
ครั้งแรกกับการจัดแข่งขัน Ultra Marathon ชิงแชมป์ประเทศไทยระดับมาตรฐานสากล “สวนรถไฟ-สวนจากภูผาสู่มหานที” 11-12 พ.ย.นี้ โดยสนามแข่งขันของประเทศไทยได้รับการรับรองระดับ Bronze Label จาก IAU ปักธงให้อยู่ในปฏิทินนักวิ่งอัลตร้ามาราธอนโลก
วันที่ 30 กันยายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาคมกีฬากรีฑาแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์, กรุงเทพมหานคร และมูลนิธิมิราเคิลออฟไลฟ์ ร่วมสนับสนุนการจัดงาน”Thailand Ultra Running Championships 2023″ ภายใต้โครงการ “หนึ่งใจ…ให้กีฬา” เป็นการจัดแข่งขันวิ่ง ในระยะทางอัลตร้ามาราธอนชิงแชมป์ประเทศไทย (Ultra Marathon) อย่างเป็นทางการครั้งแรก ในวันที่ 11-12 พฤศจิกายน 2566 เส้นทางที่สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) และสวนจากภูผาสู่มหานที กรุงเทพมหานคร
- พระราชินี เสด็จฯ ส่วนพระองค์ ทรงร่วมวิ่ง CIB RUN 2023 ระยะทาง 10 กิโลเมตร
- Motor Expo 2023 ยอดทะลุ 5 หมื่นคัน ทุบสถิติในรอบ 10 ปี
- อนุทิน ลงนามกฎกระทรวง เปิดผับถึงตี 4 แล้ว ทันบังคับใช้ 15 ธ.ค.นี้
โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อส่งเสริมการออกกำลังกายและพัฒนาสุขภาพในสังคม รวมถึงการยกระดับมาตรฐานการแข่งขันกีฬาอัลตร้ามาราธอนในประเทศไทยให้เทียบเท่าระดับสากล เป็นการแข่งขันชิงแชมป์ประเทศไทยในระยะทาง 100 กิโลเมตร 50 กิโลเมตร และระยะเวลา 24 ชั่วโมง (ระยะทางมากที่สุด)
ทั้งนี้เป็นครั้งแรกที่สนามการแข่งขันอัลตร้ามาราธอน ของประเทศไทย ที่ได้รับการรับรองสนามการแข่งขันระดับ Bronze Label จาก International Association of Ultrarunners (IAU) และ World Athletics หมายความว่างานนี้จะมีมาตรฐานเทียบเท่ากับการแข่งขันอัลตร้ามาราธอน ในระดับสนามชั้นนำของโลกเป็นครั้งแรกในประเทศไทย และทำการคัดเลือกตัวแทนนักกีฬาอัลตร้ามาราธอน ทั้ง 3 ระยะเพื่อไปทำการแข่งขันในระดับนานาชาติ
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกล่าวว่า เรื่องกีฬาเป็นเรื่องที่ลงทุนน้อย แต่ได้ผลเยอะ ซึ่งการวิ่งอัลตร้ามาราธอน 100 กิโลเมตร ไม่ใช่เรื่องธรรมดา เพราะหมายถึงการมีระเบียบวินัยในการซ้อม และถือว่าเป็นโอกาสที่ดีที่จะทำให้การแข่งขันเป็นมาตราฐานระดับโลกให้ได้ ซึ่ง กทม. ก็มีสวนหลายแห่ง
“งานดี ๆ แบบนี้ กทม. พร้อมให้การสนับสนุน ขอให้พวกเราร่วมแรงร่วมใจกัน ทำให้งานนี้ไปสู่ระดับโลกให้ได้ ให้เป็นงานที่คนทั่วโลกต้องมาแข่ง เป็นการดึงคนมาอยู่ที่ประเทศไทย ให้กลายเป็นปฎิทินประจำปีของคนที่จะวิ่งอัลตร้ามาราธอน ที่เมืองไทย และขอให้พวกเราร่วมมือร่วมใจกัน ทำงานนี้ให้ไปถึงสถิติโลกให้ได้ ให้เป็นงานอัลตร้าระดับโลก และได้มาตรฐานที่นักวิ่งทุกคนอยากจะมาวิ่ง” นายชัชชาติกล่าว
ขณะที่ พล.ต.ต.สุรพงษ์ อาริยะมงคล อุปนายกและเลขาธิการสมาคมกีฬากรีฑาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การจัดแข่งขันอัลตร้ามาราธอนครั้งนี้ ทางสมาคมกรีฑาได้เข้าไปมีส่วนร่วม ทั้งการยื่นขอรับรองมาตรฐานระดับสากล โดยส่งเรื่องทั้งหมดให้กับทาง IAU ซึ่งดูแลเกี่ยวกับการวิ่งอัลตร้าระดับโลก ให้รับรองการแข่งขันครั้งนี้ด้วย เราจะดูแลคัดเลือกนักวิ่งที่ทำสถิติได้ดีที่สุด เพื่อส่งเข้าแข่งขันระดับโลกต่อไป
โดยเชื่อมั่นว่า นี่จะเป็นก้าวแรกที่เราจะเดินไปด้วยกัน เรายังมีก้าวต่อไปให้เดินไปข้างหน้าอีกยาว เพื่อพัฒนาการแข่งขันครั้งนี้ไปสู่ระดับโลกให้ได้ โดยทางสมาคมได้มีหนังสือเชิญนักวิ่งจากต่างประเทศอีก 4 ชาติ คือ อินเดีย ญี่ปุ่น ไทเป และฮ่องกง เพื่อมาร่วมการแข่งขันในครั้งนี้ด้วย