ท่องสมุทรปราการ ฉบับอันซีน (1)

แหล่งท่องเที่ยวใกล้กรุงเทพที่ใครหลายคนนึกถึงเวลาไปเยือนในช่วงสุดสัปดาห์ คงหนีไม่พ้นเขาใหญ่ พัทยา และหัวหิน ทั้งที่ความจริงยังมีอีกเมืองน่าสนใจอย่าง “สมุทรปราการ” ซึ่งไม่อยากให้มองข้าม เพราะจังหวัดนี้มีของดีของเด็ดมากมาย รอให้คุณไปสัมผัส

เริ่มต้นกันที่ “วัดสาขลา” ซึ่งมีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2325 สันนิษฐานว่าชาวบ้านช่วยกันสร้างเมื่อคราวรบชนะพม่า สมัยก่อนเรียกว่า “บ้านสาวกล้า” เพราะสมัยสงคราม 9 ทัพ ทั้งสตรี เด็ก และคนชรา ร่วมกันจับอาวุธต่อสู้กับทหารพม่าอย่างกล้าหาญ เพื่อปกป้องแหล่งเสบียงสำคัญของไทยในยามที่ชายชาติทหารในหมู่บ้านต้องไปออกศึกสงคราม จนหน่วยลาดตระเวนของพม่าต้องล่าถอยกลับไป หมู่บ้านแห่งนี้จึงถูกขนานนามว่า บ้านสาวกล้านับแต่นั้นมา

กว่า 235 ปี ของวัดแห่งนี้ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ปัจจุบันได้ถูกพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของสมุทรปราการ

เมื่อก้าวเข้ามาในวัด สิ่งที่สะดุดตาผู้มาเยือนคงหนีไม่พ้น พระปรางค์เอน ตั้งอยู่หน้าวัด ริมคลองสาขลา ผู้เฒ่าผู้แก่แถวนั้นเล่าให้ฟังว่า ในอดีตชาวบ้านเกรงว่าน้ำจากลำคลองจะกัดเซาะเข้ามาถึงฐานพระปรางค์ จึงใช้วิธีวางท่อนซุงหรือท่อนไม้ไขว้กันไปมาเป็นจำนวนมาก แต่สถานการณ์กลับไม่เป็นไปอย่างที่คิด กลายเป็นผืนดินอีกฝั่งหนึ่งเกิดการทรุดตัวทำให้พระปรางค์เอนลงมาดังที่เห็น ปัจจุบันนับเป็นสิ่งมหัศจรรย์และเป็นสัญลักษณ์ประจำวัดอย่างหนึ่ง

นักท่องเที่ยวหลายท่านอาจตั้งคำถามว่า ทำไมพระปรางค์จึงมีความสูงไม่มากนัก คำตอบก็คือ ของจริงดั้งเดิมสูงตามมาตรฐานทั่วไป แต่พระปรางค์เอนที่วัดสาขลา มีปัญหาน้ำท่วมขังจึงถมดินขึ้นมากว่า 2 เมตร ทำให้เรารู้สึกว่าพระปรางค์ไม่สูง แต่แท้จริงแล้วใต้ดินลึกลงไปยังคงมีฐานพระปรางค์อยู่นั่นเอง

จุดต่อไปก็คือ สักการะหลวงพ่อโต พระพุทธรูปเก่าแก่ประจำวัดภายในวิหาร ซึ่งวิหารจะอยู่ติดกับอุโบสถที่ได้ยกขึ้นสูงเมื่อครั้งถูกน้ำท่วมเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปเก่าแก่หลายองค์ โดยเฉพาะหลวงพ่อโตที่สร้างมาพร้อมกับวัด เป็นพระพุทธรูปสมัยอู่ทอง ปางมารวิชัย เป็นที่เคารพบูชาของชาวบ้าน

