ทำความรู้จัก “เหริน เจิ้งเฟย” ผู้ปลุกปั้น “หัวเว่ย” ซูมไกลถึงดวงจันทร์…มองข้ามหัวอเมริกัน  

จาก สงครามการค้า Trade war ระห่างจีนกับสหรัฐอเมริกา

ลุกลามกลายเป็น Tech war ระหว่าง “กูเกิล” กับ “หัวเว่ย”

หลังจากรัฐบาลอเมริกันเพิ่มชื่อ “หัวเว่ย” เข้าอยู่ในรายชื่อบริษัทที่ห้ามใช้เทคโนโลยีจากบริษัทอเมริกันโดยไม่ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาล ทำให้ “กูเกิล” ในฐานะบริษัทเทคโนโลยีสัญชาติสหรัฐต้องปฏิบัติตาม

คำสั่งฝ่ายบริหาร ที่ลงนามโดยประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” อาจส่งผลให้ผู้ใช้สมาร์ทโฟนของ “หัวเว่ย” ไม่สามารถเข้าถึงบริการบางอย่างของ “กูเกิล”

จีเมล์ – ยูทูบ – กูเกิล เพลย์ อาจเป็นเป็ดง่อยบนสมาร์ทโฟนหัวเว่ย ทั้งที่เข้าระบบปฏิบัติการของ Android  ได้ เพราะเป็นระบบเปิดในโครงการ Android Open Source Project (AOSP)

48 ชั่วโมงของการประกาศมาตรการดังกล่าวของสหรัฐฯ ข่าวปรากฏว่า “หัวเว่ย” หาได้แคร์การโดนแบนจากยักษ์ “กูเกิล” ใ

กลายเป็นว่า “หัวเว่ย” เตรียมเปิดตัว ระบบปฏิบัติการที่แอบซุ่มพัฒนาอย่างลับๆ ชื่อว่า HongMeng OS และมีข่าวว่าได้ทดลองใช้บางส่วนของประเทศจีนมาแล้ว

โดยจะติดตั้งกับสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ๆ ในอนาคตอันใกล้แบบไม่ง้อเทคโนโลยีตะวันตก แถม OS ของ “หัวเว่ย” ยังสามารถใช้กับแอปต่างๆ ของ Android ได้ด้วย

อย่าได้แปลกใจว่า “หัวเว่ย” เข้ามาทำตลาดในเมืองไทยอย่างเต็มรูปแบบไม่ถึง 1 ทศวรรษ แต่ยอดขายสมาร์ทโฟน “หัวเว่ย” ทั่วโลกกลับเป็นรองแค่ “ซัมซุง” จากเกาหลีใต้เท่านั้น

 REUTERS/Dado Ruvic/Illustration/File Photo

เขี่ย “แอปเปิล” สมาร์ทโฟนจากสหรัฐร่วงไปเป็นอันดับ 3 นั่นอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้สงครามการค้า พัฒนากลายมาเป็นสงครามเทคโนโลยี 

โดยยอดขายสมาร์ทโฟนในไตรมาส  1/2562 ที่ผ่านมา อันดับหนึ่งยังคงเป็น “ซัมซุง” ด้วยยอดขาย 71.9 ล้านเครื่อง อันดับสอง “หัวเว่ย” 59.1 ล้านเครื่อง อันดับสาม “แอปเปิล” 36.4 ล้านเครื่อง อันดับสี่ “เสียวหมี่” 25 ล้านเครื่อง อันดับห้า วีโว่ 23.2 ล้านเครื่อง และอันดับหก “ออปโป้” 23.1 ล้านเครื่อง โดย 4 ใน 6 แบรนด์ล้วนเป็นแบรนด์จีน

เบื้องหลังความสำเร็จแบบก้าวกระโดดของ “หัวเว่ย” มาจาก “เหริน เจิ้งเฟย” ผู้ก่อตั้งและประธานบริหารของหัวเว่ย อดีตนายทหารปลดประจำการจากกองทัพจีน ยุคปฏิวัติวัฒนธรรม

ทั้งที่ตอนเด็กๆ “เหริน เจิ้งเฟย” เกิดในครอบครัวที่มีพ่อเป็นครูใหญ่อยู่ในชนบทที่ห่างไกลและฐานะไม่ได้ร่ำรวย และยังต้องดูแลน้องอีก 6 คนในฐานะพี่ชายคนโต เขาไม่เคยแม้แต่ได้สวมชุดนักเรียน ในช่วงที่จีนยังขัดสนทุกหย่อมหญ้า การที่ได้กินหมั่นโถวขาวล้วนสักลูกคือความปรารถนาสูงสุดของเขา

