ไกลไม่ใช่อุปสรรค!มุ่งสมาร์ทซิตี้ พัฒนาเเบบอนุรักษ์กินได้ “อุทยานการเรียนรู้เเม่ฮ่องสอน”

รายงานโดย ศิริลักษณ์ หาพันธ์นา
ผู้สื่อข่าวประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.prachachat.net

 

ในสมัยก่อนผู้คนในพื้นที่ห่างไกลกว่าจะเข้าถึงสื่อข้อมูลการศึกษาได้นั้น เป็นเรื่องลำบากยิ่ง เเต่เมื่อโลกผันเปลี่ยนเข้าสู่ยุคเเห่งเทคโนโลยีเเล้ว ความรู้จึงกลายเป็นสิ่งไร้ขีดจำกัด เราสามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆจากทุกมุมโลกได้ง่ายนักผ่านการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต

ก่อให้เกิดแหล่งการเรียนรู้เเนวใหม่ทันสมัยอย่าง “ห้องสมุดไอที” ขจัดอุปสรรคด้านพื้นที่เเละป่าเขาไปได้อย่างง่ายดาย…เด็กที่เเม่ฮ่องสอนสามารถเข้าถึงคลิปความรู้เช่นเดียวกันกับเด็กที่กรุงเทพหรือเด็กที่ซานฟรานซิสโกได้

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์  พาเยือนแหล่งการเรียนรู้สุดทันสมัยแห่งเเรกในเมืองสามหมอกกับ “อุทยานการเรียนรู้เเม่ฮ่องสอน” หรือ MHS PARK ที่เปิดให้บริการประชาชนเเบบครบเครื่องทั้งด้านไอที  ดนตรี หนังสือ สื่อความรู้ การนันทนาการและความคิดสร้างสรรค์

โดยอุทยานการเรียนรู้แม่ฮ่องสอน ตั้งอยู่ที่อาคารหมอกใหม่ ถนนขุนลุมประพาส ตำบลจองคำ อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน หาได้ง่ายเพราะเเม่ฮ่องสอนเป็นเมืองเล็ก ๆ  เป็นอาคาร 3 ชั้น ขนาดพื้นที่ใช้สอย 2,473.65 ตารางเมตร โดยพัฒนาพื้นที่จากศูนย์พัฒนาทักษะการเรียนรู้ ICT แม่ฮ่องสอนเดิมที่เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2555

เราเดินเข้ามามุมเเรกที่ชั้น 1 พบเจอกับ “ห้องสมุดมีชีวิต (Reading Room)”  ที่ให้บริการหนังสือ สื่อการเรียนรู้ กว่า 3,000 รายการ พร้อมสื่อการเรียนรู้มัลติมีเดียที่หลากหลาย ตามมาด้วย “ห้องเด็ก (Kids Room)”  ห้องส่งเสริมกิจกรรมเสริมทักษะและการเรียนรู้สำหรับน้อง ๆ เด็ก และเยาวชน ให้ได้สนุกในบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับช่วงวัย

ใกล้ๆกันเอาใจขาเเดนซ์ด้วย “ห้องเต้น (Studio Room)”  ทุกคนสามารถขอเข้าใช้พื้นที่หรือร่วมเต้นไปตามตารางที่จัดไว้เพื่อเสริมสร้างสุขภาพด้วยการขยับร่างกายได้ เป็นที่ชื่นชอบของเด็กๆ เเละคุณน้าคุณป้าก็มาใช้บริการได้อย่างสนุกสนานเช่นกัน

จากนั้นก็มี “ห้องติว (Study Room)” บริการห้องสำหรับเรียนรู้ด้วยตนเอง  พร้อมห้องบรรยาย-อบรมขนาดเล็ก รองรับผู้ใช้บริการได้ 8 – 12 คน  และลานหมอกใหม่ (Mork Mai Space) จุดนัดพบของเด็ก เยาวชน ประชาชน และชุมชน เพื่อสร้างสรรค์กิจกรรมนันทนาการ วิชาการและนิทรรศการความรู้หมุนเวียน

