงคิดว่าเสื่อกกสามารถต่อยอดไปเป็นอะไรได้บ้างที่เพิ่มมูลค่าขึ้นมาได้อย่างที่มันควรจะเป็น

จากความคิดนี้ เธอเริ่มลงมือทำเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2560 โดยกลับบ้านไปคุยกับชาวบ้านที่ทอเสื่อกกว่าอยากให้ทอเสื่อเพื่อทำเป็นโปรดักต์ของแต่งบ้าน แต่ต้องทำให้พัฒนาขึ้นดีไซน์ร่วมสมัยขึ้น ทำให้เนี้ยบขึ้น มีลวดลายใหม่ ๆ ที่ชาวบ้านไม่คุ้นเคย ซึ่งเธอบอกว่าไม่สามารถได้เริ่มได้ง่าย ๆ เพราะตอนแรกที่ไปคุย ชาวบ้านยังไม่เชื่อว่าจะเป็นไปได้ เธอบอกว่า “ต้องตื๊อ ต้องแสดงเจตนารมณ์ของเราให้ชัดเจน”

เธอเริ่มจากเงินหลักพันจ้างชาวบ้านทอเสื่อตามลวดลายที่เธอออกแบบ จากนั้นเธอไปออกงาน “บ้านและสวน Select 2018” และนั่นเป็นประตูโอกาส เมื่อได้เจอกับคนของไอคอนคราฟต์ แบรนด์ของเธอได้รับการสนับสนุนจากไอคอนคราฟต์ให้ไปออกงาน “Maison&Objet” ที่ฝรั่งเศส พร้อมกับได้วางขายในไอคอนคราฟต์ ทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักและมีลูกค้าตามมามากมาย

จากที่เริ่มด้วยการจ้างรายชิ้น เมื่อแบรนด์เริ่มได้รับการตอบรับจากลูกค้า เธอจึงทำเป็นระบบคอนแทร็กต์ ดีลกับผู้ปลูกกกให้ปลูกกกที่มีคุณภาพมาขายให้แบรนด์โดยตั้งราคากลาง ส่วนช่างฝีมือก็แยกกันว่าใครถนัดกระบวนการไหน โดยมีหัวหน้ากลุ่มเป็นคนบริหารแจกจ่ายงาน และตรวจควบคุมคุณภาพ ซึ่งกระบวนการทั้งหมดมีน้องชายของเธอช่วยดูแลภาพรวมอีกที และตัวเธอเองซึ่งเป็นผู้ออกแบบชิ้นงานทั้งหมดต้องบินจากกรุงเทพฯไปดูแลงานทุกสัปดาห์

นอกจากนั้นธัญญ์นภัสยังเปิด THORR Cafe ที่ อ.หัวตะพาน จ.อำนาจเจริญ เพื่อเป็นที่จัดแสดงตัวอย่างการใช้โปรดักต์ตกแต่งร้านสวย ๆ ให้ชาวบ้านได้เห็นปลายทางของชิ้นงานที่เขาทำ รวมทั้งให้คนในท้องถิ่นได้เห็นคุณค่าของภูมิปัญญาที่มีอยู่ ขณะเดียวกันก็เป็นช็อปวางขายสินค้าด้วย และเธอหวังว่า “เผื่อมันจะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม”

เธอบอกว่า ในฐานะนักออกแบบรู้สึกแฮปปี้ที่คนชอบและของขายได้ แต่ที่มากกว่านั้น ในแง่ความรู้สึกส่วนตัว เธอรู้สึก “ฟิน” ที่แบรนด์นี้ทำให้ชาวบ้านได้มีรายได้ ได้เห็นคนสูงอายุรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า หาเงินเองได้ ไม่ต้องให้ลูกหลานส่งเงินให้ใช้ และยังได้เห็นคนรุ่นใหม่หันมาสนใจและเห็นคุณค่าภูมิปัญญาท้องถิ่นที่แต่เดิมเขาไม่สนใจ

“มันเติมเต็มความรู้สึกที่เราได้ทำสิ่งที่เราชอบและได้ช่วยคนอื่นด้วย ก็อยากให้มันอยู่ได้ค่ะ จะพยายามทำนาน ๆ” ผู้ก่อตั้งแบรนด์ THORR กล่าวปิดท้ายอย่างฟิน ๆ