ทัวร์ชุมชนเก่าแก่ แลของดีพระนคร

ปีนี้กรุงเทพมหานครมีอายุครบ 235 ปีแล้ว หากนับจากการสถาปนาเมืองริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งนี้ขึ้นเป็นราชธานีของสยามเมื่อปี พ.ศ. 2325

นอกจากพระบรมมหาราชวังอันเป็นสัญลักษณ์ที่อยู่คู่กับกรุงเทพฯ มาตั้งแต่เริ่มสร้างราชธานีแห่งใหม่ หลาย ๆ ชุมชนโดยรอบพระบรมมหาราชวังในเขตพระนครนั้นก็อยู่คู่กรุงเทพฯมานานพอกัน หรือบางชุมชนก็อาจจะอยู่มานานกว่า ซึ่งหลาย ๆ ชุมชนยังสืบทอดมรดกเก่าแก่เอาไว้อย่างเงียบ ๆ ตามปกติวิถี ไม่ได้โปรโมตตัวเอง

หากใครเคยเดินลัดเลาะตรอกซอกซอยในชุมชนเขตเมืองเก่าที่เรียกกันว่า “พระนคร” จะพบว่ามีของเก่าและของดีพระนครมากมายที่ทำให้เราตื่นตะลึงอยู่ตามรายทาง

เมื่อเร็ว ๆ นี้ “KTC PR Press Club” จัดทริปทัวร์ไทยไทย ตอน “ไม่ลืมกัน ณ วันวาน” เยี่ยมชมของดีชุมชนในพระนคร ซึ่งพื้นที่หลัก ๆ อยู่ที่ชุมชนนางเลิ้ง โดยมี “ณพัดยศ เอมะสิทธิ์” วิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร จากองค์การท่องเที่ยวกรุงเทพมหานคร ร่วมถ่ายทอดความรู้

เริ่มจากของดีที่แรกที่อยู่นอกชุมชนนางเลิ้งคือ “บำรุงชาติสาสนายาไทย” หรือ “บ้านหมอหวาน” ในย่านเสาชิงช้า เป็นมรดกตกทอดจากนายหวาน รอดม่วง หรือ “หมอหวาน” แพทย์แผนโบราณที่มีชีวิตอยู่ในระหว่างปี พ.ศ. 2411-2488

ปัจจุบันบ้านหลังนี้ตกทอดสู่ทายาทรุ่นเหลน ภายในบ้านจัดแสดงยาแผนโบราณตามตำรับยาหมอหวาน บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมา วัตถุโบราณ สมุนไพรและธาตุที่เป็นส่วนประกอบของยาสูตรต่าง ๆ และยังมีการปรุงยาหอมตำรับเฉพาะของหมอวานให้ชมด้วย

จากเสาชิงช้าเดินทางไม่กี่นาทีก็ถึงชุมชนนางเลิ้งชุมชนเก่าแก่ที่ดูเหมือนจะเล็กแต่ไม่เล็กและมีของดีมากมายอยู่ภายในเริ่มตั้งแต่ตลาดนางเลิ้ง ซึ่งถือว่าเป็นประตูสู่ชุมชนเก่าแก่แห่งนี้

ตลาดนางเลิ้งเป็นตลาดบกแห่งแรกของไทย สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อไปถึงที่นี่แล้วต้องลิ้มรสอาหารและขนมอร่อย ๆ และไหว้ศาลเสด็จเตี่ย หรือกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ที่คนนางเลิ้งเคารพนับถือมาก

ที่ห้ามพลาดคือเดินออกหลังตลาดไปยังแลนด์มาร์กของชุมชนนางเลิ้งที่ใครไปถึงจะต้องสะดุดและหยุดถ่ายรูปที่”ศาลาเฉลิมธานี”โรงหนังเก่าอายุเกือบ100 ปี ที่สร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ 6 ในชื่อ “โรงหนังนางเลิ้ง” ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น “ศาลาเฉลิมธานี” ในสมัยรัชกาลที่ 7 ที่นี่เป็น “โรงหนังชั้น 2” หรือโรงหนังของมวลมหาชนแห่งแรกของเมืองไทย เนื่องจากก่อนหน้านั้น จำกัดอยู่ในกลุ่มชนชั้นสูงเท่านั้น

