อนาคต “หนังสือพิมพ์” จะยังอยู่ แต่จะอยู่แบบ “ม้าเลี้ยง”?

โดย Too Hip To Retire

  • เวทีเสวนา รวม “บิ๊กสื่อ” หัวใหญ่ๆมาร่วมให้มุมมอง “หนังสือพิมพ์”
  • หนังสือพิมพ์ ที่ตัวเล่ม หรือตัวฉบับ จะกลายเป็นแพลท์ฟอร์มที่ไม่ได้มีครอบครองได้ทั่วทุกคน
  • การนำเสนอข่าวสารทั่วไปผ่านกระดาษ กำลังจะเป็นสิ่งแปลกตา
  • ความเป็นดิจิทัลจะทำให้ช่องว่างต่อคนอ่านในโลกน้อยลงเรื่อยๆ
  • โซเชียลมีเดียกำลังเป็น “ตัวคั่น” สำคัญในโมเดลการหารายได้ของสื่อ โฆษณาดิจิทัลกว่า 80% ไหลไปที่เฟซบุ๊ค และกูเกิ้ล
  • สื่อหลักที่ก้าวเข้าสู่ความเป็นดิจิทัลจะปรับตัวอยู่อย่างไรกับ โซเชียลมีเดีย มิตร หรือ อริ?
  • รูปแบบกองบรรณาธิการข่าวต่อไปจะมีขนาดเล็กลง แต่ใช้บุคลากรที่เน้นทำงานเชิงความคิดสร้างสรรค์
  • อนาคตจะแบ่งประเภทข่าวเป็น ข่าวเร็ว กับข่าวช้าแต่ลึก ซึ่งผันมาจากสื่อมวลชนที่ปรับตัวจากหนังสือพิมพ์สู่ดิจิทัล

หนังสือพิมพ์จะยังอยู่ในศตวรรษที่ 21 ได้หรือไม่?

เป็นคำถามที่ถูกตั้งขึ้นมาให้บรรดาสื่อสายเฮฟวี่ เวท ถกเถียงกันในการประชุม ที่เมืองตูริน อิตาลี เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

หนึ่งในนั้น มีหัวข้อที่พูดถึงโฆษณาที่ยอดตกลง จำนวนคนอ่านข่าวหนังสือพิมพ์ หรือสมัครสมาชิกที่ลดลง และทางเลือกใหม่ที่ผู้บริโภคหันไปอ่านข่าวฟรีบนเฟซบุ๊ค และโซเชียลมีเดียอื่นๆ

มีรายงานเก็บตกจากบรรดาคีย์แมนชั้นนำในองค์กรข่าวที่มาร่วมในเวทีนี้ จัดโดยหนังสือพิมพ์ La Stamp หนังสือพิมพ์เก่าแก่อายุ 150 ปี ของอิตาลี ซึ่งเชิญผู้บริหารและบรรณาธิการของสื่อชั้นนำตั้งแต่ นิวยอร์ก ไทม์ , วอชิงตัน โพสต์ , นิวส์ คอร์ป , ไฟแนนเชียล ไทมส์ , ดิ อิโคโนมิสต์ , บลูมเบิร์ก , ฮินดูสถาน ไทมส์ , เลอ มอนเด้ , เซาท์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ , นิคเคอิ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีผู้เล่นหน้าใหม่จากสื่อดิจิทัลที่นาทีนี้เป็นที่รู้จักกันในวงกว้างไปแล้ว อย่าง โพลิติโค , ฮัฟฟิงตัน โพสต์ , ดิ อินฟอร์เมชั่น มาร่วมสนทนา

ประเด็นแรกคือการพูดกันถึง “อนาคตของหนังสือพิมพ์” ที่ผ่านระยะการเติบโต ลงทุน การขยายตัวเข้าถึงผู้อ่าน กระทั่งยุคอินเทอร์เน็ตได้เข้ามาเปลี่ยนทุกอย่าง เมื่อทุกคนสามารถป้อนเนื้อหาเชิงข่าวได้ และสำหรับบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณาในสื่อดั้งเดิม มองว่าสื่อสิ่งพิมพ์กำลังจะกลายเป็น “ตำนาน” แบบมีคุณค่า

