เกม โกง คอร์รัปชัน: ปลุกพลังตรวจสอบในตัวคุณ เปิดใจทีมบอร์ดเกม”The Trust”วิธีคิดไม่ธรรมดา

โดย ศิริลักษณ์ หาพันธ์นา
ผู้สื่อข่าวประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.prachachat.net

เกม โกง คอร์รัปชั่น : ปลุกพลังตรวจสอบในตัวคุณ เปิดใจทีมผู้สร้างบอร์ดเกม “The Trust” วิธีคิดที่ไม่ธรรมดา

เมื่อเกมไม่ใช่เเค่เกมอีกต่อไป เเม้กระเเสทัศนคติที่มีต่อ “เกม” จะมีทั้งด้านบวกเเละลบ เเต่เราก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเกมนั้นเเทรกซึมเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของพวกเรามาเนิ่นนาน ตั้งเเต่วัยเด็กจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่

การกลับมาของกระเเส “บอร์ดเกม” หรือเกมกระดานกลับมาอีกครั้ง เมื่อผู้คนเริ่มเบื่อน่าจอเเละอยากได้สร้างสังคมที่ได้ “พูดคุยกันตัวต่อตัว” การวางโทรศัพท์สักช่วงเวลาเพื่อให้ยิ้มหัวเราะกับเพื่อนฝูงนั้นเป็นจุดดึงดูดหนึ่งของการเล่นบอร์ดเกม รวมไปถึงเทคนิคการเล่น การคาดเดาอ่านใจ เเละชั้นเชิงจิตวิทยาที่อาจหาได้ยากในเกมออนไลน์

ล่าสุดกับการนำบอร์ดเกม มาเป็นสื่อกลางการเรียนรู้ เพื่อเเก้ไขปัญหาสังคม โดยหยิบยกปัญหาที่ฝังลึกยาวนานในสังคมอย่าง “คอร์รัปชั่น” มาเเฝงเเนวคิดการต้านทุจริตเข้ากับความสนุกในการเล่นบอร์ดเกม เป็นการเรียนรู้ที่น่าสนใจยิ่งนัก เเละทำให้เห็นว่าการคอร์รัปชั่นไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัวคนรุ่นใหม่อีกต่อไป

“ประชาชาติธุรกิจออนไลน์” มีโอกาสพูดคุยกับ 3 หนุ่มผู้หลงใหลในบอร์ดเกม ร่วมกันพัฒนา “The Trust” เกมกระดานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดการทำเกมต้านคอร์รัปชัน จากสำนักงานสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เมื่อต้นปี 2560 ที่ผ่านมา

เเละในที่สุดพวกเขาก็ได้เปิดตัวเกม “The Trust” อย่างเป็นทางการ พร้อมวางจำหน่ายทั้งทางออนไลน์เเละตามร้านบอร์ดเกมชื่อดังต่างๆ เเล้วตอนนี้

คิม จิรายุ กานต์ปริยสุนทร (ซ้าย) เเดนนี่ โสรวาร ศิริพงษ์ปรีดา (กลาง) ต้าร์ ภาสกร ยูถะสุนทร์ (ขวา)

เริ่มต้นกับ “ต้าร์ ภาสกร ยูถะสุนทร์” หัวเรือใหญ่ของทีมพัฒนาเกม “The Trust” เล่าให้ฟังว่าเขาทำงานด้านไอที โดยก่อนหน้านี้มีบริษัทของตัวเอง รับงานฟรีเเลนซ์ทำเกี่ยวกับการรับออกเเบบเว็บไซต์เเละเขียนเเอปพลิเคชั่น ต่อมาได้เข้าร่วมโครงการออกเเบบบอร์ดเกม จึงไปเชิญชวนเพื่อนๆ ที่มีความสนใจเดียวกันมาร่วมกันสร้างเกมนี้ขึ้นมา

อย่าง “เเดนนี่ โสรวาร ศิริพงษ์ปรีดา” เเละ “คิม จิรายุ กานต์ปริยสุนทร” ซึ่งรู้จักกันสมัยเรียนวิศวกรรม คอมพิวเตอร์ โดยได้ร่วมศึกษาหาข้อมูลเพื่อสร้างเกมนี้อย่างจริงจังจากทีดีอาร์ไอ ประกอบกับการชื่นชอบเล่นบอร์ดเกมเป็นทุนเดิมอยู่เเล้ว จึงนำเทคนิคเเละลูกเล่นต่างๆ มาประยุกต์เเละพัฒนาใหม่ให้มีความสนใจมากขึ้น จนได้รับรางวัลชนะเลิศ

