ยุค ‘กามิกาเซ่’ ผ่านมุมมองซีรีส์ GELBOYS ที่ผ่านมารุ่งเรืองแค่ไหน

(เครดิตภาพ LOOKE)

ย้อนวันหวานของวงการดนตรี ‘ยุคกามิกาเซ่’ 18 ที่ผ่านมารุ่งเรืองแค่ไหน นำเสนอผ่าน ‘GELBOYS สถานะกั๊กใจ’ ซีรีส์วายสุดฮิตนำเทรนด์การทาเล็บและสถานะ Situationship สุดซับซ้อน ซีรีส์เรื่องแรกภายใต้บริษัทของผู้กำกับดัง ‘บอส กูโน’ 

เชื่อว่าหลายคนต้องเห็นผ่านตากันมาบ้างสำหรับเทรนด์เล็บเจลที่เปลี่ยนการทำเล็บ ไม่ใช่เรื่องของเพศเดียวอีกต่อไป สีเล็บสดใส ตกแต่งด้วยของกุ๊กกิ๊กน่ารักมี Trend Setter เป็นเหล่าตัวละครในซีรีส์ ‘Gelboys สถานะกั๊กใจ’ ซีรีส์วายจากค่ายน้องใหม่อย่าง LOOKE (ลูคกี้) บริษัทเอนเตอร์เทรนเมนต์ของ “บอส- นฤเบศ กูโน”  ผู้กำกับชื่อดังที่สร้างชื่อทิ้งไว้ใน End Credit ของซีรีส์ และภาพยนตร์เรื่องดังหลายเรื่อง

เจลบอยเล่าเรื่องราวของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายที่ชอบพอกัน แต่ไม่ต้องการมีสถานะคนรักที่ชัดเจน กลายมาเป็น Situationship รูปแบบความสัมพันธ์ที่ไม่มุ่งหวังผูกมัดหรือครอบครองให้คนคุยหรือคนที่กำลังดูใจเลื่อนขั้นมาเป็นคนรัก และด้วยสถานะล่องลอยนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับแค่ 2 คน แต่ยังลากโยงตัวละครอีก 2 คน เข้ามาร่วมวงด้วย

ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นเป็นเส้นเรื่องหลักของซีรีส์ที่บอกเล่าผ่านไวบ์ของเด็กมัธยมฯ กิน เล่น เที่ยว ที่โรงเรียน บ้าน และสยาม สถานที่เที่ยวในดวงใจของเด็กรุ่นใหม่ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แต่ย้อนไปถึงมัธยมคงไม่ได้สร้างความแตกต่างให้กับเรื่องเท่าการเชื่อมโยงยุครุ่งเรืองของอะไรสักอย่างเข้ามา โดยเรื่องนี้ได้นำยุค ‘กามิกาเซ่’ เข้ามานำเสนอสร้างสีสัน และความสนุกได้อย่างท้าทาย

(เครดิตภาพ LOOKE)

ผู้นำวัยรุ่นในวงการดนตรี

“โฟร์-มด”, “เฟย์-ฟาง-แก้ว” สองวงหนึ่งในศิลปินค่ายกามิกาเซ่ ถูกหยิบขึ้นมาเป็นชื่อตัวละครเอกภายในเรื่อง รวมถึงนักแสดงนำที่รับบท วิเชียร อย่าง ‘ไปป์-มนธภูมิ สุมนวรางกูร’ เช่นเดียวกัน ย้อนกลับไปในปี 2550 กามิถูกก่อตั้งโดย ยสุทธิพงษ์ วัฒนจัง และณรงค์ศักดิ์ ศรีบรรฎาศักดิ์วัชรากรณ์ ที่มีแนวคิดอยากจะทำค่ายสำหรับกลุ่มวัยรุ่น ซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารของบริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน)

โดยเริ่มต้นที่ศิลปินรุ่นแรก อาทิ โฟร์-มด, เฟย์ ฟาง แก้ว, ขนมจีน, มิล่า, เค-โอติก, หวาย, ซิสก้า, ชิลลี่ไวท์ช็อค, พายุ และเนโกะ จั๊มพ์ สมาชิกกว่า 20 ชีวิตที่เป็นทั้งศิลปินเดี่ยว, วงบอยแบรนด์, เกิรล์กรุ๊ป และดูโอ้ก็พาค่ายประสบความสำเร็จได้ตั้งแต่รุ่นแรก

ADVERTISMENT

กามิกาเซ่ดึงความโดดเด่น จุดขายด้วยสไตล์ที่แตกต่างของแต่ละวงออกมาได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นความน่ารักสดใส ความเท่ ความเซ็กซี่คิ้วตี้ ดนตรี และเนื้อเพลงที่ฟังเมื่อไหร่ก็ไม่ตกสมัย ทำให้ถูกใจวัยรุ่นไปทั่วบ้านทั่วเมือง จากเพลงดังติดหู ที่ไม่ว่าใครก็ร้องตามได้ ทำให้ศิลปินภายในค่ายกามิกลายมาเป็นขวัญใจของไทยได้อย่างง่าย ๆ ยกตัวอย่างเพลงดังของแต่ละคน อาทิ

  • โฟร์-มด : ละลาย, เด็กมีปัญหา
  • เฟย์ฟางแก้ว : MSN, ไม่ใช่อิจฉา
  • K-otic : ทิ้งเขาซะ, เหงาปาก
  • หวาย : ตกหลุมรัก, ถามไม่ตรงคำตอบ
  • ขนมจีน : เพื่อนสนิท, อวดเก่ง
  • ซิสก้า : อย่ามากมาย
  • พายุ : One kiss, ไม่ว่าง…กำลังเหงา
  • มิล่า : Loving U, เถียง
  • เนโกะ-จั๊มพ์ : ปู, จุ๊บ จุ๊บ

