นาซาขับยานอวกาศพุ่งชนดาวเคราะห์น้อย ทดสอบภารกิจยับยั้งอุกกาบาตทำลายโลก

ยานสำรวจจากภารกิจ DART ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ (นาซา) ได้พุ่งชนเข้ากับดาวเคราะห์น้อย และทำลายตัวเองหลังเสร็จสิ้นภารกิจ 

การบังคับยานอวกาศพุ่งชนดาวเคราะห์น้อย เป็นความตั้งใจของนาซา เพื่อจะทดสอบว่า สามารถใช้วิธีการลักษณะนี้ เพื่อเบียงเส้นทางของหินอุกกาบาตที่อาจคุกคามโลก ออกไปได้อย่างปลอดภัยหรือไม่

NASA

ที่มาของภาพ, NASA

กล้องที่ติดตั้งบนยาน DART ซึ่งส่งภาพกลับมาให้ยังโลกเป็นรายวินาที จนถึงช่วงเวลาที่ยานอวกาศพุ่งชนกับเป้าหมาย ซึ่งเป็นดาวเคราะห์น้อยวัตถุกว้าง 160 เมตร ที่เรียกว่า “ไดมอร์ฟอส”

สัญญาณภาพรายวินาทีที่ส่งเข้ามาได้ขาดหายไป ทันทีที่พุ่งชนเป้าหมายจนยานเอวกาศพังทลายจนสิ้นซาก

ศูนย์ควบคุมซึ่งตั้งอยู่ที่ห้องปฏิบัติการฟิสิกส์ประยุกต์ของมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ (Johns Hopkins University Applied Physics Laboratory: JHU-APL) เต็มไปด้วยเสียงแสดงความปลื้มปิติ เมื่อได้เห็นภาพของไดมอร์ฟอสแบบระยะประชิด ส่งมาจากกล้องของยานอวกาศ DART ปรากฎบนจอแสดงผลก่อนที่สัญญาณภาพนั้นจะหายไป

จากการคำนวณเบื้องต้นชี้ให้เห็นว่า จุดที่เกิดการพุ่งชนอยู่ห่างจากศูนย์กลางของไดมอร์ฟอสเพียง 17 เมตรเท่านั้น

จากนี้ไปจะต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์กว่าที่นักวิทยาศาสตร์ในภารกิจ จะทราบแน่ชัดว่าการทดลองของพวกเขาได้ผลหรือไม่ แต่ ดร.ลอรี เกลซ ผู้อำนวยการด้านวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์ของนาซา เชื่อว่า พวกเขาได้ทำเรื่องน่าทึ่งสำเร็จแล้ว

Dimorphos

ที่มาของภาพ, Getty Images

“เรากำลังเข้าสู่ยุคใหม่ของมนุษยชาติ ซึ่งเป็นยุคที่เราอาจมีความสามารถป้องกันตนเองจากภัยคุกคาม อย่างดาวเคราะห์น้อยที่อาจพุ่งชนโลกได้ มันช่างเป็นอะไรที่น่าอัศจรรย์ เราไม่เคยมีศักยภาพนั้นมาก่อน” เธอกล่าวกับผู้สื่อข่าว

ดร.เอเลนา อดัมส์ วิศวกรระบบภารกิจของ JHU-APL กล่าวว่า “ชาวโลกควรนอนหลับสนิทได้อย่างไร้กังวลสักที” เมื่อได้รู้ว่าพวกเขามีระบบป้องกันดาวเคราะห์น้อยชนโลก

ต่อจากนี้ นักวิจัยจะประเมินผลสำเร็จของภารกิจนี้ ด้วยการศึกษาการเปลี่ยนแปลงวงโคจรของไดมอร์ฟอส รอบดาวเคราะห์น้อยอีกดวงที่รู้จักกันในชื่อ “ดีดิมอส” (Didymos) ผ่านการตรวจวัดอย่างแม่นยำด้วยกล้องโทรทรรศน์หลายแห่งบนโลก

