7 ผักสวนครัว เลี้ยงง่าย น่าปลูกไว้ทำกับข้าวช่วงอยู่บ้าน

การปลูกผักสวนครัวทานเองมีข้อดีหลายอย่าง ทั้งมั่นใจได้ในเรื่องความสะอาด ปราศจากสารเคมี (ถ้าเราไม่ใช้นะ) และในสถานการณ์ปัจจุบันยังเป็นการช่วยเพิ่มความมั่นคงทางอาหารในช่วงที่ไวรัสแพร่ระบาด ซึ่งมีแนวโน้มว่าเราจะต้องอยู่กับมันไปอีกนาน ดังนั้น การปลูกผักสวนครัวเพื่อรับประทานเอง หรือแบ่งปันให้แก่คนที่ต้องการดูจะเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่น่าสนใจในช่วงที่ต้องกักตัวอยู่บ้านแบบนี้

ถ้าจะเริ่มปลูกผักไว้กินเอง ควรปลูกอะไรดี อย่างแรกควรถามตัวเองก่อนว่าตัวเราชอบกินผักอะไร ชอบทำกับข้าวเมนูไหน แล้วอันดับถัดไปก็พิจารณาดูว่าผักที่เราชอบกินนั้นมันปลูกง่ายหรือยาก ใช้พื้นที่มากหรือเปล่า แล้วตัวเรามีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่หรือไม่ ถ้าใครอยู่บ้านเดี่ยวมีพื้นที่เยอะก็จะมีตัวเลือกเยอะกว่า แต่ถ้าใครมีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ อย่างคนที่อยู่ทาวน์เฮาส์และคอนโดฯก็ต้องหาพืชผักที่สามารถปลูกในกระถางได้

จากเงื่อนไขที่ว่านี้ “ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” ได้เลือกผักสวนครัว 7 ชนิดที่ปลูกง่าย ดูแลไม่ยาก ใช้พื้นที่ไม่เปลือง และเป็นผักที่คนไทยเรานิยมทานมาแนะนำ คุณชอบผักชนิดไหน จะปลูกอย่างไร มาดูกันเลย

กะเพรา

หนึ่งในส่วนประกอบสำคัญในเมนูอาหารยอดนิยมในเมืองไทย กะเพราเป็นพืชสมุนไพรล้มลุก มีสรรพคุณขับลม แก้จุกเสียด แน่นท้อง ช่วยย่อยอาหาร แก้คลื่นเหียนอาเจียน นอกจากสรรพคุณจากการทานใบกะเพราแล้ว

เมล็ดกะเพรายังสามารถนำไปแช่น้ำให้พองตัวเพื่อพอกตาแก้อาการระคายเคืองจากฝุ่นได้ นอกจากนั้น รากกะเพรายังสามารถต้มดื่มแก้โรคธาตุพิการ และมีสรรพคุณอื่น ๆ อีกมากมาย

วิธีปลูก กะเพราเป็นพืชทนแล้งเพียงหว่านเมล็ด ใช้ฟางหรือปุ๋ยคอกโรยทับบาง ๆ (ถ้าไม่มี ข้ามส่วนนี้ไปได้) และหมั่นรดน้ำตามจนงอกเป็นต้นกล้า แล้วถอนจัดระยะห่างของต้น หรือแยกปลูกในกระถางใหม่ แล้วหมั่นรดน้ำอย่างสม่ำเสมอ รอโตเต็มที่ก็พร้อมเด็ดมาทำเมนูอร่อย ๆ ได้เลย

ถั่วงอก

ผักที่แทบทุกคนคุ้นเคยหรือเคยปลูกมาแล้ว ถั่วงอกเป็นผักที่มีสารอาหารสูง มีไฟเบอร์สูง ช่วยในการขับถ่าย มีเอนไซม์ช่วยย่อยอาหาร มีวิตามินซีและสารต้านอนุมูลอิสระช่วยให้ดูอ่อนกว่าวัย เหมาะแก่การทานเพื่อบำรุงผิวพรรณ อีกทั้งยังให้พลังงานต่ำ ทานแล้วไม่อ้วน และยังมีสรรพคุณอีกสารพัด ที่สำคัญปลูกง่าย ใช้เวลาเพียง 4-5 วันก็พร้อมรับประทาน การปลูกถั่วงอกสามารถทำได้หลายวิธี ซึ่งมีรายละเอียดต่างกันอยู่นิดหน่อยขึ้นอยู่กับว่าเราปลูกใส่ในภาชนะอะไร เมล็ดถั่วที่นิยมนำมาปลูกถั่วงอก คือ เมล็ดถั่วเขียวผิวดำ เพราะมีอัตราการงอกดี โตไว และมีคุณค่าทางอาหารสูง

วิธีปลูก สำหรับวิธีที่เรานำมาแนะนำ คือ การปลูกในภาชนะที่มีรู เช่น ตะกร้า เริ่มจากล้างถั่วเขียวแช่ในน้ำอุ่น 1 คืน เทน้ำออก เตรียมภาชนะ นำกระดาษทิสชู่วางที่ก้นตะกร้า นำเมล็ดถั่วมาวางให้ทั่ว แล้วคลุมด้วยผ้าชุบน้ำ หมั่นรดน้ำ 3 เวลา ไม่เกิน 4 วันเราจะได้ถั่วงอกสดพร้อมรับประทาน

