เตรียมตัวให้แน่น! รู้ไว้ไม่เสี่ยงตาย พาดูวิธีเตรียมพร้อมก่อนเข้าไปใน “พื้นที่อับอากาศ”

เรื่องโดย รณิดา บริบูรณ์ภัทรกุล

ไม่นานมานี้เกิดเหตุการณ์หดหู่และเป็นความสูญเสียอย่างที่ไม่ควรมีผู้เสียชีวิตของผู้ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่บ่อบำบัดน้ำเสียของโรงงานแห่งหนึ่งซึ่งแม้เหตุการณ์การเสียชีวิตในพื้นที่อับอากาศลักษณะนี้จะไม่ได้ปรากฎบ่อยนักบนหน้าข่าวแต่ก็มีให้เห็นเป็นระยะมาเนิ่นนาน

พื้นที่อับอากาศอันตรายเกินคิด ไม่กี่นาทีก็ตายได้

หลายคนอาจไม่คุ้นกับคำว่า “พื้นที่อับอากาศ” หรือ Confined Space ซึ่งหมายถึง พื้นที่ที่มีทางเข้าออกจำกัดและมีการระบายอากาศได้ไม่ดี เช่น บ่อน้ำฝน แท๊งค์เก็บน้ำมัน เป็นต้น

โดยตามกฏหมายเพื่อมาตรการพื้นฐานความปลอดภัยระบุให้มีการติดป้ายเตือนหน้าพื้นที่อับอากาศ
พร้อมทั้งป้ายคำเตือนห้ามบุคคลภายนอกเข้า และนอกจากนี้กระทรวงแรงงานยังได้ออกกฏหมายให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ภายในพื้นที่อับอากาศจำเป็นต้องสอบการทำงานในที่อับอากาศมาตั้งแต่ปี2547ซึ่งใบรับรองมีอายุเพียง1ปีทำให้ต้องมีการอบรมกันอย่างต่อเนื่องทุกปี


การเข้าไปในพื้นที่อับอากาศฟังดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัวเพราะเป็นพื้นที่เฉพาะสำหรับผู้ปฏิบัติวิชาชีพเกี่ยวข้องแต่อย่างน้อยการที่เราได้รับรู้ถึงสภาพจริงของอันตรายที่ไม่อาจคาดคิดได้ย่อมเป็นประโยชน์หากต้องเผชิญสถานการณ์ไม่คาดฝันและแน่นอนการป้องกันตัวและเข้าไปในพื้นที่อับอากาศอย่างถูกวิธีย่อมต้องมีการฝึกฝนตัวเอง

ในประเทศไทยมีศูนย์ฝึกอบรมอยู่ไม่ถึง10แห่งหนึ่งในนั้นที่จะพาไปรู้จัก คือ ศูนย์ฝึกอบรมของ บริษัท 3 เอ็ม ประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันมีผู้เข้ารับการฝึกอบรมต่อรอบที่ 30 คน และต้องฝึกทั้งคอร์สเป็นเวลา 4 วัน

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ มีโอกาสได้ร่วมสังเกตการณ์และทดสอบการฝึกอบรมครั้งนี้ โดยมี “ธวัชชัย ชินวิเศษวงศ์” ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีวะอนามัยและความปลอดภัยของ 3 เอ็ม เป็นผู้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจ
และชวนตกใจ


“ธวัชชัย ชินวิเศษวงศ์” ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีวะอนามัยและความปลอดภัยของ 3 เอ็มกำลังอธิบายสาธิต

“ที่ผ่านมาการเสียชีวิตในพื้นที่อับอากาศมักมีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า1รายเสมอ ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าการเสียชีวิตเหล่านั้นเป็นผลมาจากการไม่มีความรู้ด้านความปลอดภัยในการปฏิบัติงานในพื้นที่อับอากาศและการปฏิบัติงานบนพื้นที่สูง” ธวัชชัยเปิดบทสนทนา

หนึ่งในสาเหตุการเสียชีวิตมาจากความหละหลวมในการดำเนินการของผู้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฏหมายกำหนด

โดยหลักเกณฑ์เบื้องต้นจะมีตั้งแต่การต้องมีทีมช่วยเหลือซึ่งผ่านการอบรมจนเชี่ยวชาญเตรียมแสตนด์บายพร้อมช่วยเหลือด้านนอกในขณะที่ทีมปฏิบัติงานลงสู่พื้นที่อับอากาศ


และการที่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่อับอากาศต้องผ่านการฝึกอบรมเพื่อความปลอดภัยและทำตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัดด้วยการใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยเช่นเครื่องตรวจวัดสภาพอากาศถังอากาศหน้ากากปิดจมูกและปากกันก๊าซพิษและชุดป้องกันการตกจากที่สูงเป็นต้นตลอดจนการระบายอากาศด้วยการปล่อยอ๊อกซิเจนเข้าภายในพื้นที่อับอากาศหรือดูดก๊าซพิษออกจากพื้นที่นั้นรวมทั้งการตัดแยกระบบไฟเพื่อป้องกันอันตรายที่ไม่คาดคิด

การฝึกทีมแบคอัพที่ดีให้พร้อมเป็นทีมกู้ชีพในวินาทีเฉียดตาย

การเตรียมตัวเบื้องต้นของผู้ปฏิบัติงานลงไปในพื้นที่อับอากาศว่าสำคัญแล้วแต่ความพร้อมของ”ทีมช่วยเหลือด้านนอก”ต้องเพิ่มระดับความสำคัญมากขึ้นอีกเป็นแผนสองที่ขาดไม่ได้ของการปฏิบัติหน้าที่

ธวัชชัย อธิบายว่า ตามปกติแล้วโรงงานเป็นผู้ที่ต้องดูแลตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ โดยเริ่มตั้งแต่การอนุญาตและแต่งตั้งผู้ควบคุมให้เข้าไปทำงานในพื้นที่อับอากาศ จากนั้นจึงให้ผู้ปฏิบัติงานและทีมช่วยเหลือลงพื้นที่อับอากาศเพื่อทำหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย

อย่างไรก็ตามส่วนที่สำคัญที่สุดคือทีมช่วยเหลือและเครื่องมือในการช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุขณะปฏิบัติงานภายในพื้นที่อันตรายดังกล่าว ซึ่งมักพบว่าการเสียชีวิตที่ตกเป็นข่าวไม่มีเครื่องมือช่วยเหลืออย่างครบครัน
รวมทั้งความไม่พร้อมด้านแผนการรับมือเมื่อเหตุการณ์ไม่คาดฝันได้เกิดขึ้น

“การทำงานของทีมช่วยเหลือถือว่าเป็นส่วนที่จำเป็นมากกว่าส่วนอื่นเนื่องจากไม่รู้ใครรู้ว่าเหตุการณ์ไม่คาดฝันจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ถ้าหากเกิดเหตุขึ้นมาแล้วนั้นหนึ่งชีวิตก็มีความหมายดังนั้นทีมช่วยเหลือจึงควรที่จะเตรียมพร้อมและฝึกซ้อมอยู่เสมอจนเชี่ยวชาญรวมทั้งเครื่องมือในการช่วยเหลือก็ควรมีพร้อมใช้ได้ทุกเมื่อเรามีเวลาเพียง4นาทีก่อนที่สมองจะตาย” ธวัชชัยกล่าว

เสี่ยงตายไม่ได้! ผู้ปฏิบัติงานต้องฝึกฝน-อบรม และมีอุปกรณ์ที่พร้อมอย่างมืออาชีพ

ประชาชาติออนไลน์ เข้าสังเกตการณ์การสาธิตการช่วยเหลือผู้หมดสติภายในพื้นที่อับอากาศ
รวมไปถึงกรณีมีเหตุการณ์ตกจากพื้นที่สูงภายในศูนย์ฝึกอบรมมาตรฐานของ 3
เอ็ม

เจ้าหน้าที่สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันการตกเพื่อความปลอดภัยซึ่งเป็นเข็มขัดแบบรัดทั้งตัวในส่วนขาทั้งสองข้าง รอบเอวและพาดขึ้นยังบ่าทั้งสอง โดยต้องรัดให้กระชับแน่นแต่ไม่มากจนทำให้เลือดไม่สามารถใหลเวียนได้ นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์อื่นๆ ประกอบด้วยจุดยึด ซึ่งมีหน้าที่ป้องกันการพลัดตกจากที่สูง ตัวเชื่อมต่อกับจุดยึด
และเชือกสำหรับรักษาตำแหน่งของผู้ที่กำลังปฏิบัติงาน ซึ่งเป็นส่วนที่ป้องกันการตกไปในตัว
รวมทั้งหมวกกันกระแทกสำหรับการปฏิบัติงาน

หลังจากเตรียมความพร้อมด้านชุดป้องกันแล้วเจ้าหน้าที่เดินมาที่จุดสาธิตซึ่งมีอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้ตกอยู่ในเหตุการณ์ไม่คาดคิดภายในพื้นที่อับอากาศมีลักษณะเป็นโครงเหล็กตั้งกับพื้นโดยมีแขนยื่นสูงขึ้นไปเป็นส่วนต่อขยายกับส่วนชักรอกซึ่งเจ้าหน้าที่กล่าวว่าเครื่องมือช่วยเหลือมีหลากหลายรูปแบบซึ่งมีการใช้งานแตกต่างกันไปในรายละเอียด