ก่อนเกิดการปะทะกันไดมอร์ฟอสใช้เวลาประมาณ 11 ชั่วโมง 55 นาที ในการโคจรรอบดาวเคราะห์น้อยดีดิมอสที่มีความกว้าง 780 เมตร โดยนักวิทยาศาสตร์คาดหวังว่า ระยะเวลาการโคจรของไดมอร์ฟอสจะลดลงหลายนาที หลังการพุ่งชน

ซึ่งหลักฐานภาพถ่ายที่ถูกส่งกลับมายังพื้นโลกที่อยู่ห่างออกไป 11 ล้าน กม. บ่งชี้ว่า ทุกอย่างดูจะเป็นไปตามแผนที่วางเอาไว้

ก่อนการพุ่งชนนั้น ยานอวกาศ DART ซึ่งเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสัมพัทธ์ 22,000 กม./ชม. ต้องจำแนกดาวเคราะห์น้อยดวงเล็ก ออกจากเป้าหมายที่เป็นดาวเคราะห์น้อยดวงใหญ่ จากนั้นซอฟต์แวร์นำวิถีบนจะปรับวิถี เพื่อให้แน่ใจยานอวกาศจะพุ่งปะทะกับดาวเคราะห์น้อยอย่างเที่ยงตรง

Dimorphos

ที่มาของภาพ, NASA/JHU-JPL

นักวิทยาศาสตร์รู้สึกทึ่งที่ได้เห็นรูปร่างที่แตกต่างกันของดาวเคราะห์น้อยทั้งสองในเวลาสั้น ๆ ก่อนการพุ่งชน

โดยพบว่า ดาวเคราะห์น้อยดีดิมอสมีรูปร่างตามที่คาดไว้ ลักษณะคล้ายเพชร บางจุดมีก้อนหินกลมมนอยู่บนพื้นผิว แต่ก็มีบางจุดที่พื้นผิวราบเรียบ

ดร.แคโรลีน เออร์เนสต์ นักวิทยาศาสตร์ด้านเครื่องมือระบบกล้องของ DART รู้สึกตื่นเต้นอย่างมากที่ได้เห็นไดมอร์ฟอส

“มันดูน่ารัก มันคือพระจันทร์ดวงน้อยที่น่ารักมาก” เธอกล่าว

“มันดูคล้ายกับดาวเคราะห์น้อยขนาดเล็กดวงอื่น ๆ ที่เราเคยเห็นมามากมาย และพวกมันก็ถูกปกคลุมด้วยก้อนหิน ดังนั้น เราจึงสงสัยว่ามันน่าจะเป็นกองเศษหินที่รวมตัวกันอย่างหลวม ๆ”

สำหรับ DART นั้นย่อมาจาก Double Asteroid Redirection Test หรือแปลตรงตัวคือ การทดสอบระบบเบี่ยงเส้นทางดาวเคราะห์น้อยคู่

“เทคนิคการชนนี้…สามารถนำมาใช้ได้หากมีดาวเคราะห์น้อยที่กำลังจะเข้ามาใกล้โลกในอนาคต ซึ่งมันมาจากแนวคิดที่ง่ายมาก นั่นคือคุณส่งยานอวกาศเข้าไปกระแทกกับวัตถุที่คุณกังวล และคุณใช้มวลบวกกับความเร็วของยานอวกาศ เพื่อเบี่ยงเบนวงโคจรของวัตถุนั้นเล็กน้อย แต่มากพอที่จะทำให้มันไม่ชนเข้ากับโลก” ดร.แอนดี ริฟกิน หัวหน้าภารกิจของ JHU-APL กล่าว

Dimorphos

ที่มาของภาพ, Getty Images

ไดมอร์ฟอส และ ดิดีมอส ได้รับการคัดเลือกมาอย่างดี โดยดาวเคราะห์น้อยทั้งสองไม่ได้อยู่ในเส้นทางที่จะตัดเข้ากับโลกก่อนการทดสอบ และการเปลี่ยนแปลงวงโคจรเล็กน้อยนี้ จะไม่เพิ่มความเสี่ยงทำให้ดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนโลกแต่อย่างใด

