ถ้าโลกขาดแมลง แล้วเราจะรู้สึก

ในปัจจุบัน หากพูดถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม “ปัญหาโลกร้อน” หรือ “วิกฤตสภาพภูมิอากาศ” นับเป็นปัญหาที่ได้รับการรณรงค์และได้รับการพูดถึงมาโดยตลอด แต่นอกเหนือไปจากเรื่องของอุณหภูมิโลกแล้ว เรื่องอาหารก็นับเป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อมนุษย์และสิ่งมีชีวิตทั่วโลกโดยตรง

ปัญหาสำคัญที่กำลังเริ่มก่อตัวและส่งผลกระทบโดยตรงต่ออาหารของโลกที่ว่านั้นก็คือ “การลดลงของประชากรแมลง” ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะขาดแคลนอาหารไปจนถึงการล่มสลายและหายนะของระบบนิเวศโลก

มีรายงานชิ้นหนึ่ง เขียนโดย เคที ฮันต์ (Katie Hunt) จากสำนักข่าว CNN พูดถึงภัยเงียบที่ส่งผลกระทบต่อโลกและความเป็นอยู่ของมวลมนุษย์ระดับเดียวกับวิกฤตโลกร้อนที่เรากำลังเผชิญและตื่นตัวกันอยู่ ภัยที่ว่านี้คือการลดลงของจำนวนแมลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ระบุว่า ในปัจจุบันราว 41% ของสายพันธุ์แมลงทั่วโลกกำลังมีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

(Photo by Natalia FedosenkoTASS via Getty Images)

เดฟ กูลสัน (Dave Goulson) ศาสตราจารย์ด้านชีววิทยา จากมหาวิทยาลัยซัสเซ็กซ์ (The University of Sussex) ประเทศอังกฤษ เขียนรายงานให้กับ The Wildlife Trusts UK ว่า หากจำนวนแมลงยังลดลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องในระดับที่เป็นอยู่ ความเสียหายก็จะยิ่งทวีความรุนแรง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเรื่องอาหารโลกโดยตรง เนื่องจาก 3 ใน 4 ของพืชผลทางการเกษตรนั้น ต้องอาศัยการผสมเกสรของเหล่าแมลง ดังนั้น เมื่อจำนวนแมลงลดลง พืชผลหลายชนิดก็ไม่สามารถเจริญเติบโตได้ อาจถึงขั้นสูญพันธุ์ ส่งผลให้ปริมาณอาหารลดลง

“หากไม่มีแมลง เราจะไม่มีอาหารที่เพียงพอต่อประชากรทั้ง 7.5 พันล้านคน” เขาเสริม

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา มีรายงานถึงการล่มสลายของเผ่าพันธุ์แมลงในประเทศเยอรมนี และเครือรัฐปวยร์โตรีโก ในรายงานดังกล่าวระบุว่า ปริมาณการลดลงของประชากรแมลงโลกอยู่ที่ปีละประมาณ 2.5% และกว่า 40% ของประชากรแมลงเหล่านั้นกำลังเผชิญหน้ากับการสูญพันธุ์

(Photo by Gareth Fuller/PA Images via Getty Images)

ตลอด 25 ปีที่ผ่านมา ในประเทศสหรัฐอเมริกา มีผลสำรวจระบุว่าการลดลงของจำนวนประชากรผึ้งในรัฐโอไฮโอนั้นมีมากถึง 1 ใน 3 หรือราว 33% โดยมีผึ้งสายพันธุ์แฟรงคลิน (Franklin”s bumblebee) ที่กำลังจะสูญพันธุ์ในอีกไม่ช้า

ส่วนในประเทศอังกฤษ มีข้อมูลที่บันทึกไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1968 ถึงปี ค.ศ. 2007 ระบุว่าจำนวนผีเสื้อกลางคืน (moth) ในประเทศมีจำนวนลดลงถึงราว 28%

อาจารย์เดฟบอกอีกว่า ในรายงานต่าง ๆ กว่า 70 ชิ้น แสดงให้เห็นถึงการลดลงของจำนวนแมลงในบางพื้นที่เท่านั้น ยังมีพื้นที่นอกทวีปยุโรปและทวีปอเมริกาอีกมากที่ยังต้องศึกษา

“ในพื้นที่เขตร้อน ที่ควรจะมีประชากรแมลงอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก กลับพบว่ามีจำนวนไม่มากเท่าที่ควร ซึ่งคาดว่าเป็นผลกระทบมาจากการรุกล้ำแนวป่าแอมะซอน ป่าคองโก และป่าฝนในแถบเอเชียตะวันออก ซึ่งล้วนเป็นที่อยู่อาศัยหลักของแมลง”

นอกจากนั้นเขาบอกว่า นก เป็นสัตว์อีกชนิดที่ได้รับผลกระทบโดยตรงต่อการลดจำนวนลงของประชากรแมลง เพราะแมลงเป็นแหล่งอาหารโดยตรงของพวกมัน

(Photo by Sergei MalgavkoTASS via Getty Images)

“อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อเรื่องนี้คือการที่แหล่งที่อยู่ของแมลงลดลง ยังไม่รวมการใช้สารกำจัดศัตรูพืชตามพืชสวนไร่นา อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของโลก ล้วนส่งผลกระทบโดยตรงต่อจำนวนประชากรแมลง” ศาสตราจารย์เดฟกล่าว

ปฏิเสธไม่ได้ว่า มนุษย์เรามีส่วนเกี่ยวข้องในทุกวิกฤตและทุกปัญหาสิ่งแวดล้อมโลก ไม่ว่าจะเป็นการบริโภคเนื้อสัตว์ที่เกินจำเป็น การใช้ผลิตภัณฑ์จากพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง หรือการรุกล้ำป่าไม้ อันส่งผลกระทบเชื่อมโยงกันเป็นโดมิโน เพราะยิ่งต้นไม้มีจำนวนลดลง ก็ส่งผลกระทบต่อที่อยู่อาศัยของทั้งมวลแมลงและสัตว์ป่า และยังส่งผลให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น เมื่ออุณหภูมิของโลกสูงขึ้น มนุษย์เราก็ยิ่งใช้เครื่องปรับอากาศเพื่อรักษาอุณหภูมิ เมื่อเราใช้เครื่องปรับอากาศมากขึ้น อุณหภูมิของโลกก็ยิ่งสูงขึ้น เป็นวงจรต่อไปไม่รู้จบ จนวันหนึ่ง อาจจะถึงจุดวิกฤตที่ไม่สามารถมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่บนโลกใบนี้ได้อีกต่อไป

อย่างไรก็ตาม หากเราเริ่มตระหนักรู้ถึงปัญหา เริ่มเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้สอดคล้องกับโลกมากขึ้น อย่างการลดการบริโภคเนื้อสัตว์ หันมาใช้ถุงผ้าใบเดิมแทนที่จะรับถุงพลาสติกทุกครั้งที่ออกไปใช้จ่าย หรือหากใครที่มีพื้นที่เอื้ออำนวยหรือมีสวนภายในที่พักอาศัย ก็อาจจะปรับปรุงให้สอดคล้องกับความเป็นอยู่ของมวลแมลงและธรรมชาติมากขึ้น สิ่งละอันพันละน้อย เราก็อาจจะช่วยโลกใบนี้ให้กลับมามีสุขภาพดีดังเดิมได้