เปิดตัว “บันทึกประเทศไทย ปี 2563” ถอดบทเรียนโควิด เศรษฐกิจ การเมือง

วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564 ณ อาคารมติชนอคาเดมี สำนักพิมพ์มติชนจัดงานเสวนา “Matichon Book Talk : บันทึกประเทศไทย ปี 2563” หนังสือที่สรุปปรากฏการณ์ร้อนแรงของปี 2563 ทั้งเรื่องโควิด-19 เศรษฐกิจ และการเมือง โดยมีวิทยากร 3 ท่านมาแลกเปลี่ยนมุมมองกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ได้แก่ ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ ผอ.ฝ่ายเผยแพร่วิทยาศาสตร์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ คณบดีวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ นพ.ทศพร เสรีรักษ์ ผู้สังเกตการณ์ชุมนุมทางการเมือง ดำเนินรายการโดย ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ กล่าวว่า เรื่องโควิด เศรษฐกิจ และการเมือง ดูไปแล้วอาจจะเป็นคนละเรื่อง แต่จริง ๆ เป็นเรื่องเดียวกัน ในปีที่ผ่านมาไทยสามารถจัดการกับปัญหาต่าง ๆ ได้ดี แต่ปัญหาใหญ่ที่สุดคือเราไม่รับมือด้วยความรู้ ทำให้การรับมือป้องกันโควิด-19 ในระยะแรกอาจจะมีความเข้าใจผิดกันอยู่บ้าง ดังนั้นสิ่งที่จะแก้ไขคือการให้ความรู้กับประชาชน

สำหรับอนาคตของประเทศไทยในการรับมือกับโควิด อ.นำชัย แสดงความเห็นว่า ควรนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน เช่นการฉีดวัคซีน เมื่อวัคซีนมาถึงประชาชนอาจจะมีความกังวลในเรื่องของประสิทธิภาพ ควรสร้างความมั่นใจและประชาชนกล้าฉีด การติดเชื้อก็จะน้อยลง คนก็สามารถออกมาทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น

ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ กล่าวว่า โควิด-19 คือวิกฤตการทางสาธารณสุขที่ทำให้ธุรกิจถูกดิสรัปต์ ธุรกิจอุตสาหกรรมที่เคยเป็นดาวรุ่งกลายเป็นดาวร่วง นักศึกษาจึงมองว่างานราชการมีความมั่นคง ระบบรัฐจะกลับมามีบทบาท ส่วนด้านเศรษฐกิจของประเทศ มี 4 ส่วนที่จะเป็นทางรอด คือ 1.การบริโภค 2.การลงทุน 3.การใช้จ่ายภาครัฐ 4.การนำเข้า-ส่งออก

ผศ.อัครพงษ์กล่าวอีกว่า ธุรกิจที่สำคัญของไทยคือธุรกิจการท่องเที่ยว ชึ่งตอนนี้แย่มาก รัฐมองเพียงว่าจะชดเชยอย่างไร จนลืมการสร้างศักยภาพที่เข้มแข็งให้กับคน ดังนั้น ถ้าเศรษฐกิจจะไปได้ รัฐตัองหันกลับมาดูความสามารถของบุคลากรในชาติ

นอกจากนั้นอาจารย์อัครพงศ์กล่าวถึงหนังสือ “บันทึกประเทศไทยปี 2563” ว่า “หนังสือเล่มนี้ซื้อแล้วจะมีบทความแรกของอาจารย์นิธิ เอียศรีวงศ์ บอกสิ่งแรกที่สังคมไทยจะไม่เหมือนเดิม ซึ่งอีกสิ่งที่สำคัญที่จะไม่เหมือนเดิมคือความศักดิ์สิทธิ์”

ด้านนพ.ทศพร เสรีรักษ์ แสดงความเห็นถึงทางออกในประเทศไทยในปี 64 ในเรื่องการเมืองว่า สิ่งสำคัญคือความจริงใจของผู้มีอำนาจ ถ้าอ่านจากหนังสือ “บันทึกประเทศไทย ปี 2563” เล่มนี้ จะรู้ได้เลยว่าผู้มีอำนาจไม่มีความจริงใจ เห็นได้จากการชุมนุมในแต่ละครั้งที่ผ่านของนักเรียนนิสิตนักศึกษาที่รัฐบาลพยายามดึงเกมไปเรื่อย ๆ ถ้าหากผู้มีอำนาจมีความจริงใจ จะต้องหยุดดำเนินคดีทุกอย่าง ตั้งโต๊ะคุยกับประชาชนเพื่อหาทางออก ซึ่งถ้ารัฐบาลไม่จริงใจจะทำให้ภาคประชาชนต้องลงถนน