เดินขึ้นบันไดมานิดกับพื้นที่ให้บริการชั้น 2 พื้นที่ของการรวมตัวกันของผู้ประกอบการด้านไอทีของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการประกอบอาชีพ เช่น การออกแบบสื่อประชาสัมพันธ์ กราฟิก เว็บไซต์ การตลาดออนไลน์ บรรจุภัณฑ์ ฉลากและโลโก้ เปิดให้บริการด้านการออกแบบและเขียนโปรแกรมพร้อมการจัดอบรมให้กับกลุ่มนักศึกษาระดับอุดมศึกษาในจังหวัดแม่ฮ่องสอน และจัดหางานให้กลุ่มนักศึกษา เพื่อส่งเสริมการมีงานทำระหว่างเรียน

จากนั้นพาไปสำรวจพื้นที่ให้บริการ ชั้น 3 ไอทีเต็มที่ด้วย  “ห้องอินเทอร์เน็ตสีขาว (Good Net)” เปิดบริการคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต อินเทอร์เน็ต ฟรีไว-ไฟที่ปลอดภัย ด้วยการกลั่นกรองเว็บไซต์ที่เหมาะสมจนได้ชื่อเป็นห้องอินเทอร์เน็ตสีขาว ห้องสมุดไอที ดนตรี และภาพยนตร์ เป็น E-tech and Library บริการสื่อการเรียนรู้ด้านไอทีในรูปแบบหนังสือ นิตยสาร สื่อดิจิทัล มุมดนตรี และการจัดฉายภาพยนตร์

 

ต่อมากับ “ห้องอบรมคอมพิวเตอร์ (Training)”  บริการอบรมคอมพิวเตอร์ เพื่อเสริมทักษะด้านไอทีอย่างน้อยเดือนละ 2 หลักสูตร ด้วยเครื่องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ 40 ที่นั่ง พร้อมให้บริการห้องคอมพิวเตอร์สำหรับจัดอบรมและสัมมนาเชิงปฏิบัติการเเละห้องประชุมและอบรมเล็ก (Smart Room) ห้องประชุมและอบรมกลุ่มย่อย รองรับ 15 ที่นั่ง ส่วนใครที่กลัวว่าจะหิว โล่งใจได้เลยเพราะที่นี่ยังมี ICT Cafe มุมบริการอาหารว่างและเครื่องดื่มด้วย

 

แนะเพิ่มชั่วโมงเรียนไอที เข้าถึงเท่าเทียม ขยายสาขาในพื้นที่ห่างไกล

“น้องเเนน พิจิตตรา” นักเรียนชั้นม.5 ผู้มาใช้บริการเล่าให้เราฟังว่า ที่นี่เป็นเหมือนที่รวมตัวของวัยรุ่นเเม่ฮ่องสอน เนื่องจากเมืองนี้ไม่มีห้างสรรพสินค้า เเละเมื่อมีการปรับปรุงใหม่ให้น่าอยู่เเละหนังสือมีมากขึ้น ก็มักจะนัดกันเพื่อนเพื่อมาทำการบ้านที่นี่ อีกทั้งยังได้เจอเพื่อนจากต่างอำเภอมาใช้บริการด้วย โดยมีข้อเสนอเเนะให้มีการเปิดสาขาย่อยให้เข้าถึงพื้นที่ที่อยู่ห่างไกลด้วย

ขณะที่ “น้องอนิก อาณกร คำใจ” เด็กหนุ่มชั้นม .6 ผู้ใฝ่ฝันจะเป็นโปรเเกรมเมอร์บอกกับเราว่า เขาชื่นชอบเรื่องไอทีมาตั้งเเต่เด็ก เเละอยากจะเรียนเขียนโปรเเกรมเเละซ่อมคอมพิวเตอร์ให้ได้ในอนาคต โดยการที่มีอุทยานการเรียนรู้ไอทีเกิดขึ้นในเเม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นเรื่องดีมากๆ เป็นการเปิดโอกาสให้เด็กที่บ้านไม่ได้ร่ำรวยให้สามารถเข้าถึงเเละเรียนรู้เทคโนโลยีได้อย่างเท่าทันเเละเป็นประโยชน์

