“ม.ล.คฑาทอง ทองใหญ่” ภารกิจดันดีไซเนอร์ไทยสู่สากล “ครีเอทีฟไม่พอ ต้องเป็นนักธุรกิจด้วย”

โดย ศิริลักษณ์ หาพันธ์นา
ผู้สื่อข่าวประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.prachachat.net

เมื่อผู้คนหันมาให้ความสำคัญกับ “รสนิยม” การเติบโตของธุรกิจ “ดีไซน์” ก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว พร้อมกับประเทศไทยกำลังจะก้าวสู่โลกดิจิทัล 4.0  “งานสร้างสรรค์” จึงเป็นเรื่องที่มองข้ามไม่ได้

ปัจจุบันมีนักออกแบบผุดขึ้นมากมาย เป็นคนรุ่นใหม่ที่ต้องการจะปล่อยของ ปล่อยความคิดสร้างสรรค์ และต้องการสร้างแบรนด์ของตัวเองให้ประสบความสำเร็จคือเป้าหมายสูงสุด…แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก

ทิศทางการเติบโตของธุรกิจออกแบบของไทยตอนนี้เป็นเช่นไร  ดีไซเนอร์ไทยยังต้องพัฒนาจุดเด่น แก้จุดด้อยอะไรบ้างโครงการรัฐส่งเสริมมากแค่ไหน มีช่องทางช่วยเหลือด้านใด และการปรับตัวรับการขายตลาดออนไลน์อย่างไร

“ประชาชาติธุรกิจออนไลน์” คุยกับ “ม.ล.คฑาทอง ทองใหญ่” ผู้อำนวยการสํานักส่งเสริมนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้ากรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เพื่อตอบคำถามเหล่านี้พร้อมการเดินหน้าโครงการ Talent Thai & Designers′ Room  ที่ดำเนินการต่อเนื่องมาแล้วกว่า15 ปี  มีนักออกแบบเข้าร่วมโครงการกว่า 600 แบรนด์

“ธุรกิจวงการออกเเบบไทย ตอนนี้ถือว่าเป็นที่น่าพอใจเพราะเป็นงานด้านความคิดงานสร้างสรรค์ที่กำลังจะเป็น S-Curve ใหม่ของประเทศการบริการทางความคิดสร้างสรรค์เป็นเทรนด์ใหม่ที่ตลาดโลกต้องการเเฝงตัวอยู่ในรูปแบบต่างๆ ไม่ใช่เฉพาะวงการเเฟชั่นเเละไลฟ์สไตล์เท่านั้น  เเต่รวมไปถึงดิจิทัลคอนเทนต์ , เกม , การ์ตูนอนิเมชั่น, โปรเเกรมมิ่งเเละโฆษณา ซึ่งเป็นธุรกิจที่กำลังเติบโตทั่วโลกอยู่ตอนนี้” ม.ล.คฑาทองกล่าวถึงแนวโน้มธุรกิจดีไซน์ในไทย

เมื่อจำนวนแบรนด์ในตลาดมีมากขึ้น การแข่งขันก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน คนรุ่นใหม่หันมาประกอบธุรกิจส่วนตัวกันมาก ในขณะที่กลุ่มที่มีความเข้าใจด้าน “story telling” ยังมีน้อย

โดย ม.ล.คฑาทอง ระบุว่า มูลค่าจากการส่งออกทั้งหมดของประเทศอยู่ที่ปีละ2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งประมาณร้อยละ 10 เป็นสินค้าทั่วไปทุกประเภทที่ขายด้วย “Branded” ส่วนอีกร้อยละ 90 เป็นการส่งออกด้านการผลิตที่ส่วนมากไม่ใช่แบรนด์ของคนไทย ซึ่งถ้าเฉพาะวงการแฟชั่นจะอยู่ประมาณ 800-900 ล้านเหรียญสหรัฐ

ทำอย่างไรเราจะส่งสินค้าแบรนด์ไทยของคนไทยออกสู่ตลาดโลกได้ เป็นโจทย์ที่รัฐต้องตีให้แตก…โดยทุกวันนี้ตัวชูโรงใหญ่คือสินค้าอาหารและเครื่องดื่มมากกว่าด้านของดีไซน์เนื่องจากไทยเป็นประเทศอุตสาหกรรมและถือเป็นครัวโลกการที่จะผันมาเป็นประเทศที่โดดเด่นด้านดีไซน์นั้นยังเป็นไปได้ยากในตอนนี้

