เปิด”แดนหญิงอยุธยา” เรือนจำต้นแบบเปลี่ยนพฤติกรรม-กลับสู่สังคม สมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

รายงานโดย นลิศา เตชะศิริประภา / ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

แม้ว่ากลุ่มผู้ต้องขังหญิงจะเป็นเพียงอัตราส่วนเล็กๆ เมื่อเทียบกับผู้ต้องขังทั้งหมด แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานั้น จำนวนผู้ต้องขังหญิงทั่วโลกเพิ่มขึ้นในอัตราที่รวดเร็วมากกว่าผู้ชาย สำหรับประเทศไทยข้อมูลจากกรมราชทัณฑ์ระบุว่าปี 2560 จำนวนผู้ต้องขังหญิงมีจำนวนถึง 38,678 คน เพิ่มสูงขึ้นเกือบเท่าตัว และสูงเป็นอันดับ 4 ของโลกรองจากสหรัฐ จีน และรัสเซีย

ด้วยเพศสภาพและความจำเป็นพื้นฐานของผู้ต้องขังหญิงนั้นต่างจากผู้ต้องขังชาย และมักถูกปฏิบัติด้วยความไม่เท่าเทียม ปัญหาเหล่านี้จึงเป็นที่มาของการนำ “ข้อกำหนดกรุงเทพ” (Bangkok Rules) หรือ ข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง มาใช้เพื่อให้เป็นแนวทางในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงตามมาตรฐานสิทธิมนุษชนที่ควรจะได้รับ และเตรียมความพร้อมก่อนกลับสู่สังคม

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ มีโอกาสได้ลงพื้นที่ “แดนหญิง” ของเรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งถูกยกให้เป็นเรือนจำต้นแบบตามข้อกำหนดกรุงเทพ จากข้อกำหนดสหประชาชาติ สู่การปฏิบัติในประเทศไทยโดยความร่วมมือของสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย หรือ TIJ และกรมราชทัณฑ์

อดิศักดิ์ ภาณุพงศ์ ที่ปรึกษาพิเศษสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทยเล่าถึงที่มาของข้อกำหนดกรุงเทพว่า

“ข้อกำหนดกรุงเทพนั้นได้เริ่มจัดตั้งขึ้นด้วยพระราชดำริของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ซึ่งได้เล็งเห็นความต้องการของผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำที่มีความแตกต่างในด้านกายภาพ เพศสภาพ ก็ควรจะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ”

ซึ่งการพิจารณาผู้ต้องขังหญิงเป็นพิเศษนั้น ไม่ได้หมายความว่า จะได้รับการปฏิบัติเป็นพิเศษแตกต่างจากผู้ต้องขังชาย ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์ เพียงแต่การนำข้อกำหนดกรุงเทพเข้ามาใช้จะเป็นการคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนที่ทุกคนควรจะได้รับ

ความแตกต่างของเรือนจำต้นแบบตามข้อกำหนดกรุงเทพ

ดร.นัทธี จิตสว่าง ที่ปรึกษาพิเศษ TIJ และอดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ระบุถึงความแตกต่างระหว่างเรือนจำต้นแบบตามข้อกำหนดกรุงเทพ กับเรือนจำทั่วไปว่า ข้อกำหนดกรุงเทพเป็นข้อกำหนดที่ปฏิบัติต่อผู้ต้องขังในเรือนจำให้เป็นไปตามมาตรฐาน ตั้งแต่การรับตัวผู้ต้องขังในเรื่องของการตรวจค้นจะต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้หญิง

ด้านการจัดทำทะเบียนเพื่อจำแนกผู้ต้องขัง ที่เจ้าหน้าที่จะต้องรู้จักผู้ต้องขังทุกคน จึงมีการจัดทำ Sentencing Plan เป็นรายบุคคล

ขณะเดียวกันยังมีกิจกรรมต่างๆทั้งการอบรมวิชาชีพ การทำธุรกิจ กิจกรรมเพื่อผ่อนคลายความเครียด รวมถึงติดตามและส่งเสริมการประกอบอาชีพของผู้ต้องหาหลังจากออกจากเรือนจำ

ดร.นัทธี จิตสว่าง ที่ปรึกษาพิเศษTIJ และอดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์

แดนหญิงอยุธยา…บ้านเปลี่ยนชีวิต

ภายในแดนหญิงของเรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยาแห่งนี้ มีกิจกรรมมากมายให้ผู้ต้องขังหญิงได้เรียนรู้เพื่อนำไปประกอบอาชีพในอนาคต รวมถึงผ่อนคลายความตึงเครียด และฟื้นฟูจิตใจระหว่างอยู่ในเรือนจำ