อย่างไรก็ดี ยังมีอุกกาบาตนอกโลกที่อาจเป็นอันตรายต่อโลกมนุษย์อีกมาก

แม้นักวิทยาศาสตร์จะตรวจพบและระบุที่ตั้งของดาวเคราะห์น้อยขนาดยักษ์กว่า 95% ที่หากพุ่งชนโลกจะทำให้เกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ได้ แต่ก็ยังมีดาวเคราะห์น้อยขนาดเล็ก หรืออุกกาบาตอื่น ๆ ที่ยังตรวจไม่พบ และเป็นภัยคุกคามในระดับที่หากพุ่งชนโลก สามาถทำลายภูมิภาค หรือเมือง ๆ หนึ่งได้

สำหรับดาวเคราะห์น้อยที่มีขนาดเท่าไดมอร์ฟอส หากพุ่งชนโลก จะก่อให้เกิดปล่องภูเขาไฟที่มีความกว้างประมาณ 1 กม. และลึก 200-300 เมตร ซึ่งจะสร้างความเสียหายเป็นบริเวณกว้าง

ดังนั้น นักวิทยาศาสตร์ต่างปรารถนาที่จะพิสูจน์ว่า มนุษย์สามารถทำให้ดาวเคราะห์น้อยขนาดระดับนี้ ช้าลงหรือเร็วขึ้นเล็กน้อยได้หรือไม่ การเปลี่ยนแปลงความเร็วไม่จำเป็นต้องมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากทำล่วงหน้าหลายปีก่อนดาวเคราะห์น้อยเคลื่อนโคจรเข้าสู่จุดตัดกับโลกตามที่คาดไว้

“ถ้าให้เปรียบเทียบ ก็เปรียบเสมือนเวลาที่คุณใส่นาฬิกาข้อมือและคุณทำมันพัง และมันก็เริ่มเดินเร็วขึ้นทีละน้อย” ดร.แนนซี่ ชาบอต นักวิทยาศาสตร์ด้านภารกิจของ DART จาก JHU-APL อธิบาย

“คุณอาจไม่สังเกตเห็นความผิดปกติในวันหรือสองวันแรก แต่หลังจากนั้นสองสามสัปดาห์ คุณจะเริ่มสังเกตเห็นว่านาฬิกาเดินไม่ตรงอีกต่อไป มันเดินเร็วขึ้นกว่าที่ควรจะเป็น”

Dimorphos

ที่มาของภาพ, NASA/JHU-APL

ถึงแม้ว่าสัญญาณภาพจาก DART สิ้นสุดอย่างกะทันหันเมื่อกระแทกเข้ากับดาวเคราะห์น้อยที่เป็นเป้าหมาย แต่เราน่าจะได้รูปภาพเพิ่มเติมจากยานอวกาศลำอื่นที่ร่วมสังเกตการณ์อยู่

อาทิ ดาวเทียม Cubesat ทรงลูกบาศก์ขนาดเล็กของอิตาลี ที่ได้ติดตามยานสำรวจหลักอยู่ข้างหลังไป 3 นาที และดีดตัวออกไปโคจรในระยะปลอดภัยซึ่งห่างออกไป 50 กม. จากจุดปะทะ

ข้อมูลจาก LiciaCube จะถูกส่งกลับมายังโลกในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ซึ่งภาพที่ได้ควรจะเป็นภาพของเศษซากที่เกิดขึ้นจากการชนของ DART

สี่ปีต่อจากนี้ องค์การอวกาศยุโรป (European Space Agency: ESA) จะส่งยานอวกาศสามลำ ที่รู้จักกันในชื่อภารกิจ Hera เดินทางไปยังดาวเคราะห์น้อยดิดีมอสและไดมอร์ฟอส เพื่อทำการศึกษาติดตามผลของการพุ่งปะทะครั้งนี้ต่อไป

….

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว