Living Will…ไร้กังวลเมื่อความตายกำลังมาเยือน บอกเจตนาช่วงเวลาสุดท้ายชีวิตผ่าน “สมุดเบาใจ”

กรกนก มาอินทร์ / ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

“ไม่มีใครหนีความตายพ้น” เกิด เเก่ เจ็บ ตาย คือวัฏจักรชีวิตที่มนุษย์ทุกคนต้องเผชิญ ก่อนตาย “พินัยกรรม” ทรัพย์สินต่างๆ คือสิ่งที่จะทิ้งไว้ให้คนในครอบครัว แต่หากบุคคลนั้นทำคุณประโยชน์ไว้ก่อนตายคนรุ่นหลังก็จะได้เห็นมรดกทางความคิดของเขา

เเละถ้าก่อนตายมีโอกาสได้ทบทวนชีวิตเเละเตรียมเผชิญกับวาระสุดท้าย นำไปสู่การทำ “Living Will” ผ่าน “สมุดเบาใจ” ที่จะเผยความต้องการของคนทำเกี่ยวกับสุขภาพช่วงสุดท้ายเเละ “การตายดี” (การเสียชีวิตอย่างสงบตามวิถีเเห่งธรรมชาติ)

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ได้เข้าร่วมเวิร์คช้อป “เบาใจไขชีวิต” ขั้นตอนเเรกก่อนเริ่มทำสมุดเบาใจ… ทุกคนจะต้องผ่านการเล่น “เกมไพ่ ไขชีวิต” เกมสร้างบทสนทนาเรื่องชีวิตเเละความตาย จุดประสงค์หลักคือ การเปิดใจก่อนเขียนสมุดเบาใจ ในส่วนนี้ต้องมีการจับคู่กันตั้งเเต่ 2 คนขึ้นไป ไพ่ 1 สำรับประกอบด้วย เกมไพไขชีวิต, ไพ่อธิษฐาน, ไพ่กดไลก์, ไพ่คำถาม, ไพ่รองสุดท้าย, ไพ่ท้ายที่สุด, ไพ่อุ่นเครื่อง

กติกาคือ สลับกันเปิดไพ่คำถามเเล้วถามคู่เล่น ซึ่งตัวผู้ถามต้องตอบคำถามนั้นในใจ เมื่อคู่เล่นตอบกลับมา เราก็บอกคำตอบของเราให้ฟังอีกที หากคู่เล่นตอบคำถามโดนใจสามารถให้ไพ่กดไลก์ได้ เมื่อจบเกมผู้เล่นที่ได้ไพ่กดไลก์มาก เหมือนได้กำลังใจมาก ซึ่งเริ่มต้นต้องใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมงในการเล่น

อมรรัตน์ พุฒเจริญ หรือพี่ยุ้ย วิทยากรฝึกการเวิร์คช้อปครั้งนี้ เล่าว่า “เกมไพ่ ไขชีวิต” ได้รับลิขสิทธิ์มากจากอเมริกา นำเข้ามาใช้ในประเทศไทย เพื่อเป็นตัวช่วยให้ผู้คนเปิดใจพูดเรื่องความตายต่อกัน ทั้งนี้มีการปรับเปลี่ยนเเละเเปลคำถามบางข้อ เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ต่างๆ ในประเทศไทย

เมื่อก้าวข้ามจุดเริ่มต้น ผุดความคิดการมีสิทธิเลือกว่าจะตายอย่างไร เตรียมการอย่างไรไม่ให้คนข้างหลังต้องกังวล สู่กระบวนการเปิดใจผ่าน “สมุดเบาใจ” 

“สมุดเบาใจ” เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “Advance Directive” หรือ “Living will” ตามพ.ร.บ. สุขภาพเเห่งชาติ พ.ศ.2550 มาตรา 12 จัดทำโดย โครงการความตาย พูดได้ เครือข่ายพุทธิกา สามารถติดต่อขอรับหนังสือได้ที่เครือข่ายพุทธิกา

ตัวอย่างคำถามในชุดเกมไพ่ไขชีวิต

โดยสมุดเบาใจคือรูปแบบหนึ่งของเอกสารเเสดงเจตนาล่วงหน้าเกี่ยวกับสุขภาพช่วงสุดท้ายเเละการตายดี ช่วยสำรวจความต้องการเกี่ยวกับการดูเเลสุขภาพเมื่อเข้าสู่ช่วงสุดท้ายของชีวิต (ไม่นับรวมการป่วยเฉียบพลันหรืออุบัติเหตุ) ให้กับครอบครัวเเละทีมสุขภาพได้รับรู้ พวกเขาจะได้ไม่ต้องเดาใจกรณีประสบภาวะวิกฤตในช่วงสุดท้าย

สำหรับคำถามในสมุดเบาใจ เริ่มตั้งเเต่การเเสดงตนเป็นเจ้าของ กรอกข้อมูลเกี่ยวกับตนเอง แม้ไม่รู้วันตาย เเต่สามารถบอกความต้องการเมื่อเข้าสู่วิกฤตช่วงสุดท้ายของชีวิต การกู้ชีพหรือยื้อชีวิตด้วยวิธีการต่างๆ อาทิ การปั๊มหัวใจ การเจาะคอ ใส่ท่อช่วยหายใจ หากเจ็บป่วยกะทันหันขึ้นมา การบอกความต้องการผ่านสมุดเบาใจจะช่วยทำให้ครอบครัว รวมไปถึงเเพทย์ผู้รักษารู้ว่าต้องการให้ยื้อชีวิตหรือปล่อยให้จากไปอย่างไม่ทรมาน

ความต้องการหากเข้าสู่ภาวะช่วงสุดท้ายของชีวิต

การบักทึกข้อมูลผ่านสมุดเบาใจ จะต้องมี ผู้เเทนการตัดสินใจด้านสุขภาพ 2 คน เเละต้องบอกกล่าวให้ผู้เเทนรับทราบว่าเราใช้ชื่อเขา เพราะเมื่อเข้าสู่ระยะสุดท้ายของชีวิตเเละสื่อสารความต้องการไม่ได้ บุคคลเหล่านี้จะช่วยตัดสินใจเเทน ในตอนท้ายของสมุดเบาใจ ต้องมีลายมือของผู้บันทึก ผู้เเทนการตัดสินใจด้านสุขภาพ เเละพยานร่วมอีก 2 คน (ถ้ามี) เพื่อรับรองเอกสารทั้งหมด

หน้ากรอกข้อมูลผู้เเทนการตัดสินใจ
ลงลายมือ ชื่อ พยาน ผู้เเทนการตัดสินใจ
สามารถกรอกข้อมูลตรงนี้เเล้วตัดเก็บไว้ติดตัวได้

อย่างไรก็ตามสมุดเบาใจไม่ใช่การทำพินัยกรรม เเต่เป็นสมุดที่ใช้บอกความต้องการของผู้ทำ หากความตายกำลังมาเยือน คนรอบข้างจะได้รับรู้ว่า “ต้องการสิ่งใด” เมื่อคุณใส่ข้อมูลในสมุดเล่มนี้จนครบ จะไร้ความกังวล เบาใจขึ้นเมื่อช่วงสุดท้ายชีวิตมาถึง สมกับชื่อที่ว่า “สมุดเบาใจ”