“มาร์ก ทอมป์สัน” ซีอีโอของนิวยอร์ก ไทมส์ แสดงทัศนะ ว่า การตั้งเป้าของนิวยอร์ก ไทมส์ ได้เปลี่ยนไปอย่างมีนัยยะสำคัญในการทำโมเดลธุรกิจไปที่การสมัครสมาชิกอ่านแบบดิจิทัล ซึ่งเป็นการทดแทนรายได้จากสิ่งพิมพ์ที่ลดลง และมีความเป็นไปได้ว่ารูปแบบสิ่งพิมพ์จะค่อยๆหายไป โดยแทนที่มาในการอ่านแบบดิจิทัล

ซีอีโอหนังสือพิมพ์ดังอาจยังไม่ให้ภาพชัดเท่ากับ “เจฟฟ์ เบโซส์” ซีอีโอแอมะซอน ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซของสหรัฐฯ ที่เข้ามามีบทบาทบริหารในฐานะบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณาของ หนังสือพิมพ์วอชิงตัน โพสต์ ตั้งแต่ปี 2013 บอกว่า สื่อในรูปแบบสิ่งพิมพ์ยังคงมีอยู่แต่จะมาใน “คาแรกเตอร์ใหม่”

“สื่อสิ่งพิมพ์กำลังจะเป็นสิ่งที่ Exotic หรือ “แปลกตา” เขาเปรียบเทียบชนิดเห็นภาพว่า “เปรียบเหมือนม้า เหมือนคุณเป็นเจ้าของม้าตัวหนึ่ง คุณไม่ได้มีม้าไว้ขี่เป็นยานพาหนะเดินทางไปไหน แต่คุณเป็นเจ้าของม้าตัวนี้ เพราะม้าเป็นสัตว์ที่สวยงามและคุณรักที่จะได้ขี่มันเล่นบ้าง”

หมายความง่ายๆว่า บทบาทบนกระดาษเปลี่ยนไปเป็นแบบดิจิทัล คนไม่ได้ขี่ม้าไว้สัญจรในชีวิตประจำวัน แต่เปลี่ยนเป็นเจ้าของม้า สัตว์สวยงามมีราคา ใครมีม้าเลี้ยงจึงถือว่าทรงคุณค่าในมุมมองโลกตะวันตก

วิสัยทัศน์ของเบโซส์ บอกว่า เมื่อมองไปในอีก 8 ปี ข้างหน้าคุณไปบ้านเพื่อน และถ้าพวกเขามีหนังสือพิมพ์ที่เป็นเล่มกระดาษจริงๆ คุณอาจจะต้องบอกว่า “ว้าว!ผมลองเปิดดูได้ไหม”

ยกตัวอย่างเหมือนพูดล้อเล่น แต่ผู้ก่อตั้งค้าปลีกออนไลน์และมหาเศรษฐีโลก มีมุมมองถึงการเปลี่ยนผ่านจากกระดาษสู่ดิจิทัลของสื่ออย่าง “วอชิงตัน โพสต์” ว่าสามารถทำได้แม้จะมีอายุถึง 139 ปี ซึ่งเขามองแง่บวกในทางธุรกิจว่า ยุคอินเทอร์เน็ตกำลังมอบของขวัญให้กับหนังสือพิมพ์ทุกฉบับบนโลกใบนี้

นั่นคือ ความสามารถในการผลิตคอนเทนต์ป้อนผู้อ่านได้ทั้งโลก โดยมีต้นทุนการพิมพ์เป็นศูนย์

