AEPW ชวนอาเซียนจัดการขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน

วิกฤตสิ่งแวดล้อมที่ได้รับผลพวงจากการใช้พลาสติก และการจัดการขยะพลาสติกอย่างไม่เป็นระบบเริ่มส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศไปทั่วโลก รวมถึงในไทยและประเทศแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยเช่นกัน

นานวันเข้าปัญหาเหล่านี้ยิ่งทวีความรุนแรง ซึ่งไม่เพียงแต่จะสร้างความเสียหายต่อมนุษย์โลกเท่านั้น แต่ยังลุกลามไปถึงสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ทางธรรมชาติที่ยากจะฟื้นฟูได้ในเร็ววัน

จากปัญหาที่เกิดขึ้นนำไปสู่การรุกคืบ-แก้ไขอย่างเอาจริงเอาจังในรูปแบบของการจัดตั้งภาคีเครือข่ายยุติการใช้พลาสติก หรือที่มีชื่อเรียกเต็ม ๆ ว่า Alliance To End Plastic Waste (AEPW) แม้จะมีการจัดตั้งมาได้เพียง 9 เดือน แต่ปัจจุบันภาคีนี้มีเครือข่ายสมาชิกทั่วโลกแล้วมากถึง 40 บริษัท

AEPW ขยายสำนักงานใหญ่ไปตามภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก ทั้งยุโรป อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ แอฟริกา ตะวันออกกลาง และเอเชีย กระทั่งล่าสุดได้เล็งเห็นถึงศักยภาพของอาเซียน และประเทศไทยที่เริ่มมีกระแสตื่นตัวเกี่ยวกับการจัดการปัญหาขยะพลาสติก จึงดึงองค์กรเอกชนในประเทศไทยเข้าร่วมเป็นครั้งแรก โดยเป็นความร่วมมือกันระหว่างภาคีเครือข่าย และกลุ่มธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี

จิม ซีวอร์ด รองประธานบริหารด้านความยั่งยืน เทคโนโลยี และกิจการร่วมค้า บริษัท ลีอองเดลบาเซิล ตัวแทนจาก AEPW กล่าวว่า เหตุผลที่ภาคีตัดสินใจชักชวนประเทศไทยและประเทศแถบอาเซียนเข้าร่วม เพราะเล็งเห็น

ถึงศักยภาพของแต่ละประเทศในการผลักดันประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการใช้พลาสติก ทั้งในส่วนของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนที่ส่วนใหญ่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพลาสติกอยู่พอสมควร

จิมยังให้ข้อมูลต่อด้วยว่า ตัวเลขการรีไซเคิลโดยรวมของกลุ่มประเทศอาเซียนอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดี ซึ่งสาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้มีการใช้พลาสติกเป็นจำนวนมาก เนื่องจากกลุ่มประเทศเหล่านี้อยู่ในสถานะที่ภาคเศรษฐกิจกำลังเติบโต รวมถึงมีประชากรชนชั้นกลางค่อนข้างมาก จึงถือเป็นเรื่องปกติที่จะมีการใช้พลาสติกเยอะ ประกอบกับอาจจะยังไม่มีระบบการจัดการขยะที่ดี ฉะนั้นไม่ต้องแปลกใจที่ไทยจะมีปัญหาเกี่ยวกับขยะพลาสติก เพราะตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว

จิมแนะนำทางแก้ปัญหาว่า หลัก ๆ ต้องลดและรักษาจุดแข็งจากการใช้พลาสติกควบคู่กันไป เพราะถ้าเปลี่ยนจากพลาสติกไปใช้บรรจุภัณฑ์อื่นก็อาจจะสร้างปัญหาเพิ่ม ขณะเดียวกันก็ต้องควบคุมปริมาณการใช้พลาสติกด้วย ซึ่งการใช้พลาสติกอย่างมีความรับผิดชอบสามารถทำได้ดังนี้

1.ผู้บริโภคต้องมีจิตสำนึกว่า ถ้าไม่ต้องการก็อย่าขอถุงพลาสติก ร้านค้าเองก็ต้องปรับพฤติกรรมตรงนี้ด้วย 2.ปรับวิธีการคิดเกี่ยวกับการออกแบบบรรจุภัณฑ์ ออกแบบอย่างไรให้มีการใช้พลาสติกน้อยลง ให้บรรจุภัณฑ์นำเข้าขั้นตอนรีไซเคิลได้ บรรดาองค์กรใหญ่ ๆ ต้องพิจารณาการทำงานหรือคุณค่าต่อแบรนด์ ถ้าจะส่งเสริมความยั่งยืนก็ต้องทำให้อัตราการใช้พลาสติกน้อยลง ต้องหาวิธีไม่ให้ขยะพลาสติกกลับไปสู่สิ่งแวดล้อม ทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ให้ได้