เปิดธุรกิจบ้านกงเต็ก “เล็ก วัดญวนสะพานขาว” ผู้ผลิตเครื่องกระดาษพิธีกงเต็กถวายในหลวงร.9

รายงานโดย กนกวรรณ
มากเมฆ

ผู้สื่อข่าวประชาชาติธุรกิจออนไลน์

ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งเสียชีวิตมนุษย์เรามักมีพิธีกรรมเข้ามาเกี่ยวข้องเสมอ แต่ละที่ แต่ละภูมิภาค แต่ละประเทศพิธีกรรมนั้นก็แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับ “ความเชื่อ” ของแต่ละคนหรือธรรมเนียมปฏิบัติของท้องถิ่นนั้นๆ ซึ่งสำหรับความเชื่อหนึ่งของชาวจีนในเรื่องของชีวิตหลังความตาย

หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า “พิธีกงเต็ก”พิธีที่ทำขึ้นให้กับบรรพบุรุษที่ล่วงลับบนความเชื่อที่ว่าให้เขาได้มีความสุขในอีกภพหนึ่ง

“พิธีกงเต็ก” ประกอบด้วยหลายขั้นตอนรวมถึงสิ่งของที่ใช้ในงานหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น ของสำหรับผู้ตาย, เสื้อผ้าการแต่งกายของลูกหลานรวมถึงเครื่องกระดาษต่างๆ ทั้งกระดาษเงิน กระดาษทอง โคมไฟวิญญาณ ห้องน้ำ ม้า นก และหีบเสื้อผ้าแต่อีกสิ่งหนึ่งที่ปัจจุบันหลายครอบครัวนิยมมาประกอบพิธีกงเต็กด้วยก็คือ “บ้าน” และข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้าน ที่นำมาสู่การมีธุรกิจทำ “บ้านกระดาษกงเต็ก” ขึ้น

“ประชาชาติธุรกิจออนไลน์” พูดคุยกับผู้ประกอบกิจการบ้านกระดาษกงเต็ก “เล็ก วัดญวนสะพานขาว” ผู้ประดิษฐ์บ้านกงเต็กฝีมือเยี่ยมดำเนินกิจการมาแล้วกว่า 50-60 ปี และเคยทำบ้านกงเต็กประกอบพิธีกงเต็กให้กับบุคคลที่มีชื่อเสียงไปจนถึงพิธีกงเต็กหลวงของพระบรมวงศานุวงศ์มาแล้วหลายครั้งไม่ว่าจะเป็น สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี, สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี, สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์, สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

“ฐิตาภา หิรัญชัย” หรือ “เชอรี่” ลูกคนโตในบรรดาพี่น้อง 8 คนของครอบครัว เล่าถึงพิธีกงเต็กให้ฟังว่า พิธีกงเต็กนั้นมีประวัติมายาวนานแล้ว เป็นงานบุญที่ลูกหลานจะทำให้บรรพบุรุษ เป็นพิธีที่น้อยคนจะทำ เพราะต้องใช้เงิน ใช้เวลารวมถึงแรงศรัทธาของลูกหลาน ส่วนบ้านกระดาษกงเต็กก็มีมานานแล้ว และโดดเด่นมากในแถบจีนญวน

แถวหน้า (ซ้าย) ถนอมนวล วงศ์ศิริกุล (ขวา) ฐิตาภา หิรัญชัย, แถวหลัง (ซ้าย) สันทัศน์ หิรัญชัย
(ขวา) วิชาญ หิรัญชัย

“ส่วนบ้านกงเต็ก วัดญวนสะพานขาว เริ่มจากคุณพ่อ หรือช่างเล็ก(ฟื้น หิรัญชัย) ซึ่งเป็นคนไทย จ.พระนครศรีอยุธยา เคยฝึกทำบ้านกระดาษกงเต็กจากอาจารย์ซึ่งเป็นพระญวนที่วัดญวนสะพานขาว เมื่ออาจารย์เสีย คุณพ่อจึงมาริเริ่มทำกิจการของตัวเอง โดยมีคุณแม่นุช (ถนอมนวลวงศ์ศิริกุล) เป็นผู้ช่วย โดยคุณแม่จะเป็นคนไทยเชื้อสายจีนกวางตุ้ง ซึ่งเมื่อเป็นกิจการของที่บ้านตามสไตล์ของครอบครัวชาวจีนที่ลูกหลานกลับจากโรงเรียนต้องมาช่วยงานของครอบครัว ดังนั้น ลูกๆทุกคนจึงได้เรียนรู้และฝึกการทำบ้านกงเต็กกันมาตั้งแต่เล็ก” ฐิตาภากล่าว