ไม่ว่าจะเป็นมุมอ่านหนังสือ มุมฝึกอาชีพเช่น การทำอาหาร การนวด ร้านเสริมสวย และยังมีการอบรมหลักสูตร SME เปลี่ยนชีวิต

รวมทั้งส่งเสริมการให้ความรู้แก่ผู้ต้องขังด้วยรูปแบบการสอน กศน. และมีสถานพยาบาลที่จะให้ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพอนามัยด้วย ขณะเดียวกันยังมีกิจกรรมสันทนาการทั้งการเล่นโยคะ การร้องเพลง รวมถึงการสวดมนต์

นอกจากนี้ยังมี Happy Center หรือ ห้องเปลี่ยนชีวิต บ่มเพาะแรงบันดาลใจเป็นเสมือนคลินิกทางจิตที่จะช่วยฟื้นฟู และปรับสภาพจิตใจของผู้ต้องขังให้ดีขึ้นด้วยการใช้ดนตรีบำบัด ศิลปะบำบัด สมาธิบำบัด เป็นต้น

ทั้งนี้อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ระบุว่า ผู้ต้องขังจะต้องผ่านการอบรมวิชาชีพอย่างน้อย 3 อย่างเพื่อเตรียมความพร้อมในการไปประกอบอาชีพหลังจากพ้นโทษและไม่หวนกลับมาทำในสิ่งที่ไม่ดีอีก

“คนที่เข้ามาในนี้ไม่ว่าจะมาจากไหน จะผ่านการอบรมจากกระบวนการดังกล่าว จนกระทั่งเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย และดูแลหลังปล่อย รวมทั้งมีการติดตามผลต่อไปว่า คนที่พ้นออกไปแล้วกลับสู่สังคมอย่างไร”

“ที่นี่เป็นบ้านเปลี่ยนชีวิต ใครที่เข้ามาแล้วจะต้องมีชีวิต และพฤติกรรมที่ดีขึ้น”

อุปสรรคการนำข้อกำหนดกรุงเทพมาใช้มี 3 เรื่อง สำคัญสุดที่ “คน”

อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวต่อว่า การนำข้อกำหนดกรุงเทพมาใช้ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถทำงานได้อย่างเป็นระบบ และมีมาตรฐานในการทำงาน

“ในปี 2558 ได้ริเริ่มนำข้อกำหนดกรุงเทพมาใช้ให้เรือนจำต้นแบบจำนวน 3 แห่ง คือ เรือนจำจังหวัดอุทัยธานี ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ และเรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และปี 2559 อีก 3 แห่ง คือ ทัณฑสถานบำบัดเพศหญิง ทัณฑสถานหญิงชลบุรี และเรือนจำกลางสมุทรสงคราม”

ขณะเดียวกันอุปสรรคของการนำข้อกำหนดกรุงเทพมาใช้นั้นมี 3 อย่างคือ คน หรือเจ้าหน้าที่, โปรแกรมการอบรมต่างๆ และสถานที่ ซึ่งสิ่งที่ยากที่สุดคือน “คน”

“เจ้าหน้าที่ติดอยู่กับการปฏิบัติแบบเดิมๆ คือไม่ต้องการให้ผู้กระทำเป็นนาย อยู่สุขสบาย ซึ่งความจริงเราไม่ได้นำข้อกำหนดฯมาใช้แล้วให้ผู้ต้องขังหญิงมีอภิสิทธิ์เหนือเจ้าหน้าที่ แต่เป็นการนำมาใช้เพื่อให้อยู่ภายใต้กฎระเบียบ และเป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย”

“แม่-เด็กติดผู้ต้องขัง” เป็นสิ่งสำคัญ ไทยทำได้โดดเด่นกว่าหลายประเทศ

นอกจากนี้ภายในเรือนจำยังมีการแยกผู้ต้องขังที่ตั้งครรภ์ พร้อมกับมีห้องเลี้ยงเด็กสำหรับหญิงตั้งครรภ์ และมีบุตร ที่จะส่งเสริมความสัมพันธ์ในครอบครัว และให้ผู้ต้องขังหญิงยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ความเป็นแม่ได้แม้จะถูกจองจำอยู่ก็ตาม ทั้งนี้อนุญาตให้บุตรอยู่กับแม่ได้ถึงอายุ 3 ขวบ ก่อนจะส่งให้ญาตินำไปเลี้ยงต่อไป

ดร.ซาแมนทา เจฟฟรีย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชญาวิทยาและเพศภาวะ จากมหาวิทยาลัย Griffith ประเทศออสเตรเลีย กล่าวว่า การปฏิบัติต่อผู้ต้องขังที่เป็นชนกลุ่มน้อย หรือชาวต่างชาติของประเทศไทยนั้นดีกว่าสิ่งที่ได้เจอในออสเตรเลีย และเป็นสิ่งหนึ่งที่ออสเตรเลียจะสามารถเรียนรู้ได้