การเปลี่ยนแปลงของโครงการ “Talent Thai & Designers′ Room” 15 ปี จากอดีตจนถึงปัจจุบันแตกต่างกันอย่างไร

ผู้อำนวยการสํานักส่งเสริมนวัตกรรมฯ บอกว่า ความต้องการของตลาดเเละความต้องการของดีไซเนอร์ไม่มีอะไรหยุดนิ่ง หากเล่าตั้งเเต่ปีเเรกๆ ดีไซเนอร์ไทยต้องการจะไปเมืองนอกและอยากขายของอย่างเดียว ทางหน่วยงานจึงต้องหาช่องทางให้พวกเขาได้ไปคุยธุรกิจต่างประเทศโดยผ่านงานเเฟร์เป็นหลักเเต่ปัจจุบันไม่ใช่เช่นนั้นเเล้วเนื่องจากนักออกเเบบต้องการความนิยมทางออนไลน์มาเก็ตติ้งที่สามารถสร้างเเบรนด์ของตนให้มีชื่อเสียงขึ้นมาได้รวดเร็ว

“เราพยายามจะพัฒนาโปรเเกรมนี้ทุกปี ปัจจุบันอายุของเเบรนด์จะสั้นลง ผู้ประกอบการจึงต้องทำให้ดังไปตู้มเดียว เเล้วเปลี่ยนคอลเลคชั่นเปลี่ยนทิศทางเเบรนด์เร็วมาก เป็นสิ่งที่เปลี่ยนเเปลงในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ขายของในงานเเฟร์อย่างเดียวจึงไม่เพียงพอเเล้ว การเดินเเฟชั่นโชว์ไม่ได้รับความนิยมเหมือนเเต่ก่อน แต่จะหันมาเป็นรูปแบบ “Private Review” มากกว่า ถ้าไปไกลกว่านั้นคือให้คนดูผ่านช่องทางออนไลน์เลย อย่างเช่นการไลฟ์สตรีมมิ่ง”  ม.ล.คฑาทองกล่าว

เพื่อให้ปรับตัวเข้ากับยุคดิจิทัลมากขึ้น ทางโครงการจึงมีการเตรียมจะเปิดเวทีให้กลุ่มธุรกิจเเละสตาร์ตอัพที่ประสบความสำเร็จ มาสอนงานให้เหล่านักออกเเบบ เพื่อสร้างเครือข่ายและเจรจากันได้ ซึ่งจะจัดเป็นหลักสูตรอบรม2-3เดือนเพื่อให้ความรู้ด้านไอทีแก่ดีไซเนอร์โดยกูรูที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน

ทั้งหลักสูตรดิจิทัลออนไลน์มาร์เก็ตติ้ง การนำเสนอสินค้าสมัยใหม่เเละการ”storytelling” บอกเล่าเรื่องราวซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างเเบรนด์ นอกจากนี้ยังมีเรื่องการอบรมบุคลิกภาพ และการเจรจาการค้ากับต่างประเทศ เป็นต้น

“ทางกรมส่งเสริมการค้าฯ มีการร่วมมือกับอีคอมเมิร์ซใหญ่อย่างอาลีบาบา เพื่อขยายไปสู่ตลาดจีน ขณะเดียวกันก็มีช็อปของญี่ปุ่นประสานมาด้วย โดยมีเจาะเฉพาะสินค้าไลฟ์สไตล์  อย่างไรก็ตามต้องทำควบคู่ไปทั้งออนไลน์เเละออฟไลน์ ซึ่งถือมีความสำคัญไม่เเพ้กัน”

สำหรับแผนขยายการเข้าถึงดีไซเนอร์ไทยในอนาคต ทางโครงการจะมีการไปสู่ภูมิภาคมากขึ้น โดยถ่ายทอดความรู้ไปตามจังหวัดต่างๆ เริ่มจากหัวเมืองใหญ่ๆ  เช่น เชียงใหม่ ขอนเเก่น ชลบุรี ภูเก็ต เเละมีศูนย์ใหญ่อยู่ที่กรุงเทพมหานคร โดยสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่ www.designers360.net และ facebook : Talent Thai & Designers′ Room

 

 

ดีไซนเนอรรุ่นใหม่  ต้องมีอะไรบ้าง ?