พริก

สมุนไพรรสเผ็ดร้อนที่อยู่คู่ครัวไทยมานานนอกจากให้รสเผ็ดจัดจ้านแล้วยังมีสรรพคุณไม่ใช่น้อย ทั้งช่วยสร้างภูมิต้านทาน ลดน้ำตาลในเลือด ป้องกันโรคมะเร็ง ลดความเสี่ยงโรคหัวใจ สารเทอร์โมเจนิกในพริกเป็นสารก่อความร้อนในร่างกาย ส่งผลดีต่อระบบเผาผลาญ ช่วยในการลดน้ำหนักได้ อีกทั้งยังมีสารเอนดอร์ฟินช่วยให้อารมณ์ดี ทำให้อาหารอร่อยขึ้น และคุณประโยชน์อื่น ๆ อีกมาก

วิธีปลูก นำพริกแช่ในน้ำอุ่นทิ้งไว้ 1 วัน แล้วผึ่งแดด แกะเอาเมล็ดหยอดลงในดินที่เตรียมไว้ (ถ้าให้ดีควรเป็นดินร่วนปนทราย) แล้วรดน้ำทุกวัน รอให้งอกเป็นต้นกล้ามีใบ ดูแล้วว่าน่าจะแข็งแรงจึงย้ายต้นกล้าไปปลูกในกระถางแยกต้นใครต้นมัน หมั่นรดน้ำ ถ้าจะให้ดีควรพรวนดินสม่ำเสมอ แต่ต้องระวังอย่าไปกระทบกระเทือนรากพริก ถ้าปลูกกระถางเล็กไม่ต้องพรวนดินก็ได้ 2-3 เดือนนับจากเริ่มเพาะต้นกล้า พริกก็จะออกผลให้เราเด็ดมาปรุงอาหารได้แล้ว

คะน้า

อีกหนึ่งผักคู่เมนูอาหารที่คนไทยนิยม คะน้าเป็นผักสีเขียวจัด กินได้ทั้งใบไปจนถึงก้าน มีวิตามินเอและซี ช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน นอกจากนั้น วิตามินเอและสารลูทีนในผักคะน้ายังมีส่วนช่วยบำรุงสายตา มีแคลเซียมช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูก และคุณประโยชน์อื่น ๆ อีกมากมาย

วิธีปลูก คะน้าปลูกง่ายเพียงมีถาดพลาสติกใส่ดินพร้อมปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก นำเมล็ดใส่ในหลุมดิน เติมดินกลบ และหมั่นรดน้ำ พอเข้าวันที่ 20-25 ต้นอ่อนคะน้าจะโตพอให้ย้ายไปปลูกในกระถาง ใช้เวลาประมาณ 45 วันก็สามารถเก็บมากินได้

ผักบุ้ง

ผักบุ้งเป็นพืชล้มลุกชนิดไม้เลื้อยที่มีเนื้ออ่อน ลำต้นกลวง ที่คนไทยนิยมรับประทานมี 3 สายพันธุ์ ได้แก่ ผักบุ้งไทย ผักบุ้งจีน และผักบุ้งนา ทั้ง 3 สายพันธุ์มีคุณประโยชน์และสรรพคุณใกล้เคียงกัน มีสารซีลีเนียมและสังกะสีที่ช่วยผ่อนคลายประสาท รักษาอาการนอนไม่หลับได้ และธาตุเหล็กในผักบุ้งยังช่วยบำรุงเลือดด้วย

วิธีปลูก นำเมล็ดผักบุ้งแช่น้ำไว้ 1 คืน แล้วห่อด้วยผ้าชื้นไว้อีก 2 คืน เมื่อรากงอกจึงนำเมล็ดปลูกลงในดินหลุมละเมล็ด ปิดปากหลุม รดน้ำ รอต้นผักบุ้งงอกและโตพอประมาณก็พร้อมตัดมารับประทาน

ต้นอ่อนทานตะวัน

ต้นอ่อนทานตะวัน คือ ต้นทานตะวันอายุ 7-11 วัน ซึ่งในต้นอ่อนนี้อุดมไปด้วยสารอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ไฟเบอร์ โปรตีน เหล็ก แคลเซียม สังกะสี และโพแทสเซียม อีกทั้งยังมีไขมันชนิดที่ดีต่อร่างกายด้วย ที่สำคัญต้นอ่อนทานตะวันมีส่วนช่วยในการป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจด้วย

วิธีปลูก นำเมล็ดทานตะวันแช่น้ำค้างคืน เทดินใส่ภาชนะให้ทั่ว ฉีดน้ำให้ชุ่ม หว่านเมล็ดลงไปในดิน แล้วนำภาชนะมาปิดครอบไว้ รอประมาณ 7 วัน ต้นอ่อนทานตะวันก็พร้อมให้เราเก็บรับประทาน

ผักกวางตุ้ง

อีกหนึ่งผักใบเขียวที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ มีแคลเซียม วิตามินเอ และวิตามินซี ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกาย วิตามินเอช่วยบำรุงสายตา และมีสารที่ช่วยกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งสารฟีโรโมน ช่วยในเรื่องของกลิ่นตัว


วิธีปลูก เริ่มจากการเพาะกล้าในถาดพลาสติกที่มีดินผสมปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก หยอดลงหลุม หลุมละ 1-2 เมล็ดหมั่นรดน้ำ เมื่อเข้าสู่วันที่ 7-10 จะเริ่มเห็นต้นอ่อนเจริญเติบโต พอเข้าสู่วันที่ 20-25 ก็สมควรแก่การย้ายไปปลูกในกระถาง จากนั้นรดน้ำสม่ำเสมอ พอเข้าสู่วันที่ 40-45 ก็สามารถเก็บมารับประทานได้