เปิดหัวใจไป “ลัคเนา” เปิดโลกสู่ “อินเดีย” ในมุมที่ไม่รู้จัก

Bara Imambara is an imambara complex in Lucknow, Uttar Pradesh in India

สิรารมย์ เตชะศรีอมรรัตน์ : เรื่อง

นับตั้งแต่วินาทีที่ก้าวเท้าออกจากเครื่องบิน ณ สนามบินเมืองลัคเนา หรือ “เมืองพระลักษณ์” ในรัฐอุตตรประเทศ ณ เหนือสุดของชมพูทวีป ดินแดนนี้ก็มอบสัมผัสประหลาดราวกับจะประกาศถึงความโดดเด่นทางอัตลักษณ์ที่ซ่อนตัวในดินแดนแห่งความวุ่นวาย

“อินเดีย” ในความทรงจำของผู้คนทั่วโลกอาจเป็นเมืองรถติดที่คึกคักทั่วทุกมุมเมืองและท้องถนนอย่าง “เดลี” หรือ “มุมไบ” แต่ “ลัคเนา” กลับให้กลิ่นอายที่แตกต่างและเป็นอีกด้านของความทรงจำที่ผู้คนจะมีกับอินเดีย จากประชากรทั้งหมดกว่า 4 ล้านคนในลัคเนา 60% นับถือศาสนาฮินดู 35% นับถือศาสนาอิสลาม และอีก 5% นับถือศาสนาอื่น ๆ ทำให้เมืองพระลักษณ์แห่งนี้เป็นเมืองที่มีคนนับถือศาสนาอิสลามมากที่สุดในอินเดีย

แม้ลัคเนาจะเป็นเมืองศูนย์กลางการค้า เศรษฐกิจ และการลงทุนของอินเดียตอนเหนือ แต่ลัคเนากลับสงบและเรียบเรื่อยกว่าหลายเมืองที่เป็นที่รู้จักในหมู่คนไทย ประกอบกับศิลปะทั่วทั้งเมืองที่ตกค้างมาจากอดีตยังคงตระหง่านอยู่ตลอดสองข้างทาง ถ่ายทอดเรื่องราวผสมผสานระหว่างฮินดู มุสลิม และยุโรปออกมาจากประสบการณ์ที่สั่งสมนับตั้งแต่ก่อนการครอบครองของราชวงศ์โมกุล ระหว่างการครอบครอง จนมาถึงครั้งถูกยึดครองกลายเป็นอาณานิคมของจักรวรรดิอังกฤษ

อย่างไรก็ตาม อารยธรรมที่เอาชนะกาลเวลาและยืนหยัดปะทะสายตาของผู้คนมากที่สุดก็คือ งานศิลปะ “มุสลิมโมกุล” ของราชวงศ์ที่ครองอนุทวีปอินเดียนานกว่า 3 ศตวรรษ ท่ามกลางเมืองเงียบ ๆ ที่รถไม่ติด คนไม่ขี้ตื๊อ และขอทานจำนวนไม่มาก “บารา อิมามบารา” (Bara Imambara) หรืออนุสรณ์สถานสำหรับพิธีกรรมระลึกถึงผู้จากไปของเหล่ามุสลิมนิกายชีอะห์ สถาปัตยกรรมมุสลิมโมกุลตั้งโดดเด่นอยู่กลางเมือง

The Asfi Mosque, located near the Bara Imambara in Lucknow, India

บารา อิมามบารา ถูกสร้างในปี 1784 โดยคำสั่งของท่านอาซาป อุด เดาลา (Asaf-ud-Daula) นาวาบองค์ที่ 4 แห่งราชวงศ์ลัคเนา เพื่อสร้างงานให้กับประชาชนในพื้นที่ ทำให้ตลอดระยะเวลาการสร้างมีการทำลายพื้นที่ส่วนที่สร้างเสร็จไปแล้วในตอนกลางคืน เพื่อยืดเวลาก่อสร้างออกไปจนยาวนานกว่าทศวรรษ และใช้งบประมาณในการก่อสร้างไปมากกว่า 5 แสนถึง 1 ล้านรูปี รวมถึงใช้งบประมาณตกแต่งเพิ่มเติมอีกทุกปี ปีละ 4-5 แสนรูปี