และยังระบุต่อไปว่า กลุ่มแม่และเด็กในเรือนจำนั้น เป็นประเด็นที่สำคัญมาก แต่ละประเทศมีกฎระเบียบที่แตกต่างกัน ซึ่งเรื่องผู้ต้องขังแม่และเด็ก แม่ตั้งครรภ์ หรือเด็กติดผู้ต้องขังประเทศไทยปฏิบัติได้ค่อนข้างจะโดดเด่นกว่าประเทศอื่นๆ

“เรื่องนี้มีความสำคัญในแง่ที่ว่าไม่ใช่แค่เรื่องของการเจริญเติบโตของเด็กในช่วงขวบปีแรก แต่ยังหมายถึงสายสัมพันธ์ของแม่และเด็ก และส่วนใหญ่ผู้ต้องขังในเรื่องจำล่วงแต่เป็นแม่ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นการที่ยอมให้เด็กอยู่ในเรือนจำ ในขณะเดียวกันเรือนจำก็ต้องมีการตอบสนองต่อความต้องการขั้นพื้นฐานของทั้งแม่และเด็กที่จะช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างแม่และลูก และยังช่วยให้ผู้ต้องขังได้ทไหน้าที่ของความเป็นแม่ได้แม้กระทั้งเขาต้องสูญเสียสิทธิเสรีภาพในขณะนั้น” ดร.ซาแมนทา กล่าว

มีดีจนเป็นต้นแบบเรือนจำหญิงของอาเซียน

การนำข้อกำหนดกรุงเทพมาใช้อย่างเป็นรูปธรรมของเรือนจำหญิงในประเทศไทยนั้น ทำให้กลุ่มประเทศอาเซียนได้เดินทางมาเรียนรู้เพื่อนำกลับไปปรับใช้ และพัฒนาการดูแลผู้ต้องขังหญิงในประเทศของตนเอง

ดร.บาบาร์รา โอเวน ผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศ เรื่องข้อกำหนดกรุงเทพ กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของข้อกำหนดกรุงเทพว่า ข้อกำหนดกรุงเทพถูกร่างขึ้นโดยผ่านกระบวนการจากสหประชาชาติ ไม่ได้เป็นกฎหมายที่มีผลบังคับ แต่เป็นแนวทางปฏิบัติที่สากลมองว่าเป็นเรื่องสำคัญ และควรจะนำไปปฏิบัติตาม ที่สำคัญคือการสร้างความร่วมมือของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ในภูมิภาคอาเซียนที่จะเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ว่าข้อท้าทายของแต่ละประเทศคืออะไร และสิ่งที่จะได้กลับไปคือ “แผนปฏิบัติการ” หรือ Action Plan ที่ทุกคนจะนำกลับประเทศของตนเองพร้อมกับข้อแนะนำหรือแนวทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม

ส่วนการดูแลผู้ต้องขังของประเทศไทยเมื่อเปรียบเทียบกับหากเทียบกับประเทศอื่นนั้น ดร.บาบาร์ราระบุว่า หลายประเทศในฝั่งยุโรป และไม่ได้อยู่ในภูมิภาคอาเซียนเน้นนโยบายการลงโทษและดูแลกลุ่มผู้ต้องขังที่ค่อนข้างจะรุนแรง แม้จะมีการพูดถึงระบบการแก้ไขฟื้นฟู (Rehabilitation) แต่ในทางปฏิบัติแล้วการลงโทษเชิงรุนแรงที่เน้นเรื่องของความมั่นคงมันก็เป็นจุดโฟกัสในการดูแลผู้ต้องขังในหลายๆ ประเทศ เทียบกับประเทศไทยในมุมมองของตนนั้น การแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดของไทยมีความโดดเด่นมากกว่า

“ในประเทศที่ดิฉันมานั้นไม่ได้เน้นการสร้างปฏิสัมพันธ์ของผู้ต้องขังมากเท่าไหร่ เมื่อเข้าไปอยู่ในคุกแล้ว ก็จะถูกตัดขาดจากชุมชน สังคม โลกภายนอก แต่ประเทศไทยนั้นยังเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนมาช่วยแก้ไขผู้ที่กระทำความผิด”

ขณะเดียวกัน “Salwa Salleh” หัวหน้าฝ่ายพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการวิจัย ประเทศบรูไน กล่าวว่า ต้องการเรียนรู้ข้อกำหนดกรุงเทพให้ได้มากที่สุดเพื่อเอาไปปรับปรุงใช้กับเรือนจำในประเทศของตัวเอง

