“E-sport” ส่งเสริมอาชีพ หรือ “เพิ่มโอกาสเด็กติดเกม” ?

เมื่อไม่นานมานี้ได้มีการถกเถียงหารือถึงเรื่องการบรรจุ (E-sport) เป็นลงบนกีฬาโอลิมปิกเกมที่จะถึงนี้ โดยเริ่มจาก “Thomas Bach” ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) มองว่า การแข่งขันเกมที่มีเนื้อหารุนแรงนั้นค่อนข้างขัดแย้งกับคุณค่าของการแข่งขันมหกรรมกีฬาโอลิมปิก ทำให้ทางคณะกรรมการฯ ไม่สามารถยอมรับในฐานะกีฬาอย่างเป็นทางการได้ ตามที่เสนอข่าวไป

“ถึงแม้จะไม่มีการประกาศให้ E-Sport เป็นกีฬาก็ตาม แต่ก็ยังมีกลุ่มคนที่มีพฤติกรรม “ติดเกม” ซึ่งเป็นปัญหาที่ยังคงต้องหาทางแก้ไขต่อไป ส่วนผู้ที่มีโอกาสเติบโตในเส้นทางของ E-Sport เราก็ต้องแยกแยะให้ออก”

ล่าสุด (8 ก.ย.61) ประชาชาติธุรกิจ ได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้ที่ติดตามความเคลื่อนของนักกีฬาอีสปอร์ตมาโดยตลอด นั่นก็คือ  “ดร.ธาม เชื้อสถาปนศิริ” นักวิชาการด้านสื่อ ซึ่งท่านได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับ “Esport” เมื่อไม่นานมานี้ โดยระบุว่า องค์กร “Sport Accord” (สปอร์ตแอคคอร์ด) องค์กรกีฬานานาชาติที่เป็นผู้ตัดสินบรรจุกีฬา หรือโปรแกรมออกกำลังกายลงในการแข่งขันต่างๆ เป็นเสมือนที่ประชุมกลาง ของสมาพันธ์กีฬาทั่วโลก จะต้องเอาประเด็นถกเถียงต่างๆ เข้าสู่ที่ประชุมนี้ เพื่อหารือข้อตกลง ข้อพิพาทต่างๆ ใครบ้างที่เป็นสมาชิกของ Sport Accord เช่น IOC คณะกรรมการโอลิมปิกสากล ASOIF, AIOWF, ARISF, IWGA ซึ่งหลักเกณ์ 9 ข้อ ในการพิจารณาว่า สิ่งใดนั้นจะเป็นกีฬาหรือไม่นั้น มีดังนี้

“5 ข้อในการแบ่งประเภทกีฬา”
1. ใช้ทักษะร่างกาย
2. ใช้ทักษะจิตใจ
3. ใช้ทักษะเครื่องยนต์ (แข่งรถ)
4. ใช้ทักษะการประสานงานร่วมมือ (เป็นทีม)
5. ใช้ทักษะการสนับสนุนจากสัตว์ (เช่นขี่ม้า)

“ส่วนหลักเกณฑ์ที่ว่าสิ่งใดจะเป็นกีฬานั้น จะต้องมี 4 ข้อนี้ เป็นองค์ประกอบร่วมกันทั้งหมด”
1. สิ่งนั้นจะต้องมีองค์ประกอบของการแข่งขัน (ออกกำลังกายเฉยๆ ยังไม่ใช่กีฬา กีฬาจะต้องมีการแข่งขัน)
2. สิ่งนั้นจะต้องไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ หรือเป็นภัยต่อสิ่งมีชีวิต (ล่าสัตว์จึงมิใช่กีฬา)
3. อุปกรณ์การแข่งขัน จะต้องไม่พึ่งพิงจากบริษัทหรือผู้ผูกขาดรายใดรายหนึ่งแต่เพียงผู้เดียว (เช่น ฟุตบอล ไม่ได้ผูกขาดโดยฟีฟ่า ไม่ได้ผูกขาดโดยไนกี้ อาดิดาส รีบ็อค ไม่ได้ผูกขาดว่า ใครเป็นเจ้าของกีฬาฟุตบอล กีฬาฟุตบอลไม่ใช่สินทรัพย์ ลิขสิทธิ์ กรรมสิทธิของใคร องค์กรใด บริษัทใด)

“จึงทำให้ข้อนี้อีสปอร์ต ไม่ใช่กีฬา 100%เพราะเกมๆ หนึ่งนั้นเป็นลิขสิทธิ์ของบริษัทเอกชนแต่เพียงผู้เดียว”

4. กีฬาจะต้องไม่หวังพึ่งพิง โชค ในการแข่งขัน (คือต้องใช้ความสามารถเท่านั้น เพราะเน้นวัดศักยภาพคน)
ดังนั้น เกมการพนันหลายอย่างจึงมิใช่การกีฬา แต่ที่น่าสนใจ คือ ไพ่บริดจ์ ,หมากรุก ,หมากล้อม ,หมากฮอส ,ปาเป้า ถือว่าเป็นกีฬาได้ เพราะว่า เงื่อนไขของมัน เข้าครบองค์ประกอบ ทั้ง 4 ข้อนี้เลย เว้นแต่ อีสปอร์ตเท่านั้น ที่ยังไม่ครบคุณสมบัติ

นอกจากนี้ “ดร.ธาม” ได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ในทวีปอเมริกาเหนือ มีผู้เล่นเกม E-Sport อย่าง league of legends หรือ LOL จำนวน 67 ล้านคน โดยมีผู้เล่นมืออาชีพ เพียง 50 คน หรือ 1 ต่อ 1,340,000 คน ซึ่งการจะเป็นนักกีฬามืออาชีพจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก รวมถึงมีข้อมูลพบว่าช่วงวัย 26 ปี นักกีฬา E-Sport อาจจะต้องถอนตัวออกจากวงการ (รีไทน์) เนื่องจากความสามารถในการเล่นลดลง

ทั้งนี้ ควรกำกับดูแลกีฬา E-Sport โดยกำหนดมาตรฐาน เพื่อปกป้องเด็กและเยาวชน เช่น สหพันธ์ E-Sport นานาชาติ หรือ IESF โดยมีการตั้งข้อกำหนดให้ผู้เข้าแข่งขันกีฬา E-Sport ต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป หรือกรณีที่มีผู้เล่นอายุ 13 – 18 ปี ต้องมีผู้ปกครองลงชื่ออนุญาตภายในการแข่งขันเท่านั้น ส่วนเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 13 ปี ห้ามแข่งขันโดยเด็ดขาด!!

“ ปัจจุบันเรื่องของอีสปอร์ตได้รับความนิยมมากขึ้น แต่ไอโอซีนั้นยังไม่มีคำตอบว่าอีสปอร์ตคือกีฬาอย่างแท้จริงหรือไม่ และไม่มีข้อยุติ โดยเฉพาะเรื่องของความรุนแรงภายในเกม และความขัดแย้งในแง่เนื้อหาของเกม ซึ่งในส่วนนี้อีสปอร์ตยังตอบคำถามไม่ได้ รวมทั้งยังไม่มีองค์กรใดๆ ที่ให้การรับรองอย่างแท้จริง

เพราะเท่าที่ทราบจะเป็นเรื่องผู้ผลิตเกมเสียมากกว่าก่อนการแข่งขันยูธโอลิมปิกเกมส์ ที่บัวโนสไอเรส อาร์เจนตินา จะเป็นโอกาสดีที่โอลิมปิกจะได้พูดคุยกับหลายๆ ชนิดกีฬารวมถึงอีสปอร์ตด้วย ว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบคือสหพันธ์กีฬาไหน โอกาสที่จะเป็นได้บ้างคือเกมที่เป็นเกมกีฬาอยู่แล้ว หรือเป็นเกมที่เป็นเวอร์ชวล เรียลิตี้ (วีอาร์) ซึ่งทำให้ได้ออกกำลังกายอย่างแท้จริง”

ด้าน “นายแพทย์ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์” หัวหน้ากลุ่มที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต ได้ระบุข้อมูลถึงอีกแง่มุมของ “E-sport” ผ่านเซบุ๊คส่วนตัว โดยเน้นย้ำให้ทบทวนการส่งเสริมกีฬา E-sport เนื่องจากประเทศไทยกำลังจะมีปัญหาจนลุกลามกลายเป็นการติดเกมส์ครั้งใหญ่ด้วยเหตุผล 3 ส่วน คือ Demand เด็ก และพ่อแม่ผู้ปกครอง ยังไม่เข้าใจผลกระทบของเกมส์ โดยให้เด็กเล่นแต่เล็กและใช้เวลานานๆ (เกินครึ่งวัน)