สถาปัตยกรรมของอิมามบาราแห่งนี้ก่อสร้างและตกแต่งด้วยหินน้ำตาลเข้มสถาปัตยกรรมโมกุล ด้านในนอกจากห้องโถงระลึกที่ปัจจุบันมีอุโมงค์ฝังศพของนาวาบองค์ที่ 4 แห่งราชวงศ์ลัคเนา ซึ่งเป็นหนึ่งในสิ่งปลูกสร้างโค้งที่ใหญ่ที่สุดในโลกแล้ว ยังประกอบด้วยมัสยิดซาฟี (Asfi Mosque) และโบว์ลิ (Bowli) สถาปัตยกรรมน้ำไหลจากประตูสู่ห้องโถงใหญ่ และเขาวงกตซึ่งเกิดจากอุบัติเหตุระหว่างการก่อสร้างที่ทำให้มีทางขึ้นสู่ระเบียงกว่า 1,024 เส้นทางซึ่งซับซ้อนเป็นสามมิติ

Arches and hallways of the bhool bhuliya maze that leads to the roof of the complex. This amazing architecture marvel prevents anyone without a guide from reaching the palace roof

อย่างไรก็ตาม บารา อิมามบารา ไม่ได้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางนักในหมู่นักท่องเที่ยวต่างชาติ ทำให้ผู้มาเยือนสามารถซึมซับความละเอียดอ่อนของสถาปัตยกรรมได้อย่างเต็มที่ และยังมีชาวมุสลิมผู้เคารพนับถือเดินทางมาปฏิบัติศาสนกิจอยู่บ้างเล็กน้อย รวมถึงการดูแลพื้นที่เป็นอย่างดี ทำให้บารา อิมามบารา เงียบสงบและดูเปี่ยมศรัทธา โดยเฉพาะช่วงเวลาที่ได้เดินอยู่ภายในอุโมงค์เพื่อออกสู่ระเบียงชมเมือง

ห่างกันไม่ไกลกับบารา อิมามบารา คือที่ตั้งของ “รูมิ ดะร์วาซา” (Rumi Darwaza) หรือ “ประตูเตอร์กิช” (Turkish Gate) สัญลักษณ์ของเมืองลัคเนา สถาปัตยกรรมประตูเมืองที่ถูกสร้างด้วยคำสั่งของนาวาบองค์เดียวกัน เป็นตัวอย่างของสถาปัตยกรรมอวาดี รูมิ ดะร์วาซา (Awadhi Rumi Darwaza) สูง 60 ฟุต ซึ่งสร้างจำลองตามประตูซับไลม์ (Sublime Porte) ในอิสตันบูล

เช่นเดียวกันกับ “โชตา อิมามบารา” (Chota Imambara) สถาปัตยกรรมระลึกถึงตามประเพณีของมุสลิมชีอะห์ของ “มูฮัมหมัด อาลี ชาห์” (Muhammad Ali Shah) นาวาบผู้ปกครององค์ที่ 9 แห่งราชวงศ์ลัคเนาที่ทอดร่างฝังเคียงข้างพระมารดาใต้สิ่งก่อสร้างสีขาวประดับลวดลายคอลลิกราฟี่สีดำ ซึ่งเป็นสถานที่เก็บสะสมโคมคอลเล็กชั่นใหญ่จากพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วทุกมุมโลก อย่างไรก็ตาม การเข้าชมสถานที่สำคัญของลัคเนาซึ่งมีฐานะเดิมเป็นศาสนสถานสำคัญสำหรับผู้นับถือศาสนานั้น ผู้มาเยือนจำเป็นจะต้องคลุมผมก่อนเข้าสู่พื้นที่ทางด้านใน เพื่อให้เกียรติแก่เจ้าของสถานที่