ด้าน “ครูนพดล อริยา”  ครูวิชาคอมพิวเตอร์ในโรงเรียนเทศบาลเมืองเเม่ฮ่องสอน ให้ความเห็นว่าหลักสูตรการเรียนคอมพิวเตอร์ในปัจจุบันยังไม่เพียงพอ อีกทั้งเเผนการสอนเเละอุปกรณ์ยังไม่ครอบคลุมให้เด็กใช้ในชีวิตการทำงานได้จริงเท่าที่ควร โดยขอให้รัฐบาลเเละหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องให้ความสำคัญเเละเพิ่มชั่วโมงเรียนคอมพิวเตอร์ให้เด็กมากขึ้น เพื่อพัฒนาให้สอดคล้องตามนโยบาย 4.0 อย่างจริงจัง

หวังสร้างสมาร์ทซิตี้ หนุนอี-คอมเมิร์ซ และสตาร์ตอัพท้องถิ่น แต่ไม่ลืมจุดเด่นวัฒนธรรม

นาย สุเทพ นุชทรวง ประธานสภาวิทยาลัยชุมชน กล่าวว่า จังหวัดเเม่ฮ่องสอน มีทุนทางวัฒนธรรมเเละธรรมชาติมากมาย เเต่ด้านทุนทางทรัพยากรมนุษย์ยังถือว่าด้อยโอกาสในการเข้าถึงแหล่งความรู้ จึงมีความคิดจะพัฒนาให้เด็กเเม่ฮ่องสอนให้ก้าวทันโลก ทันสมัย จึงเป็นที่มาของศูนย์พัฒนาทักษะเเละไอซีที เเม่ฮ่องสอนขึ้น โดยเปิดอบรมให้เยาวชน บุคคลทั่วไป รวมไปถึงหน่วยงานเอกชนเเละภาครัฐ เเละสามเณร เป็นศูนย์พัฒนาไอซีทีครบวงจรของจังหวัด ต่อเนื่องมาด้วยความเข้มเเข็ง ต่อมาในปีนี้ได้ร่วมกับทาง “ทีเค พาร์ค” ปรับโครงสร้างให้ทันสมัยเเละดึงดูดผู้ใช้บริการมากขึ้น ตามเเนวคิด “ห้องสมุดมีชีวิต” ที่มีสื่อการเรียนการสอนครบครัน ตอบโจทย์การพัฒนาประชาชน โดยนำความโดดเด่นด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ

“ในเเง่การให้ความสำคัญด้านอนุรักษ์เราก็เต็มที่ ขณะที่ความทันสมัยเราก็ต้องมี จึงทิ้งไม่ได้ทั้งสองส่วน ถ้าเราไม่อนุรักษ์เเม่ฮ่องสอนก็จะไม่เหลืออะไรเลย เเต่ถ้าเราไม่ก้าวไปข้างหน้า เเม่ฮ่องสอนก็จะล้าหลัง การอนุรักษ์ไปพร้อมกับความทันสมัย เป็นโจทย์สำคัญที่ต้องทำ ผมคิดว่าอุทยานการเรียนรู้แห่งนี้ตอบโจทย์ได้ เเละต้องทำให้ดียิ่งขึ้นไปอีก”

การศึกษาของเด็กในเเม่ฮ่องสอนนั้น มีทุกระดับตั้งเเต่อนุบาลถึงระดับอุดมศึกษา ทุกคนสามารถมาใช้บริการอุทยานการเรียนรู้เเห่งนี้ได้ ซึ่งมีวิทยาลัยชุมชนดูเเลการให้บริการ โดยประชากรในเขตเมืองตามทะเบียนบ้านในเขตเทศบาลมีราว 6,000 คน บวกกับประชากรเเฝงที่เป็นทั้งนักท่องเที่ยว เเรงงานเเละข้าราชการ รวมเเล้วประมาณ 10,000คน

นอกจากนี้ ยังมีการสนับสนุนการศึกษาหลายชาติพันธุ์ เพื่อให้เข้ากับชีวิตประจำวัน  สำหรับการตื่นตัวด้านไอซีทีของเยาวชนในพื้นที่นั้นมีมาก พร้อมกันนั้นก็มีผู้ใหญ่วัยกลางคนหันมาใช้มากขึ้นเช่นกัน เเม้กระทั่งผู้สูงอายุที่อยากเรียนรู้การใช้สมาร์ทโฟนหรือเเอปพลิเคชั่นที่เอาไว้ใช้ติดต่อลูกหลาน ก็มีหลักสูตรรองรับ ซึ่งค่าใช้จ่ายต่อคอร์สมีราคาถูกมากหรือบางคอร์สก็เปิดอบรมฟรี

