“มากกว่า 42.195” บันทึกเรื่องราวการวิ่งตลอดชีวิตของ “ป๊อก-อิทธิพล”

ป๊อก-อิทธิพล สมุทรทอง คือผู้ก่อตั้งกลุ่มเฟซบุ๊ก “42.195 K Club…เราจะไปมาราธอนด้วยกัน” ซึ่งเป็นที่รู้จักกันอยู่แล้วในหมู่นักวิ่ง แล้วเขาก็เป็นที่รู้จักในวงกว้างขึ้นจากการวิ่งข้างกาย “พี่ตูน” อาทิวราห์ คงมาลัย ในการวิ่งการกุศลโครงการ “ก้าวคนละก้าว” หลังจากนั้นเขากลายเป็นที่สนใจและถูกสื่อสัมภาษณ์ไปเป็นจำนวนมากแล้ว แต่ถึงอย่างนั้น คงยังไม่มีบทสัมภาษณ์ชิ้นไหนที่จะทำให้เรารู้จักผู้ชายคนนี้ได้มากไปกว่าหนังสือที่เจ้าตัวเขียนบอกเล่าเรื่องราวของตัวเอง

“พี่ป๊อก” ของเหล่านักวิ่งเพิ่งออกหนังสือเล่มแรกในชีวิต ชื่อหนังสือว่า “มากกว่า 42.195” กับสำนักพิมพ์มติชน ซึ่งจะวางขายในมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 25 ที่จะเริ่มเปิดงานในสิ้นเดือนนี้

หนังสือเล่มแรกในชีวิตของ ป๊อก-อิทธิพล สมุทรทอง ไม่ได้เกิดจากเจ้าตัวอยากทำหนังสือ แต่เกิดจากสำนักพิมพ์มติชนที่เล็งเห็นว่าชีวิตของเขาน่าสนใจมาก “จะมีคนอยากอ่านหนังสือเรื่องชีวิตผมจริง ๆ เหรอ” เจ้าตัวสงสัย และยังไม่ได้ตอบรับในตอนแรก แต่หลังจากคุยกันหลายครั้ง ในที่สุดเขาก็ตกลงปลงใจ จนเกิดเป็นหนังสือ “มากกว่า 42.195” ที่มีความยาว 200 หน้านิด ๆ

หนังสือเล่มนี้บอกเล่าเรื่องราวในชีวิตของเขาตั้งแต่วัยเด็กจนถึงปัจจุบัน ผ่านประสบการณ์การวิ่ง และเรื่องราวต่าง ๆ มามากมาย ซึ่งจะบอกเล่าให้ผู้อ่านทราบว่า อะไรทำให้เขาสนใจการวิ่ง เขามีทัศนคติต่อการวิ่งและเรื่องต่าง ๆ อย่างไร หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่ how to การวิ่ง แต่เป็นหนังสือที่น่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้คนที่อยากวิ่งได้เริ่มต้นเสียที หรือแม้แต่คนที่ไม่เคยคิดจะวิ่งเลยก็อาจจะอยากวิ่งขึ้นมาก็ได้

อิทธิพล สมุทรทอง บอกว่าตัวเองเป็นเพียงคนธรรมดาที่ชอบวิ่ง จุดเริ่มต้นการวิ่งของนักวิ่งผู้มีชื่อเสียงในวันนี้เริ่มมาจากการสอบตกวิชากรีฑา !

ป๊อกเล่าว่า เขาสอบตกวิชากรีฑาสมัยเรียน ม.3 ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยนนทบุรี จึงต้องสอบซ่อมเรื่องวิ่ง เมื่อคุณอาของเขารู้เรื่องจึงบอกว่า “ออกไปวิ่งสิ ไปใกล้ ๆ บ้านนี่แหละ” เพียงแค่นั้นเองที่ทำให้เขาออกไปวิ่งวันละประมาณ 12 กิโลเมตร จากนั้นการวิ่งก็เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเขาเรื่อยมา

เขาวิ่งมาแล้ว 30 กว่าปี วิ่งมาแล้วทุกรูปแบบ ทั้งระยะใกล้และไกล ทั้งบนถนนคอนกรีต บนดินบนหินในป่า บนหญ้า บนทราย บนแผ่นน้ำแข็ง รายการวิ่งที่มีชื่อเสียงในโลกนี้ เขาไปมาเกือบหมดแล้ว