“เบโซส์” มองว่าสาเหตุหนึ่งในเหตุผลที่ วอชิงตัน โพสต์ ไม่เคยเป็นหนังสือพิมพ์ที่ขายได้ทั่วประเทศ เพราะค่าดำเนินการที่สูงในการจัดพิมพ์และต้นทุนการส่งจัดจำหน่ายทั่วประเทศ ซึ่งยุคอินเทอร์เน็ตทำให้วันนี้ต้นทุนนั้นไม่มีแล้ว

สอดคล้องกับ “บ็อบบี้ โกช” บรรณาธิการจากฮินดูสถานไทมส์ ที่ขยายความว่าสำหรับประเทศใหญ่อย่างอินเดีย หนังสือพิมพ์ของเขาทำได้เพียงการวางขายในเขตกลางเมือง

“เราเริ่มจะสังเกตได้ว่า ทราฟฟิกที่มาจากการอ่านผ่านออนไลน์มาจากเมืองที่หนังสือพิมพ์วางขายอยู่ และเป็นเมืองที่เรามีนักข่าวแค่ 2-3 คน เท่านั้น”

“โกช” ให้มุมมองว่า สถานการณ์นี้ทำให้เขามองอนาคตของหนังสือพิมพ์ที่ผันไปเป็นดิจิทัลในอนาคตว่า จะเป็นโมเดลธุรกิจแบบ hyper local หรือการเจาะจงทำเนื้อหาเฉพาะขายไปยังพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งในท้องถิ่นนั้นๆ

มองแต่ด้านบวกอาจไม่เป็นธรรม เพราะทราบกันดีว่าทุกวันนี้ผู้คนนิยมอ่าน “ข่าวสาร” บนโซเชียลมีเดียมากกว่าเข้าอ่านตรงจากเว็บไซต์ข่าวนั้นๆด้วยซ้ำ และนั่นส่งผลต่อ “รายได้แบบดิจิทัล” ของหนังสือพิมพ์เอง

แม้การอ่านออนไลน์ขยายตัว โฆษณาดิจิทัลเติบโต แต่โซเชียลมีเดียได้เข้ามาเป็นตัวคั่นอย่างรุนแรงในเกมนี้

เป็นมุมมองที่สื่อหลายค่ายเองตระหนักดี นั่นคือ “รายได้แบบดิจิทัล” ของหนังสือพิมพ์ถูก “คั่นกลาง” ด้วยการขยายตัวของผู้อ่านออนไลน์ที่นิยมอ่านข่าวบนแพลทฟอร์มโซเชียลมีเดียมากกว่าเข้าเว็บไซต์สำนักข่าวตรง ทำให้โฆษณาดิจิทัลกว่า 80% ไหลไปที่เฟซบุ๊ค และกูเกิ้ล ซึ่งเป็นแพลทฟอร์มที่คนทั่วไปอ่านข่าวฟรีอยู่ทุกวันนี้

“โรเบิร์ต ทอมป์สัน” ซีอีโอนิวส์คอร์ป เปรียบสถานการณ์นี้ในมุมมองคนผลิตสื่อว่า “เหมือนคุณเป็นเจ้าของโรงรับจำนำ มองไปนอกร้าน เห็นผู้หญิงกำลังโดนวิ่งราวเครื่องประดับมีค่า จากนั้นขโมยวิ่งเข้ามาที่โรงรับจำนำของคุณ ถึงคุณจะรู้ว่าเครื่องประดับนี้มาจากไหน แต่คุณก็ยังรับมาจำนำ ทำเงินจากมันนั่นเอง”

สำทับด้วย “เจสสิก้า เลสซิน” ผู้ก่อตั้งและบรรณาธิการบริหาร ดิ อินฟอร์เมชั่น สื่อดิจิทัลที่เน้นรายงานข่าวสารด้านเทคโนโลยีของซิลิคอน วัลเลย์ มองอุตสาหกรรมสื่อภาพรวมขณะนี้ว่า “กำลังถูกรบกวนและกำลังหมกหมุ่น” กับความพยายามทำธุรกิจกับแพลทฟอร์มโซเชียลมีเดีย