“ใกล้ถึงวันสอบเข้ามหาวิทยาลัย ผมอ่านหนังสือยู่กับบ้านแล้วหิวจนทนไม่ไหว จึงเอารำข้าวคลุกกับผักแล้วย่างกิน พ่อได้เห็นเหลายครั้ง ท่านปวดใจมาก เวลานั้นที่บ้านจนสุดๆ แม้แต่ตู้ที่ล็อกกุญแจได้สักใบก็ยังไม่มี อาหารต้องเก็บใส่กระปุกดิน แต่ผมไม่เคยแอบหยิบกินเลย ถ้าทำเช่นนั้น อาจมีน้องๆ คนสองคนไม่รอดถึงวันนี้” 

หรือแม้แต่ช่วงก่อนตั้ง “หัวเว่ย” หลังจาก “เหริน เจิ้งเฟย” ปลดประจำการ เขาเริ่มต้นเป็นผู้จัดการบริษัทอิเลกทรอนิกส์ สังกัดกลุ่มบริษัททำมันหนานไห่ที่เซินเจิ้น แต่ด้วยความอ่อนหัดในชั้นเชิงธุรกิจจึงถูกอีกบริษัทซึ่งเป็นคู่สัญญาหลอกเงินไป 2 ล้านหยวน ทำให้เขาต้องตกงาน!

เขาจึงรวมหุ้นกับเพื่อนอีก 5 คนตั้งบริษัท “หัวเว่ย” เพื่อทำกิจการการค้า – ค้าอะไรก็ได้ที่ “ทำเงิน” แม้กระทั่งขายยาลดความอ้วน

แต่สุดท้ายจับพัดจับผลูมาทำตู้สาขาโทรศัพท์ บังเอิญคู่แข่งที่ครองตลาดตู้สาขาโทรศัพท์ทำงานได้ด้อยคุณภาพ หรือบ้างนำเข้าจากต่างประเทศแต่ก็มีราคาแพง

“หัวเว่ย” จึงฉวยโอกาสผลิตของที่ถูกกว่าของนอก และ ดีกว่าของในประเทศ

เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ “เหริน เจิ้งเฟย” กลายเป็นเศรษฐี และกลายเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ที่วางรากฐานโทรคมนาคมในจีนต่อมา 

แต่เส้นทางที่ทำให้ “หัวเว่ย” ผงาดโลกได้ ก็เพราะ “เหริน เจิ้งเฟย” ใช้แนวคิด “ลัทธิต่อยอด” จุดเริ่มต้นในปี 1992 เขาพาผู้บริหาร “หัวเว่ย” ไปเยือนสหรัฐในยุคที่คอมพิวเตอร์กำลังรุ่งเรือง – เฟื้องฟู เพื่อเปิดหูเปิดตา

เมื่อเหยียบถึงดินแดน “ซิลิคอนวัลเลย์” ทำให้เขาได้เห็นว่า พนักงานของหัวเว่ยไม่ได้ด้อยไปกว่าสหรัฐแต่ถ้าอยากจะล้ำหน้ากว่าสหรัฐ สิ่งสำคัญที่สุดจะต้องปรับปรุงการบริหาร

และหัวใจของการปรับปรุงการบริหาร คือ วิจัยและพัฒนา

“เหริน เจิ้งเฟย” จึงใช้วิธียืนบนบ่าของคนอื่น สิ่งไหนที่ “หัวเว่ย” ไม่สันทัดจะใช้วิธีซื้อสิทธิบัตรเพื่อย่นระยะห่างคู่แข่ง รวมถึง “แลกเปลี่ยน” สิทธิบัตรทรัพย์สินทางปัญญากับคู่แข่ง อย่าง อีริคสัน อัลคาเทล แม้กระทั่ง โนเกีย และ ซีเมนส์ (ซึ่งในปัจจุบันบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้ได้กลายเป็นอดีตไปหมดแล้ว)

(AP Photo/Mark Schiefelbein)

ในช่วงที่ฟองสบู่เทคโนโลยีแตกที่สหรัฐ “หัวเว่ย” กระโดดลงไปประมูลซื้อเทคโนโลยีของบริษัทที่ล้มละลายเอามาต่อยอดจนก้าวหน้า

แถมยังร่วมทุนกับ เอ็นอีซี พานาโซนิค โมโตโรลา ตั้งบริษัทวิจัยและพัฒนาร่วมกัน

ทำให้ในช่วงปี 1999-2000 “หัวเว่ย” สร้างศูนย์วิจัยและพัฒนา ทั้ง สหรัฐฯ อินเดีย รัสเซีย สวีเดน