ถัดมาจะเป็นอุโบสถที่มีลูกนิมิตโบราณ 8 ลูก วางอยู่บนแท่นพญานาค 7 เศียร ชาวบ้านแถวนั้นเล่าว่า ลูกนิมิตโบราณนี้มีอายุไม่ต่ำกว่า 150 ปี ซึ่งขุดพบตอนยกอุโบสถ ลักษณะจะไม่กลม แต่จะมีลูกทรงบิดเบี้ยว นอกจากนี้ยังพบพระพุทธรูปโบราณอีกเป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ ภายในวัดสาขลายังมีวิธีการลอดโบสถ์ 9 มงคล ได้แก่ มงคลที่ 1 ลอดประตูพระราหู, มงคลที่ 2 ปิดทองลูกนิมิตโบราณ, มงคลที่ 3 บูชาพระบัวเข็ม กราบเกจิอาจารย์, มงคลที่ 4 โยนเหรียญทำบุญพระสังกัจจายน์, มงคลที่ 5 บูชาพระพุทธรูปที่ขุดพบมี 2 องค์ ลักษณะหันหลังชนกัน องค์หนึ่งปางประทานพร และปางห้ามสมุทร เรียกว่า พระสองพี่น้อง, มงคลที่ 6 พระพุทธรูปปางบำเพ็ญทุกรกิริยา, มงคลที่ 7 ปิดทองพระพุทธรูปศิลา, มงคลที่ 8 ปิดทองใต้ฐานองค์พ่อโต และมงคลที่ 9 ลอดท้องช้าง พลายมหาลาภ

ต่อมาคือ พิพิธภัณฑ์เทพศรีสาขลา สถานที่เก็บรวบรวมองค์พระพิฆเนศ ทั้งองค์ใหญ่ที่รายล้อมไปด้วยผนังที่วาดด้วยลายเส้นอันอ่อนช้อยของเรื่องราวทางวรรณคดีไทย และองค์เล็กที่อยู่ภายในตู้กระจก รวมถึงมหาเทพองค์อื่น ๆ ที่คนไทยเคารพนับถือ

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่ต้องเข้าชม โดยเป็นแหล่งรวบรวมของเก่า ไม่ว่าจะเป็นวัตถุโบราณของวัด และสิ่งของเครื่องใช้ในชุมชน อุปกรณ์ที่ใช้ในการทำนาเกลือ ภาพประวัติศาสตร์โบราณคดีที่หลงเหลืออยู่ให้เห็น รวมทั้งสัตว์สตัฟฟ์ และเงินตราในอดีต

สิ่งเหล่านี้บอกเล่ารากเหง้าของวิถีชีวิตชาวสาขลาได้อย่างชัดเจน…

และที่พลาดไม่ได้ก็คือ การเดินเข้าไปชมตลาดโบราณบ้านสาขลา ที่นี่นักท่องเที่ยวจะได้เห็นวิถีชีวิตที่เรียบง่าย คงสภาพของชุมชนประมงพื้นบ้านเอาไว้

ในส่วนของอาหารการกิน สามารถแวะชิมอาหารท้องถิ่นของดีจังหวัด พร้อมด้วยธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ หลอมรวมมรดกทางภูมิปัญญาพื้นบ้านจากบรรพบุรุษ ทำให้กลายเป็นแหล่งผลิตอาหารชั้นดีนับไม่ถ้วน บางอย่างไม่สามารถหารับประทานที่ไหนได้นอกจากที่สมุทรปราการเท่านั้น

อาทิ “กุ้งเหยียด” ภูมิปัญญาของชาวบ้านสาขลา แปลงโฉมจากอาหารทะเลล้นตลาดสู่การถนอมอาหารสุดแปลกใหม่ และเป็นสินค้า OTOP ขึ้นชื่อของสมุทรปราการ หรือ “ขนมจาก” ของฝากขึ้นชื่อเมืองปากน้ำ ความอร่อยที่ถูกกล่าวขานนานนับ 100 ปี

ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรมเท่านั้น ติดตามแบบเต็มอิ่มได้ในตอนต่อไปฉบับหน้า