เปลี่ยนนิสัยไม่ดี กับ “BAD HABIT” Refill Station แห่งใหม่ เติมของใช้ประจำวัน ลดการสร้างขยะช่วยโลก

เรื่อง : ธรรมธวัช ศรีสุข
ธรรมชาติส่งสัญญาณเตือนโลกทุกรูปแบบ ฤดูกาล อากาศที่ผิดเพี้ยน ภาวะโลกร้อน หรือเล่นแรงหน่อยก็ลงโทษจนเกิดภัยพิบัติในหลายพื้นที่ ….

ประเด็นสิ่งแวดล้อมจึงถูกนำมาพูดในระดับสากล หนึ่งในปัจจัยที่กัดกร่อนโลก และกระทบสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศน์ คือเรื่อง “ขยะ” ที่ตกค้าง ไม่สามารถย่อยสลายได้หลายสิบล้านตันต่อปี จนเกิดเป็นแนวคิด Zero Waste ลดขยะให้เป็นศูนย์ หรือเหลือน้อยมากที่สุดโดยสามารถนำไปรีไซเคิลให้เกิดประโยชน์ได้ จากการลดการใช้แพคเกจจิ้ง พลาสติก ที่หลายประเทศกำลังนำไปใช้ออกกฎบังคับห้ามใช้ถุงพลาสติก รวมถึงในประเทศไทย ที่เทรนด์ Zero Wase กำลังเริ่มตั้งไข่ หลายบริษัทหันมาให้ความสำคัญโดยใส่แนวคิดนี้เข้าไปในกลยุทธ์ขับเคลื่อนธุรกิจ มีการรณรงค์ลดใช้ถุงพลาสติก ธุรกิจอาหาร ร้านกาแฟ ส่งเสริมให้คนเริ่มนำบรรจุภัณฑ์มาเอง งดใช้หลอด แก้วพลาสติก จากแนวคิดดังกล่าว เกิดเป็น Refill Station ธุรกิจเล็กๆ ที่สร้างอินสไปร์ให้คนหันมาปรับพฤติกรรมสู่ Zero Waste

แต่ท้ายที่สุด มนุษย์ก็คือความไม่สมบูรณ์แบบ 100% Inside ทุกคนยังมีมุมติดความสะดวกสบาย และนิสัย(ไม่ดี) ที่อาจเผลอทำร้ายโลกทั้งทางตรงและทางอ้อมโดยไม่ตั้งใจ ซึ่งพ้องไปกับชื่อของ Bad Habit Refill Station น้องใหม่ย่านลาดพร้าว ร้านเล็กๆ ของสามหุ้นส่วน “แป้ง-สิรินภรณ์ แสนสมบัติ, หยุง-ศุภกานต์ นฤขัตพิชัย และ แมค-ปิติคุณ เอกนิพิฐพิทยา ที่จับเอาชีวิตประจำวันของมนุษย์ มาผสมเข้ากับเทรนด์ Zero Waste แบบย่อยง่าย วางคอนเซ็ปต์ให้ทุกคนเริ่มจากค่อยๆ ปรับพฤติกรรมตัวเอง นำบรรจุภัณฑ์ส่วนตัว ขวดโหล แก้ว มาเติมข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน พวก สบู่ โลชั่น ยาสระผม น้ำยาล้างจาน อาหารแห้ง เพื่อลดการใช้บรรรจุภัณฑ์ พลาสติก ลดขยะ และลดนิสัย(ไม่ดี)ที่เราอาจเลี่ยงไม่ได้

“ความสะดวกสบาย” กำแพงกั้นระหว่างผู้คน กับแนวคิด Zero waste

“แมค ปิติคุณ” หนึ่งในหุ้นส่วนเล่าจุดเริ่มต้นไอเดียว่า มาจากการตั้งคำถามถึงปลายทางของขยะที่เราทิ้งกันทุกวันจะไปอยู่ตรงไหน สุดท้ายมันไม่หายไป ถูกฝังกลบ เผาขยะ เป็นมลพิษต่อโลก ด้วยความสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว จึงอยากปรับพฤติกรรมตัวเองไปด้วย เลยเปิดเป็น Refill Station ที่ลาดพร้าว และต้องการสื่อสารกับคนย่านนี้ในเรื่องการลดขยะ และหันมาลองใช้ชีวิตแบบนี้มากขึ้น เหมือนเป็นออปชั่นเสริมของตัวเองและคนย่านนี้

“จริงๆ ไม่อยากเรียกว่าธุรกิจ เพราะมันวัดที่การเติบโตยาก รู้สึกว่าถ้าทำ Refill Station มันจะช่วยอำนวยความสะดวกคนแถวนี้มากขึ้น รวมถึงตัวเราเอง ต้องการให้คนรับรู้ว่า การดำเนินชีวิตแบบ Zero Waste มันมีอยู่จริง มีคนที่ทำได้จริงๆ แม้กระทั่งคนต่างชาติที่มาไทย เค้ามารีฟิลกันเยอะ เยอะกว่าคนไทยด้วยซ้ำ การดำเนินชีวิตแบบไม่ต้องใช้แพคเกจจิ้งเป็นเรื่องปกติมากในบ้านเค้า Bad Habit เลยอยากเป็นตัวแทนชาวลาดพร้าวในการเริ่มทำสิ่งนี้ เราพยายามอำนวยความสะดวก อยากบอกว่าที่นี่คุณปรับได้ง่าย สร้างอินสไปร์ให้คน”

สำหรับโปรดักส์ในร้าน จะเน้นของใช้ในชีวิตประจำวัน น้ำยาล้างจาน สบู่ ยาสีฟันชนิดเม็ด ซึ่ง Bad Habit คัดเลือกของที่เป็น Natural Ingredients จากธรรมชาติที่ปลอดภัยต่อผู้ใช้ ปลอดภัยต่อโลก ผ่านกระบวนการคิดถึงปลายทางว่า หากน้ำสบู่ที่ล้างตัวเสร็จนั้น สารเคมีจะลงไปสู่ที่ไหนต่อ การใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติจึงมีเอฟเฟกต์น้อยที่สุด ทางร้านเลือกแบรนด์ไทย Local ที่ต้องการให้คนไทยเห็นคุณค่า และหันมาใช้ผลิตภัณฑ์ของคนไทยด้วยกันมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมานั้น เป็นกลุ่มลูกค้าฝรั่งที่ให้ค่ามากกว่า นอกจาก Refill Station จะมีของใช้ Kinto ไหมขัดฟัน แปรงสีฟัน ในส่วนของกินจะเป็นซีอิ๊ว น้ำส้มสายชู อาหารแห้งจำพวก ข้าว ใบชา เมล็ดกาแฟ ที่สั่งมาจากไร่ของคนไทย โดยทางร้านเล่าว่า อีกปัจจัยของการสั่งของจากเมืองไทย จะสะดวกต่อการลดพลาสติกในการจัดส่งได้อีกมาก

“การสั่งจากต่างประเทศ ถึงจะเป็นโปรดักส์ที่ผลิตจากไม้ แต่สุดท้ายก็ห่อพลาสติกมาอยู่ดี คนไทยเราสามารถคุยได้ว่า ไม่ต้องใส่ถุงนะ เราจะส่งแก้ว ส่งถังไปให้ใส่ ไม่เป็นการเพิ่มขยะไปอีกทาง มันก็จุดประกายเรื่อง Zero Waste ไปด้วย ทั้งเรา ซัพพลายเออร์ และลูกค้า ซึ่งทาง Bad Habit มีบริการให้ยืมขวดโหลในการเติมโลชั่นต่างๆ แล้วนำมาคืน หรือจะไปเติมที่อื่นก็ได้ เราอยากให้ทุกคนสะดวกสบาย และเข้าถึงได้ง่ายมากที่สุด”