ด้านการพัฒนาตนเองของ “ดีไซเนอร์ไทย” เพื่อให้ก้าวสู่ระดับโลกได้นั้น ม.ล.คฑาทองกล่าวถึงจุดเด่นที่ต้องส่งเสริมและจุดด้อยที่ต้องปรับปรุงว่าปัจจุบันดีไซเนอร์ไทยยังคงมีอุปสรรคด้านภาษาอยู่ค่อนข้างมากเเต่ความสำคัญมากกว่านั้นคือความตั้งใจเพราะภาษาอาจจ้างตัวเเทนมาช่วยงานได้

เเต่ “Passion” ที่ต้องเกิดจากตัวเองถึงจะประสบความสำเร็จได้ดังที่จะเห็นเเบรนด์ที่ประสบความสำเร็จ ว่าต้องฝ่าฟันกับสถานการณ์ที่ขึ้นลงตลอดเวลา ดีไซเนอร์รุ่นใหม่ต้องมีความอดทนตรงนี้ ถ้ารีเซ็ตใหม่ตลอดเวลาก็ไปต่อข้างหน้าไม่ได้

เเล้วดีไซเนอร์รุ่นใหม่ที่อยากประสบความสำเร็จ จะต้องมีอะไรบ้างนั้น ผอ.สํานักส่งเสริมนวัตกรรมฯ แนะนำว่า

สิ่งเเรก คือต้องมีความรู้เรื่องการตลาด แต่ส่วนมากเเบรนด์น้องใหม่มักจะทำสินค้าออกมาก่อนมีพื้นฐานการผลิตเเล้วค่อยหาตลาด ซึ่งปัจจุบันโลกมันตรงกันข้าม คือต้องไปศึกษาก่อนมีความรู้ด้านเเนวโน้มของตลาดก่อน เช่น ถ้าจะผลิตรองเท้าเราต้องผลิตให้ลูกค้ากลุ่มไหน ขายช่องทางใดเเล้วจะสนองความต้องการระยะสั้นได้ในระบบออนไลน์หรือไม่ดีไซเนอร์ จึงจำเป็นต้องเปิดโลกให้กว้างรอบรู้ถ้ามีแค่ความครีเอทีฟเพียงอย่างเดียวก็อาจจะเจ๊งสูง

สิ่งที่สอง ต้องมีเทคนิคการเจรจาการค้าโดยเฉพาะการสร้างมนุษยสัมพันธ์ เพราะต้องคุยกับลูกค้าต่างประเทศอาจได้รับปฎิกิริยาที่หลากหลาย เพราะฉะนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการรับมือเเก้ไขเหตุการณ์เฉพาะหน้าได้ เป็นทักษะที่นักออกเเบบต้องเรียนรู้

เเละสิ่งที่สาม คือนักออกแบบต้อง ทำการบ้านด้านจัดการระบบต่างๆ เช่น เเบรนด์มีเครื่องหมายการค้าหรือยังจดทะเบียนเรียบร้อยหรือเปล่า ระบบบัญชีมีความพร้อมหรือไม่เรื่องเหล่านี้จำเป็นต้องใช้เวลาเรียนรู้ โดยปัจจุบันจะมีแอปพลิเคชั่นสมัยใหม่มาช่วยได้เยอะ อย่างไรก็ตามก็ต้องรู้ด้วยตัวเอง “คุณต้องเป็นนักธุรกิจพร้อมกับการเป็นดีไซเนอร์ด้วย”

จุดประกาย “co-branding” 

ม.ล.คฑาทอง กล่าวว่า เพื่อสร้างประสบการณ์และพัฒนาศักยภาพนักออกแบบไทยให้พร้อมก้าวสู่ตลาดสากลปี2017 นี้โครงการ “Talent Thai & Designers′ Room” จะดำเนินด้วยคอนเซปต์ CREATIVITYBEYOND BORDERS รับนโยบายไทยแลนด์ 4.0

สำหรับไฮไลต์เด็ดของปีนี้ ถือเป็นครั้งเเรกที่ได้จัดทำ  CO-Branding ร่วมกับแบรนด์ชั้นนำ อาทิ Erb  แบรนด์สปาชื่อดังของไทย,Tao Hong Tai  แบรนด์เครื่องปั้นดินเผาเก่าแก่และ PAINKILLER แบรนด์เสื้อผ้าชั้นนำ เป็นต้น

“จุดประสงค์คืออยากกระจายให้ดีไซเนอร์ในโครงการได้เป็นที่รู้จักกว้างขวางที่สุดเพราะเราคิดว่ากลุ่มเหล่านี้สามารถให้บริการในภาคธุรกิจได้

โดยตอนนี้กำลังคุยกับเจ้าอสังหาริมทรัพย์อย่าง”เเสนสิริ”ให้ดีไซเนอร์ทำคอลเลคชั่นตกเเต่งบ้านให้เเสนสิริโดยเฉพาะเเละนำไปปรากฎในบ้านพักที่อยู่อาศัยให้ผู้คนได้เห็นสินค้าจริงเเละใช้ได้ในชีวิตประจำวันจริง

ล่าสุดกับความร่วมมือกับ สยามพิวรรธน์ก็มีการเปิดร้านจากโครงการนี้ซึ่งเป็นการกระจายความรู้ออกสู่ประชาชนมากขึ้น ผมไม่อยากให้อยู่เเค่ในวงการ เเต่ต้องการให้คนได้เข้าถึงเเละเข้าใจ ดีไซน์ของคนไทยว่ามีของดีอยู่เยอะมาก ๆ”  ม.ล.คฑาทองระบุ

ผอ.สํานักส่งเสริมนวัตกรรมฯ  กล่าวอีกว่า การใช้ทุนที่มาจากความคิดสร้างสรรค์นั้นไม่ต้องเสี่ยงอะไรเลย หากใช้งบไปกับการจ้างดีไซเนอร์ก็เป็นการลงทุนเพื่ออนาคต เพราะคุณจะสามารถกำหนดเองได้ว่าสินค้าจะออกคอลเลคชั่นใหม่ได้โดยไม่ต้องรอคนอื่นเเละไม่ต้องรอเลียนแบบ

เพราะในยุคนี้ธุรกิจอาจจะไม่มาไทยก็ได้เขามีทางเลือกให้ไปจีน  ไปเวียดนามเพราะประเทศเหล่านี้สู้กับไทยได้ในเรื่องค่าแรงที่ถูกกว่า แต่หากเราสร้างสินค้าหมวดสร้างสรรค์ขึ้นมาเองได้ โดยไม่ต้องรอออเดอร์ เเละนำสินค้าไปเสนอตลาดได้เลย นี่คือสิ่งที่ตนต้องการเห็นผู้ประกอบการไทยเป็นได้ในอนาคตอันใกล้

นอกจากนี้ เขายังกล่าวถึงปัญหาน่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือวงการดีไซเนอร์ไทยยังนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศอยู่

ก้าวสำคัญคือจะทำอย่างไรให้ยักษ์ใหญ่วงการสิ่งทอรองรับดีไซเนอร์ไทย

โดยมีข้อสงสัยว่าทำไมดีไซเนอร์ไทยยังไม่ใช้สิ่งทอของบ้านเรา ม.ล.คฑาทองตอบว่า 1. ไม่รู้เเหล่งผลิต  2. ราคาแพง 3.คนยังติดค่านิยมว่าต้องใช้ของต่างประเทศ

ดังนั้นเป็นโจทย์ของภาครัฐที่จะต้องพาผู้ผลิตสิ่งทอมาเจอกับดีไซเนอร์ให้ได้ นอกจากนี้ดีไซเนอร์ก็ต้องมีความพร้อมเป็นนักธุรกิจเองได้ทำเองขายเองได้จึงเชื่อว่าเมื่อพวกเขามีประสบการณ์มากขึ้นแล้ว สร้างชื่อเสียงขึ้นมาได้ ก็จะมีงานออกแบบให้บริษัทใหญ่ๆ เเละมีการ co-branding ในอนาคต

“ผมบอกได้เลยว่าจากโครงการที่มี 600 กว่าแบรนด์ ถ้าประสบความสำเร็จแค่แบรนด์เดียวก็สร้างชื่อเสียงให้ประเทศได้มหาศาลแล้ว เช่นฝรั่งเศสมีแบรนด์ในประเทศมากกว่าหมื่นแบรนด์ แต่ที่ทำเงินและสร้างชื่อให้ฝรั่งเศสมีไม่กี่แบรนด์เท่านั้นเราก็ยังยกว่าเมืองดีไซน์คือฝรั่งเศส

…ของไทยก็เหมือนกันถ้าเราสามารถผลักดันแบรนด์ให้โดดเด่นระดับโลกได้สิ่งที่ไทยจะได้มามหาศาล เราอาจเป็นศูนย์กลางของแฟชั่นในเอเชียก็ได้ ผมว่าถ้าทำได้สำเร็จ 1-2แบรนด์ก็แฮปปี้แล้ว” ม.ล.คฑาทองกล่าว