ชาวอียิปต์โบราณใช้สาขาแม่น้ำไนล์ที่เหือดแห้งไปแล้วสร้างพีระมิด

พีระมิด

หลักฐานใหม่ทางโบราณคดียืนยันว่า เมื่อราว 4,500 ปีก่อน ชาวอียิปต์โบราณสามารถก่อสร้างมหาพีระมิดแห่งกีซา (The Great Pyramids of Giza) ที่ตั้งอยู่กลางทะเลทรายได้ โดยอาศัยการขนส่งหินก้อนใหญ่ที่หนักอึ้งมาทางลำน้ำสาขาของแม่น้ำไนล์ ซึ่งปัจจุบันทางน้ำนี้ได้เหือดแห้งหายไปจนหมดสิ้นแล้ว

หลักฐานนี้มาจากผลวิจัยของทีมนักภูมิศาสตร์ซึ่งนำโดย ดร. เฮเดอร์ เชชา จากมหาวิทยาลัย  Aix-Marseille University ของฝรั่งเศส และได้ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร PNAS เมื่อวันที่ 24 ส.ค. ที่ผ่านมา

ทีมผู้วิจัยระบุว่าใช้หลักฐานทางนิเวศวิทยาบรรพกาล (paleoecology) หรือข้อมูลจากชั้นดินและหินรวมทั้งซากพืชและสัตว์เท่าที่มีอยู่ในสิ่งแวดล้อมโดยรอบของมหาพีระมิด ประกอบสร้างลักษณะภูมิประเทศในอดีตตลอดช่วง 8,000 ปีก่อนขึ้นมาใหม่

มหาพีระมิดแห่งกีซา

ที่มาของภาพ, Getty Images

ผลปรากฏว่าบริเวณที่ราบสูงกีซาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงไคโรนั้น เมื่อราว 4,500 ปีก่อนตั้งอยู่ติดกับลำน้ำสาขาหนึ่งของแม่น้ำไนล์ ทั้งระดับน้ำในยุคโบราณก็สูงกว่าในปัจจุบันมาก จึงไม่น่าแปลกใจว่าชาวอียิปต์โบราณจะใช้ประโยชน์จากลำน้ำสาขานี้ เพื่อลำเลียงวัสดุก่อสร้างมายังสถานที่ตั้งของมหาพีระมิดได้อย่างสะดวกสบาย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาที่น้ำขึ้นหรือในฤดูกาลที่แม่น้ำไนล์หลากท่วมตามธรรมชาติ ระดับน้ำจะสูงขึ้นและทำหน้าที่เหมือนเครื่องยกไฮดรอลิกไปโดยปริยาย

แม่น้ำไนล์ช่วงที่ไหลผ่านทางตอนใต้ของกรุงไคโร

ที่มาของภาพ, Getty Images

ผลวิจัยนี้สอดคล้องกับข้อสันนิษฐานเดิมที่มีมานานว่า แม่น้ำไนล์คือเส้นทางหลักในการขนส่งหินปูนและหินแกรนิตก้อนยักษ์สำหรับก่อสร้างมหาพีระมิด แต่ข้อสันนิษฐานเก่านี้คาดว่าวิศวกรยุคโบราณจำเป็นต้องขุดคลองขนาดเล็กหลายแห่ง เชื่อมต่อบริเวณที่ราบน้ำท่วมถึงด้านฝั่งตะวันตกกับท้องน้ำของแม่น้ำไนล์ด้วย เพื่อที่จะเข้าถึงสถานที่ก่อสร้างได้ใกล้ขึ้น แต่การค้นพบหลักฐานใหม่ว่าเคยมีลำน้ำสาขาตามธรรมชาติอยู่แล้ว ทำให้แนวคิดเรื่องการขุดคลองเสริมไม่จำเป็นอีกต่อไป

อย่างไรก็ตาม ลักษณะภูมิประเทศของที่ราบสูงกีซาที่ปรากฏในปัจจุบันแตกต่างออกไปอย่างมาก เนื่องจากลำน้ำสาขาดังกล่าวได้เหือดแห้งหายไปเมื่อราว 2,500 ปีก่อน หลังกษัตริย์อเล็กซานเดอร์มหาราชเข้ายึดครองอียิปต์ได้เพียงไม่กี่ศตวรรษ ส่วนแม่น้ำไนล์ก็เปลี่ยนทิศทางโดยไหลออกห่างจากมหาพีระมิดไปหลายกิโลเมตร

ฟาโรห์คูฟู (Khufu) เป็นผู้บัญชาให้สร้างมหาพีระมิดแห่งกีซาขึ้นเพื่อบรรจุพระศพของพระองค์เอง และในภายหลังมีการก่อสร้างพีระมิดสำหรับพระราชโอรสและพระราชนัดดาอยู่เคียงกันด้วย โดยมหาพีระมิดที่ใหญ่ที่สุดมีความสูงเกือบ 140 เมตร ใช้หินเรียงกันทั้งหมด 2.3 ล้านก้อน น้ำหนักรวมถึง 5.75 ล้านตัน ถือเป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคโบราณที่มีอายุเก่าแก่ที่สุด

…..

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว