สีสันตามฤดูกาลธรรมชาติของแม่น้ำโขง กับวิถีชีวิตของคนริมฝั่ง

จุดบรรจบแม่น้ำสองสี แม่น้ำโขง และแม่น้ำมูล บริเวณวัดโขงเจียม อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี

ต้นกำเนิดของแม่น้ำโขง มาจากหิมะที่ละลายของเทือกเขาหิมาลัยในเขตทิเบต มีความยาวประมาณ 5,000 กิโลเมตร จากต้นกำเนิด จนถึงสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงในประเทศเวียดนามก่อนไหลลงสู่ทะเล น้ำในแม่น้ำโขงตอนล่างซึ่งแบ่งพรมแดนระหว่างไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ผู้คนริมสองฝั่งโขงใช้ประโยชน์จากแม่น้ำสายหลักแห่งนี้ ทั้งการเกษตร ปศุสัตว์ การประมง และการท่องเที่ยว เรียกได้ว่าวิถีชีวิตทุกด้านของคนริมฝั่ง ต้องพึ่งพาทรัพยากรในแม่น้ำโขง 

สีของแม่น้ำโขงที่แปรผันไปตามฤดูกาลนั้นมีมาอย่างยาวนาน ในหน้าแล้งน้ำจะมีความใส เพราะไม่มีฝนเป็นตัวชะล้างหน้าดินในพื้นที่รับน้ำและตะกอนจากแม่น้ำสาขาลงสู่ลำน้ำ แต่เมื่อถึงฤดูฝนแม่น้ำโขงจะมีสีปูนเพราะมีฝนเป็นปัจจัยหลักในการชะล้างหน้าดินและตะกอนจากแม่น้ำสาขาลงสู่ลำน้ำโขง ในฤดูน้ำขึ้น ปลาในแม่น้ำโขงก็จะอพยพย้ายถิ่นเพื่อการวางไข่ เมื่อปริมาณน้ำในแม่น้ำมากขึ้น ระดับน้ำสูง ชาวบ้านก็จะนำเรือออกมาหาปลา จับปลาขาย ช่วงฤดูแล้งปริมาณน้ำลดลง พื้นที่ในแม่น้ำโขงหลายแห่งมีเกาะแก่งโผล่ เกิดหาดทราย ชุมชนก็ใช้พื้นที่จัดกิจกรรมและนันทนาการต่างๆ นำสู่การท่องเที่ยว และเกษตรริมตลิ่ง

น้ำโขงตามฤดูกาล เปลี่ยนสีธรรมชาติสร้าง

“แม่น้ำโขงจะต้องเปลี่ยนสีเป็นเรื่องปกติ ถึงหน้าฝนมาปุ๊บ มันก็จะเปลี่ยนเป็นสีแดงขุ่น พอหมดฝนมันก็จะค่อยๆ ใส แต่ช่วงนี้มันจะเป็นสีแดง ประมาณเดือนพฤศจิกายน ถึงธันวาคม สีน้ำจะเริ่มใส จะไม่ขุ่นแบบนี้ ใสจนสามารถตักไปอาบได้เลย และจะใสไปตลอดหน้าแล้ง พอฝนตกมาน้ำในน้ำโขงก็กลับมาสีแดงใหม่ เปลี่ยนไปอย่างนี้ทุกปีนั่นแหละ” นายทรงวุฒิ พิณรัตน์  ชาวบ้านผู้เลี้ยงปลาในกระชังริมแม่น้ำโขง บ้านพร้าวใต้ ต.หินโงม อ.เมือง จ.หนองคาย บรรยายสภาพของแม่น้ำโขงที่เขาคุ้นเคยและหาอยู่หากินทุกวัน 

นายฉวี กอมณี อาชีพชาวประมงและเรือท่องเที่ยว อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี

ขณะที่ผู้เฒ่าวัย 78 ปีที่เกิดและเติบโตในอ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี อย่าง “นายฉวี กอมณี” ที่หาปลาริมโขง มาตั้งแต่วัยหนุ่มก็บอกว่าสีน้ำโขงของฤดูแล้งกับฤดูฝนแตกต่างกันชัดเจนเช่นกัน “หน้าแล้งน้ำจะใส ฝนตกมาน้ำจะขุ่น เป็นไปตามธรรมชาติของมันทุกปี ตอนที่แม่น้ำโขงเป็นสีใสในช่วงหน้าแล้ง ก็มีคนมาท่องเที่ยวกันเยอะ มาดูแม่น้ำเปลี่ยนสี มาดูแม่น้ำสองสี เรื่องน้ำใสน้ำขุ่นเราเห็นมาตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ 

โตมาจนแก่ก็เป็นแบบนี้ มันไม่ใช่เพิ่งมาเปลี่ยนมันเป็นแบบนี้มานานแล้ว หมดฤดูน้ำแดง น้ำก็จะเริ่มใสและนิ่งมากขึ้นในช่วงหลังออกพรรษา ในช่วงเดือนเมษายนน้ำจะลงและใสมากขึ้น เห็นความแตกต่างระหว่างสีของแม่น้ำโขงและแม่น้ำมูลได้อย่างชัดเจน คนก็เริ่มมาเที่ยวดูแม่น้ำและเล่นสงกรานต์”

ดร.สุริยา จงโยธา ประมงจังหวัดหนองคาย อธิบายว่า แม่น้ำโขง มีสีขุ่น หรือที่เรียกว่าสีปูน จะขุ่นมากน้อยขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงและความแปรปรวนของฤดูกาล โดยในช่วงปลายปีก่อนฤดูน้ำหลาก ที่เห็นแม่น้ำโขงมีความใสเนื่องจาก การตกตะกอนของอนุภาคที่แขวนลอยในน้ำ ปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงมีน้อยในหน้าแล้ง อัตราการไหลของกระแสน้ำช้าลง  การกัดเซาะของตะกอนดินต่างๆ ลดลง ซึ่งเกิดทั้งในตัวแม่น้ำโขงเองและแม่ลำน้ำสาขาต่างๆ ที่ไหลลงสู่แม่น้ำโขง ดังนั้นในฤดูแล้งเมื่อเรามองลงไปในแม่น้ำโขง จะสะท้อนสีของท้องฟ้า ทำให้บางครั้งเรามองเห็นแม่น้ำโขงเป็นสีฟ้าหรือสีคราม 

น้ำเปลี่ยนตามฤดู สัมพันธ์กับวิถีชีวิตของคนริมฝั่งโขงอย่างไร? 

“ช่วงหน้าแล้งที่น้ำลด เราก็ขยับพื้นที่เพาะปลูกและเลี้ยงปลาไปตามระดับของแม่น้ำ พื้นที่ทำกินของเราก็ลดลงไปใกล้ๆ น้ำ ถ้าช่วงระดับน้ำขึ้นสูง กระชังปลาก็ขยับตาม ส่วนพื้นที่ปลูกผักก็ขยับขึ้นมาริมตลิ่ง เราปลูกพืชผักสวนครัวเอาไว้เพื่อกินเองในครอบครัว ถ้าเหลือก็ขายหรือแบ่งปันให้เพื่อนบ้านได้ด้วย” นายศักดิ์ศรี ตรีกมล อายุ 47 ปี ชาวบ้านผู้เลี้ยงปลากระชังและเกษตรริมแม่น้ำโขง ต.อาจสามารถ อ.เมือง จ.นครพนม เล่า และบอกต่อว่า ตนเลี้ยงปลาในกระชังมาก็ประมาณ 10 กว่าปีแล้ว ซึ่งปลากระชังสามารถเลี้ยงได้ตลอดทั้งปี มีทั้งปลานิลแปลงเพศและปลาพื้นถิ่นแม่น้ำโขง เช่น ปลายอน ปลาเผาะ 

เมื่อถึงฤดูน้ำแดง ซึ่งเป็นเหมือนฤดูกาลเลี้ยงปลา ปลาเลี้ยงในกระชังจะเติบโตได้ดี แต่ขณะเดียวกันก็มีผลกระทบช่วงการเปลี่ยนฤดูกาล กระแสน้ำเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ถ้าน้ำมาไวผิดปกติ ปลาก็จะตายเนื่องจากอ่อนแอปรับสภาพไม่ทัน เกิดการน็อก  รวมทั้งการได้รับเชื้อโรคหรือสารเคมีที่ถูกชะล้างมากับดินจากแหล่งรับน้ำต่างๆ ไหลลงแม่น้ำโขง ก็ทำให้ปลาป่วยและตายได้เช่นกัน ขณะที่หน้าแล้งปลาในกระชังอาจจะเติบโตได้ช้ากว่าฤดูน้ำหลาก แต่โอกาสตายมีน้อยกว่า 

กระชังปลาริมน้ำโขง ในพื้นที่ อ.เมือง จ.หนองคาย
นายทรงวุฒิ พิณรัตน์ อาชีพเลี้ยงปลาในกระชัง บ้านพร้าวใต้ อ.เมือง จ.หนองคาย

ขณะที่ฝั่งจ.หนองคาย “นายทรงวุฒิ พิณรัตน์” อายุ 45 ปี ชาวบ้านผู้เลี้ยงปลากระชังริมแม่น้ำโขง บ้านพร้าวใต้ จ.หนองคาย บอกเล่าถึงการปรับตัวและทำมาหากินของคนในแถบ อ.เมือง จ.หนองคายว่า ชาวบ้านที่อาศัยริมฝั่งโขงจะมีอาชีพเลี้ยงปลาในกระชังแทบทุกครัวเรือน เฉพาะบ้านพร้าวใต้ก็กินระยะทางร่วม 2 กิโลเมตร หากรวมกับหมู่บ้านอื่นๆ แถบนี้ อาจยาวไม่น้อยกว่า 4 กิโลเมตร “วงจรของแม่น้ำโขงที่ผมเห็น น้ำจะใส 6 เดือน และขุ่นอยู่ 6 เดือน แต่ก็จะขึ้นอยู่กับฝนที่ตกในแต่ละปีด้วยว่ามามากหรือน้อย มาช้าหรือมาเร็ว สำหรับผู้เพาะเลี้ยงปลาในกระชังแบบผมนะ น้ำขุ่นจะมีผลกระทบมากกว่า ที่มีผลมากๆ ก็เดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม เพราะว่าฝนตกลงมาจะชะล้างหน้าดินจากภูเขาหรือลำน้ำสายย่อยพาสารเคมี ในการเกษตรมาด้วย มีผลอาจทำให้ปลาตายได้เลย รวมทั้งเศษขยะและสารพิษจากบ้านเรือนไหลลงมาก็เกิดผลกระทบต่อเกษตรกรอย่างเห็นได้ชัด” 

ชาวประมงพื้นบ้าน จับปลาบริเวณปากน้ำมูล จุดบรรจบแม่น้ำสองสี (น้ำมูล-น้ำโขง)

จะน้ำแดงหรือน้ำแล้ง ก็ทำมาหากินได้

อีกหนึ่งอาชีพที่ไม่เคยหยุดไม่ว่าน้ำจะหลากหรือน้ำจะลด โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี ก็คือ “ประมงพื้นบ้าน” ของผู้คนริมฝั่งโขง “นายสมนึก กอดแก้ว” ชาวโขงเจียม ดำรงชีพด้วยการจับปลามานานกว่า 30 ปี เล่าว่า ช่วงเดือนกันยายนปลาจะเยอะเป็นพิเศษเนื่องจากเป็นฤดูปลาวางไข่ ปลาที่จับได้มากก็จะเป็นปลาอีตู๋ ถ้าภาคกลางจะเรียกปลากา ขนาดตัวปลาไม่เล็กไม่ใหญ่ตัวละประมาณ 1-2 กิโลกรัม ทุกฤดูเราสามารถจับปลาได้หมด เพราะในแต่ละฤดูจะมีปลาแตกต่างกัน อย่างหน้าแล้งเราก็เหวี่ยงแหตามเกาะ ตามดอนในช่วงน้ำลด แต่ว่าข่ายดักปลาจะวางใกล้ริมฝั่ง แม่น้ำมูลจะไม่มีปลา เราก็จะย้ายไปหาปลาในแม่น้ำโขงช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายนจะมีปลาตาดำ(ปลาตะเพียน) ปลาปาก ปลาเอิน จะมาเป็นกลุ่มใหญ่ ปลาตัวเล็ก เช่น ปลารากกล้วย อย่างเดือนพฤษภาคมฝนแรกเริ่มมาก็จะมีปลาเล็กสลับปลาใหญ่ เราก็เข้าหาปลาในแม่น้ำมูล สลับกันหากินแบบนี้ ทุกปี ปลาตัวใหญ่ที่เคยจับได้ ประมาณ 6-7 กิโลกรัม รายได้ที่เราทำประมงเดือนหนึ่งก็ได้ประมาณ 1 หมื่นบาท ยามหาปลา จะหาได้มากๆ ประมาณ 4 เดือน ส่วนหน้าที่น้ำลด ปลามีน้อย ก็จะวิ่งเรือโดยสาร รับนักท่องเที่ยว

สมนึก กอดแก้ว อาชีพประมง อ.โขงเจียม  จ.อุบลราชธานี

เช่นเดียวกับ “นายฉวี กอมณี” ที่ใช้เวลาว่างหลังจากจับปลามาเดินเรือรับนักท่องเที่ยว บอกว่า อาชีพจับปลาแม่น้ำโขงสืบทอดมาหลายรุ่น ตนเริ่มจับปลาตั้งแต่อายุ 11-12 ปี เติบโตเข้าวัยยี่สิบก็ออกมาหาปลาและมีเรือเป็นของตัวเอง เมื่อก่อนปลาน้ำโขงยามน้ำหลากปลาก็มาก บางครั้งหาได้ แปดสิบกิโลฯ หรือห้าสิบกิโลฯ เป็นอย่างต่ำ บางครั้งจับได้ถึงวันละ 2 กระสอบปุ๋ย แต่เมื่อเวลาค่อยๆ ผ่านมาคนจับปลามากขึ้น ขณะเดียวกันการท่องเที่ยวในชุมชนพัฒนาขึ้น จึงมีอาชีพใหม่เพิ่มเข้ามา

“พ่อเริ่มมาทำเรือท่องเที่ยวมาหลายปีแล้ว ส่วนใหญ่จะวิ่งข้ามไปข้ามมาหาพี่น้องจากสปป.ลาว โดยเฉพาะช่วงเทศกาลมีรายได้ประมาณ 3,000 -4,000 บาทต่อวัน ปัจจุบันแม้คนไม่ค่อยข้ามไปลาวเหมือนเช่นเคย แต่ก็พอมีค่าแรงจากที่คนมาลอยอังคาร มีรายได้เที่ยวละ 800 บาท อยู่ได้ไปหลายวัน วิถีชีวิตในช่วงนี้ ในตอนเช้าจะออกหาปลา สายๆ รอเดินเรือ บางวันมีออกเรือ บางวันไม่ได้ออก โดยปกติทุกปีเมื่อถึงสงกรานต์คนหนาแน่นแทบไม่มีเวลากินข้าว แต่ช่วงนี้โควิดมาก็จะเงียบๆ หน่อย” นายฉวี ย้อนภาพ


เพราะแหล่งน้ำดี จึงมีปลาอยู่ 

สิ่งที่ทำให้วงจรของแม่น้ำโขงยังคงอยู่ ชาวบ้านมีอาชีพ ในน้ำยังคงมีปลาให้จับ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความร่วมมือของภาครัฐที่รับผิดชอบ และชาวบ้านที่ตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ 

นายศุภกิตติ์ ใสกระจ่าง ประมงจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า “ความอุดมสมบูรณ์ของพันธุ์ปลาแม่น้ำโขง ตอนนี้เท่าที่เรารวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องในเรื่องของการประมง เรื่องของการจับปลาและกระบวนการต่างๆ ที่เกิดขึ้นรวบรวมและรายงานเข้าไป ส่วนกลาง เพราะกระบวนการนี้ก็เป็นข้อมูลส่วนหนึ่งที่จะนำไปวิเคราะห์และประเมินผลในภาพรวม ถ้าดูข้อมูลการจับ พบว่ากลุ่มปลาเกล็ดที่จับได้ยังไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก ข้อมูลที่ได้รับจากชาวประมงในพื้นที่ ปลาพื้นถิ่นที่พบเห็นน้อยลง คือปลาสะอี ปลาพอน ปลาเกาะ ปลาซวย แต่เราไม่สามารถฟันธงได้ว่าน้อยลงเพราะอะไร อาจจะเกิดจากสภาพการเปลี่ยนแปลงโดยธรรมชาติ หรือจากฝีมือมนุษย์ที่ออกล่า 

นายศุภกิตติ์ ใสกระจ่าง ประมงจังหวัดอุบลราชธานี

“ผมมองว่าการบริหารจัดการแหล่งน้ำสำคัญมาก สำหรับงานประมงเราจะทำอย่างไรให้แหล่งน้ำไม่ถูกทำลายมากเกินไป ให้คงอยู่เพื่อที่จะให้คนนำไปใช้ประโยชน์อย่างต่อเนื่อง โดยใช้มาตรการในการอนุรักษ์พันธุ์ปลาในธรรมชาติ เราร่วมกับชาวบ้านและชาวประมงที่เขาอยู่ริมน้ำทำข้อตกลงในการจำกัดพื้นที่จับปลา กำหนดพื้นที่อนุรักษ์พันธุ์ปลา จำกัดเครื่องมือ แม้ในพื้นที่ริมโขงยังไม่มีข้อกำหนดเรื่องพื้นที่อนุรักษ์แน่ชัด แต่คนในพื้นที่ก็มีการกำหนดกติกาของตัวเอง เรากำหนดเครื่องมือการจับในฤดูปลาวางไข่ เช่น ห้ามโพงพาง ตาข่ายเล็ก ห้ามการช็อตไฟฟ้า และเครื่องมือทำลายล้างอื่นๆ เช่น “ไอ้โง่” (“ไอ้โง่” หรือ “คอนโดดักปลา” เป็นอุปกรณ์ดักปลา ใช้วางดักปลาในน้ำ มีลักษณะเป็นโครงเหล็ก หุ้มด้วยตาข่ายไนลอน)

การส่งเสริมให้ประชาชนเพาะเลี้ยงปลาน้ำจืดเป็นแนวทางหนึ่งของการอนุรักษ์ และส่งเสริมอาชีพ

ด้าน ดร.สุริยา จงโยธา กล่าวถึงการทำงานอนุรักษ์ร่วมกับชาวบ้านว่า เป้าหมายในการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำของหนองคายคือรักษาแหล่งเพาะพันธุ์หรือแหล่งวางไข่ไว้ให้ได้ แล้วปลาจะกลับมาสมบูรณ์ได้เอง โดยการปล่อยเสริมและการเพาะเลี้ยงเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่ส่วนสำคัญก็คือการสร้างให้ชุมชนมีจิตอนุรักษ์แหล่งเพาะพันธุ์จะเกิดประสิทธิภาพและได้ผลมากกว่า