ช่างเล็ก (คนที่ 4 จากซ้าย แถวหลัง)
และครอบครัว
ด้าน “ทัศน์-สันทัศน์ หิรัญชัย” ลูกคนรอง เล่าถึงการเรียนรู้งานจากคุณพ่อให้ฟังว่าการช่วยงานคุณพ่อตั้งแต่เด็กเป็นเหมือนเรื่องสนุกมากกว่า ที่ได้แปะกระดาษ จัดเฟอร์นิเจอร์ซึ่งไม่ใช่งานแบกหาม จึงทำให้สนุกกับมันได้ และได้เรียนรู้ไปด้วย ซึ่งคุณพ่อก็จะคอยบอกว่าทำแบบไหนถูกหรือแบบไหนไม่ถูกบ้านกระดาษกงเต็ก จำลองพระตำหนักเปี่ยมสุข (ยังไม่แล้วเสร็จ) ภาพโดย
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

โดยปัจจุบัน ถึงแม้ “ช่างเล็ก” จะเสียชีวิตไปแล้วตั้งแต่ปี2552 แต่ทายาท คือ “เชอรี่” และ “ทัศน์” เป็นผู้สืบทอดกิจการรวมทั้งยึดเป็นอาชีพหลักของครอบครัวด้วย โดยเชอรี่จะดูแลในส่วนของงานผ้า งานปะ และงานตกแต่งส่วนทัศน์มีหน้าที่ดูแลในเรื่องของงานไม้ ไม่ว่าจะเป็นเหลาไม้ เลื่อยไม้ หรือต่อไม้

ขณะที่ “หนุ่ย-วิชาญ หิรัญชัย” ลูกคนเล็กของบ้านที่ประกอบอาชีพหลักคือการเปิดบริษัทออกแบบสิ่งพิมพ์และเว็บไซต์รับหน้าที่ดูแลในเรื่องการออกแบบและทำพิมพ์เขียว เรียกได้ว่าทำงานกันไปตามความถนัดของแต่ละคนขณะที่พี่น้องคนอื่น ซึ่งประกอบอาชีพเป็นหัวหน้านักโภชนาการในโรงพยาบาล, เซลขายยา, นักบริหารการสื่อสาร,นักโภชนาการ และทำอู่ซ่อมรถ จะมาช่วยในช่วงเสาร์-อาทิตย์ หรือช่วงที่มีงานพิเศษ เพราะงานจะเยอะขึ้นละเอียดมากขึ้น ต้องใช้คนจำนวนมากขึ้น

บ้านกระดาษกงเต็ก จำลองพระตำหนักเปี่ยมสุข (ยังไม่แล้วเสร็จ) ภาพโดย
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
รูปแบบเน้นความสมจริง-ปรับไปตามยุคสมัยเมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปสิ่งที่กิจการบ้านกงเต็กเจ้าเก่าแก่รายนี้ให้ความสำคัญคือการปรับการออกแบบให้ทันยุคสมัยอยู่เสมอ ซึ่ง “หนุ่ย” บอกว่า งานของที่นี่คือจะจำลองจากของจริงตามโลกยุคปัจจุบัน ตั้งแต่เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น โทรทัศน์ ที่เมื่อก่อนเป็นเครื่องใหญ่ๆ จอนูนปัจจุบันก็ปรับรูปแบบให้เป็นทีวีจอแบน นอกจากนี้ยังมีโทรศัพท์มือถือ ไอโฟน ไอแพด คอมพิวเตอร์ เป็นต้นด้วยความที่เป็นงานจำลอง ดังนั้น ปัจจุบันวิถีชีวิตคนเปลี่ยนไปแค่ไหนก็ต้องปรับไปตามนั้นเพื่อให้สมจริงที่สุด


บ้านกระดาษกงเต็ก จำลองพระตำหนักเปี่ยมสุข (ยังไม่แล้วเสร็จ) – ภาพโดย ประชาชาติธุรกิจออนไลน์