การสื่อสารแนวคิด Zero Waste สร้างอีเวนต์เพิ่มการรับรู้

นอกจาก Refill Station ยังมี Section ของการจัดอีเวนต์เล็กๆ สัปดาห์ละครั้ง เพื่อสร้าง Community การรับรู้ในเรื่อง Zero Waste โดยจัด Swap แลกเปลี่ยนเสื้อผ้าที่ไม่ได้ใช้ แทนที่จะทิ้งเป็นขยะ อาจเป็นของมีค่าสำหรับคนอื่น หรือนำเสื้อผ้ามา Donate เพื่อนำไป Reuse ย้อมครามขายเพื่อเอาเงินไปสร้างประโยชน์ต่อ อย่างไรก็ตาม บริบทของการจัดอีเวนต์สเกลใหญ่ยังทำได้ยากในเรื่องการควบคุมขยะ แม็กเล่าถึงตัวอย่างอีเวนต์ต่างประเทศว่า Market Zero Waste ที่จัดขึ้นเพื่อลดขยะ แต่จบงานกลับสร้างขยะมากกว่าเดิม จากคนที่เข้ามาขายอาหาร การจัดอีเวนต์ของ Bad Habit จึงต้องอยู่ในสเกลเล็ก ควบคุมคน ควบคุมไม่ให้เกิดขยะได้ รวมถึงมองการปรับพฤติกรรมของคนในประเทศ และ Go to zero waste อาจต้องพึ่งพาองค์กร ภาครัฐสนับสนุนมากขึ้น

“อย่างที่ฟิลิปปินส์ อินโดฯ เวียดนาม เค้าปรับกันได้เร็วมากภายในปีเดียว ปัจจัยคือมีองค์กรที่ให้การสนับสนุน มีกลุ่มคนที่ตื่นตัว เคลื่อนไหวเรื่อง Zero Waste เยอะ อย่างสิงคโปร์เป็นประเทศที่ไม่ใหญ่ การปรับ Change ทีนึง จะมีการออกกฎ ทุกอย่างก็เปลี่ยน อย่างฟิลิปปินส์ ประกาศงดใช้ถุงพลาสติกเลย มันเกิดการตื่นตัวจากคนที่เห็นด้วย ในกฎแกมบังคับ มันมีการทำให้เค้ารู้ว่า โลกเรามันวิกฤตแล้ว ซึ่งคนไทยอาจยังไม่รู้สึกว่ามันวิกฤตหรือเปล่า? มองเป็นเรื่องไกลตัว ซึ่งจริงๆ ผลกระทบของฝุ่น PM 2.5 นั่นคือชัดเจนที่สุด เราควรตื่นตัวกันได้แล้ว เอฟเฟกต์จากโลก พายุ โลกร้อน สินามิ เป็นจุดที่ผลัดผู้คนเหล่านี้หันมารักโลกมากขึ้น เพราะนั่นคือสัญญาณเตือน แต่เราไม่อยากให้ไปถึงจุดนั้นแล้วค่อยปรับพฤติกรรม เพราะอาจทำอะไรไม่ได้แล้ว เราอาจจะปิดร้านหนีไปแล้ว (หัวเราะ)”

อีก 1-2 ปี Refill Station จะเกิดขึ้นเยอะในไทย และการอยู่รอดของธุรกิจที่ไม่ได้วัดด้วยผลกำไรการเติบโต

แม้ตอนนี้เทรนด์ Zero Waste จะค่อนข้างใหม่ในบ้านเรา แต่ก็เริ่มมีการปรับตัวของหลายๆ ธุรกิจ แม็กมองว่า อีกไม่เกิน 1-2 ปี น่าจะได้เห็น Refill Station ในหลายๆ พื้นที่ หัวเมือง และตามต่างจังหวัด โดยมีเรื่องของแฟชั่นนำไป แต่โจทย์ที่ต้องตีให้แตกคือทำยังไงให้ Business นี้อยู่รอดได้ และสามารถสื่อสารในเรื่องการลดขยะไปด้วย