แต่ ณ วันนี้บริษัทที่เคยร่วมทุนกับ “หัวเว่ย” ไม่อยู่ในฐานะคู่แข่ง คู่ต่อกรอีกต่อไป แม้กระทั่ง “โมโตโรลา” ที่ผลิตโทรศัพท์มือถือเครื่องแรกของโลก ก็ยังโบกมือลาสังเวียน แต่สมาร์ทโฟนของ “หัวเว่ย” ซูมไกลถึงดวงจันทร์

การทุ่มทุนสร้างเรื่องวิจัยและพัฒนา R&D ของ “หัวเว่ย” ทำให้ “เหริน เจิ้งเฟย” อาจไม่ต้องง้อ “อาจารย์กู…หรือพี่กู” อีกต่อไป

“เหริน เจิ้งเฟย” จึงกล่าวถึง Trade war –  Tech war ระหว่างจีนและสหรัฐว่า การกระทำของนักการเมืองสหรัฐในเวลานี้ ถือเป็นการประเมินความแข็งแกร่งของหัวเว่ย “ต่ำเกินไป”

“ไม่มีทางสกัดกั้นความทะเยอทะยานที่จะก้าวขึ้นสู่ความเป็นบริษัทธุรกิจระดับโลกของหัวเว่ยได้ สิ่งที่เกิดขึ้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อแผนการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5จี ของบริษัท ซึ่งก้าวหน้าไปไกลกว่าใครๆ โดยที่ไม่มีใครมีวันตามหัวเว่ยได้ทันภายใน 2-3 ปีนี้”

……………………….

ไทม์ไลน์ของ “หัวเว่ย”

ปี 1997 เหริน เจิ้งเฟย ทหารปลดประจำการจากกองทัพ ก่อตั้งหัวเว่ยด้วยทุนจดทะเบียน 21,000 หยวน

ปี 1993 ลงทุน 89 ล้านหยวน วิจัยพัฒนาตู้สาขาโทรศัพท์ดิทัลสำเร็จ

ปี 1996 หัวเว่ยเชื้อเชิญอาจารย์มหาวิทยาลัยปักกิ่ง 6 คน ช่วยร่างกฎพื้นฐานของหัวเหว่ย

ปี 1998 หัวเว่ยลงทุน 2,000 ล้านหยวนเริ่มทำการปฏิรูปการบริหาร มีกำหนด 5 ปี

ปี 1999-2000 หัวเว่ยตั้งศูนย์การวิจัยและพัฒนาที่อินเดีย สหรัฐอเมริกา สวีเดน และรัสเซีย

ปี 2004 ผลิตภัณฑ์ 3G ของหัวเว่ยประสบความสำเร็จในการเข้าสู่ตลาดยุโรป

ปี 2005 นิตยสารไทม์ของสหรัฐ คัดเลือก 100 อันดับผู้ทรงอิทธิพลของโลก เหรินเจิ้งเฟยติดอันดับพร้อมกับบิลเกตส์ และสตีฟ จอบส์

ปี 2007 แซงหน้านอร์ทเทลด้วยยอดประกอบการ 12,600 ล้านดอลลาร์ กลายเป็นหนึ่งใน 4 อันดับแรกผู้ผลิตอุปกรณ์การสื่อสารของโลก

ปี 2008 ติดอันดับ 10 บริษัทที่ทรงอิทธิพลของโลก โดยนิตยสาร Businessweek

ปี 2009 หัวเว่ย มีรายรับ 21,800 ดอลลาร์ ติดอันดับสุดยอดห้าร้อยบริษัทโลกในอันดับที่ 397

ปี 2012 หัวเว่ยทุ่มทุน 4,800 ล้านดอลลาร์ในการวิจัยพัฒนาคลาวด์คอมพิวดิ้ง และจำนวนพนักงานเพิ่มขึ้นเป็น 1.5 แสนคน

ปี 2013 นิตยสารฟอร์จูน ประกาศรายชื่อสุดยอด 500 บริษัทโลก โดยหัวเว่ยติดอันดับที่ 315 ด้วยผลประกอบการ 31,800 ล้านดอลลาร์ แซงหน้าอิริคสัน สมาร์ทโฟนเติบโตในตลาดไฮเอนด์ทั้งยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น

ปี 2017 สมาร์ทโฟนของหัวเว่ยชิงส่วนแบ่งการตลาดโลก แซงแอปเปิลขึ้นเป็นอันดับ 2 เป็นรองซัมซุง

ปี 2019 ไตรมาสแรกของ หัวเว่ย ยังคงชิงส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 2 ขาย 51.9 ล้านเครื่อง

เรียบเรียงจากหนังสือ  HUAWEI จากมดสู่มังกร