ทบทวนตัวเองกับ “วิชาชีวิต” เว็บไซต์ที่เป็นกระแสในช่วงเวลานี้

การทบทวนตัวเอง ครุ่นคิดถึงเรื่องราวต่าง ๆ ในอดีต เป็นสิ่งที่หลายคนเคยทำ เคยคิด เคยรู้สึก บางคนอยากจะหวนกลับไปในช่วงเวลาที่มีความสุข หรือช่วงเวลาที่เป็นความทรงจำที่ดี อาจเป็นเพราะการเติบโตมันยาก มีสิ่งที่ต้องรับผิดชอบมากขึ้น ต้องเผชิญปัญหาที่ยากและใหญ่ขึ้น หรืออื่น ๆ จนทำให้รู้สึกท้อแท้ ผิดหวัง หรือหมดกำลังใจขึ้นมา

ขณะที่กำลังเผชิญความรู้สึกเหล่านั้น หากได้รับกำลังใจไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมก็มีส่วนช่วยทำให้ผู้รับรู้สึกดีขึ้นได้ ช่วงนี้มีปรากฏการณ์หนึ่งซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า “กำลังใจ” เป็นสิ่งที่คนในสังคมเราต้องการ

ปรากฏการณ์ที่พูดถึงนี้เกิดขึ้นในสังคมออนไลน์ เป็นการแชร์ข้อความให้กำลังใจ จากการทบทวนตัวเองหรือการพูดคุยกับตัวเอง ในเว็บไซต์ “วิชาชีวิต” vichacheewit.com ซึ่งได้รับคำชื่นชมจากคนจำนวนมากว่า “ดี” และหลาย ๆ คนก็โพสต์เชิญชวนญาติ มิตร คนรู้จักให้เข้าไปลองทบทวนตัวเองในนั้น

วิชาชีวิต คือ โครงการที่เกิดจากความร่วมมือของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) Glow Story (ทีมงานสร้างสรรค์สื่อ) และ Deadline Always Exists Project (โปรเจ็กต์ที่มีจุดเริ่มต้นจากทีซิสจบของกลุ่มนิสิตคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) กับคอนเซ็ปต์ นึกถึง ตกตะกอน เรียนรู้ ส่งต่อ โดยการชวนมาร่วมทบทวนเรื่องราวในชีวิตและขอบคุณตัวเองที่เติบโตมาจนถึงทุกวันนี้ พร้อมส่งต่อบทเรียนวิชาชีวิตให้กับผู้อื่น

“เว็บนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับความรู้สึกและความทรงจำที่คุณมีในวัยเด็ก หากคุณมีสภาวะจิตใจที่ไม่มั่นคง ยังรับมือกับสภาวะทางอารมณ์ลบของตนเองได้ไม่ดี หรือมีความทรงจำเกี่ยวกับการเติบโตหรือเกี่ยวกับบ้านที่ไม่อยากนึกถึง โปรดพิจารณาความเสี่ยงก่อนลงมือทำแบบทดสอบ หากคุณรู้สึกไม่สบายใจระหว่างการเล่น สามารถหยุดเล่นได้ตลอดเลยนะ การดูแลใจตัวเองสำคัญกว่าอะไรทั้งสิ้น” นี่คือคำเตือนก่อนจะเริ่มต้นค้นหาวิชาชีวิต

แบบทดสอบมาในรูปแบบเรื่องเล่าย้อนวัยสลับกับมีคำถามให้เราตอบ ซึ่งคำตอบของเราจะสัมพันธ์กับการพูดคุยกับตัวเองในช่วงเวลาที่เราเลือก เรื่องเล่าจะพาเราย้อนเวลากลับไปยังสถานที่ที่จากมา กลับไปบ้านที่เคยอยู่อาศัยในวัยเด็ก กิจกรรมที่ชอบทำ ความฝัน รวมทั้งเรื่องราวต่าง ๆ จะถูกเล่าผ่านไดอารี่ และแทรกด้วยการตอบคำถามสั้น ๆ

