วิถีใหม่ซื้อเครื่องสำอางยุคโควิด ลองอย่างไรไม่เสี่ยงติดเชื้อ

อย่างที่มีการพูดกันมาเยอะแล้วว่า การเกิดโรคระบาดใหญ่ครั้งนี้ได้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คนทั่วโลกไปมากมายหลายมิติ บางอย่างก็เปลี่ยนเล็กน้อย แต่บางอย่างก็เปลี่ยนชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ วิถีหนึ่งที่เปลี่ยนไปมาก อย่างน้อยก็ในช่วงนี้ก็คือ วิถีการซื้อเครื่องสำอางที่ส่วนมากจะไม่มี tester หรือสินค้าทดลองให้ลองได้อย่างเพลิดเพลินตามอัธยาศัยเหมือนเดิมแล้ว เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อผ่าน tester ที่ใช้ร่วมกันนั่นเอง

แม้ไม่มีข้อมูลวิชาการอะไรมาบอก เราก็พอรู้กันอยู่แล้วว่า การใช้เครื่องสำอางทดลองที่ผ่านการสัมผัสผิวหนังของคนจำนวนมาก คนแล้วคนเล่า ไม่รู้ว่าใครเป็นใครนั้น ย่อมเสี่ยงที่จะเกิดการติดเชื้อโรคได้

แต่ถ้าต้องการข้อมูลการศึกษาวิจัย เมื่อเร็ว ๆ นี้ก็มีข้อมูลในคอนเทนต์ของ Business Insider ที่บอกว่า มีการศึกษาวิจัยชิ้นหนึ่งในปี 2562 พบว่า อย่างน้อย 70% ของลิปสติก ลิปกลอส อายไลเนอร์ มาสคาร่า และฟองน้ำแต่งหน้า มีการปนเปื้อนจุลินทรีย์ในระดับที่มีนัยสำคัญ

ก่อนหน้านั้นอีก ในปี 2560 มีผู้หญิงคนหนึ่งฟ้องแบรนด์ร้านขายสินค้าความงามระดับโลกแบรนด์หนึ่งว่า เธอติดเชื้อไวรัสเริมจากการทดลองลิปสติกในร้านของแบรนด์นี้ ข้อมูลเหล่านี้ย้ำให้เห็นว่าไวรัสสามารถมีชีวิตอยู่ได้บนลิปสติกและเครื่องสำอางสำหรับทดลอง ซึ่งเราอาจรับมันมาโดยไม่รู้ตัวระหว่างที่เพลิดเพลินกับการเลือกซื้อเครื่องสำอาง

นั่นคือความน่ากังวลที่มีมาอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนจะมีโควิด-19 ระบาด และแน่นอนว่าเมื่อเกิดโรคระบาดใหญ่ขึ้น ระดับความน่ากังวลของการที่ผู้คนจะติดเชื้อผ่านการลองเครื่องสำอางก็ยิ่งมากขึ้นอีก

ถึงแม้จะมีความน่ากังวลขนาดไหน แต่ก็เชื่อว่าบรรดาห้าง-ร้านขายเครื่องสำอาง และแบรนด์ต่าง ๆ จะต้องหาวิธีการลองเครื่องสำอางแบบที่ปลอดภัยกว่าเดิมจนได้นั่นแหละ เพราะเครื่องสำอางเป็นสินค้าที่จำเป็นต้องลองเพื่อเลือกให้เหมาะสมกับเฉพาะตัวบุคคลนั้น ๆ ถ้าลองไม่ได้ ผู้บริโภคก็ไม่มีความมั่นใจที่จะซื้อ ส่งผลให้ยอดขายลดน้อยลงไป ซึ่งคงไม่ใช่เรื่องที่ห้าง ร้าน และแบรนด์เครื่องสำอางยินดี

ในบ้านเรา หลังจากที่รัฐบาลคลายล็อกดาวน์ให้เปิดห้าง-ศูนย์การค้าได้เมื่อช่วงกลางเดือนที่แล้ว ทีมงาน “ดีไลฟ์” ของเราได้ไปเดินสำรวจแผนกเครื่องสำอางในห้าง และร้านมัลติแบรนด์สินค้าความงามต่าง ๆ พบว่า แนวปฏิบัติในการลองเครื่องสำอางนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับห้างหรือร้าน แต่ขึ้นอยู่กับแบรนด์