เลสซิน อดีตนักข่าวของวอลสตรีทเจอนัล เล่าว่า เธอทำข่าวเฟซบุ๊คและกูเกิลมานานกว่า 10 ปี พอจะรู้ว่าบริษัทเหล่านี้คิดอย่างไร ที่สุดแล้วพวกเขาไม่ได้เป็นแนวร่วมหรือไปในทางเดียวกับที่หนังสือพิมพ์พยายามจะทำ

..แต่พวกเขาพยายามเชื่อมต่อโลกทั้งใบ ทำให้โลกเปิดกว้างมากขึ้น

ขณะที่ บรรณาธิการบริหารจากสื่อดิจิทัลเยอรมัน Bild มองการอ่านข่าวผ่านแพลทฟอร์มโซเชียลมีเดียว่า จนถึงวันนี้เรายังไม่เห็นวิถีทางอื่น คนอ่านเป็นกลุ่มวัยรุ่น คนรุ่นใหม่ ดังนั้นสื่อเองต้องทำให้ชัดเจนว่าจะมีวิธีดีลกับการผูกขาดของเฟซบุ๊คอย่างไร มากกว่าจะเปิดสงครามกัน

ขณะที่คนทำสื่อฝั่งเอเชีย “ซึเนโอะ คิตะ” ประธานและซีอีโอของนิคเคอิ บอกว่า ไม่จำเป็นต้องนิยามว่าโซเชียลมีเดียเป็นมิตรหรือเป็นอริ แต่เราควรจะใช้มันเท่าที่เราจะทำได้ในตอนนี้

“แล้วเฟซบุ๊คจะยังคงมีอิทธิพลแบบนี้ต่อไปในอีก 10 ปี ข้างหน้าหรือไม่ ผมแค่ตั้งข้อสังเกต”

ปิดท้ายที่ “ไลโอเนล บาร์เบอร์” บรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียล ไทมส์ มองว่า ต่อไปจะมีการแบ่งหมวดหมู่เรียกประเภทข่าวว่า “ข่าวด่วน” กับ “ข่าวช้า”

สื่อหนังสือพิมพ์ที่นำเสนออยู่บนออนไลน์นั้น ยังทำหน้าที่เกาะติดเรื่องราวที่ลึกขึ้นไปจากกระแสนั้น เรียกว่าเป็น “ข่าวช้า” ที่ไม่ได้มีความหมายเชิงลบ แต่เป็นความหมาย “เชิงลึก” นั่นเอง

หนังสือพิมพ์ในอนาคตกองบรรณาธิการจะมีขนาดเล็กลง แต่ควรจะเต็มไปด้วยผู้คนที่มีความคิดสร้างสรรค์ ฉลาด มีความรู้เฉพาะทาง เพราะต่อไปเขาเชื่อว่าการเขียนข่าวข้อมูลพื้นฐานง่ายๆ รูปแบบนี้เราสามารถใช้หุ่นยนต์เอไอทำได้ อาทิ เขียนรายงานภาวะตลาดหุ้น แต่ในเนื้อหาเชิงลึกที่เป็น “จุดขาย” แน่นอนว่ายังต้องเป็นทักษะของสื่อสารมวลชน

เป็นการเก็บตกเวทีสัมมนาอนาคตหนังสือพิมพ์ที่คนในวงการมาร่วมให้ความเห็นกันหลากหลายแง่มุม ไม่ว่าหนังสือพิมพ์จะคงอยู่ในสภาพจับต้องได้ หรือการอ่านบนอากาศ แต่ที่แน่นอน “เนื้อหา” และ “องค์ความรู้แบบสื่อสารมวลชน” ยังคงตามติดไปทุกที่ทุกแพลทฟอร์ม

สื่อทั้งโลกพร้อมทุ่มไปยังทิศทางดิจิทัล


เพียงแต่วันนี้ในโมเดลการขาย การทำรายได้ในเชิงธุรกิจระยะยาว ยังคงไม่มีคำตอบที่ชัดเจน