นอกจากสถานที่สำคัญทางศาสนาแล้ว ลัคเนาก็ยังมีสถาปัตยกรรมขนาดยักษ์ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานให้แก่ “ภีมราว รามชี อามเพฑกร” (Bhimrao Ramji Ambedkar) หรือ “ดร.เอ็มเบดการ์” (Dr.Ambedkar) หนึ่งในห้าวีรบุรุษผู้ปลดแอกชนชั้นและวรรณะให้แก่ชาวอินเดีย รวมถึงมีส่วนในการร่างรัฐธรรมนูญของอินเดียหลังได้รับเอกราชจากอังกฤษ แม้ว่าตัวท่านเองเกิดในวรรณะจัณฑาลและไม่ได้รับสิทธิในการศึกษาเท่าเทียมกับวรรณะอื่น ๆ ของสังคม

อนุสรณ์สถาน ดร.เอ็มเบดการ์ (Ambedkar Memorial Park) เป็นสถาปัตยกรรมสีส้มอมชมพูขนาดยักษ์ พื้นที่ใช้สอยหลากหลาย ประกอบด้วยหอเกียรติยศ รูปปั้นช้างหลายสิบตัว ฯลฯ โดยใช้งบประมาณการก่อสร้างกว่า 7 พันล้านรูปี ซึ่งก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางถึงความเหมาะสมของการจัดการงบประมาณของรัฐบุรุษผู้เป็นแสงแห่งความหวังของชนชั้นล่างในอินเดีย แต่อนุสรณ์สถานดังกล่าวก็ยังคงตั้งตระหง่านมาจนถึงปัจจุบัน

ในอีกด้านหากอยากสำรวจวิถีชีวิตในลัคเนา ขอแนะนำย่าน “ฮาซรัตกันจ์” (Hazratganj) แหล่งช็อปปิ้งสำคัญอันเป็นแหล่งรวมผ้าปักรายละเอียดสูงที่ขึ้นชื่อและสืบทอดในหมู่คนลัคเนามาเนิ่นนาน นอกจากนั้น ยังมีสินค้าอุปโภคบริโภคหลากหลาย อาทิ เครื่องประดับ เครื่องสำอาง เสื้อผ้าแฟชั่น สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงงานศิลปะบนร่างกายอย่างเฮนน่า (Henna) ที่มีนักท่องเที่ยวอินเดียและต่างชาติให้ความสนใจเป็นอย่างมาก

domed roof and towers of Asfi mosque shot at sunset from the rooftop of bara imambara in lucknow uttar pradesh india. This marvel of mughal architecture is a famous tourist destination

ความน่ารักมาก ๆ อย่างหนึ่งของดินแดนที่การท่องเที่ยวยังไม่ทำลายมนต์เสน่ห์แห่งชีวิต คือใน “ลัคเนา” พ่อค้าแม่ขายจะไม่ตื๊อมากนัก แต่มีความกระตือรือร้นและอัธยาศัยที่ดีงามแบบคนอินเดียอยู่เสมอ การจับจ่ายสินค้าในลัคเนาจึงสามารถสอบถามลักษณะและราคาของสินค้า เปรียบเทียบและเลือกอย่างค่อยเป็นค่อยไปได้โดยไม่มีการเซ้าซี้ให้เกิดความรำคาญใจ

ตอนนี้ “ลัคเนา” อาจจะเป็นที่รู้จักในฐานะเกตเวย์ใหม่สู่สังเวชนียสถาน สำหรับชาวไทยที่ต้องการจะเดินทางเชื่อมต่อไปแสวงบุญ แต่มากกว่านั้นความเป็น “ลัคเนา” มีเสน่ห์อย่างสูงยิ่งในฐานะเมืองที่ยังคงรักษาสถาปัตยกรรมและอัตลักษณ์ข้ามผ่านกาลเวลาอย่างทระนง เพื่อประกาศตัวตนหลังแอบซ่อนตัวเติบโตในความสงบเงียบมาเนิ่นนานหลายร้อยปี