ในแผนกเครื่องสำอางของห้างสรรพสินค้าอันดับ 1 ของไทย บางแบรนด์ยังวางเทสเตอร์บนเคาน์เตอร์ แต่บางแบรนด์ก็เก็บเทสเตอร์ลงหมดเกลี้ยง เหลือเพียงสินค้าตัวโชว์เท่านั้น หากลูกค้าอยากลองสินค้าก็ขึ้นอยู่ที่นโยบายของแบรนด์นั้น ๆ กำหนดข้อปฏิบัติไว้อย่างไร

ยกตัวอย่างแบรนด์เครื่องสำอางจากฝรั่งเศสแบรนด์หนึ่งที่ยังวางสินค้าสำหรับทดลองไว้บนเคาน์เตอร์เหมือนปกติ พนักงานให้ข้อมูลว่าลูกค้ายังสามารถลองสินค้าได้ แต่ไม่ใช่ลองได้ตามอัธยาศัยแบบเดิม พนักงานจะต้องคอยดูแลตลอดขั้นตอนการลองสินค้า โดยลูกค้าต้องล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ก่อน แล้วใช้ applicator แบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง เพื่อไม่ให้เครื่องสำอางในหลอดหรือตลับสำหรับทดลองสัมผัสกับผิวของลูกค้าโดยตรง ขณะเดียวกันพนักงานก็จะทำความสะอาดเครื่องสำอางและเคาน์เตอร์ที่ลูกค้าต้องสัมผัสอย่างสม่ำเสมอ โดยการเช็ดด้วยแอลกอฮอล์ ซึ่งแนวปฏิบัติแบบนี้ก็คล้าย ๆ กันกับอีกหลายแบรนด์

จากการสอบถามทางเซโฟรา (Sephora) แบรนด์ร้านสินค้าความงามระดับโลกจากฝรั่งเศสบอกว่า แนวปฏิบัติเรื่องการลองสินค้าที่เซโฟรา (ประเทศไทย) ถือปฏิบัติ ซึ่งก็เป็นนโยบายจากสำนักงานใหญ่ของเซโฟราที่ใช้ทั่วโลก คือ ไม่มีการวาง tester ที่เคาน์เตอร์ให้ลูกค้าลองเองเหมือนเมื่อก่อนแล้ว ถ้าลูกค้าอยากลองสินค้าต้องเรียกพนักงาน แล้วพนักงานจะนำ tester มาให้ทดลองใช้ โดยจะวางแผ่นพลาสติกใสบนพื้นผิวที่จะลอง แล้วทาเครื่องสำอางลงบนแผ่นพลาสติกใสนั้น ลูกค้าก็จะเห็นสีที่เหมือนทาลงบนผิวจริง แต่เครื่องสำอางทดลองจะไม่สัมผัสโดนตัวใครเลย ส่วน applicator ที่ใช้ก็เป็นแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง

ส่วนฝั่งที่เข้มงวด ระมัดระวังสุด ๆ ไม่ให้ลองสินค้าเลยก็มีอย่างร้านวัตสัน (Watsons) ที่เปิดร้านด้วยแนวทางการช็อปแบบ “screening-social distancing-cleaning-touchless” ซึ่งหนึ่งในข้อปฏิบัติตามแนวทางใหม่นี้คือ “งดให้บริการสินค้าทดลอง (tester) ทุกชนิด”

เป็นไปได้ว่าวิถีการลองเครื่องสำอางแบบใหม่นี้อาจกลายเป็นความปกติใหม่ที่คงอยู่ต่อเนื่องไปในอนาคต เพราะด้วยความรุนแรงของโรคโควิด-19 ในครั้งนี้ ทำให้คนเราตระหนักถึงความเสี่ยงของการใช้สิ่งของร่วมกันมากขึ้น ถึงแม้ไม่ติดโควิดก็เสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรียอื่น ๆ อีกมากมาย