“สำหรับงานหนึ่งชิ้นหลักๆแล้วจะประกอบด้วยบ้านห้องนอนห้องรับแขกห้องครัวห้องน้ำ เหมือนบ้านจริงทุกอย่าง มีส่วนของน้ำพุ สระน้ำ หรือบ่อเลี้ยงปลา ก็แล้วแต่ลูกค้าจะสั่งบางคนอยากได้สุนัข แมว นก สนามกอล์ฟ ซึ่งถึงแม้จะมีแบบบ้านมาตรฐานอยู่แล้วแต่ส่วนมากผลงานจะทำตามความต้องการของลูกค้า ที่มักจะเชื่อมโยงกับความชอบของผู้เสียชีวิต

ที่ผ่านมาเคยทำทั้งค่ายมวย มินิมาร์ท ปั๊มน้ำมัน คอนโดมิเนียม 7 ชั้นหรือแม้กระทั่งห้างสรรพสินค้า เพราะผู้เสียชีวิตชอบไปกินอาหารที่นั่น บางคนชอบทำผมก็ขอให้มีห้องทำผมในบ้าน จึงอิงอยู่กับว่าขณะที่ผู้เสียชีวิตยังมีชีวิตอยู่ชอบอะไรมีไลฟ์สไตล์แบบไหนด้วย” ลูกชายคนเล็กระบุ

บ้านกระดาษกงเต็ก จำลองพระตำหนักเปี่ยมสุข (ยังไม่แล้วเสร็จ) – ภาพโดย
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
ส่วนขนาดของบ้านขึ้นอยู่กับเจ้าภาพจะสั่งว่าต้องการขนาดใหญ่หรือเล็กประมาณไหนหรือมีความพิเศษใดบ้างแต่ถ้าเป็นขนาดมาตรฐานจะมีขนาดฐาน 3×2.5เมตร (ยาว 3 เมตร ลึก 2.5 เมตร) แต่ถ้าขนาดพิเศษมีขนาด 7.5×3.4 เมตร

ความพิเศษคือใช้ “ไม้ระกำ”
“สันทัศน์” เผยความพิเศษของบ้านกระดาษกงเต็กของช่างเล็กวัดญวนสะพานขาว ที่แตกต่างจากบ้านกระดาษกงเต็กที่อื่น ให้ฟังว่า วัสดุของโครงสร้างหลักที่ใช้จะเป็น “ไม้ระกำ” ที่มีความเบา สามารถเหลาเป็นสี่เหลี่ยมแล้วต่อได้เลย รวมถึงยังเป็นงานจำลองที่มีการตกแต่งภายในด้วย ส่วนเจ้าอื่นๆ จะใช้ไม้ไผ่และจำลองแบบเพียงภายนอก และเผาเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหญ่แยกตามไปไม้ระกำ – ภาพโดย
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

“นอกจากใช้ไม้ระกำแล้ว ในส่วนของกระดาษที่นี่จะเลือกกระดาษที่มีลวดลายออกมาให้สมจริงที่สุด หรือเหมาะสมมากที่สุด นอกจากนี้ยังใช้วัสดุอื่นๆในการประดิษฐ์ชิ้นงานต่างๆ อย่างเช่น ผ้า, ดินญี่ปุ่นสำหรับงานปั้น, โฟม เป็นต้นงานของที่นี่จึงมีความประณีต และมีความสมจริงมากกว่าที่อื่นก็ว่าได้” ทัศน์-สันทัศน์ ระบุ


ราคาขึ้นอยู่กับรูปแบบ

การรับงานจากลูกค้าของกิจการบ้านกงเต็ก “เล็ก วัดญวนสะพานขาว” นั้น หากเป็นลูกค้าที่รู้จักกันจะมาสั่งตั้งแต่วันที่เสีย ซึ่งพิธีกงเต็กจะจัดขึ้นในวันที่ 6 ของช่วงจัดงานศพ โดยหากลูกค้าสั่งตามแบบมาตรฐานที่ทำประจำอยู่แล้วก็จะใช้เวลาทำทันพิธีแน่นอน เนื่องจากไม่ใช่เป็นการเริ่มทำแต่แรกทั้งหมด เพราะมีการเตรียมเหลาไม้ไว้แล้วเฟอร์นิเจอร์ทั่วไปก็ทำจำลองไว้ เหลือแค่นำมาประดับตกแต่ง ยกเว้นลูกค้าต้องการสั่งแบบพิเศษก็ต้องทำขึ้นมาใหม่ ซึ่งต้องมีการตกลงเรื่องระยะเวลากับลูกค้าด้วย

