เปิดตารางดูค่าบริการเฉลี่ย ขนส่งมวลชน 71 ประเทศทั่วโลก ใครแพง-ถูกสุด

ประชาชาติฯออนไลน์รายงาน/เรียบเรียง

จากกรณีโลกออนไลน์เเชร์ภาพรถไฟฟ้า บีทีเอส ปรับขึ้นราคาค่าโดยสารใหม่ เมื่อต้นเดือนตุลาคม ที่ผ่านมา ทำเอาชาวเน็ตเเละผู้ที่ใช้บริการต่างออกปากว่า “ราคาใหม่ เเพงขึ้นพอสมควร” โดยภาพที่ปรากฎตามโลกโซเชียลคือการเดินทางจากสถานีบางหว้า ไปสุดสายหมอชิต เเละเเบริ่งนั่นเอง

เส้นทาง BTS

โดยเว็บไซต์ worldatlas ได้จัดอันดับต้นทุนค่าบริการระบบการขนส่งในเเต่ละประเทศ ไม่ว่าจะเป็น รถโดยสารสาธารณะ รถไฟใต้ดิน รถไฟฟ้าระบบราง ข้อมูลดังกล่าวอัพเดตล่าสุดเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2017 อย่างไรก็ตามการจัดอันดับดังกล่าวขึ้นอยู่กับค่าครองชีพ เเละอัตราเงินเฟ้อของเเต่ละประเทศ (โดยเเปลงจากสกุลเงินทุกชาติให้เป็นเงินดอลลาร์สหรัฐฯ)

ซึ่ง worldatlas เผยว่า โดยทั่วไปอัตราค่าใช้จ่ายขนส่งสาธารณะ ขึ้นอยู่กับค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อของเเต่ละประเทศ จึงไม่ใช่เรื่องเเปลก ที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก เเละ กรุงสต็อกโฮล์ม เมืองหลวงของสวีเดน จะมีอัตราค่าใช้จ่ายด้านขนส่งสาธารณะสูงเป็นเบอร์ต้นๆ ของโลก ที่อัตราค่าใช้จ่ายด้านขนส่งสาธารณะสูง เนื่องจากค่าครองชีพภายในประเทศสูงเป็นอย่างมาก

ข้ามฝั่งมาที่ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เป็นอีกหนึ่งเมืองที่มีค่าครองชีพติดโผอันดับต้นๆ จากการจัดอันดับในหลายเว็บไซต์ เเต่ต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านขนส่งสาธารณะระบุว่ามีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเพียง 1.50 ดอลลาร์ สวนทางกับค่าครองชีพ เนื่องจากรัฐบาลญี่ปุ่นมีนโยบายส่งเสริมระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นต่อผู้คนจำนวนมากในเมือง ทำให้อัตราค่าบริการขนส่งสาธารณะของญี่ปุ่นถูกลง

นอกจากนี้ผู้คนจำนวนไม่น้อยจากเมืองทั่วโลกมีปัญหาต่อระบบขนส่งรถโดยสารสาธารณะ หรือรถไฟฟ้าระบบราง เนื่องจากต้นทุนการสนับสนุนจากรัฐยังเท่าเดิมเเต่จำนวนผู้ใช้บริการเพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ปัญหาดังกล่าวไม่ได้ส่งผลกระทบต่อโตเกียว เมืองที่มีประชากรหนาเเน่น เพราะมีผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าระบบรางตลอดเวลา ทำให้ต้นทุนของผู้ใช้บริการลดลง สอดคล้องกับผลการจัดอันดับ เมืองที่มีค่าโดยสารขนส่งสาธารณะต่ำสุด เมืองนั้นจะมีจำนวนประชากรหนาเเน่น

อีกเมืองที่น่าสนใจในด้านค่าใช้จ่ายขนส่งสาธารณะคือ กรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย ซึ่งมีประชากรหนาเเน่นเช่นเดียวกับโตเกียว เเต่มีข้อได้เปรียบตรงที่โครงสร้างพื้นฐานของเมืองยอดเยี่ยม ในช่วงยุคคอมมิวนิสต์รัฐบาลทุ่มเงินมหาศาลเพื่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินที่ดีที่สุดเเห่งหนึ่งในโลก เเม้จะเก่าเเก่เเต่ระบบของรถไฟยังคงดี อีกทั้งอัตราค่าโดยสารที่ไม่เเพง เป็นการกระตุ้นให้ผู้คนใช้งานมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าเมืองข้างต้นที่กล่าวมา อัตราค่าใช้จ่ายระบบขนส่งสาธารณะลดลง เชื่อมโยงกับความหนาเเน่นของจำนวนประชากร เเละโครงสร้างพื้นฐาน โดยเหตุผลนี้ใช้ไม่ได้กับกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ที่มีจำนวนประชากรหนาเเน่น เเต่ส่วนใหญ่เลือกใช้รถยนต์ส่วนตัวเสียมากกว่า