อธิบายวิธีการเล่นเกม “The Trust” เเบบสั้นๆ

คิม : Trust Land เป็นเมืองที่กำลังพัฒนาความเจริญด้านต่างๆ ให้มีความก้าว หน้าอย่างรวดเร็ว แต่นโยบายสานฝันความเจริญของเมืองจำเป็นต้องจัดจ้าง จากผู้เชี่ยวชาญมาทำโครงการต่างๆ ซึ่งการจัดจ้างก็เป็นไปอย่างน่าเคลือบแคลงสงสัย มีการจัดจ้างงานที่ไม่ทราบรายละเอียดแน่ชัด แถมยังมีการปกปิดมูลค่าที่แท้จริงของโครงการ

ตอนเเรกเราจะรับบทเป็นผู้รับเหมาโครงการของภาครัฐ ที่มีการประมูลการ์ดโครงการต่างๆ เเละประกาศว่าเราได้มูลค่าโครงการเท่าไหร่ เช่น 5-10 ล้าน เเละเรียกเงินมา จุดโกหกหรือไม่โกหกคือตรงนี้ ว่าเราจะประกาศมูลค่าโครงการตามความเป็นจริงหรือไม่ เพราะไม่มีใครเห็นการ์ดเราได้ เช่น เห็น 10 ล้าน เเต่เราเรียกเงินกองกลางมา 20 ล้านก็ได้ นี่คือการโกง ต่อมาถ้าเราโกงเเล้วโดนตรวจสอบ ก็จะเสียค่าปรับ เเต่ถ้าทุกคนยังนิ่งเฉยๆ เราก็จะได้เงินมา 20 ล้านมา ดังนั้นผู้เล่นคนอื่นๆ ต้องสังเกตคนอื่นไปด้วย เเละกล้าที่จะตรวจสอบกันเเละกัน  (ชมคลิปสาธิตวิธีเล่นเกม คลิกที่นี่)

สีสันของเกมคือมีการประมูล เอาตัวผู้ช่วยซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐ ศาลฝ่ายตุลาการเเละองค์กรอิสระ เข้าสิ่งเหล่านั้นจะเข้ามาช่วยเรา เเต่จะช่วยได้ดีหรือไม่ดีนั้นเเล้วเเต่ดวงที่จะจับได้ เช่น ถ้ามีการ์ดนั้นเเล้วคุณจะฟ้องเเล้วได้เงินสองเท่า , การ์ดนักบวชช่วยชุบชีวิต หรือการ์ดที่จะช่วยให้คุณอาจจะรอดจากการฟ้อง เป็นต้น 

บอร์ดเกม “The Trust” มีลักษณะเฉพาะอย่างไร เเละมีความโด่นเด่นที่เป็นจุดขายอะไรบ้าง

เเดนนี่ : ตลอดครึ่งปีที่พัฒนาเกมนี้มา ผลตอบรับค่อนข้างดี ด้วยตัวเกมที่เข้าถึงง่าย เพราะอยู่ในโหมดปาร์ตี้เกมบวกกับธีมที่เป็นเรื่องคอร์รัปชั่นที่คนสนใจ

ในตัวเกมจะมีจุดเด่นคือชื่อโครงการที่เราล้อเลียนโครงการฉาวๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เช่น โครงการ อุทยานประวัติศาสตร์รัชดา, อุโมงค์ยักษ์ระบายน้ำตา,​รับจำนำข้าวเกรียบ, ไฟประดับลานจอดรถ, เรือดำน้ำอัดลม ฯลฯ พอให้น้องๆที่อายุ 10 กว่าขวบเล่น พวกเขาก็จะเกิดคำถามต่อผู้ปกครองว่าคือเรื่องอะไร ผู้ปกครองก็ได้เล่าให้ลูกฟังว่าเรื่องราวของการ์ดนี้ โครงการนี้เป็นอย่างไร เกิดการสนทนาในครอบครัว

ต้าร์ : สำหรับเกมนี้เราให้ช่วงอายุผู้เล่นไว้ที่ 14 ปีขึ้นไป เเต่ก็เด็กที่อายุต่ำกว่านั้นมาร่วมด้วย เเต่พฤติกรรมของเด็กสองกลุ่มนี้จะเเตกต่างกัน โดยคนที่เด็กกว่าจะเล่นเเบบทำอย่างไรก็ได้ให้ชนะ ก็ต้องโกงเนียนๆ โดยพ่อเเม่ต้องคอยบอกลูกใกล้ๆว่าโกงเเบบนี้มันไม่ดีนะ

เเต่เด็กอายุ 14 ขึ้นไปจะรู้ว่านี่คือกำลังโกงอยู่นะ เเละมันไม่ดี ซึ่งเพื่อนที่เล่นกันมาก็จะรู้เเละจะเกิดการ “จับเพื่อนโกง” ได้ ก็จะรู้ว่าถ้าปล่อยไว้เเบบนี้ไม่ได้ ต้องลุกขึ้นมาตรวจสอบ ซึ่งมีกลไกคอยบอกให้รู้ว่า เกมนี้มันโกงได้ เเต่จุดหลักของเกมคืออย่าให้ใครโกง เป็นการร่วมมือกันของคนในสังคม

เกมนี้จะเป็นการสอนทางอ้อมคือถ้าไปบอกตรงๆว่า คุณอย่าไปโกงนะ มันเป็นเรื่องยาก เเต่เราจะสอนให้เรารู้จักตรวจสอบเเละปกป้องสิทธิผลประโยชน์ตนเองนั้นง่ายกว่า ตามคอนเซปต์ว่าเล่นไปอย่างให้ใครโกง

เเดนนี่ : ขอให้ตีโจทย์ให้ได้ว่าเกมนี้จุดเด่นคือ “การโกหก” ตรงนี้เราเอามาบวกกับการฟ้องร้อง เช่นเราสามารถฟ้องได้ว่าคนนี้ทุจริต โดยมีหลักฐานต่างๆ ผู้เล่นจะได้จำลองว่าเป็นผู้ประมูลงาน คนอื่นก็เป็นผู้ประมูลงานเช่นกัน ถ้าผมฟ้องร้องผู้เล่นคนอื่นหาว่าเขาทุจริตก็ได้ ตามการตรวจสอบว่าถูกผิดอย่างไร เเต่ก็มีต้นทุนว่าหากเขาบริสุทธิ์เเล้วเราไปฟ้องเขาเนี่ย เราก็จะโดนข้อหาหมิ่นประมาทได้

สุดท้ายเเล้ว คนโกงหรือคนไม่โกงจะชนะ ?

ต้าร์ : คีย์เวิร์ดของเกมนี้คือการตรวจสอบการโกหก ที่ไม่ใช่การตรวจสอบเเบบสุ่มสี่สุ่มห้า กระบวนการไม่ได้บอกว่าคนโกงจะชนะเสมอไป เเต่คนดีก็ชนะได้ เเค่หมั่นตรวจสอบ ก็จะพลิกเกมได้ ภาพรวมของเกมคือถ้ามีกระบวนการตรวจสอบที่ดี การโกงจะน้อย กระตุ้นให้คนไม่นอนหลับทับสิทธิ์ เพราะถ้าปล่อยให้คนอื่นโกง เขาก็ชนะ ต้องพยายามไปดักทางไม่ให้เกิดขึ้นด้วยการสังเกตพฤติกรรม

“สิ่งสำคัญคือต้องกล้าออกไปฟ้อง ออกไปตรวจสอบคนที่ทุจริต ในขณะเดียวกันก็มีต้นทุนว่าหากคุณตรวจสอบผิดก็อาจจะโดนฟ้องกลับด้วย มองการโกงในบ้านเมืองเรา โดยต้องการคาดหวังให้เขามีกระบวนการตรวจสอบเป็นที่ตั้ง ถ้าพวกเขามีเซนส์การตรวจสอบที่ดีขึ้น สังคมก็จะลดการโกงลงไปได้โดยอัตโนมัติ”

เเดนนี่ : เเม้ตัวเกมเราเล่นจนครบเกม ใครมีเงินเยอะสุดชนะ ปัจจัยหลักของเกมก็คือเรื่องเงิน บางคนก็จะโกงเพราะว่าอยากชนะ พอมีคำถามว่าการเข้าไปตรวจสอบ คนส่วนใหญ่เข้าไปตรวจสอบกันจริงไหม เช่นไม่รู้จักกันมาก่อน อาจมีการเกรงใจกัน จากที่ไปเวิร์คช็อปมา พออธิบายว่าการฟ้องมีต้นทุนนะ ถ้าคุณฟ้องผิดก็เเพ้ ถ้าฟ้องถูกก็ได้คะแนนเพิ่ม คนจะเริ่มกลัวว่า “ถ้ากล้าฟ้องเเละต้องโดนลงโทษ”

ก็อิงกับสังคมไทยปัจจุบันว่าเราจะอยู่เฉยๆดีกว่าหาเรื่องใส่ตัว เเต่พอเล่นรอบสอง รอบสาม ผู้เล่นเกิดการพัฒนาเเล้ว ตระหนักขึ้นมาได้ว่าถ้าปล่อยอย่างนี้ต่อไปไม่ได้ ต้องทำให้เกิดการเปลี่ยนเเปลง เกมนี้ถ้ายิ่งเล่นซ้ำๆ ผมเชื่อว่าอย่างน้อย คนๆหนึ่งจะเกิดการเปลี่ยนเเปลงขึ้นมาเรื่อยๆ

มีเเผนพัฒนาเกม The Trust ในอนาคตอย่างไรบ้าง

ต้าร์ : ตอนนี้มีการวางเเผนจัดตั้งบริษัทกันขึ้นมา เป็นบริษัทเล็กๆ เตรียมต่อยอดพัฒนาเกมเกี่ยวกับสังคม ที่เกี่ยวกับการศึกษาเป็นหลัก ส่วนตัวมองว่าเกม The Trust อนาคตยังไปได้อีกไกลมาก คิดว่าน่าจะขายในระดับสากลได้

โดยจะมีการปรับคอนเทนต์ใหม่ให้สากลเเละทันสมัยมากขึ้น จะมีการทำเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ มีกลไกเหมือนเดิม เน้นเป็นความทั่วไปมากขึ้น อาจเป็นโครงการสร้างถนน สร้างรถไฟฟ้า เเต่ไม่ได้เจาะจงให้อินกับชื่อโครงการเหมือนเวอร์ชั่นภาษาไทย

นอกจากนี้ อยากจะพัฒนาให้เป็นเกมออนไลน์ ให้ผู้เล่นสามารถใส่ชื่อล้อเลียนโครงการได้ เปิดโอกาสให้ผู้เล่นออนไลน์เสนอไอเดีย เพราะประเทศไทยรายังมีเรื่องคอร์รัปชั่นอื้อฉาวอื่นๆ อยู่เยอะมาก มีทางเลือกให้เสนอไอเดียกันได้อีกเยอะ

เงินทุนยังต้องหากันอีกเยอะครับ เพราะเรายังสกิลเล็กมาก หากมีองค์กรหรือบริษัทไหนต้องการจะร่วมทุนก็จะดีมากเลยครับ ผมตั้งใจให้สื่อการเรียนรู้อย่างบอร์ดเกมนี้ กระจายไปยังโรงเรียนต่างๆในประเทศไทย เพื่อเสริมความรู้ เเละเราจะมาช่วยกันผลิต ตอนนี้เราไม่มีกำลังพอ เเต่อยากให้มันไปได้ไกลกว่านี้ โดยตอนนี้ก็มีพรีออร์เดอร์มาเยอะพอสมควร เป็นที่น่าพอใจ

เจาะตลาดลูกค้ากลุ่มไหนบ้าง ?

ต้าร์ : กลุ่มตลาดที่ตั้งเป้าไว้ คือกลุ่มเยาวชนอายุตั้งเเต่ 14 ปีขึ้นไป ทั้งผู้ที่เล่นบอร์ดเกมเป็นประจำอยู่เเล้วเเละกลุ่มหน้าใหม่ อย่างไรก็ตามบอร์ดเกมอยู่กับเรามาตั้งเเต่เด็กๆ เเล้ว เช่น เกมเศรษฐีที่เราติดกันงอมเเงมในสมัยเด็ก เราจะเข้าถึงง่ายอยู่เเล้ว เพราะมีความคุ้นชินเดิม

สำหรับการวางจำหน่าย ช่วงเเรกเราจะตีตลาดออนไลน์ ทางเฟซบุ๊ก “The Trust” เเละกำลังจะเปิดเว็บไซต์ พร้อมทั้งจะขยายไปวางขายที่ร้านบอร์ดเกมต่างๆ ที่คุยกันไว้เบื้องต้นจะนำไปวางขาย 5 ร้านก่อน ประมาณช่วงกลางเดือนหน้านี้ โดยราคาจำหน่ายจะอยู่ที่ 600 บาท ส่วนอนาคตตั้งเป้าจะส่งไปตามโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศครับ

กระเเส “บอร์ดเกม” ในประเทศไทย ตอนนี้เป็นอย่างไร ?