และถึงแม้จะมีการจำลองเฟอร์นิเจอร์บางส่วนไว้ แต่ก็ไม่มีการทำสต๊อกผลงานเป็นชิ้นหรือเป็นหลังไว้
เนื่องจากหากทิ้งไว้นานจะทำให้ชิ้นงานขึ้นรา รวมถึงไม่สดใหม่ ดูหมอง หรือซีด

บ้านกระดาษกงเต็ก จำลองพระตำหนักเปี่ยมสุข (ยังไม่แล้วเสร็จ) – ภาพโดย
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
โดยการทำบ้านกระดาษกงเต็กนั้นจะประดิษฐ์ออกมาเป็นส่วนๆ (หากงานใหญ่ประมาณ 8 ชิ้นส่วน)แล้วนำไปประกอบที่สถานที่จัดงาน ราคาเริ่มต้นอยู่ในหลักหมื่นต้นๆไปจนถึงหลักแสน

อย่างไรก็ตาม ผลงานส่วนใหญ่เป็นรูปแบบของการสั่งทำราคาของแต่ละหลังจึงขึ้นอยู่กับแบบและความต้องการของลูกค้า โดยที่ผ่านมาลูกค้ามาจากหลายที่หลายจังหวัดกระจายทั่วประเทศ ทั้งเชียงราย, นครพนม, ชุมพร ฯลฯ

“ส่วนหนึ่งที่ลูกค้ารู้จักเราเกิดจากการบอกต่อ ซึ่งเชื่อว่าเป็นผลมาจากฝีมือ นอกจากนี้เรายังให้ความรู้หรือรายละเอียดของพิธี หากไม่รู้ก็ไปหาผู้รู้มาตอบให้ เพราะกงเต็กมีหลายแบบ ทั้งแบบจีนแต้จิ๋ว, จีนฮกเกี้ยน, จีนไหหลำ ซึ่งเราก็จะช่วยให้ความรู้ ข้อมูลตรงไหนที่เราไม่รู้เราก็จะไปหาข้อมูลมาให้ รวมถึงยังมีบริการเครื่องกระดาษอื่นๆ ที่ใช้ประกอบพิธีอีกด้วย” เชอรี่-ฐิตาภากล่าว

บ้านกระดาษกงเต็ก จำลองพระตำหนักเปี่ยมสุข (ภาพจาก
มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง)
กำไรไม่มาก แต่ก็พออยู่ได้“หนุ่ย-วิชาญ” เผยถึงรายได้ให้ฟังว่า เนื่องจากกิจการไม่ใช่รูปแบบของบริษัท จึงอาจจะบอกไม่ได้แน่ชัดว่าแต่ละหลังลงทุนเท่าไหร่ หรือกำไรเท่าไหร่ เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าบ้านหลังนั้นๆ ใช้ไม้กี่ชิ้น ใช้กระดาษกี่แผ่น
รวมถึงของหลายอย่างมีการสต๊อกเอาไว้อยู่แล้ว จึงอาศัยการมองภาพรวมแล้วกะเกณฑ์ราคา

บางครั้งงานใหญ่ก็อาจจะไม่ได้ได้กำไรเยอะ เพราะใช้ของเยอะตามไปด้วย บางทีงานชิ้นเล็กก็อาจจะได้กำไรมากกว่า แต่รวมๆ แล้วกำไรก็ไม่ได้มากแต่ก็พออยู่ได้
กังหันน้ำชัยพัฒนา ประกอบพิธีกงเต็กหลวง (ภาพจาก
มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง)
ส่วนจำนวนงานในแต่ละเดือนนั้นไม่สามารถกำหนดได้เพราะขึ้นอยู่กับจำนวนคนเสียชีวิต รวมถึงยังขึ้นอยู่กับความเชื่อด้วย บางคนเผาบ้านกระดาษเลยในงานศพ บางคนก็รอให้ครบ 49 วัน หรือ 1 ปี หรือ 3 ปีก็ได้ แล้วแต่ความเชื่อและความสะดวกของเจ้าภาพ

