Dragonfly 360 ขับเคลื่อนสังคมสู่ความเสมอภาคทางเพศ

แพม-ประนัปดา พรประภา

ความไม่เสมอภาคทางเพศ เป็นประเด็นปัญหาร่วมของทั่วโลก บางประเทศอาจจะมีน้อยหน่อย ก็ถือว่าดีไป แต่ในประเทศไทยและในทวีปเอเชียของเรานั้นยังห่างไกลจากคำว่า “เท่าเทียมทางเพศ” อยู่มาก ด้วยมายาคติ “ชายเป็นใหญ่” ที่ฝังอยู่ในสังคมส่งต่อรุ่นแล้วรุ่นเล่ามานานแสนนาน

ข้อมูลจากหลาย ๆ แหล่งที่มา รวบรวมโดยดราก้อนฟลาย 360 (Dragonfly 360) บอกว่า ปัจจุบันผู้หญิงไทยได้รับเงินเดือนเพียง 77% ของเงินเดือนผู้ชายที่ทำงานในตำแหน่งเดียวกัน บางประเทศในเอเชียมีการคุกคามทางเพศสูงถึง 30-40% ผู้หญิงจำนวน 1 ใน 3 ของโลกเคยถูกทำร้ายร่างกายและเผชิญกับความรุนแรงทางเพศ

ด้วยการเล็งเห็นปัญหาและต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลง จึงมีกลุ่มคนที่ก่อตั้งโครงการ “ดราก้อนฟลาย 360” ขึ้นมา เป็นแพลตฟอร์มระดับภูมิภาคที่ออกแบบมาเพื่อขับเคลื่อนสังคมเอเชียไปสู่ความเท่าเทียมทางเพศ โดยมี แพม-ประนัปดา พรประภา นักธุรกิจสาวจากตระกูลดังเป็นผู้ร่วมก่อตั้งและเป็นประธานกรรมการ

ประนัปดา พรประภา เล่าจุดเริ่มต้นและวัตถุประสงค์ของการก่อตั้งโครงการครั้งนี้ว่า เธอสังเกตเห็นว่ามีหลายกลุ่มคนที่ทำเกี่ยวกับเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศและความไม่เสมอภาคทางเพศ แต่ไม่มีใครที่ทำงานเกี่ยวกับการเปลี่ยน mindset ซึ่งเธอมองว่านั่นเป็นจุดสำคัญที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมได้ จึงริเริ่มทำโครงการนี้ขึ้นมา

“ดราก้อนฟลาย คือมูฟเมนต์เพื่อทำงานลดความไม่เท่าเทียมทางเพศ เราเชื่อว่าคนทุกคนมีศักยภาพในตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย ดังนั้นเราจึงอยากสร้างแรงขับเคลื่อนในสังคมไทยและเอเชียให้ตระหนักถึงความเสมอภาค การจัดตั้งโครงการครั้งนี้นอกจากจะเป็นการรณรงค์เรื่องความเสมอภาคทางเพศแล้ว เรายังอยากสร้างพลังให้กับผู้หญิงหลาย ๆ คนได้ลุกขึ้นมาใช้ชีวิตในแบบของตนเอง เพื่อเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นหลัง โดยเราหวังว่าโครงการนี้จะได้การตอบรับและการสนับสนุนที่ดี เพราะถ้าคนร่วมกันสนับสนุนมากเท่าไหร่ก็จะยิ่งเกิดเป็นพลังและแรงขับเคลื่อนได้มากขึ้นเท่านั้น”

วรนัยน์ วาณิชกะ ชายหนุ่มซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งโครงการพูดถึงปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศว่า สังคมไทยเรามีค่านิยมหรือชุดความคิด (mindset) ที่มองว่าผู้หญิงเป็นเพศที่อ่อนแอ และมีข้อจำกัดมากกว่าผู้ชาย การที่เราจะสร้างความเสมอภาคขึ้นมาได้ต้องเริ่มจากการเปลี่ยน mindset ซึ่งถูกหล่อหลอมปลูกฝังจาก 3 สถาบัน คือ สถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา และสถาบันบันเทิง โดยเริ่มจากการปลูกฝังของครอบครัวผ่านการอบรมสั่งสอน และตัวอย่างแสดงให้เห็น ด้านสถาบันการศึกษาควรวางพื้นฐานและสร้างความเข้าใจต่อความเสมอภาคทางเพศมากยิ่งขึ้น และวงการบันเทิงควรผลิตผลงานที่ไม่ตอกย้ำค่านิยมผู้ชายเป็นใหญ่กว่าผู้หญิง

ซินดี้-สิรินยา บิชอพ

ด้านสาว ๆ แบรนด์แอมบาสซาเดอร์ของโครงการได้ร่วมแสดงความเห็นด้วย ซินดี้-สิรินยา บิชอพ เจ้าของแนวคิด Be Educated ที่เชื่อว่าการเรียนรู้เป็นเครื่องมืออันทรงพลังในการสร้างความเท่าเทียมทางเพศ กล่าวว่า การศึกษาจะช่วยเปลี่ยน mindset ที่ปลูกฝังว่าผู้หญิงต้องด้อยกว่าผู้ชาย รวมทั้งการถูกคุกคามทางเพศ และการกดขี่ข่มเหงผู้หญิง พร้อมทั้งถูกตราหน้าว่าสาเหตุของปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะผู้หญิงเอง สังคมเราควรให้การเรียนรู้กันใหม่ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงชุดความคิดเหล่านี้ และที่สำคัญคือควรปลูกฝังให้กับเด็กรุ่นต่อไปให้มีชุดความคิดในเรื่องความเท่าเทียมทางเพศอย่างถูกต้องและจริงจังมากขึ้น

แพร-วทานิกา ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา แบรนด์แอมบาสซาเดอร์อีกหนึ่งคนที่มากับแนวคิด Be Financially Independent แสดงความเห็นว่า ความเท่าเทียมทางเพศเป็นเรื่องสำคัญ เราไม่สามารถวัดความสามารถในการทำงานของคนได้จากเพศ

แพร-วทานิกา ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา

นอกจากนั้นเธอกล่าวถึงประเด็นอิสรภาพทางการเงินว่า “การที่ผู้หญิงมีอิสรภาพทางการเงิน แน่นอนว่าเราสามารถทำในสิ่งที่ต้องการจะทำได้ไม่มากก็น้อย แต่ที่เหนือกว่านั้นคือ อะไรที่เราหามาเองด้วยความสามารถของเรา มันทำให้เรารู้สึกว่าเรามีคุณค่า เรามีเกียรติ”

เชอรี่-เข็มอัปสร สิริสุขะ

ดร.เพลิน ประทุมมาศ พรชำนิ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านกระตุ้นพัฒนาการเด็กเล็กและเด็กที่มีความต้องการพิเศษ เล่าประสบการณ์ส่วนตัวที่สะท้อนให้เห็นว่าความไม่เท่าเทียมทางเพศมีอยู่ในหลายสังคม ดังนั้นผู้หญิงต้องสร้างความเท่าเทียมด้วยตัวเอง โดยเธอเล่าว่า ความไม่เท่าเทียมทางเพศที่เจอในสถานที่ทำงานมักจะมาในรูปแบบอ้อม ๆ อย่างเช่น การถูกขัดจังหวะระหว่างพูดในที่ประชุม ซึ่งผู้หญิงจะโดนขัดมากกว่าผู้ชาย

“มีครั้งหนึ่งที่ดิฉันลองนับว่าผู้หญิงถูกขัดจังหวะกี่ครั้งในการประชุม 1 ชั่วโมง และนับว่าผู้ชายถูกขัดจังหวะกี่ครั้ง ปรากฏว่าผู้หญิงถูกขัดจังหวะ 11 ครั้ง ส่วนผู้ชายถูกขัดจังหวะแค่ 2 ครั้ง ตอนแรกเราก็โกรธ เรารู้สึกว่าต้องปกป้องตัวเอง แต่การสื่อสารและใช้วิธีการแบบนั้นมันได้ผลลัพธ์ที่ตรงข้ามกับสิ่งที่เราต้องการ เพราะฉะนั้นเราก็ฝึกไปเรื่อย ๆ ว่าสื่อสารแบบไหนถึงจะได้ผลที่ดีที่สุด ปรากฏว่าเราต้องพูดว่า ยังพูดไม่จบค่ะ ขออีก 5 นาทีนะคะ วิธีแบบนี้ทำครั้งแรกก็อาจจะไม่ได้ผล แต่ถ้าทำเรื่อย ๆ มันก็จะสร้างพฤติกรรมใหม่ได้”

มูฟเมนต์ใหญ่ที่ดราก้อนฟลาย 360 จะทำในเร็ว ๆ นี้คือการประชุม Wo=Men Summit 2019 ที่เชิญคนดังจากหลากหลายวงการมาพูดคุยสร้างขบวนการทางสังคมที่จะผลักดันการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่สำหรับเด็กหญิงและผู้หญิงในเอเชีย หากใครสนใจโครงการและสนใจเข้าฟังสามารถดูรายละเอียดได้ที่ dragonfly360.co