สำหรับการช่วยเหลือผู้ที่หมดสติในสถานที่อับอากาศแต่ไม่มีพิษจะให้ผู้ช่วยเหลือคนหนึ่งลงไปติดอุปกรณ์เกี่ยวแล้วชักรอกขึ้นมาแต่หากบาดเจ็บขาหรือแขนหักจะทำการดามก่อนแล้วจึงนำผู้บาดเจ็บขึ้นมาอย่างไรก็ตามหากภายในพื้นที่อับอากาศมีพิษที่ส่งผลกระทบต่อร่างกายและชีวิต
แม้จะมีผู้บาดเจ็บแขนหรือขาหักก็จำเป็นต้องนำตัวขึ้นมาก่อน

“ระหว่างการลงไปในพื้นที่อับอากาศผู้ที่ลงไปและผู้ช่วยเหลือซึ่งยืนรออยู่ด้านบนต้องสื่อสารกันตลอดโดยจะใช้สัญลักษณ์ชูนิ้วชี้เพื่อบ่งบอกว่ายังมีสติแบมือเพื่อบอกว่าเท้าแตะพื้นแล้วและกำมือเพื่อบอกให้หยุดชักรอกในการปล่อยตัวลงไปในพื้นที่อับอากาศซึ่งเป็นบ่อหรือช่องท่อแนวดิ่งซึ่งต้องบอกว่าคนช่วยต้องไม่มีสภาวะกลัวที่มืดหรือที่แคบ”เจ้าหน้าที่สาธิตกล่าว


จากนั้นเจ้าหน้าที่จึงพามายังห้องสาธิตการปฏิบัติการช่วยเหลือการตกในพื้นที่สูงซึ่งสวมใส่ชุดอุปกรณ์เช่นเดียวกันกับการช่วยเหลือในพื้นที่อับอากาศโดยเจ้าหน้าที่ผู้ช่วยเหลือโรยตัวจากด้านบนที่ผูกติดกับเครื่องมือในลักษณะคานเหล็กรับการโรยตัวซึ่งเจ้าหน้าที่อีกคนบนที่ราบด้านบนค่อยๆปล่อยเชือกชักรอกในอัตราความเร็ว1ต่อ5ลงเมื่อเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือด้านล่างถึงตัวผู้หมดสติจะทำการเกี่ยวอุปกรณ์เชื่อมต่อกับชุดของผู้ประสบเหตุ แล้วจึงใช้ขาพันรอบเอวก่อนค่อยๆ ดึงเชือกเพื่อยกตัวเองและผู้ได้รับการช่วยเหลือขึ้นไปยังด้านบน



ประเทศไทยขาดแคลนศูนย์ฝึกอบรม มีสถาบันไม่ถึง 10 แห่ง ต่อผู้ปฏิบัติงานแต่ละปี
100,000 คน

ถึงจะเป็นเรื่องจำเป็นต่อการฝึกฝนแค่ไหนแต่ในประเทศไทยเรากลับขาดแคลนศูนย์ฝึกมาตรฐาน
ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในเหตุผลที่ยังคงมีการเสียชีวิตในพื้นที่อับอากาศอยู่เนืองๆ

“ที่ 3เอ็มรับได้เพียงสัปดาห์ละหนึ่งกรุ๊ป ซึ่งกฏหมายกำหนดให้จำนวนคนในกรุ๊ปมีสูงสุดเพียง 30 คน
แต่จำนวนผู้ที่ต้องเข้าร่วมการอบรมในปัจจุบันมีร่วม 100,000 คน ทำให้จำนวนศูนย์อบรมที่มีไม่ถึง 10 สถาบันนั้นไม่เพียงพอในการรองรับกับความต้องการฝึกในแต่ละปี”


นอกเหนือจากเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานภายในพื้นที่อับอากาศควรใส่ใจระมัดระวังพร้อมทั้งเคร่งครัดในการดำเนินการตามมาตรการความปลอดภัยที่มีอยู่แล้วยังควรเข้ารับการฝึกอบรมอย่างสม่ำเสมอทุกปีตามกฏหมายเป็นเรื่องที่จำเป็นมากทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ

และผลจากการสูญเสียแม้จะหนึ่งชีวิตก็สะท้อนให้เห็นว่าที่ผ่านมาภาครัฐและภาคธุรกิจต้องเร่งตระหนักถึงปัญหาการขาดแคลนสถาบันฝึกอบรมเช่นนี้เพื่อความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงานและการสร้างมาตรฐานที่ดีแก่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงภัยทั้งพื้นที่อับอากาศและพื้นที่สูงซึ่งถึงที่สุดเมื่อเกิดเหตุขึ้นก็ไม่มีใครอยากให้กลายเป็นเพียงเรื่องไฟไหม้ฟางแล้วเงียบหายไปในที่สุด