ลอนดอนเหมือนกับเมืองหลวงในยุโรปอื่นๆ ที่รัฐบาลสนับสนุนระบบขนส่ง เเต่คนส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในลอนดอนเลือกใช้รถส่วนตัวในการขับขี่ไปยังสถานที่ต่างๆ ไม่ค่อยเลือกใช้รถขนส่งสาธารณะ ทำให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านขนส่งสาธารณะในลอนดอนยังคงสูง

ทั้งนี้ มีปัจจัยหลายอย่างที่นำไปสู่การกำหนดต้นทุนของระบบขนส่งสาธารณะ ยากที่จะเห็นภาพรวม อย่างไรก็ตามเห็นได้ชัดว่าเมืองขนาดใหญ่ที่มีประชากรหนาเเน่นได้เปรียบในด้านของระบบดำเนินการ หากประชากรเลือกใช้ขนส่งสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็น รถไฟใต้ดิน รถไฟฟ้า รถโดยสารสาธารณะมากขึ้น อัตราค่าบริการก็ลดลง

มาดูการจัดอันดับต้นทุนค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของขนส่งสาธารณะเเต่ละประเทศ โดยทาง worldatlas ได้รวมค่าเงินเป็นดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งกรุงเทพฯ เมืองหลวงของประเทศไทยติดอันดับ 53 จากทั้งหมด 71 ประเทศ โดยประเทศที่มีต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านขนส่งสาธารณะสูงที่สุดคือ กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก เเละประเทศที่มีต้นทุนน้อยที่สุดคือ กรุงไคโร เมืองหลวงของประเทศอียิปต์

 

ทั้งนี้ worldatlas อ้างว่าประเทศไทยมีต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านการขนส่งสาธารณะเฉลี่ยที่ 0.70 ดอลลาร์ หรือประมาณ 23 บาท ข้างต้นเป็นเพียงการเฉลี่ยค่าใช้จ่ายขนส่งสาธารณะในเเต่ละประเทศ อย่างไรก็ตามในจังหวะที่กระเเสโลกออนไลน์มีการวิพากษ์วิจารณ์ การปรับราคาขึ้นของรถไฟฟ้า BTS ที่พุ่งพรวดจากสถานีปลายทาง 52 บาท เป็น 59 บาท สำหรับผู้ที่ขึ้นจากสถานีบางหว้า เเละเเบริ่ง-สำโรง จนผู้ใช้บริการต้องออกมาโอดครวญไม่น้อย

เมื่อหันหลับมามองขนส่งสาธารณะของประเทศไทยที่ดูเหมือนโบกเเท็กซี่เเล้วไม่ไป รถเมล์รอชาตินี้มาชาติหน้า ยังไม่นับนโยบายสวมหน้ากากหลากสีให้รถเมล์ เวลาผ่านไปไม่นานก็ทำท่าล่าถอยไป เเต่ยังไม่ลืมเป้าหมายที่จะพัฒนาต่อ ส่วนวินมอไซค์ขับเหมือนชีวิตมีค่า 15 บาท เรียกตุ๊กๆ ก็ไม่อยากคุยกับคนไทย พอเปลี่ยนไปขึ้นรถไฟฟ้าก็ขัดข้องบ่อย เเล้วทำไมต้องแลกเหรียญ แล้วทำไมต้องเอาเหรียญมาแลกบัตร ซึ่งเสียเวลาโดยใช่เหตุ เพราะแต่ละวันช่วงชั่วโมงเร่งด่วน คิวยาวไปถึงบันไดเลื่อน…

อดเปรยไม่ได้ว่า ที่เป็นอยู่นั่นค่าครองชีพเป็นเหตุจริงหรือ?

 

 

ภาพจาก: โซเชียล