“ด้วยอุปสรรคด้านพื้นที่ เราจะจับจุดการศึกษาทางไกล ซึ่งน่าจะเป็นเครื่องมือที่ทำลายอุปสรรคด้านภูมิศาสตร์นี้ได้ เพราะไอทีเข้าถึงได้หมด เป็นช่องทางที่เด็กเเม่ฮ่องสอนจะสื่อกับโลกภายนอกได้…

…ทำอย่างไรให้เด็กเเม่ฮ่องสอนสนใจในเรื่องไอซีทีจนถึงระดับนำไปประกอบอาชีพได้ อย่างการเป็นโปรเเกรมเมอร์ หรือนำไปใช้เรื่อง อี-คอมเมิร์ซ เเละพัฒนาสตาร์ตอัพ โดยวิสัยทัศน์สูงสุดคืออยากให้เมืองเล็กๆ เเห่งนี้เป็นเมืองสมาร์ท ซิตี้ โดยเรากำลังค่อยๆ ไปกันทีละนิด ตอนนี้ก็มีการร่วมมือกับทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดกิจกรรมเฟ้นหาสตาร์ตอัพชุมชนด้วย เราจะทำทุกอย่างเพื่อพัฒนาคนให้ก้าวทันสมัย มีรายได้เพิ่มขึ้น”

ทลายกำแพงความรู้ ควบคู่ “อนุรักษ์กินได้”  

ด้านนายปกรณ์ จีนาคำ นายกเทศมนตรีเมืองแม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า เนื่องด้วยแม่ฮ่องสอนมีข้อจำกัดในเรื่องการเดินทาง การคมนาคม ซึ่งสิ่งที่เอามาช่วยทดแทนในเรื่องนี้ได้รวดเร็วคือเรื่องไอที เพื่อการศึกษาของเด็กและประชาชนได้เข้าถึงการศึกษาได้มากขึ้น โดยมีการพัฒนาร่วมกับ “ทีเค พาร์ค” รีโนเวทศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ขึ้นมา เเละได้รับการสนับสนุนอุปกรณ์และเทคโนโลยี รวมไปถึงการอบรมบุคลากร

นอกเหนือจากเรื่องห้องสมุด ห้องคอมพิวเตอร์แล้ว ยังมีห้องกิจกรรมให้ผู้สูงอายุได้มาออกกำลังกายโดยการเต้น ทุกเดือนจะมีโรงเรียนผู้สูงอายุมาเรียนที่นี่ด้วย จะแตกต่างจากรูปแบบเดิมที่จะเน้นให้บริการเยาวชน แต่ที่นี่จะเป็นจุดศูนย์รวมของคนแม่ฮ่องสอนทุกวัย สำหรับการช่วยเหลือจากเทศบาลได้สนับสนุนด้านสถานที่และสาธารณูปโภค โดยมีงบประมาณให้ประมาณปีละ 1 ล้านบาท ขณะที่วิทยาลัยชุมชนจะให้บุคลากรในสถานศึกษามาทำงานที่นี่

“ก้าวต่อไป หากอุทยานการเรียนรู้แม่ฮ่องสอนประสบความสำเร็จใน 1 ปี เราก็อยากขยายศูนย์การเรียนรู้ลักษณะนี้ ไปตามชุมชนย่อย เเละอปท.อื่นๆ เพื่อเชื่อมโยงกัน ในอนาคตอยากพิ่มงบ แต่เงินไม่ค่อยมี เนื่องจากแม่ฮ่องสอนเป็นเมืองที่เก็บภาษีได้น้อยมาก ส่วนงบจากทางจังหวัดที่งบลงทุนและงบสาธารณูปโภคทั่วไป

อย่างไรก็ตามผมว่ามองว่าเม็ดเงินไม่ใช่ปัจจัยสำคัญ แต่เราจะทำอย่างไรก็ได้ให้สิ่งที่เรามีอยู่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ขอเเค่ต่อไปเราพัฒนาให้เก็บค่าใช้จ่ายได้บ้าง แต่ไม่ได้คาดหวังกำไรเป็นตัวเงิน แต่สนใจกำไรทางอ้อมมากกว่า คือองค์ความรู้ที่จะนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตได้จริง” นายกเทศมนตรีเมืองแม่ฮ่องสอน ระบุ

