ต่อยอดไอเดียธุรกิจ “เศษพลอยดำเหลือไร้มูลค่า”พัฒนาเป็นเครื่องประดับหรู-ราคาไม่เเพง

เรื่องโดย กรกนก มาอินทร์ / ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

 

ปัจจุบันการเพิ่มมูลค่าของสินค้า-ผลิตภัณฑ์ เป็นเรื่องที่หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนมุ่งพัฒนาและส่งเสริมกันอย่างจริงจัง เพราะในยุคนี้ “การต่อยอด” ที่ดี คือ ปัจจัยสำคัญของ ไอเดียธุรกิจที่อาจจะพลิกให้ประสบความสำเร็จกันเลยก็ว่าได้

เช่นเดียวกับ “พลอยดำ” ด้วยต้นทุนที่สูงทั้งจากการนำเข้า หรือซื้อขายกันในประเทศ หากผ่านการเเปรรูปออกมาเเล้ว เศษของพลอยดำที่เหลือ กลับไร้ค่ายิ่งว่าก้อนกรวดเสียอีก และนั่นจึงนำมาสู่การวิจัยเพื่อที่จะต่อยอดพลอยดำที่เหลือทิ้ง มาเป็นเครื่องประดับสวยงามขึ้นมาอีกครั้ง

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ได้มีโอกาสพูดคุยกับกลุ่มนักวิจัยในงาน 25 ปี สกว.: สร้างคน สร้างความรู้ สร้างอนาคต จัดขึ้นเพื่อสื่อสาร กระบวนการคิด วิธีทำงานเเละผลวิจัย ความร่วมมือกับภาคีวิจัยเเละภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนงานวิจัย โดยการเพิ่มมูลค่าของพลอยดำที่เหลือจากการผลิตเครื่องประดับ ซึ่งพลอยดำนั้นสถานะเเทบจะไม่มีราคา ไม่ต่างจากก้อนหิน ทำให้ “รศ.ดร.จักรพันธ์ สุทธิรัตน์” ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม เริ่มนำเอาพลอยดำตกเกรดส่งออกไม่ได้ บางชิ้นมีขนาดไซซ์ผิดไปจากที่โรงงานต้องการ เเละเมื่อพลอยดำเหล่านี้ผ่านกระบวนการเเปรรูปแล้ว จะมีในส่วนที่เจียระไนผิดรูป หน้าเบี้ยว ซึ่งไม่มีมูลค่า เเต่ต้นทุนยังมีอยู่ (กรณีนำเข้าพลอยดำจากต่างประเทศ) นับเป็นก้าวเเรกให้ริเริ่มการต่อยอดมูลค่า คิดค้นว่าจะนำพลอยดำพวกนี้มาทำเป็นผลิตภัณฑ์ เพื่อเพิ่มมูลค่านั่นเอง

รศ.ดร.จักรพันธ์ อธิบายว่า งานวิจัยในการใช้เศษพลอยดำเหลือจากการเเปรรูปมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์เป็นโครงการเเรกของทีมวิจัย จากทั้งหมด 3 โครงการ โดยพลอยดำในงานวิจัยนี้มาจากจันทบุรี เนื่องจากพลอยดำมีขนาดที่ไม่เท่ากัน (หลังจากผ่านการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์) จึงพยายามคิดค้นว่าจะดีไซน์ผลงานอย่างไรให้เหมาะกับพลอยดำ เเละในจันทบุรีเองมีสินค้าจำพวกเครื่องประดับเป็นทุนเดิม จึงต่อยอดด้วยการดัดเเปลงเศษพลอยดำเหลือพวกนี้ใส่เข้าไปในเครื่องประดับ ด้วยการนำเข้าไปใส่ในตัวเรือนเงิน อาทิ เเหวน กำไล สร้อย

“จุดเริ่มต้นของโครงการนี้เริ่มจากปัญหาอุตสาหกรรมที่เเตกต่างกัน มีวัสดุเหลือทิ้งจากการเจียระไนพลอยดำที่เหลือเก็บไว้เฉยๆไม่มีค่า เป็นของทิ้ง จึงเริ่มพัฒนาสินค้าขึ้นมา ต้องการทำให้ผลิตภัณฑ์ของชุมชนเข้มเเข็ง โดยเราเข้าไปพัฒนาเเละต่อยอดให้เขา ไม่เช่นนั้นผลิตภัณฑ์จะอยู่ที่เดิม ส่วนการนำมาผลิตเป็นจิวเวลรี่นั้น ถือเป็นการใช้วัตถุดิบในอุตสาหกรรมมากขึ้น เนื่องจากเป็นพลอยที่ไร้มูลค่า จึงเป็นการลดต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบของเราด้วย” รศ.ดร.จักรพันธ์ กล่าว

ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม กล่าวถึงที่มาของพลอยดำว่า พลอยดำพวกนี้มาจากอุตสาหกรรมนำเข้าจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น เเอฟริกา ศรีลังกา ส่วนพลอยดำภายในประเทศยังเป็นอุตสาหกรรมค่อนข้างใหญ่ ซึ่งพลอยดำในประเทศที่เม็ดใหญ่ต่างประเทศก็สั่งนำเข้า