จากที่วิ่งธรรมดา ๆ มาวันหนึ่งเขากลายเป็นคนดัง-อินฟลูเอนเซอร์ในวงการวิ่ง เราอาจคิดว่าเขาจะมีรายได้มากมายจากกระแสความนิยมในการวิ่ง เหมือนกับที่อินฟลูเอนเซอร์สายอื่น ๆ ทำเงินได้เป็นล่ำเป็นสันจากการที่สินค้าต่าง ๆ ทำการตลาดผ่านอินฟลูเอนเซอร์ แต่เปล่าเลย ป๊อกบอกว่าเขาเคยได้เงินจากการวิ่งเพียงครั้งสองครั้งเป็นหลักไม่กี่หมื่นบาทเท่านั้น นอกจากนั้นก็เพียงแค่ใช้สินค้าของสปอนเซอร์ที่ตัวเองใช้อยู่แล้ว หรือช่วยใช้สินค้าของเพื่อนฝูงมิตรสหาย แต่ไม่ได้เงินเลย

อิทธิพล สมุทรทอง
อิทธิพล สมุทรทอง

เขาบอกว่าตัวเองเป็น “นักวิ่งสายเสียตังค์” มีแต่จ่ายเงินของตัวเองเพื่อไปวิ่ง โดยไม่เคยจำกัดงบฯสำหรับการวิ่งเลย ส่วนเงินที่ลงทุนไปกับการวิ่งทั้งหมดนั้นมาจากการทำงานเป็นตัวแทนขายประกันที่เขาทำมานานเกือบ 30 ปี

“ถ้าย้อนกลับไปได้อยากไปเป็นผู้จัดงานวิ่ง เพราะรวย” เขาพูดเล่น ๆ พร้อมหัวเราะ หลังจากพูดถึงเทรนด์ความนิยมในการวิ่ง ซึ่งส่งผลบวกทางเศรษฐกิจต่อธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับงานวิ่ง

จากประสบการณ์การวิ่งที่ผ่านมาแล้วทุกรูปแบบ การวิ่งครั้งที่ป๊อก-อิทธิพลประทับใจที่สุด คือ การวิ่งโครงการก้าวคนละก้าว ที่ได้ทำประโยชน์เพื่อคนอื่น ส่วนการวิ่งที่ไม่ได้เป็นการแข่งขันหรือเป็นทางการที่เขาประทับใจมากที่สุด คือ การวิ่งจากบ้านไปสนามบินสุวรรณภูมิกับลูกชาย ระยะทาง 33 กิโลเมตร วาระฉลองที่ลูกเรียนจบ ม.6 ซึ่งเขาบอกว่าประทับใจมากที่ได้เห็นความจริงจัง-ตั้งใจของลูกชาย

ส่วนการวิ่งที่เป็นการแข่งขัน รายการที่เขาประทับใจที่สุด คือ “Saroma 100” งานวิ่งระยะ 100 กิโลเมตร ที่เก่าแก่และขลังที่สุดในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเขาไปวิ่งมาแล้ว 3 ครั้ง เขาไปวิ่งรายการนี้ครั้งแรกในปี 2017 แต่วิ่งไม่จบ เพราะร่างกายยังโทรมและล้าจากการวิ่งรายการ “Mozart 100” ประเทศออสเตรีย ที่เขาเพิ่งไปวิ่งมาก่อนหน้านั้นเพียง 1 สัปดาห์ แต่ปีต่อมาและอีกปีถัดมา เขาก็ไปแก้มือได้สำเร็จทั้ง 2 ปี ถึงปัจจุบันเขาไปวิ่งรายการนี้มาแล้ว 3 ครั้ง

ถึงแม้หนังสือ “มากกว่า 42.195” ไม่ใช่หนังสือ how to การวิ่ง แต่การได้เจอนักวิ่งมากประสบการณ์ก็อดถามคำแนะนำเกี่ยวกับการวิ่งไม่ได้ เมื่อขอให้เขาให้คำแนะนำสำหรับคนที่วิ่งมาราธอนครั้งแรกจะทำอย่างไรให้รอดถึงเส้นชัย