ส่วนเรือนจำของประเทศบูรไนนั้นมีความแตกต่างมีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก โดยในบูรไนมีเรือนจำหญิงอยู่แห่งเดียวทั่วประเทศ เพราะฉะนั้นในเรือนจำของบรูไนก็จะประกอบไปด้วยที่มีทั้งคนที่ได้รับโทษต่ำ และสูงอยู่ปนกัน ซึ่งการอยู่รวมกันนั้นมีปัญหาเยอะมาก หนึ่งในนั้นคือปัญหาของเด็กที่เข้ามาอยู่ในเรือนจำกับแม่

เช่นเดียวกับ “Marie Rose Laguyo” ผู้บัญชาการเรือนจำ Quezon City ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นเรือนจำของผู้ต้องขังที่อยู่ในระหว่างพิจารณาคดี และผู้ต้องขังที่ได้รับโทษต่ำกว่า 3 ปี เมื่อเปรียบเทียบกับไทยในการนำข้อกำหนดกรุงเทพไปใช้กับผู้ต้องขังหญิงนั้น ผู้บัญชาการเรือนจำญยอมรับฟิลิปปินส์ยังอยู่ในระดับกลางเท่านั้น ในขณะที่เรือนจำที่นำข้อกำหนดกรุงทพมาใช้ทั้ง 6 แห่งของประเทศไทยอยู่ในระดับสูงสุด ซึ่งในอนาคตฟิลิปปินส์หวังว่าจะทำได้อย่างไทยเช่นกัน

ทั้งนี้ฟิลิปปินส์มีเรือนจำทั้งหมด 60 แห่งทั่วประเทศ แบ่งเป็นทัณฑสถานหญิง 2 แห่ง และเรือนจำชายที่มีแดนหญิง 58 แห่ง

ถึงจะมีกิจกรรมมากมาย..แต่อยู่ข้างนอกย่อมดีกว่า

ก่อนกลับได้แวะคุยกับผู้ต้องขังที่ปฏิบัติตนดี และเหลือระยะเวลาโทษไม่มากที่ได้ออกมาปฏิบัติอาชีพจริงภายนอกเรือนจำตามเวลาที่กำหนด

“เอ”(นามสมมติ) หญิงสาววัย 25 ปี ผู้ที่ถูกจองจำในคดียาเสพติดเป็นเวลา 2 ปี 5 เดือน เล่าถึงประสบการณ์ที่ได้อยู่ในเรือนจำ โดยยอมรับว่าตอนเข้ามาอยู่ตอนแรกนั้นเครียดมาก อยู่มาได้หนึ่งปียังรู้สึกคิดถึงบ้านอยู่ แต่อยู่ไปเรื่อยๆ ก็ชิน และไม่ได้รู้สึกอะไร และก็จินตนาการไปว่าสภาพในเรือนจำจะแย่เหมือนในละคร ภาพยนตร์ แต่ในความจริงในสภาพความเป็นอยู่ดีกว่ามาก

ส่วนตอนนี้ได้ออกมาเป็นพนักงานร้านกาแฟของกรมราชทัณฑ์เพื่อฝึกปฏิบัติอาชีพจริงก่อนที่จะได้ออกไปสู่โลกกว้างในอีก 2 เดือนข้างหน้า

“ได้ออกมาทำงานที่ร้านกาแฟตั้งแต่เช้าจนถึงเย็น หลังจากนั้นหนูก็กลับเข้าไปอยู่ในเรือนจำเหมือนเดิม…การอยู่ข้างในเหมือนจะมีครบทุกอย่าง แต่มันไม่เห็นอะไร ถึงจะมีกิจกรรมต่างให้ทำ แต่การออกมากข้างนอกมันย่อมดีกว่า”

เอ กล่าวทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้มแห่งความหวังว่าหลังจากที่ออกจากเรือนจำแห่งนี้ว่าจะเปิดร้านกาแฟสักร้านหนึ่ง และพร้อมประกอบอาชีพสุจริตอีกครั้งหนึ่ง

ถึงแม้ว่ากิจกรรมต่างๆ ภายในเรือนจำต้นแบบข้อจำกัดกรุงเทพแห่งนี้จะเปลี่ยนภาพจำจากความมืดมนของกำแพงสูงพร้อมด้วยลวดหนาม และตัวอักษรสีแดงขนาดใหญ่ “เขตหวงห้าม” ให้กลายเป็นเหมือนศูนย์เรียนรู้ที่ค่อยๆบ่มเพาะผู้ที่หลงเดินทางผิด ขัดเกลาจิตใจ เพื่อพัฒนาคุณภาพตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชน และเตรียมพร้อมให้พวกเขากลับไปเผชิญกับโลกภายนอกในเร็ววัน และไม่กระทำผิดซ้ำอีก

แต่เชื่อว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดของพวกเขาเหล่านั้นต้องการคือ…”โอกาส” ที่หวังว่าจะได้มีที่ยืนในสังคมได้อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อีกสักครั้ง