นอกจากนั้นความสำเร็จยังไม่หยุดที่ประเทศไทย “เนโกะ-จั๊มพ์” วงของสองสาวฝาแฝดเนย-แจม ประสบความสำเร็จกับเพลง ปู และ ช่วยมัดหน่อย ที่ดังไกลไปถึงแดนปลาดิบ โดยได้รับเลือกให้เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์อนิเมะ เรื่อง อันยะมะรุ ทันเต คิรุมินซู (Anyamaru tantei Kiruminzuu)

ADVERTISMENT

จากรุ่นแรกที่ไม่ว่าจะออกเพลงอะไร ก็มีแฟนคลับรอติดตาม ทำให้การมาของรุ่นที่ 2 หรือ 3 ก็ไม่ได้ทำให้ผิดหวัง ด้วยผลงานและความแข็งแกร่งในการสร้างภาพลักษณ์ของศิลปินแต่ละวงแต่สไตล์ที่แตกต่างอย่างสร้างสรรค์ ความนิยมของศิลปินในยุคกามิจึงรุ่งเรืองต่อไปอย่างยาวนาน จากคอนเสิร์ตรวมวงที่จัดมาแล้วหลายครั้ง สะท้อนความสำเร็จในการครองใจคนไทยในช่วงเวลาหนึ่ง

  • One-2-Call! Freedom Zheza Zim Presents Kamikaze Live Concert (2552)
  • Kamikaze Wave Concert Live in BKK 2010 (2553)
  • Hiruscar Postacne Presents Kamikaze Loveเว่อร์ Concert (2554)
  • AIS One-2-Call! Presents Kamikaze The 5th Destiny Concert (2555)
  • AIS 3G One-2-Call! Presents Kamikaze แดนซ์เนรมิต Concert (2556)
  • Kamikaze Party 2022 (2565)
  • Kamikaze Party Reunion (2566)

18 ปีให้หลัง ยังปังอยู่

หลังจากเป็นผู้นำในวงการดนตรีสำหรับวัยรุ่นและสร้างชื่อเสียงให้ศิลปินภายในค่ายมาได้สิบปี กามิเคยหยุดการดำเนินการไปในปี 2560 และกลับมาทำเพลงอีกครั้งในปี 2563 จนกระทั่งปี 2567 ได้มีการปรับสถานะจากค่ายเพลงให้เหลือเพียงคอมมูนิตี้สำหรับแฟนคลับ เช่นเดียวกับหลายวงที่ศิลปินก็ได้แยกย้ายกันเดินทางตามเส้นทางอาชีพของตัวเอง

แต่ก็จะเห็นได้ว่า มีหลายคนที่ยังโลดแล่นอยู่ในวงการบันเทิง อาทิ โบว์ เมลดา จากวง Kiss Me Five และพิม พิมประภา จากวง Swee D และเป็นนักแสดงที่มีชื่อเสียงและยังคงถูกจดจำว่าเป็นนักร้องสาวภายใต้กามิตลอดไป รวมถึงเพลงดังของพวกเขาก็ยังถูกพูดถึงในปัจจุบัน ทำให้ยุคของกามิไม่ได้จางหายไป แม้จะผ่านมาเกือบ 2 ทศวรรษ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ผู้ฟังของกามินั้นเติบโตขึ้นจากวัยเรียนเข้าสู่วัยทำงานเท่านั้นเอง

จึงเข้าใจได้ว่าประโยคที่ว่า “ไม่เอาเพลงกามิแม่ มันแก่” หรือการนิยามว่าเพลงกามิเป็นเพลงอินดี้ปีลึก ที่หมายถึงเพลงที่มีมานานหลายปี ไม่ได้บอกว่าเพลงเหล่านี้หลุดสมัยไม่มีใครฟัง แต่อาจเป็นเจตนาที่บอกว่า ยุคสมัยรุ่งเรืองของกามิผ่านมานานแค่ไหนแล้ว

ด้วยไวบ์ของตัวละคร สถานที่ถ่ายทำอย่างสยาม สถานะความสัมพันธ์ที่ไม่ชัดเจน เพลงที่มีเอกลักษณ์และบอกเล่าความสัมพันธ์มากมายของวัยรุ่นอย่างเพลงในค่ายกามิจึงถูกพูดถึงในบทละคร และนำมาใช้อย่างตั้งใจ

ไม่ว่าจะเป็นเพลง เด็กมีปัญหา- โฟร์ มดที่ถูกใส่มาในซีรีส์, เจ็บเพราะเขา เหงาเพราะเธอ, ตัดใจไม่ลงและคงไม่ยอม – หวาย และปล่อยให้ผ่านพัดไป – 3.2.1 ที่สามเพลงหลังถูกเหล่าแฟนคลับนำมาใช้ประกอบคอนเทนต์บนโซเชียลมีเดียกันมากขึ้น

การฉายภาพกามิในยุคมองของตัวละครเด็กเจนซีจึงเรียกได้ว่า ปลุกกระแสการพูดถึงกามิขึ้นมาได้อีกครั้ง ให้เหล่าวัยทำงานได้กระชุ่มกระชวยหัวใจ และย้อนวันวานให้เหล่าเด็กเจนซีไปจนถึงอัลฟ่าเข้าใจว่า วัยรุ่นที่มียุคดนตรีที่ครองใจคนทั้งเมืองนั้นเป็นอย่างไร

ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้อีกครั้งจากการอุตสาหกรรม T-Pop ที่กำลังเติบโตขึ้น และการแข่งขันอันดุเดือดของศิลปินแต่ละวง และแต่ละค่ายเพลง