ประเทศไทยกับความฝันจะเป็น”เมืองอัจฉริยะ” หนทางยังอีกไกลเมื่อ”รัฐไทย”เป็นอุปสรรคในตัวเอง

รายงานโดย กนกวรรณ มากเมฆ / ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ – Spinoff

 

เวลาเอ่ยคำว่า “สมาร์ท ซิตี้” (Smart City) หรือ “เมืองอัจฉริยะ” คุณนึกถึงหน้าตา เมืองแบบไหน ผู้คนใช้ชีวิตอยู่ในเมืองนี้กันอย่างไร และอะไร คือความเป็น “เมืองอัจฉริยะ”?

เมื่อโลกหันทิศยกระดับไปสู่การวางคอนเซ็ปต์ “สมาร์ท ซิตี้” คำว่า เมืองอัจฉริยะ คือ การพัฒนาเมืองไปสู่การมี “ระบบขนส่ง” และ “การใช้พลังงาน” ที่มีประสิทธิภาพ ประชาชนมีสุขพลานามัยที่ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดี ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่มีคุณภาพ สะดวก สะอาด ปลอดภัย

มาดูที่ประเทศไทย หลายหน่วยงานเริ่มให้ความสำคัญในการศึกษาและทำตัวอย่างของ “สมาร์ท ซิตี้” เช่นกัน ผ่าน 7 โครงการที่เข้ารอบการคัดเลือก “การออกแบบเมืองอัจฉริยะ” ที่จัดขึ้นโดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ร่วมกับสถาบันอาคารเขียวไทย โดยมีกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานให้การสนับสนุน (อ่านรายละเอียด เปิดโมเดล “7 สมาร์ท ซิตี้” ของไทย เมืองอัจฉริยะ รับสังคมแห่งอนาคต)

แต่การพัฒนาเมืองอัจฉริยะยังไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นได้ทันทีทันควัน การพัฒนาใหม่ๆย่อมมาพร้อมกับอุปสรรคและความท้าทายต่างๆ ดังเช่นในวงเสวนา เรื่อง “การส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในประเทศไทย : โอกาส ข้อจำกัด และความท้าทาย” ที่ตัวแทนจาก 7 โครงการที่ได้รับการคัดเลือก มาร่วมบอกเล่าถึงข้อจำกัดในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ โดยมีหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องร่วมเสวนา

ADVERTISMENT

กฎหมายที่ยังพูดกันไม่ชัด ขัดการพัฒนา

ADVERTISMENT

“อ.ธนิชา นิยมวัน” ผู้เชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรมผังเมือง/ที่ปรึกษาศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง จากโครงการเมืองจุฬาฯอัจฉริยะ ระบุว่า สิ่งที่ยังเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลักๆ จะเป็นเรื่องของกฎหมาย ที่มองว่ายังพูดกันไม่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกฎหมายที่เกี่ยวข้องการผลิตพลังงาน การใช้จ่ายเชื้อเพลิง เป็นต้น

“เช่นเรื่องของการนำขยะมาเป็นพลังงานชีวมวล ซึ่งในสัญญาสัมปทานของกรุงเทพมหานคร (กทม.) จะกำหนดให้มีผู้รับสัมปทานจัดการขยะอยู่ ทำให้จุฬาฯเองไม่สามารถจัดเก็บขยะเหล่านั้นเองได้ ทำให้ตรงส่วนนี้จุฬาฯต้องใช้วิธีบายพาสโดยระบุว่าเป็นการทดลอง เพื่อให้นำเอาขยะเหล่านั้นมาใช้เป็นพลังงานชีวมวลได้”

เช่นเดียวกับ “สุทธา เหมสถล” ที่ปรึกษานายกเทศมนตรีตำบลบ้านฉาง จากโครงการเมืองใหม่อัจฉริยะบ้านฉาง ที่ระบุว่า อุปสรรคคือเรื่องของข้อกฎหมาย หรือระเบียบต่างๆ ที่ขัดต่อการพัฒนาเมือง เช่น เรื่องระบบไฟฟ้า ที่สมาร์ท ซิตี้ จะออกแบบมาเป็นระบบหนึ่ง แต่ไม่ตรงกับข้อกฎหมายของกระทรวง ทำให้ดำเนินการต่อไม่ได้ ดังนั้น รัฐควรจะลดข้อจำกัดต่างๆ เหล่านี้ลง เพื่อให้สามารถพัฒนาเมืองอัจฉริยะไปได้อย่างที่ออกแบบไว้

