“นิทรรศการวารสาร และนิตยสารฉบับแรก” ประวัติศาสตร์สิ่งพิมพ์ไทยสมัย ร.3 ถึงปัจจุบัน

ก่อนยุคสมัยของอินเทอร์เน็ตจะมาถึง วารสาร นิตยสาร เคยเป็นหนึ่งในสื่อหลักที่ให้ข้อมูล ความรู้ และความบันเทิง แก่ผู้คนแบบเจาะลึกกว่าข่าวสารรายวัน กระทั่งในปัจจุบันสื่อออนไลน์ก็ยังค้นคว้าข้อมูลจากวารสาร นิตยสาร มาอ้างอิงในการเขียนเนื้อหานำเสนอสู่ผู้อ่าน หรือมีกระทั่งการสแกนหน้านิตยสารเก่า ๆ มาเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งก็ได้รับความสนใจอย่างมาก สะท้อนว่าสิ่งพิมพ์ในอดีตยังมีคุณค่าอยู่ในโลกสมัยใหม่

หากใครสนใจวารสาร นิตยสารเก่าไม่ว่าจะด้วยความสนใจส่วนตัว หรือต้องการค้นคว้าข้อมูล ช่วงนี้เป็นโอกาสดี เราขอชี้เป้าให้ตรงไปที่หอสมุดแห่งชาติ เพราะตอนนี้กรมศิลปากร โดยสำนักหอสมุดแห่งชาติ ได้จัด “นิทรรศการวารสาร และนิตยสารฉบับแรก” นำวารสารและนิตยสารฉบับปฐมฤกษ์ที่จัดเก็บและให้บริการที่สำนักหอสมุดแห่งชาติมาจัดแสดงให้ชมกัน

นิทรรศการนี้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับพัฒนาการการพิมพ์วารสาร นิตยสารไทย ซึ่งเริ่มยุคแรกในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ในปี 2382 โดยพระองค์โปรดเกล้าฯให้หมอบรัดเลย์พิมพ์ประกาศห้ามสูบฝิ่นและค้าฝิ่นจํานวน 9,000 ฉบับ ถือได้ว่าเป็นสิ่งพิมพ์เอกสารราชการฉบับแรกในสยาม เป็นการเริ่มต้นยุคสมัยแห่งการพิมพ์ของสยาม

จุดสำคัญของพัฒนาการการพิมพ์ในสยาม คือ หมอบรัดเลย์และหล่อตัวพิมพ์ภาษาไทยสําเร็จในปี 2348 ซึ่งตัวพิมพ์ชุดนี้หมอบรัดเลย์ได้ทูลเกล้าถวายเจ้าฟ้ามงกุฎสําหรับใช้ที่โรงพิมพ์วัดบวรนิเวศวิหาร

ต่อมาในวันที่ 4 กรกฎาคม 2387 หมอบรัดเลย์ร่วมกับคณะมิสชั่นนารีชาวอเมริกัน พิมพ์สิ่งพิมพ์ต่อเนื่องภาษาไทยฉบับแรกในชื่อว่า “หนังสือจดหมายเหตุ The Bangkok Recorder” มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่คริสตศาสนานิกายโปรเตสแตนต์ และเผยแพร่ข่าวสารต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ

“หนังสือจดหมายเหตุ The Bangkok Recorder” จัดพิมพ์ 2 ครั้ง โดยครั้งแรกเริ่มตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2387 ถึงเดือนตุลาคม 2388 รวม 16 ฉบับ จึงเลิกกิจการเนื่องจากขาดทุน ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) มีการจัดพิมพ์เผยแพร่อีกครั้ง โดยมีกําหนดออกเป็นรายปักษ์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2407 ถึงปักษ์หลังเดือนกุมภาพันธ์ 2409 รวม 48 ฉบับ

เนื้อหาของ The Bangkok Recorder ในการจัดพิมพ์ครั้งแรกสมัยรัชกาลที่ 3 ให้ความสําคัญกับการนําเสนอความรู้ด้านการแพทย์ตํารายา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี พงศาวดาร และประวัติศาสตร์ของยุโรปเป็นหลัก ข่าวสารที่นําเสนอโดยมากเป็นข่าวจากทวีปยุโรป ส่วนการจัดพิมพ์ในครั้งที่ 2 ในสมัยรัชกาลที่ 4 มีการนําเสนอข่าวต่าง ๆ มากขึ้น ทั้งข่าวในประเทศและต่างประเทศ

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) พระองค์ทรงโปรดเกล้าให้สร้างโรงพิมพ์หลวงขึ้นในพระบรมมหาราชวัง ชื่อว่า “โรงพิมพ์อักษรพิมพการ” และให้จัดพิมพ์หนังสือแจ้งข่าวทางราชการขึ้น โดยพระราชทานนามว่า “ราชกิจจานุเบกษา” นับเป็นสิ่งพิมพ์รัฐบาลประเภทวารสารฉบับแรกของไทย

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) เป็นยุคที่วงการสิ่งพิมพ์ไทยเจริญเติบโต คนไทยเริ่มมีบทบาทในการพิมพ์ เกิดนิตยสารฉบับแรกที่ดําเนินการโดยคนไทยขึ้น ชื่อ “ดรุโณวาท” เป็นนิตยสารรายสัปดาห์ ออกทุกวันอังคาร ฉบับแรกพิมพ์เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2417 ซึ่งผู้จัดพิมพ์ คือ พระองค์เจ้าเกษมสันต์โสภาคย์

 

ทั้ง The Bangkok Recorder, ราชกิจจานุเบกษา, ดรุโณวาท ฉบับแรก และวารสาร นิตยสารอีกมากมายถูกรวบรวมมาให้ชมกันใน “นิทรรศการวารสาร และนิตยสารฉบับแรก” ซึ่งจัดแบ่งเนื้อหานิทรรศการออกเป็น 5 ส่วนประกอบด้วย

ส่วนที่ 1 ประวัติความเป็นมาของวารสารในประเทศไทย จัดแสดงวารสาร นิตยสารหายาก ที่เผยแพร่ก่อนปี พ.ศ. 2500

ส่วนที่ 2 วารสาร และนิตยสาร จัดแสดงตามช่วงระยะเวลา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500-2559

ส่วนที่ 3 วารสาร และนิตยสาร แบ่งตามประเภทเนื้อหา เช่น ด้านศาสนา ด้านวิศวกรรมศาสตร์

ส่วนที่ 4 วารสารของหน่วยงานภาครัฐ เช่น นิตยสารศิลปากร วารสารวิชาการหอสมุดแห่งชาติ

ส่วนที่ 5 วารสาร นิตยสารอิเล็กทรอนิกส์ และผลงานของอาจารย์ศุภชัย ราชพิตร ผู้ที่มอบวารสาร และนิตยสารฉบับปฐมฤกษ์ที่สะสมไว้ให้กับสำนักหอสมุดแห่งชาติ

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมนิทรรศการได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ณ ห้องวชิรญาณ 2-3 ชั้น 1 อาคาร 2 สำนักหอสมุดแห่งชาติ จัดแสดงถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2563 เปิดให้บริการวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 09.00-18.30 น. วันเสาร์, อาทิตย์ เวลา 09.00-17.00 น. ปิดให้บริการในวันหยุดนักขัตฤกษ์ วันหยุดชดเชย และวันหยุดพิเศษอื่น ๆ