“ยากมากๆ ทั้งกะจำนวนสั่งของ กะลูกค้า กับอีกขาหนึ่งที่เราต้องคำนึงถึงการไม่สร้างขยะเพิ่ม จริงๆ แล้ว Refill Station เป็นโปรเจ็กต์ที่แทบไม่ได้ Margin อะไรเลย สิ่งที่เราต้องทำ คืออดทนในช่วงเริ่มต้น เราไม่ได้มองว่าจุด Success มันอยู่ตรงไหนด้วย เพราะมันอีกยาวไกลเหลือเกิน สิ่งสำคัญคือต้องสื่อสารให้คนรับรู้ ส่วนจุดประสบความสำเร็จของธุรกิจมีหลายแบบ แต่กับ Refill Station มองว่าจุดนั้นมันไม่มีอยู่จริง ต้องทำต่อไป ใช้เวลากับมันเรื่อยๆ มันไม่ได้วัดกันที่การเติบโตของธุรกิจ แต่วัดที่การเปลี่ยนแปลงของคนมากกว่า ซึ่งเราพอใจกับสเกลแบบนี้ ขอแค่กระจายให้คนใช้สะดวกสบายมากขึ้น

โจทย์แรกของเราคือ “ความตระหนัก” ไม่ถึงกับเปลี่ยนพฤติกรรมเลย 100% เพราะสิ่งที่กั้นคนมากที่สุดคือ ความไม่สะดวกสบาย Station อาจจะไกล ก็เป็นโจทย์ว่าทำยังไงถึงจะสื่อสาร และทำให้เค้าเข้าถึงการ Refill ได้ง่ายที่สุด ซึ่งจริงๆ เราไม่อยากให้ทุกคนเครียด มันไม่มีสีดำ สีขาว ถ้าเราเล่าออกไปด้วยความเทาๆ ของมันได้ เราว่าคนจะมองเห็นทั้งสองด้าน และสุดท้ายคนจะเลือกขาว เพราะเรายังต้องใช้ชีวิตอยู่บนโลก และเมื่อมันเกิด เอฟเฟกต์ เราก็ต้องปรับตัว”

Community ของคนทำธุรกิจ Refill Station ด้วยคน ไม่ใช่คู่แข่ง แต่ช่วยกันทำเพื่อสังคม

หลายๆ ธุรกิจ มักเจอร้านที่เป็นคู่แข่งทางการค้าเสมอ แต่กับ Refill Station พวกเขากลับสร้างกลุ่มเครือข่ายที่ช่วยกันผลักดันเรื่อง Zero Waste ให้ไปสู่ผู้คนมากที่สุด และระดมความคิดให้ร้านไปต่อได้ เพราะในมุมของธุรกิจที่หวังผลกำไรได้ยาก การรวมกลุ่มกันจึงแข็งแรงกว่า อีกทั้งพวกเขายังช่วยกันหาทางสื่อสารให้เกิดการปรับเปลี่ยนในสังคมอีกด้วย

“สมมติเราเปิดลาดพร้าวซอย 8 แล้วมี Refill Station มาเปิดที่ซอย 1 เพิ่ม เราก็อยากเป็นเพื่อนกับเค้า ไม่ได้มองว่าเป็นคู่แข่ง แต่ยิ่งทำยิ่งได้ และถ้าคนรู้จักมากขึ้น เปิดบริการทุกๆ ย่านได้ติดๆ กัน โลกคงน่าอยู่ขึ้นเยอะ เราทำเพื่อโลกมากกว่า