เดินหน้า “สมาร์ท ซิตี้” ต้องบูรณาการตั้งแต่ระดับกระทรวง

“อ.ดร.เอกชัย มหาเอก” ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกายภาพและสิ่งแวดล้อม การออกแบบ และการดำเนินงานทางด้านภูมิสถาปัตยกรรม ม.เชียงใหม่ จากโครงการ มช. (เมือง) มหาวิทยาลัยอัจฉริยะ พลังงานสะอาด กล่าวว่า อุปสรรคอีกอย่างหนึ่งของการพัฒนาสมาร์ท ซิตี้ คือเรื่องการทำงานในระดับกระทรวง ที่ควรจะมีการบูรณาการกันก่อนตั้งแต่ระดับกระทรวง

“ยกตัวอย่าง ตอนนี้กระทรวงพลังงานสนับสนุนให้มีสมาร์ท ซิตี้ แต่ผังเมืองกลับมีการจำกัดให้นำพื้นที่ไปใช้ในการพัฒนาได้น้อย แล้วจะสร้างสมาร์ท ซิตี้ ขึ้นมาได้อย่างไร ดังนั้น รัฐควรมีการตกลงข้อกำหนดต่างๆ ให้สามารถพัฒนาไปในทิศทางเดียวกันในทุกๆ หน่วยงานได้”

“ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล” รองอธิบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากโครงการ ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต : ต้นแบบเมืองมหาวิทยาลัยอัจฉริยะ กล่าวว่า หากรัฐไม่สนับสนุน ก็อย่าสร้างอุปสรรคใหม่ขึ้นมา อย่างเช่น Backup Rate หรือการจัดเก็บอัตราค่าสำรองไฟ ที่รัฐกำลังพิจารณาว่าจะเก็บจากผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เองรายใหญ่ที่ใช้พลังงานทดแทน ซึ่งมองว่าเป็นอุปสรรคต่อการสร้างสมาร์ท ซิตี้ ซึ่งเป็นเมืองที่จะเน้นไปที่การลดใช้พลังงานเดิม และสร้างพลังงานทดแทน

“นอกจากนี้ รัฐควรเปลี่ยนทัศนคติในเรื่องการผลิตไฟฟ้า ควรมองว่ายุคนี้เป็นยุคใครใช้ไฟ คนนั้นก็ผลิต รัฐจึงไม่ควรผูกขาดการผลิตไฟฟ้าไว้ที่ตัวเองหมด แต่ควรไปลงทุนในเรื่องของ Storage ที่เป็นเรื่องที่ต้องใช้ความรู้และงบประมาณสูง ขณะเดียวกัน หากรัฐจะส่งเสริมการลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ รัฐก็ควรสร้างมาตรการกีดกันต่อสินค้าที่ปล่อย CO2 เป็นต้น”

ผังเมืองไม่เอื้อ-อินเซนทีฟยังไม่หนุนการลงทุน

ขณะที่ “สุทธา เรืองชัยไพบูลณ์” ประธานผู้อำนวยการ บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จํากัด จากโครงการวิสซ์ดอม วัน-โอ-วัน กล่าวว่า อุปสรรคสำคัญของการพัฒนาเมืองอัจฉริยะคือเรื่องของผังเมืองที่ยังมีปัญหา ทำให้เกิดข้อจำกัดในการใช้ประโยชน์จากที่ดิน ซึ่งรัฐควรจะปรับผังเมืองให้เอื้อต่อการพัฒนาได้

“ขณะเดียวกัน มองว่าอินเซนทีฟของภาครัฐยังไม่ค่อยสนับสนุนแบบเป็นรูปธรรม ทำให้นักลงทุนอาจยังไม่กล้าลงทุนเท่าไหร่นัก ซึ่งจากนโยบายของรัฐที่ต้องการให้ไทยเป็นดิจิทัลฮับ หรือการจะสร้าง 11 เขตนวัตกรรมนั้น มองว่าจะเกิดขึ้ยจริงได้ รัฐควรจะต้องสร้างอินเซนทีฟที่มหาศาลเพื่อดึงนักลงทุนเข้ามาให้ได้”