“คือมันมีทั้งที่เรานำเข้ามาจากต่างประเทศ เเละมีบางส่วนที่อยู่ในประเทศเราเอง ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้เมื่อผ่านการเจียระไน ก็จะมีชิ้นส่วนพลอยดำเหลือทิ้ง”

สำหรับขั้นตอนการเเปรรูปพลอยดำเหลือใช้เหล่านี้มาเป็นเครื่องประดับสวยหรูที่ทุกคนเห็น รศ.ดร.จักรพันธ์ เผยว่า เมื่อได้พลอยดำมาเเล้ว ขั้นเเรกต้อง “ดูขนาดของพลอยดำ” หาตำหนิ หากมีรอยร้าวจะไม่นำไปทำการเจียระไนเนื่องจากหลังการเจียระไนพลอยดำจะเเตก หากพลอยดำมีขนาดใหญ่ต้องนำมาตัด โดยการตัดจะมี 3 รูปแบบคือ ตัดเพื่อย่อขนาด (ให้พลอยมีขนาดเล็กลง) ตัดเพื่อกำจัดมลทิน (รอยตำหนิ) เเละการตัดเพื่อกำจัดรอยเเตกของพลอยดำ

เมื่อได้ขนาดพลอยที่ต้องการเเล้วจะนำมา “เข้าเครื่องโกรนพลอยดำ” ให้ได้พลอยดำรูปทรงคร่าวๆ ที่ต้องการนำไปเจียระไน อาทิ รูปวงกลม รูปหัวใจ เเล้วจึงนำไปสู่ขั้นตอน “เเต่งพลอย” คือการกำหนดรูปทรงของพลอยดำให้ชัดเจนขึ้น หลังจากนั้นนำพลอยดำไปเจียระไน หน้าของพลอยดำจะทำเเบบเหลี่ยมเกสร ก้นของพลอยจะเจียระไนสองเเบบคือเเบบก้นเพชร เน้นไปทางสวยงาม เเละก้นชั้น ที่จะรักษาน้ำหนักของพลอยดำไว้ได้ดี เเต่การเจียระไนพลอยดำขึ้นอยู่กับผู้ทำว่าต้องการเเบบไหน เนื่องจากพลอยดำสีทึบ เมื่อได้พลอยดำตามรูปทรงเเละขนาดที่ต้องการ ถึงขั้นตอนสุดท้ายคือการนำพลอยดำไปประกอบใส่ตัวเรือน ก็จะได้เป็นเครื่องประดับสวยหรูเเต่ราคาไม่เเพง

โดยตลาดของผลิตภัณฑ์จากพลอยดำเหลือใช้ “รศ.ดร.จักรพันธ์” เล่าว่า ตลาดตอนนี้ยังเน้นเเละพัฒนาภายในประเทศ การขายเชื่อมโยงไปกับการท่องเที่ยว (นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวเเล้วซื้อกลับไป) ซึ่งในอนาคตหากมีการออกเเบบผลิตภัณฑ์ดีขึ้น สามารถส่งออกขายต่างประเทศได้ ด้วยต้นทุนไม่เเพง เพราะพลอยดำไม่มีมูลค่าในตลาด ตกเกรดขายไม่ได้อยู่เเล้ว มีเพียงค่าฝีมือของชาวบ้าน เเละส่วนของค่าเงินที่จะนำมาทำเป็นตัวเรือน หากชูในเรื่องการเอาเงินมาใส่พลอยดำจนเป็นเครื่องประดับได้ ในส่วนนี้คงสร้างมูลค่าตลาดส่งออกได้

“ในอนาคตคาดหวังว่าอุตสาหกรรมเครื่องประดับจะเข้ามานำงานวิจัยนี้ไปต่อยอด เพื่อลดต้นทุนการนำเข้า ขณะนี้ยังเป็นจิวเวลรี่สำหรับใช้งาน ราคาไม่เเพง เครื่องประดับขายออกยากเวลาเศรษฐกิจไม่ดี เมื่อต้นทุนน้อยลง ราคาขายสินค้าไม่สูงมาก ตลาดก็ยังคงเดินหน้า ขายได้ เเต่หากไม่ลดต้นทุน สินค้ายังมีราคาเเพง คนจะคิดหนักเรื่องการซื้อสินค้าพวกนี้”

นับเป็นอีกหนึ่งงานวิจัยไทยที่เพิ่มมูลค่าได้ในเชิงธุรกิจ การทำ “เครื่องประดับจากพลอยดำ” เป็นอีกช่องทางที่ในอนาคตหากภาวะเศรษฐกิจยังคงผันผวนเช่นนี้ ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวยังคงเติบโตในตลาดได้ ด้วยต้นทุนที่น้อย มูลค่าขายไม่เเพง นอกจากเป็นการเพิ่มรายได้สู่ชุมชนเเล้ว ยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย

สำหรับผู้ที่สนใจงานวิจัย อยากจะนำ “เครื่องประดับจากพลอยดำ” ไปต่อยอด สามารถติอต่อได้ที่ สํานักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้เลย