บ้านกระดาษกงเต็ก จำลองพระตำหนักเปี่ยมสุข (ยังไม่แล้วเสร็จ) – ภาพโดย ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
อุปสรรคยังอยู่ที่
“ความเชื่อ”เมื่อเป็นธุรกิจที่ตั้งอยู่บนพื้นฐาน “ความเชื่อ” ทำให้ “หนุ่ย” ยอมรับว่า อุปสรรคของกิจการบ้านกงเต็กคงเป็นเรื่องของความเชื่อของคนที่แตกต่างกัน บางคนตั้งคำถามว่าทำไปแล้วคนรับได้รับหรือเปล่า ซึ่งเป็นเรื่องที่ตอบไม่ได้ บางคนก็มองว่าฟุ่มเฟือย เพราะสุดท้ายแล้วต้องเผาทิ้ง แต่มองว่าจริงๆ
แล้วก็มีหลายอย่างที่เป็นของฟุ่มเฟือยแต่เราคนเราก็ใช้ ดังนั้น สุดท้ายแล้วจึงเป็นเรื่องของความสบายใจมากกว่าการทำพิธีกงเต็กจึงอาจต้องเริ่มจากใจที่อยากทำก่อน

“ส่วนความเชื่อของเด็กรุ่นใหม่ก็ต้องยอมรับเด็กรุ่นใหม่สนใจตัวเองมากกว่า ทำให้ความเชื่ออาจลดลงไปด้วย ซึ่งเราก็ต้องปรับแบบให้ทันสมัยการตลาดก็อาจต้องปรับเปลี่ยน เพราะบางคนอาจทำแบบเล็กๆ พอเป็นพิธี อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะงานชิ้นเล็กหรือชิ้นใหญ่ เราก็จะทำให้ดีที่สุดทุกชิ้น” หนุ่ยกล่าว

บ้านกระดาษกงเต็ก จำลองพระตำหนักเปี่ยมสุข (ยังไม่แล้วเสร็จ) – ภาพโดย ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

“พิธีกงเต็กหลวง”
ความภาคภูมิใจสูงสุดของครอบครัว

สำหรับพิธีกงเต็กหลวงในงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบ้านกระดาษกงเต็ก”เล็กวัดญวนสะพานขาว” ได้มีโอกาสทำบ้านกงเต็กประกอบพิธีสองครั้ง คือครั้งแรกในวันที่ 21 มีนาคม 2560 ซึ่งคณะสงฆ์ฝ่ายอนัมนิกายเป็นเจ้าภาพ โดยในครั้งนั้นทำเป็นรูปแบบของพระราชวังไกลกังวล
ส่วนอีกครั้งพิธีกงเต็กหลวงครั้งสุดท้ายที่จะจัดขึ้นในวันที่ 28 มิถุนายน

โดยมีมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งเป็นเจ้าภาพนั้น จะทำออกมาเป็นพระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวลที่การออกแบบพยายามออกมาให้เหมือนจริงมากที่สุด โดยอาศัยการดูจากหนังสือ ภาพถ่ายหรือข่าวที่พระบรมวงศานุวงศ์เสด็จพระราชดำเนินเยือนพระตำหนักเปี่ยมสุข

บ้านกระดาษกงเต็ก จำลองพระตำหนักเปี่ยมสุข (ยังไม่แล้วเสร็จ) – ภาพโดย
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
 
ภาพจาก
มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง
“การได้มีโอกาสทำพิธีกงเต็กหลวงถือว่าเป็นความภาคภูมิใจสูงสุดของครอบครัวที่ครั้งหนึ่งได้มีโอกาสรับใช้พระบรมวงศานุวงศ์เป็นครั้งสุดท้ายโดยเฉพาะพิธีกงเต็กหลวงในงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9ซึ่งเป็นงานของพระมหากษัตริย์ ทำให้เราทุกคนตั้งใจกันมาก พี่น้องทุกคนทำเต็มที่ เมื่องานส่งไปได้รับผลตอบรับดี ก็ถือเป็นการการันตีให้งานของเราได้รับการยอมรับด้วยสุดท้ายคือเหมือนเป็นการที่เราได้รับใช้ท่าน ซึ่งทำให้เรารู้สึกดีใจ” หนุ่ยกล่าวในที่สุด
ภาพจาก มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง

ภาพจาก มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง