“นักล่าพลอย” สุดขอบฟ้า อาชีพ “ตามหาขุมทรัพย์” ที่ยังมีอยู่จริง !!

เรื่องโดย ChomChom

กว่าจะมาเป็นเครื่องประดับสวยงามที่นำมาตกแต่งตามร่างกายใครจะรู้ว่าเส้นทางของการได้มาซึ่งอัญมณีวันนี้เต็มไปด้วยการเสี่ยงอันตราย กระนั้นก็ไม่สามารถหยุดยั้งให้ผู้คนดั้นด้นไปหาได้ วันนี้ถนนทุกสายทอดไปยังทวีปแอฟริกา ดินแดนสุดกันดาร แต่ใต้ผืนดินนั้นกลับเต็มไปด้วยก้อนหินสีมีค่าที่นักค้าพลอยต่างจับจ้องตาเป็นมัน

นักค้าพลอยก้อนบุกแอฟริกา

จากปากคำผู้ที่อยู่ในวงการพลอย และเคยเดินทางไปหาพลอยมาแล้วทั่วโลก อย่าง “เมธี จึงสงวนสิทธิ์” ประธานบริษัท เวิล์ดแซฟไฟร์ จำกัดบอกว่า วันนี้นักค้าพลอยก้อนน้อยลงทุกที ด้วยอุปสรรคหลายอย่าง ตั้งแต่ความเสี่ยง เงินทุนความรู้เรื่องพลอย และ อุปสรรคทางภาษา ทำปัจจุบันผู้ค้าพลอยก้อนวันนี้เหลือไม่ถึง 100 ราย

“วันนี้คนที่ทำเหลือน้อยแล้ว เพราะมีเงื่อนไขหลายอย่าง อายุต้องไม่มาก ภาษาต้องพอได้ มีความรู้
และ เงินทุน แล้วไปแอฟริกาค่อนข้างเสี่ยง บริเวณที่มีพลอยจะเป็นป่า เมื่อก่อนสงบสุข
แต่พอเป็นป่าแล้วมีพลอย มีเงิน มีคนมาค้าขาย กลุ่มมาเฟียก็เข้ามาหาผลประโยชน์
หน้าบ้านของคนไทยที่ซื้อพลอยต้องจ้างทหาร หรือ ตำรวจนอกเวลาทำการถือM16อยู่หน้าบ้าน
ซีเคียวริตี้ต้องใช้แบบนั้น ไม่อย่างนั้นมันจะใช้ปืนยิงเข้ามา ถล่มประตูบ้านแล้วหยิบทุกอย่าง ปล้นเลยบางรายถูกทำร้ายเกือบตาย ในแอฟริกาไม่ใช่สนุกนะ”


ขณะที่่ “เขมณัฎฐ์ เผือกไชยสิน” หรือ การ์ตูน วัย 40 หย่อนๆนักค้าพลอยสาวมือฉมัง ที่ยังคงโลดแล่นอยู่ในวงการค้าพลอยก้อน เล่าให้ “ทีมประชาชาติออนไลน์”ฟังอย่างออกรสว่า อาชีพอย่างตนนั้น ถ้ามีก้อน(พลอย)ที่ไหน ต้องดั้นด้นไปแม้ว่าจะผิดกฎหมายก็ตาม

“เริ่มไปหาพลอยตั้งแต่อายุ 20 กว่าๆ ทำแบบนี้มาตลอดเริ่มจากไพลิน กัมพูชา พอไพลินหมดก็ไปแม่สาย เมียนมา ไปอยู่ย่างกุ้ง 12 ปีจนตอนหลังรัฐบาลเขาให้เข้าประมูล เราก็ประมูลอย่างเดียว จนพลอยเมียนมาเริ่มแพง เราไม่สามารถทำได้ก็เข้ามาดาร์กัสก้า แล้วมาต่อที่โมซัมบิก”


การ์ตูน บอกว่า ที่ไปมาร์ดากัสก้าเพราะคนแอฟริกันเอาพลอยมาโชว์ที่เมืองจันท์จึงตามไป แต่ปัจจุบันคนไทยครึ่งหนึ่งไปที่ มอนทีเปส (Montepuez)ประเทศโมซัมบิก อีกครึ่งหนึ่งไปแทนซาเนีย ส่วนมากก็หน้าเก่าทั้งหมด ขอให้รู้ว่ามีพลอยที่ไหนไปหมด อยู่กันจนคนโมซัมบิกคุ้นเคย ถึงขั้นร้องเพลงไทยได้ก็มี