สำหรับนโยบายการพัฒนาเมืองด้านไอที นายกเทศมนตรีเมืองแม่ฮ่องสอนบอกว่า ทางเทศบาลได้ร่วมมือกับทีโอที กระจายไว-ไฟฟรีหลายจุดทั่วเขตเมือง โดยเรื่องความปลอดภัยก็มีการติดกล้องวงจรปิดครอบคลุม 80 % ของพื้นที่

“คอนเซปต์ของแม่ฮ่องสอนคือการเป็นเมืองอนุรักษ์ แต่โลกปัจจุบันต้องก้าวทันไอที เทศบาลจึงตั้งเป้าหมาย “อนุรักษ์กินได้” แนวทางคือสื่อวัฒนธรรมประวัติศาสตร์ชุมชนให้เด้กได้รับรู้มากที่สุด และนำไปต่อยอดการท่องเที่ยว มาดูความไม่เหมือนใครของแม่ฮ่องสอน ธรรมชาติที่สวยงามและบริสุทธิ์ อีกมุมหนึ่งต้องพัฒนาการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและนำไปใช้เป็นประโยชน์แก่ธุรกิจ แก่ชีวิตได้อย่างเท่าทันด้วย”

ด้านนายราเมศ พรหมเย็น รักษาการรองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้และผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ กล่าวว่า อุทยานการเรียนรู้แม่ฮ่องสอน ถือเป็นอุทยานการเรียนรู้ขนาดเล็ก  ตามแนวคิดห้องสมุดมีชีวิต โดยเพิ่มเติมในเรื่องของความคิด สร้างสรรค์ จินตนาการ นันทนาการ ดนตรี และกิจกรรม เพื่อเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ที่เหมาะกับยุคสมัย และมีจุดเด่นสำคัญด้านไอที  ซึ่งเหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่จังหวัดห่างไกล ภูมิประเทศรายล้อมด้วยภูเขา การเดินทางค่อนข้างยากและต้องใช้เวลา  การพัฒนามาจากศูนย์ ICT เดิม ซึ่งมีระบบไอทีที่ดี  จึงเป็นส่วนช่วยให้สามารถเข้าถึงการเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว

“ทีเค พาร์ค ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านห้องสมุดมีชีวิต และให้คำปรึกษาแนะนำด้านกายภาพ สนับสนุนหนังสือและสื่อการเรียนรู้ ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมเชิงสาธิต และเรื่องของการบริหารจัดการ เพื่อให้อุทยานการเรียนรู้แม่ฮ่องสอนเป็นแหล่งเรียนรู้ที่เอื้อต่อกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิตของคนทุกกลุ่มทุกช่วงวัย”

นอกจากนี้ทีเค พาร์คยังได้จัดทำสื่อสาระเพื่อการเรียนรู้ท้องถิ่นภาคเหนือ ประกอบด้วยหนังสือทั้งหมด 3 เล่ม ได้แก่ หนังสือนิทานภาพ เรื่อง “สามฤดูในเมืองสามหมอก” ซึ่งได้รับเกียรติจากศิลปินชื่อดัง เทพศิริ สุขโสภา วาดภาพประกอบ ต่อมาเป็น เรื่อง “โตอ่อน” และ “เมืองในหุบเขา” หนังสือทั้ง 3 เล่มนี้ได้มีการจัดทำเป็น 2 ภาษาคือ ไทย และภาษาอังกฤษ

ใครสนใจลองไปใช้บริการ ” MHS PARK  อุทยานการเรียนรู้เเม่ฮ่องสอน”  กันได้ โดยเปิดให้บริการทุกวัน เวลา 08.30 น.-21.00 น. เข้าใช้บริการฟรีเเละหากต้องการสมัครสมาชิกเพื่อยืมหนังสือเเละมัลติมีเดีย เยาวชนเสียค่าธรรมเนียมปีละ 30 บาท เเละผู้ใหญ่อายุระหว่าง 19-59 ปี ค่าธรรมเนียมปีละ 100 บาท สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร. 053- 613450 เเละเฟซบุ๊ก อุทยานการเรียนรู้แม่ฮ่องสอน MHS PARK