ดร.สุริยา จงโยธา ประมงจังหวัดหนองคาย

“การทำความเข้าใจกับชาวบ้าน เรามีการบูรณาการทำงานร่วมกันกับหน่วยประมงน้ำจืด น้ำอูน สกลนคร ให้ความรู้ความเข้าใจกับชุมชนเรื่องการอนุรักษ์ เวลาฤดูน้ำหลาก พ่อแม่พันธุ์ปลาจะว่ายทวนน้ำขึ้นไปเพื่อวางไข่ในต้นน้ำ สิ่งที่เราจะทำได้ก็คือความร่วมมือจากพื้นที่โดยเฉพาะผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ก็ควรตั้งกลุ่มอนุรักษ์ขึ้นมาเพื่อคอยสอดส่องดูแล พื้นที่หน้าบ้านของตัวเอง ขอให้ชาวบ้านไม่ทำอวน ทำโพงพางกั้นทางเดินของปลา ซึ่งนอกจากจะทำลายปลาแล้วยังผิดกฎหมายด้วย บางครั้งชาวบ้านรู้เท่าไม่ถึงการณ์เราก็ต้องเข้าไปทำความเข้าใจ และสุดท้ายให้ชุมชนเข้ามาร่วมกันหาวิธีที่จะไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก เป็นเรื่องมาตรการควบคุม ซึ่งก็ได้ผลดี สำหรับในพื้นที่หนองคายเรามีระยะเวลาห้ามจับปลาตั้งแต่เดือนมิถุนายน ถึง 31 สิงหาคม เพื่อให้ปลามีโอกาสวางไข่และขยายพันธุ์ต่อไป

“สิ่งที่ทำให้ปริมาณสัตว์น้ำและพันธุ์สัตว์น้ำในแหล่งน้ำลดจำนวนลง ไม่ได้มีแค่แม่น้ำโขงแต่เกิดกับทุกแหล่งน้ำที่เป็นแหล่งเปิด ซึ่งการล่าของมนุษย์ การล่าและทำลายแหล่งวางไข่หรือแหล่งเพาะพันธุ์ตัวอ่อนด้วยการใช้เครื่องมือทำการประมงที่ผิดกฎหมาย เช่นการใช้ระเบิดเกาะแก่ง ใช้ไฟฟ้าช็อต ใช้ยาเบื่อเมา วิธีการเหล่านี้ทำให้พ่อแม่พันธุ์ ตัวอ่อนก็ตายหมด เขาจับไปได้ส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งก็เน่าเสีย ไม่สามารถที่จะกลายเป็นแหล่งลูกพันธุ์ได้” ดร.สุริยา กล่าวปิดท้าย

นี่คือความเป็นไปของแม่น้ำโขงในแต่ละฤดูกาล ที่เป็นเสมือนสายเลือดหล่อเลี้ยงผู้คนริมโขง เชื่อมโยงจิตวิญญาณ ความเชื่อ ประเพณีวัฒนธรรม และวิถีชีวิตการดำรงชีพ ไม่ว่าจะผ่านมากี่สิบปี เมื่อถึงฤดูฝนน้ำกลับมามีสีขุ่น เข้าฤดูปลาวางไข่ จะพบเห็นเรือประมงพื้นบ้านหนาแน่นแม่น้ำ โดยเฉพาะจุดบรรจบของแม่น้ำระหว่างแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขา อย่างไรก็ตามการจับปลาในฤดูนี้ก็มีข้อจำกัดตามกฏหมาย เพื่อการอนุรักษ์พันธ์ปลาในฤดูวางไข่ เมื่อฤดูฝนผ่านไปสีน้ำค่อยๆ กลับมาใสขึ้นพอเข้าหน้าแล้ง เป็นเช่นนี้เสมอมา