“สนทนาสัปตสนธิ 2” นิทรรศการชวนคุยเรื่อง LGBTQ งานใหญ่สุดในเอเชีย

คนข้ามเพศ หรือกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า LGBTQ ย่อมาจาก lesbian (หญิงรักหญิง), gay (ชายรักชาย), bisexual (รักร่วมสองเพศ), transgender (คนข้ามเพศ) หรือ transsexual (ผู้ที่มีสภาพจิตใจคล้ายเพศตรงข้าม) และ queer (เพศที่เปิดกว้างและยอมรับในสิ่งที่ตัวเองเป็น) ซึ่งเป็นการรวมคำจำกัดความของเพศสภาพที่ไม่ตรงกับเพศกำเนิดซึ่งไม่ใช่ความผิดปกติ หากแต่เป็นเรื่องของปัจเจก อารมณ์ ความรู้สึก และรสนิยม อันเป็นความหลากหลายและงดงามในตัวเอง

ในประเทศไทย กลุ่ม LGBTQ ถือว่าได้รับการยอมรับในระดับที่ดี เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค และเริ่มมีการเรียกร้องกฎหมายการแต่งงานระหว่างเพศเดียวกันอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม กฎเกณฑ์หรือพฤติกรรมที่แสดงออกถึงความไม่เท่าเทียมกันก็ยังมีให้เห็นอยู่รอบตัว ไม่ว่าจะเป็นการล้อเลียนเพศสภาพในละครซิตคอม ข่าวการไม่ยอมรับการแต่งกายตามเพศสภาพของคนข้ามเพศในหน่วยงานรัฐ หรือแม้กระทั่งการล้อเลียนปมด้อยเรื่องเพศในวัยเรียน ฯลฯ ซึ่งคงไม่เกินไปนัก หากจะกล่าวว่าเพศทางเลือกยังถือเป็นอีก “ชนชั้น” หนึ่งทางสังคมที่ได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียม ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น

เพื่อสะท้อนถึงประเด็นความแตกต่างและหลากหลายทางเพศดังที่กล่าวไปซึ่งอาจนำไปสู่ความตึงเครียดในสังคม ด้วยความมุ่งหวังที่จะให้ความรู้ต่อสาธารณะเกี่ยวกับ LGBTQ และส่งเสริมให้เกิดการอภิปรายอย่างสร้างสรรค์ผ่านผลงานศิลปะ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครร่วมกับมูลนิธิซันไพรด์ (The Sunpride Foundation) จึงร่วมกันจัดงานนิทรรศการ “สนทนาสัปตสนธิ 2-ไตร่ถาม : ความหลากหลายในอุษาคเนย์ (SPECTROSYNTHESIS II-Exposure of Tolerance : LGBTQ in Southeast Asia)” ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ต่อเนื่องจากงานนิทรรศการ “SPECTROSYNTHESIS-Asian LGBTQ Issues and Art Now” ที่เปิดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัย (Museum of Contemporary Art) ณ กรุงไทเป ประเทศไต้หวัน เมื่อ 2 ปีที่แล้ว

งานในครั้งนี้นับเป็นนิทรรศการศิลปะ LGBTQ ที่ใหญ่ที่สุดในทวีปเอเชีย เป็นการรวมผลงานกว่า 50 ศิลปินจาก 15 ประเทศและเขตบริหารพิเศษที่สะท้อนประเด็นเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ

ในงานนี้ ทีมภัณฑรักษ์ (curator) นำโดย ฉัตรวิชัย พรหมทัตตเวที กรรมการและเลขานุการมูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ ได้คัดสรรศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานเด่น เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันในประเด็นดังกล่าวผ่านงานศิลปะร่วมสมัย โดยมุ่งเน้นให้เห็นว่าเส้นแบ่งทางเพศกำลังเปลี่ยนไป กรอบเกณฑ์ต่าง ๆ เริ่มเปิดกว้าง รวมถึงการตั้งคำถามต่อค่านิยมและบรรทัดฐานต่าง ๆ ทางสังคม โดยในงาน ผู้ชมจะได้พบกับผลงานของศิลปินทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นการแสดงให้เห็นบริบททางสังคมที่ยอมรับความหลากหลายทางเพศ และสะท้อนลักษณะพิเศษของภูมิภาคนี้ที่เป็นแหล่งรวมความหลากหลายทางศาสนาและวัฒนธรรม

หัวหน้าทีมภัณฑรักษ์กล่าวในงานเปิดนิทรรศการว่า “ผลงานศิลปะที่จัดแสดงในนิทรรศการสนทนาสัปตสนธิ 2 นี้ จะเน้นเรื่องการยอมรับความหลากหลายทางเพศ แต่ถึงอย่างนั้น บทสนทนาจะไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในกลุ่ม LGBTQ โดยสิ่งที่ทำให้นิทรรศการนี้ทรงพลังและสำคัญมากคือ ศิลปินส่วนใหญ่มีประสบการณ์ส่วนตัวและรู้สึกร่วมไปกับประเด็นเหล่านี้ ยิ่งไปกว่านั้น นิทรรศการยังแสดงถึงอิสรภาพในงานศิลปะ อิสรภาพในการแสดงออกถึงการต่อสู้ของแต่ละคนเพื่อการยอมรับทางเพศ ให้คนยอมรับในความเป็นปกติ การต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน และการต่อสู้เพื่อให้คนที่ตำแหน่งและสถานะเท่าเทียมกันเคารพซึ่งกันและกัน”

แพทริค ซัน (Patrick Sun) ผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิซันไพรด์ กล่าวความรู้สึกต่องานในครั้งนี้ว่า “ผมหวังว่านิทรรศการในครั้งนี้จะส่งเสริมให้เกิดการอภิปรายกันในวงกว้างและสนับสนุนให้เกิดความเท่าเทียมสำหรับชุมชน LGBTQ”

สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถเข้าร่วมกิจกรรมและชมนิทรรศการได้ตั้งแต่วันนี้ ไปจนถึงวันที่ 1 มีนาคม 2563 ณ ห้องนิทรรศการหลัก ชั้น 7-8 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ bacc.or.th หรือ sunpride.hk