คิม : ผมว่าได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เพราะมันต่างกับเกมออนไลน์ที่ค่อนข้างจะถึงจุดอิ่มตัวในระดับหนึ่ง เพราะคนเบื่อกับการอยู่ในหน้าจอมากเกินไป อยู่ในโซเชียลมากเกินไป ซึ่งถ้าได้ลองเล่นบอร์ดเกมสักครั้งก็จะสัมผัสได้เลยว่า สนุกเเละอยากเล่นอีกเพราะมีปฏิสัมพันธ์กันในวงที่เล่น ได้สื่อสารกับเพื่อนเเบบตัวต่อตัว ซึ่งเติมเต็มความสัมพันธ์ในยุคดิจิทัลได้ดี เพื่อนที่ห่างหายกันไปนานก็ได้กลับมาเจอกันเพราะกิจกรรมบอร์ดเกมครับ

นอกจากนี้ “ประชาชาติธุรกิจออนไลน์” ยังได้พูดคุยกับ “ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์” ประธานทีดีอาร์ไอ ถึงการใช้เกมเพื่อเป็นเครื่องมือการสร้างสรรค์สังคมในยุคปัจจุบัน

โดยดร.สมเกียรติ กล่าวว่า เชคสเปียร์เคยบอกไว้ว่าโลกนี้คือละคร เเต่ตอนนี้โลกนี้คือเกม โดยทีดีอาร์ไอได้มีข้อวิจัยในการปฎิรูปการศึกษา หาวิธีใหม่ในการพัฒนาประเทศไทย เเละที่สำคัญคือการต่อต้านคอร์รัปชั่น โดยได้ร่วมมือกับภาคีต่างๆ ช่วยกันทำเรื่องยากๆ ซึ่งเราเชื่อว่าทำได้ เเต่ต้องช่วยกันทำ โดยการหาเเนวร่วมเป็นวงกว้าง มากกว่าการหาคนเดิมๆ ที่เคยคุยกัน

เเละเพื่อให้การต้านคอร์รัปชั่นเเพร่หลายไปในสังคมวงกว้าง การเอาเกมมาใช้เป็นเรื่องที่จำเป็นมาก เพราะมันเป็นของที่สนุก ที่จำมาให้คนสนใจปัญหาคอร์รัปชั่น เเละช่วยกันตรวจสอบ ซึ่งเเฝงอยู่ในการเล่มเกม โดยก่อนหน้านี้ได้ จึงได้มีการพัฒนาเกมร่วมกัน เช่น มีการร่วมมือกับบริษัท open dream ที่ทำเกมออนไลน์ “Corrupt the games ” ที่ได้รับความนิยมพอสมควร เเละมีการคิดวิเคราะห์ตีคความกันอย่างหลากหลายว่าสถานการณ์เเบบไหนที่เอื้อให้คนทุจริตมากขึ้นเป็นต้น

ส่วนสำหรับ “The Trust” เป็นเกมกระดานเพื่อสร้างสังคม ภายใต้คอนเซปต์ว่า “เล่นไปอย่าให้ใครโกง” วิธีที่จะเข้าใจได้มากที่สุดคือ ผู้เล่นเองต้องลองสวมหมวก สวมบทบาทเป็นตัวละครต่างๆ รวมถึงเป็นคนโกงเองด้วยเพื่อจะได้เข้าใจการโกง เเละในอนาคตจะมีการพัฒนาไปทางด้านเกมออนไลน์ที่เข้าถึงคนหมู่มากขึ้นไปอีก การต้านคอร์รัปชั่นเป็นสิ่งที่ทำได้ เเต่ไม่ได้ทำด้วยคนๆเดียว เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องช่วยกัน

โดยเมื่อถามว่า ทัศนคติว่าเด็กติดเกมมีปัญหาหรือถูกมองในเเง่ลบ เราจะปรับทัศนคติในการมองเกมอย่างไร ประธานทีดีอาร์ไอตอบว่า

“เกมออนไลน์กำลังจะเข้าสู่การเเข่งขันโอลิมปิก ดังนั้นผมคิดว่าภาพพจน์ของเกมจะเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง เพราะถ้ามีการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ ที่เกิดขึ้นจริงเเละจับต้องได้เเล้ว บางทีเรื่องที่ยากเเสนยากก็จะเปลี่ยนได้ เเละเกมจะเป็นอีกเครื่องมือที่ดี ที่ทุกคนจะได้เห็นว่า เกมที่มีสาระเเละเล่นสนุกนั้นมีมากมาย”