เรามีมีตติ้งของกลุ่มร้านที่ทำ Refill Station ตอนนี้ในไทยมีประมาณ 4-5 ที่ เชียงใหม่ ชลบุรีก็เริ่มมีแล้ว มันเป็นคอมมูนิตี้ บางทีเราต้องสั่งน้ำยา เครื่องกด ทุกคนต้องแบกคอร์สค่าใช้จ่ายหมด การสั่งด้วยกัน แชร์กัน หรือสั่งในจำนวนเยอะๆ ก็ทำให้ค่าใช้จ่ายถูกลง ให้โปรเจ็กต์มันรันต่อไปได้ ในแต่ละครั้งที่มาเจอกัน คุยว่าเจอปัญหาอะไร หรือมีทางไหนที่จะช่วยกันทำให้การสื่อสารเรื่อง Zero Wast ไปสู่คนหมู่มากได้ แต่มันก็ยาก ถ้าเราทำแบรนด์แฟชั่น มันจะมีงบมาร์เก็ตติ้ง โปรโมท โปรโมชั่น แต่กับ Refill Station มันทำไม่ได้ ซึ่งเราต้องอาศัยการผลิตคอนเทนต์ และช่องทางสื่อที่คนสนใจ แล้วกระจายแนวคิดนี้”

ทุกธุรกิจสามารถผลัดเปลี่ยน นำแนวคิด Zero Waste ไปปรับใช้ และไม่จำเป็นต้องเปิด Refill Station เท่านั้น

“เราอยากทำให้ธุรกิจนี้มันสนุกขึ้น คอนเทนต์หลากหลายขึ้น เปิดร้านเหล้า ร้านกาแฟที่ทุกคนพกแก้วมาเติมเอง โดยไม่สร้างขยะ แล้วทุกคนสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนเดิม ในแง่ของคนทำธุรกิจ แค่เอาแกนไอเดียนี้ไป คุณสามารถทำอะไรก็ได้ คนจะไปกินเหล้า อาจไม่เคยรู้จัก Zero Waste มาก่อน แต่พอเค้าเจอเงื่อนไขว่า ร้านนี้ต้องพกแก้วไปเอง เค้าจะเรียนรู้ว่าทำไมต้องพกแก้วไป เออ..ร้านนี้น่าสนับสนุน ทั้งๆ ที่เป็นร้านเหล้านะ สุดท้ายคุณไม่ต้องเปิด Refill Station ก็ได้ แต่เป็นธุรกิจอะไรที่ไม่ทำลายโลก ไม่สร้างขยะ

แต่ในแง่ธุรกิจมันยังไม่ถูกปรับตัว จริงๆ คนจะปรับง่ายมาก ถ้าเจ้าของธุรกิจปรับตาม การสื่อสารมันไม่ใช่แค่คนซื้อ แต่คนทำธุรกิจเองก็ต้องปรับ ร้านเหล้า ร้านนม ร้านขนม ร้านข้าว ให้นำภาชนะมาเอง ลดการใช้หลอด ช้อนพลาสติก ต้องเปลี่ยนให้หมด เพราะ SMEs เล็กๆ เปลี่ยนง่ายกว่าเชนใหญ่ ธุรกิจใหญ่เปลี่ยนที ต้องลงเม็ดเงินเป็น 10 ล้าน 100 ล้าน เพื่อเซอร์วิสเดียว ทุกธุรกิจสามารถเป็น Refill Station ได้หมด อินสไปร์พวกนี้มันสามารถเอาไปปรับใช้ได้ มันมีช่องให้หลายธุรกิจทำ ถ้าทำแล้วมันถูก Stand Up ขึ้นมา เดี๋ยวก็มีสาขาสอง หรือคนมีเปิดเพิ่ม ที่บอกว่าอีก 1-2 ปี Refill จะเกิดขึ้นเพิ่ม สมมติลาดพร้าวมีร้านเหล้าที่ไม่ใช้แก้ว อีกไม่กี่เดือน อารีย์ ทองหล่อ ก็อาจจะมีร้านแนวนี้เพิ่มขึ้นก็ได้ มันขาดแค่คนเริ่มเท่านั้น”

ส่วนคนใช้อยากให้มองเป็นเรื่องท้าทายตัวเองในแต่ละวัน เราเองก็รู้สึกสนุก ไปซูเปอร์มาเก็ตซื้อเนื้อสด เราจะพกไปอะไรใส่กลับมา โดยไม่ต้องใช้ถุงพลาสติก มันรู้สึกชนะโดยไม่ต้องแข่งกับใคร แต่ชนะตัวเอง