พาร์ตหลักของแบบทดสอบจะเป็นการสมมุติให้เราคุยกับตัวเองในวัยเด็ก โดยสามารถเลือกได้ว่าอยากจะย้อนเวลากลับไปคุยกับตัวเองในช่วงวัยไหน พร้อมบอกเล่าประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมา และความรู้สึกที่อยากบอกกับตัวเอง ก่อนจะจบแบบทดสอบด้วยข้อความให้กำลังใจที่เราได้คุยกับตัวเองในอดีต ซึ่งถูกนำกลับมาให้กำลังใจเราในปัจจุบันอีกที

เมื่อแบบทดสอบจบลงเราจะได้ “ของที่ระลึกจากการกลับบ้าน” คือ ข้อความให้กำลังใจจากบุคคลอื่น ๆ และข้อความให้กำลังใจของเราก็ยังจะถูกแชร์ให้ผู้อื่นด้วยเช่นกัน ตัวอย่างข้อความของวีรพร นิติประภา นักเขียนรางวัลซีไรต์ ที่กล่าวให้กำลังใจไว้ว่า “เวลาคุณอายุน้อย ๆ คุณรู้สึกเหมือนความเจ็บปวดมันจะเป็นนิรันดร์ แต่เชื่อพี่ แป๊บเดียว เดี๋ยวมันก็จะผ่านไป”

ข้อความให้กำลังใจตัวเองของแต่ละคนจะถูกรวบรวมไว้ใน “ตำราวิชาชีวิต” เพื่อแบ่งปันกับคนอื่น ซึ่งจะแยกออกเป็น 5 วิชา ได้แก่ วิชามิตรภาพและความรัก วิชาความสัมพันธ์ในบ้าน วิชาที่ได้เรียนรู้จากผู้อื่น วิชาจากความผิดพลาด และวิชาพึ่งพาตนเอง ยกตัวอย่างข้อความ

“ความลำบากเป็นเหมือนส่วนหนึ่งในการเดินทางของชีวิต เราไม่มีวันได้เจอความสุขตราบใดที่เรายังจมอยู่กับความทุกข์ตรงนี้” วิชามิตรภาพและความรัก ของวัชรินทร์ อายุ 16 ปี

“อย่าคาดหวังอะไรมากไป รักตัวเองให้มาก ๆ ใช้ชีวิตบ้าง มีความสุขเยอะ ๆ จะเศร้าแค่ไหนก็ต้องหาความสุขให้เจอนะ” วิชาที่ได้เรียนรู้จากผู้อื่น ของโอเปิ้ล อายุ 25 ปี

แล้วปิดท้ายจริง ๆ ด้วย “ชีวิตสอนให้รู้ว่า” เป็นบทสรุปที่วิเคราะห์ออกมาจากคำตอบของแต่ละคน เช่น จุดพักของที่คั่นหนังสือ การเดินทางของรถของเล่น ดินสอที่ถูกเหลา ซึ่งมีคำอธิบายขยายความบทสรุปนั้น ๆ

ส่วนมากเวลาทบทวนตัวเอง เรามักจะคิดทบทวนและพูดคุยกับตัวเองในปัจจุบันหรือก่อนหน้านี้เพียงไม่นาน แต่ “วิชาชีวิต” ชวนเราคิดว่าอยากย้อนกลับไปคุยกับตัวเองในวัยไหน ซึ่งเป็นการใช้เวลา 7 นาทีได้อย่างน่าประทับใจ ถ้าใครอยากจะทบทวนเรื่องราวของตนเองอย่างที่เราเล่ามา ก็สามารถเข้าไปทำแบบทดสอบได้ที่ journey.vichacheewit.com เพื่อย้อนดูการเติบโตและแบ่งปันวิชาชีวิตของคุณให้กับคนอื่น ๆ ต่อไป