สร้างการรับรู้ประชาชนให้เข้าใจ “เมืองอัจฉริยะ” คืออะไร

“ศ.ดร.กำพล ปัญญาโกเมศ” รองอธิบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) จากโครงการ นิด้า : มหาวิทยาลัยอัจฉริยะ รู้รักษ์พลังงาน สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน กล่าวว่า ปัญหาของการทำสมาร์ท ซิตี้ ส่วนหนึ่งคือประชาชนยังไม่รับรู้หรือตระหนักถึงความสำคัญของสมาร์ท ซิตี้ ว่าจะได้ประโยชน์จากเมืองนี้อย่างไร ดังนั้น รัฐควรจะต้องสื่อสารให้ประชาชนรับรู้ความหมายและความสำคัญของสมาร์ท ซิตี้ ก่อน

“นอกจากการสร้างการรับรู้แล้ว เรื่องของงบประมาณก็เป็นส่วนสำคัญ ที่การพัฒนาในเรื่องของพลังงานนั้นใช้การลงทุนสูง ดังนั้นจึงอยากให้รัฐสนับสนุนงบประมาณในส่วนนี้ด้วย”

สอดคล้องกับ “กังวาน เหล่าวิโรจนกุล” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง(เคเคทีที) จำกัด จากโครงการขอนแก่น Smart City (ระยะที่ ๑) : ขนส่งสาธารณะเปลี่ยนเมือง ที่ระบุว่า การออกแบบเมืองอัจฉริยะสามารถทำได้ แต่เรื่องของการลงทุนมีความยากลำบาก ทำให้ยังไม่รู้ว่าจะไปถึงแบบที่วางไว้ได้หรือไม่ ดังนั้น การตั้งงบประมาณควรจะตั้งให้ถูกต้องและเหมาะสมกับการสร้างสมาร์ท ซิตี้ ที่จะสามารถพัฒนาหลายๆ ส่วนของเมืองพร้อมกันได้

รัฐพร้อมหนุนองค์ความรู้-เดินหน้าพูดคุยทำมาตรการสร้างแรงจูงใจ

โดยในส่วนของภาครัฐอย่าง “เสกสันต์ พันธุ์บุญมี” นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ปัจจุบัน สนพ.มีงบประมาณที่จะใช้สำหรับเป็นกองทุนอยู่ 1.2 หมื่นล้าน อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถนำมาใช้ในการผลักดันโครงการเมืองอัจฉริยะได้ทั้งหมด ทำให้มีการพูดคุยกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในการเจรจาเรื่องของอินเซนทีฟกับ BOI เป็นต้น

“ส่วนเรื่องของกฎระเบียบนั้นถือเป็นเรื่องยาก แต่ก็กำลังมีการพูดคุยกันอยู่ เช่น ในเรื่องของการห้ามการผลิตไฟฟ้าใช้เองนั้น ก็กำลังพิจารณาว่าจะให้ 7 เมืองอัจฉริยะดังกล่าวเป็นตัวทดลองหรือไม่”

ขณะที่ “วัฒนา สันทันพร้อม” รองผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) การไฟฟ้าเป็นเพียงผู้ปฏิบัติตามนโยบาย จะมีความเห็นหรือจำอะไรมากยังไม่ได้ แต่ก็จะมีการพูดคุยกันมากขึ้น รวมถึงนำประสบการณ์ที่ทั้ง กฟภ.และ กฟผ.มี ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของสมาร์ทกริด หรือหลายๆ ด้านที่รัฐวิสาหกิจได้ทำไปแล้ว แต่เอกชนไม่กล้าลงทุน ก็สามารถมาดูงานตรงนี้ได้

ด้าน “ทวีชัย กุศลสิทธารถ” ผู้ช่วยผู้อำนวยการวางแผนระบบไฟฟ้า การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ระบุว่า กฟน.เองก็กำลังมุ่งมั่นพัฒนาระบบ Smart Grid และ Micro Grid สิ่งที่จะสนับสนุนทั้ง 7 โครงการได้คือเรื่องขององค์ความรู้ ไม่ว่าจะเป็นในด้านการออกแบบ การติดตั้ง การควบคุม และการบำรุงรักษา ซึ่งมองว่าควรจะต้องมีที่ปรึกษาระดับมืออาชีพ

“อย่างไรก็ตาม มองว่าสิ่งที่ทั้ง 7 โครงการควรให้สำคัญเป็นลำดับแรกคือการสื่อสารให้คนที่จะอยู่ในเมืองเข้าใจและรับรู้เรื่องของสมาร์ท ซิตี้ ว่าจะใช้แอปพลิเคชั่นต่างๆ ในเมืองอย่างไร รวมถึงต่อยอดไปสู่การพัฒนาต่อไปอย่างไรด้วย”