“ชีวิตที่โมซัมบิก เราไปในนามนักท่องเที่ยวจะอาศัยอยู่บ้านที่ห่างจากบ่อพลอยราว 40 กิโลเมตร วิธีทำงาน คือ จะเปิดร้านขายน้ำดื่ม ขนมขณะเดียวกันก็ตั้งโต๊ะรับซื้อพลอยด้วย เพราะเราเข้าบ่อพลอยไม่ได้
ต้องรับซื้อจากคนแอฟริกาที่ซื้อจากปากบ่อแล้วเอามาขายให้เท่านั้น ถ้าเราล่วงล้ำเข้าไปก็จะโดนปล้น
เราต้องอยู่ในบ้านที่ติดลูกกรงแน่นหนา แล้วตั้งโต๊ะคอยรับซื้อ เมื่อซื้อพลอยได้ก็จะมีบริษัทขนส่งรับบรรจุและส่งให้ คิดเป็นกะรัตๆละสิบบาท หรือ กิโลกรัมละห้าหมื่นบาท”

-หนีตำรวจ ระแวงยาม

ในอดีตคนค้าพลอยมีประมาณ 400-500 ราย แต่ปัจจุบันเหลือไม่ถึง
100 ราย


“ที่ลดลงเพราะไปยาก เหนื่อย เบื่อ หนีแต่ตำรวจหน่วยงานไหนก็ช่วยเหลือเราไม่ได้ บางทีเข้าไปถึงยังไม่ได้ซื้อพลอย ได้นั่งแป๊บเดียวเขาบอกตำรวจมาก็ต้องหนีอีกแล้ว ไม่รู้จะเข้าเมื่อไหร่ แต่คนทำพลอยก็พอมีเงินกันทำอย่างอื่นก็ไม่อยากทำ”

ด้านความเป็นอยู่ในโมซัมบิกนั้น การ์ตูน เล่าว่า จะต้องมีการตั้งประธานและ รองประธาน เพื่อคอยดูแลคนไทย เป็นคนเก็บเงินจากคนไทยไปส่งให้ตำรวจท้องที่ ถ้ามีตรวจคนเข้าเมือง หรือหน่วยคอมมานโดมาลง คนท้องที่ก็จะโทรมาบอกให้เราหนี พวกเราก็ต้องหนีไปหาที่นอนตามโรงแรม ค่าใช้จ่ายแพงมากโดยเฉพาะค่ารถ ไปครั้งหนึ่งประมาณ 17,500 บาท เมื่อก่อนค่าเงินเรากับเขาเท่าๆ กันจ่ายเงินแทบอ้วก

“นอกจากหนีตำรวจแล้ว ต้องคอยระวังโจรปล้นด้วยทำให้ต้องจ้างยามถือปืนไว้หน้าที่พัก แต่พอจ้างยามมาก็ดันกลัวเขามาปล้นเราอีก(หัวเราะ) กลัวไม่รู้ว่าดีหรือไม่ดี”

ถามว่าไปเสี่ยงขนาดนี้ทำแล้วคุ้มแค่ไหน การ์ตูน บอกว่า เมื่อก่อนเคยได้แต่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยได้แล้ว เพราะวัตถุดิบใกล้จะหมด เมื่อก่อนไปก็จะได้เม็ดพลอยสวยๆเดี๋ยวนี้เจ้าของบ่อที่สัมปทานล็อกหมด เขาจะคอยจ้างตำรวจให้มาจับเรา

“ปีนี้เรียกว่ากวาดล้างหนักมาก หนักกว่าทุกปี แทบจะไม่เหลือคนไทยนั่งอยู่แล้ว
แต่เราก็ผิดเหมือนไปขโมย”


แต่เหนือสิ่งอื่นใด คนในประเทศแหล่งพลอยยังต้องค้าขายกับคนไทย เพราะคนไทย
ดูพลอยเป็น เผาพลอยเป็น และ เจียระไนได้ ถ้าจะเอาไปขายให้พ่อค้าอินเดียๆ ก็ทำไม่เป็น ทำไม่ได้
เราต้องเอามาเผาที่จันท์ คือ ทั้งโลกก็มีที่จันท์นี่แหละ มีการอัพเดทเทคนิคการเผาตลอด

“คนไทยจะมีพรสวรรค์อย่างหนึ่ง แอฟริกันเอามาก็ดูไม่เป็นว่าก้อนนี้เผาได้หรือไม่ได้ แต่เราดูเป็น
พอเราเห็นปุ๊บพลอยจะบอกเราเองว่าเผาได้หรือไม่ได้”

เป็นอีกสีสันของชีวิตนักค้าพลอย
ที่ฉูดฉาดไม่แพ้อัญมณีที่ต้องดั้นด้นไขว่คว้ามา