“พี่ป๊อก” ของหลาย ๆ คนแนะนำว่า อันดับแรก ก่อนจะวิ่งมาราธอนให้วิ่งฮาล์ฟมาราธอนให้เยอะ ๆ ก่อน “วิ่งฮาล์ฟจนเป็นขนม” คำที่เขาเปรียบเทียบ ความหมายคือวิ่งฮาล์ฟให้ชินจนรู้สึกว่าเป็นเรื่องง่าย ๆ อยากวิ่งเมื่อไหร่ก็ได้ เมื่อวิ่งฮาล์ฟเยอะ ๆ แล้วจะรับรู้สมรรถภาพร่างกายตัวเอง จะฟังเสียงร่างกายตัวเองได้ จะรู้ความเมื่อย ความเจ็บปวด ความเหนื่อย ถ้าวิ่งฮาล์ฟจนชินแล้วการวิ่งมาราธอนจะสนุก

อันดับต่อมา เลือกรายการวิ่งมาราธอนว่าจะไปวิ่งรายการไหน เมื่อเลือกรายการได้แล้ววางแผนการซ้อม ซึ่งในขณะที่ซ้อมเราจะรับรู้ร่างกายตัวเอง และจะมีเป้าหมาย

“ผมว่านอกเหนือจากมาราธอน ชีวิตเราก็เหมือนกัน ควรจะตั้งเป้าหมายว่า ช่วงนี้อยากจะ achieve อะไร ทั้งการกีฬาและชีวิตมันใช้ได้เหมือนกัน ถ้าไม่มีเป้าหมายมันก็จะลอย ๆ ไปเรื่อย ๆ ถ้ามีเป้าหมายเราก็จะตื่นเต้นกับเป้าหมาย แต่ถ้าไม่มีเป้าหมาย การจะลงไปซ้อมในสนามข้างบริษัทยังยากเลย”

แต่ถึงแม้จะบอกว่าควรวิ่งฮาล์ฟเยอะ ๆ ก่อนขยับขึ้นไปมาราธอน ป๊อกยังบอกอีกว่าคนบางคน born to be สามารถวิ่งมาราธอนได้ง่าย ๆ อาจจะเพราะยุคนี้มีสนามให้วิ่ง ให้แสดงฝีมือเยอะ คนจึงเก่งขึ้น “ปัจจุบันสูตรของผมอาจจะไม่ได้ผล แต่ถ้าจะให้ยั่งยืนน่าจะไปทำนองนี้ มีสื่อเคยถามผมว่า 1 ปีควรวิ่งมาราธอนกี่ครั้ง ผมคิดว่าไม่เกิน 3 ครั้ง เพราะถ้าซ้อมพีก ๆ 4 เดือนแล้วแข่ง แล้วพักสักหน่อย แล้วค่อยหาตารางแข่งใหม่ มันจะแฮปปี้มากเลย ถ้าวิ่งมากไปก็ไม่ดี น้อยไปก็ไม่ดี”

ที่เล่ามาก็เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งในชีวิตของป๊อก-อิทธิพล สมุทรทอง ที่มีเรื่องราว-เหตุการณ์น่าสนใจอีกมากมาย ซึ่งถ้าใครสนใจอยากรู้อะไรมากกว่านี้ และอยากได้แรงบันดาลใจที่จะลุกออกไปวิ่ง เราคงต้องแนะนำให้ไปหาอ่านกันในหนังสือ “มากกว่า 42.195” สำหรับใครที่อยากเจอ อยากพูดคุยกับ “พี่ป๊อก” นักวิ่งใจดี-อารมณ์ดีคนนี้ ก็ไปเจอกันได้ในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 25 ณ เวทีกลาง อิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ฮอลล์ 2 เมืองทองธานี ซึ่งเขามีกำหนดการเปิดตัวหนังสือในวันเสาร์ที่ 10 ตุลาคม 2563 เวลา 14.00-15.00 น. และต่อจากนั้นเป็นคิวแจกลายเซ็นที่บูทมติชน H26 เวลา 16.00-17.00 น.