20 กว่าปีแล้วที่อาคารแห่งนี้ยุติบทบาทโรงหนังและถูกใช้เป็นโกดังเก็บของ ถึงแม้จะตากแดดตากฝนผ่านเวลามานาน ชำรุดทรุดโทรมไปตามอายุ แต่อาคารไม้สักรูปทรงโกดังยังคงความยิ่งใหญ่โอ่อ่าและสวยงามไว้ให้เห็น

จากนั้นเดินลัดเลาะชุมชนไปสักการะพระพุทธสุนทรมุณีที่วัดสุนทรธรรมทานหรือวัดแคนางเลิ้ง วัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ ซึ่งมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักขึ้นมาในฐานะสถานที่ฌาปนกิจศพและบรรจุอัฐิของมิตร ชัยบัญชา พระเอกดังที่เคยอาศัยอยู่ในชุมชนนางเลิ้งเมื่อราว 50 ปีก่อน

ระหว่างทางเดินในชุมชน เมื่อเห็นตุ่มใส่น้ำ คุณณพัดยศชี้ให้ทุกคนดูพร้อมอธิบายว่า “นางเลิ้ง” ไม่ได้มาจากชื่อคน แต่มาจากตุ่มที่ชื่อ “ตุ่มอีเลิ้ง” หรือ “ตุ่มสามโคก” อันนี้นี่เอง เนื่องจากสมัยก่อนในแถบนั้นมีการผลิตตุ่มอีเลิ้งโดยชาวมอญที่มาลงหลักปักฐานค้าขาย ชื่อ “อีเลิ้ง” ที่เป็นคำไม่สุภาพ จึงถูกเปลี่ยนเป็น “นางเลิ้ง” ในเวลาต่อมา

เดินเลาะซอกซอยเล็ก ๆ เข้าไป มีบ้านไม้หลังเล็กที่ปรับปรุงเป็นศูนย์การเรียนรู้ชุมชนด้านวัฒนธรรมท้องถิ่น และเปิดเป็นโฮมสเตย์ ในโอกาสดี ๆ ที่มีผู้ติดต่อเข้าเยี่ยมชมเป็นหมู่คณะ บ้านศิลปะมีการจัดแสดง “รำซัดซาตรี” ให้ชม โดยนักแสดงละครชาตรีและนักดนตรีไทยในชุมชนนางเลิ้งที่เป็นระดับ “ออลสตาร์” เลยทีเดียว นางรำเป็นทายาท “แพน เรืองนนท์” นางละครชื่อดังในตำนาน และนักดนตรีที่สืบทอดมาจากคณะดังในอดีต

ปิดท้ายที่ “บ้านเต้นรำ” อยู่ห่างจากบ้านศิลปะไม่กี่สิบก้าว บ้านเต้นรำเดิมเป็นโรงเรียนสอนเต้นรำชื่อ “สามัคคีลีลาศ” แหล่งรวมความบันเทิงในยุคโก๋หลังวัง มีศิษย์เก่าเป็นนายทหาร ดารา นักร้อง และคนมีชื่อเสียง “สามัคคีลีลาศ” ถูกปิดไปตามยุคสมัย จนกระทั่งเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ทายาทรุ่นหลานคือ “ธาริณี ตามรสุวรรณ” ได้รื้อฟื้นความหลังนำเสียงเพลงกลับมาสู่บ้านหลังนี้อีกครั้ง เมื่อมีคนมาเยี่ยมเยียนทั้งที พลาดไม่ได้ที่เจ้าของบ้านจะพาแขกออกสเต็ปแดนซ์กันอย่างสนุกสนาน

หลังจากเยี่ยมชมของดีตามโปรแกรมแล้วเมื่อเดินออกสู่ถนนใหญ่จะเห็นอีกหนึ่งของดีที่ไม่ได้อยู่ในโปรแกรมแต่เป็นของดีที่ขึ้นชื่อที่สุดของนางเลิ้งก็คือกล้วยทอดนางเลิ้ง ที่มีให้เลือกกันหลายเจ้า แต่ไม่ต้องจดจำชื่อแบรนด์ให้ยุ่งยาก เพราะที่นี่เขาสร้างแบรนด์กันด้วยสีของเอี๊ยม ทั้ง เอี๊ยมแดง เอี๊ยมชมพู เอี๊ยมม่วง เอี๊ยมน้ำเงิน เอี๊ยมขาว ใครยังไม่มีเจ้าประจำในดวงใจ ลองสุ่มเลือกซื้อมาสักเจ้าก็ไม่มีผิดหวัง ปิดทริปของดีพระนครอย่างอิ่มใจและอิ่มท้อง