ชมมุมมองรอบดวงจันทร์จากยานอพอลโล 13 คมชัดระดับ Ultra HD

การท่องอวกาศเป็นเรื่องน่าตื่นตาตื่นใจ คงจะดีถ้าครั้งหนึ่งเรามีโอกาสได้ออกไปท่องอวกาศหรือเหยียบดวงจันทร์ อย่างที่ นีล อาร์มสตรอง (Neil Armstrong) เคยทำมาแล้วในปี 1969 ในปีหลัง ๆ มานี้มีการพูดถึงทัวร์ท่องเที่ยวอวกาศกันมากขึ้น แต่การไปอวกาศจริง ๆ ก็มีความเสี่ยงที่จะไปแล้วไม่ได้กลับมาสูง ดังนั้น ถ้าเราท่องอวกาศขณะที่อยู่ที่บ้านได้ ก็น่าจะดีใช่มั้ยล่ะ

ถ้าใครสนใจอยากชมภาพบนอวกาศ ช่วงนี้มีวิดีโอตัวใหม่ที่ไม่ควรพลาด เป็นวิดีโอที่องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ นาซา (NASA) เพิ่งปล่อยออกมาเมื่อวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งนาซาชวนเราย้อนไปชมภาพจากเหตุการณ์กู้วิกฤตของยานอวกาศอพอลโล 13 (Apollo 13) เมื่อปี 1970 ผ่านวิดีโอความยาว 2 นาที 24 วินาที ชื่อ “Apollo 13 Views of the Moon in 4K” ที่เผยแพร่ทางช่องยูทูบ NASA และ NASA Goddard

เหตุการณ์กู้วิกฤตของยานอวกาศอพอลโล 13 เป็นเหตุการณ์ที่เหล่านักบินอวกาศต้องยกเลิกภารกิจพิชิตดวงจันทร์ และใช้แรงโน้มถ่วงของมันในการเหวี่ยงยานกลับมาสู่โลกอย่างปลอดภัย ซึ่งผู้ชมสามารถสัมผัสประสบการณ์ที่เหล่านักบินอวกาศต้องเผชิญผ่านความคมชัดระดับ 4K (2160p) พร้อมดนตรีประกอบภาพพื้นผิวของดวงจันทร์ในมุมที่เหล่านักบินอวกาศบนยานอวกาศอพอลโล 13 เห็นในขณะปฏิบัติภารกิจกู้ยาน

เราจะได้เห็นตั้งแต่วิถีโคจรของยานอวกาศไปยังด้านหลังของดวงจันทร์อันมืดมิด เห็นภาพโลกกำลังตก (earthset) ไปจนถึงดวงอาทิตย์ขึ้น (sunrise) โดยระหว่างที่ยานอยู่ด้านหลังของดวงจันทร์นั้น ลูกเรือทั้ง 3 คนของยานอพอลโล 13 อยู่ภายใต้ความมืดมิดยาวนานถึง 8 นาที จนกระทั่งเริ่มเห็นพื้นผิวของดวงจันทร์ และเริ่มติดต่อกับศูนย์ควบคุมภารกิจได้อีกครั้ง

ข้อมูลทั้งหมดรวบรวมและทำขึ้นมาจากภาพถ่ายของยานอวกาศ Lunar Reconnaissance Orbiter หรือ LRO ที่ปล่อยโคจรรอบดวงจันทร์ตั้งแต่ปี 2009 โดยนาซาได้เร่งความเร็วของภาพเคลื่อนไหวให้เร็วกว่าสถานการณ์จริง เพื่อให้อยู่ภายใต้กรอบเวลาที่เหมาะสม

วิดีโอนี้นับเป็นงานชิ้นที่ 2 ของนาซา ที่เผยให้เห็นภาพของดวงจันทร์ในระดับ 4K ต่อจากคลิปวิดีโอ “Tour of the Moon in 4K” ที่เผยแพร่ทางช่องยูทูบ “NASA Goddard” ราว 2 ปีที่แล้ว

นอกจากเผยแพร่วิดีโอนี้ผ่านทางยูทูบแล้ว นาซายังใจดีปล่อยให้ดาวน์โหลดเป็นของสาธารณะ (public domain) ตั้งแต่ไฟล์ภาพนิ่งขนาด 155 KB ไปจนถึงไฟล์วิดีโอ quicktime ขนาด 6.9 GB ที่เป็น ProRes version สำหรับนักตัดต่อ ผ่านทางเว็บไซต์ของ Scientific Visualization Studio ของนาซาอีกด้วย

ใครอยากรู้ว่าความรู้สึกบนอวกาศเป็นอย่างไร ก็สามารถสัมผัสกันได้ง่าย ๆ แค่ปลายนิ้วเลย