Supply ธุรกิจของเกมส์ขาดจรรยาบรรณในการทำธุรกิจและการโฆษณา (แอบแฝงเว็บไซต์การพนัน) ,Regulators การกีฬา/สมาคมที่ดูแลไม่มีความสามารถกำกับดูแลสมาชิกหรือผู้เล่น ผลเสียและผลกระทบก็คือเด็กไทยได้รับแรงกระแสโฆษณาจากฝ่ายต่างๆส่งเสริมให้เด็กไปเล่นเกมส์มากขึ้น ซึ่งปัญหาเริ่มชัดเจนจากคำร้องเรียนของพ่อแม่

แต่ที่สำคัญไปกว่านั้น คือปริมาณเด็กที่พ่อแม่พามารักษาการติดเกมส์มีตัวเลขเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัว เพียง 6 เดือนหลังจากการประกาศ ให้เกมส์เป็นกีฬา และข้อมูลยังพบว่าเด็กที่เล่นเกมส์ในจำนวน 1ล้านคน จะกลายเป็นเด็กติดเกมส์หลายพันคน “แต่จะมีเพียง 1 คน เท่านั้น ที่จะกลายเป็นมืออาชีพด้าน E-sport

อย่างไรก็ดี การเล่นเกมใช่ว่าจะมีแต่ข้อเสีย เพราะเราได้พบกัับข้อมูลที่น่าสนใจสำหรับตัวอย่างผู้เล่นที่ยอมรับว่าตนเคย “ติดเกม” และผันตัวจากเด็กติมเกมสู่นักธุรกิจ E-sport เต็มรูปแบบ หรือที่หลายคนรู้จักกันดีในชื่อ “เดอะดรีมแคสเตอร์” 

“ธนะกฤษฏิ์ วิริยะวรารักษ์” General Manager จากบริษัท “เดอะดรีมแคสเตอร์” (The Dreamcasters) ผู้ให้บริการในธุรกิจอีสปอร์ตอย่างครบวงจร ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ใน นสพ.ประชาชาติิธุรกิจว่า เมื่อ 10 ปีที่แล้วตนเคยเป็นเด็กติดเกม ชอบดูการแข่งขัน ได้ฟังพากย์แข่งของต่างประเทศแล้วสนุก แต่ในไทยไม่ค่อยมี เลยร่วมกับเพื่อนจัดพากย์เกมตามเน็ตคาเฟ่สนุก ๆ บางงานพากย์ทั้งวันก็มี

กระทั่ง 3 ปีที่แล้วตนได้เปิดแชนเนลบน “ยูทูบ” โดยมีชาวมาเลเซีย และสิงคโปร์เข้ามาเทคโอเวอร์คอยป้อนงาน พัฒนาระบบลงทุนอุปกรณ์จนงานเริ่มขยาย ปัจจุบันมีทีมงานสิบกว่าคน เป็นนักพากย์ streamer ดูคอนเทนต์ จัดแข่ง เป็น one stop service และอื่นๆอีกมากมาย

ปัจจุบันหน่วยงานทั้ง “ภาครัฐ-เอกชน” กำลังเร่งผลักดัน “E-sport” เข้าสู่เส้นทางสร้างรายได้ให้แก่นักกีฬา และเยาวชน  ขณะที่ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต เผยถึงตัวเลขของเด็กติดเกมส์ ที่เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมถึงเท่าตัวหลัง “E-sport” เป็นที่แพร่หลายในประเทศไทย สอดคล้องกับคำพูดของ นายแพทย์ยงยุทธ ที่ได้ระบุว่า “จะมีเพียง 1 คนจากจำนวน 1ล้าน เท่านั้น ที่จะกลายเป็นมืออาชีพด้าน E-sport” เพราะฉะนั้นคงไม่คุ้มค่ากับการแลกครั้งนี้แน่นอน

“และต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชนเพื่อทบทวนผลที่จะเกิดขึ้นกับเยาวชนไทยอย่างจริงจัง…”


ขอขอบคุณข้อมูล : ดร.ธาม เชื้อสถาปนศิริ ,นายแพทย์ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ,ธนะกฤษฏิ์ วิริยะวรารักษ์