

ดาวเคราะห์น้อยขนาดยักษ์ได้พุ่งผ่านโลกไปแล้ว หลังเกิดความวิตกกันมานานหลายวัน
ดาวเคราะห์น้อยขนาดเท่ารถมินิบัส มีชื่อเรียกว่า 2023 BU ได้พาดผ่านปลายสุดทางใต้ของแถบอเมริกาใต้ไปเมื่อเวลา 7.30 น. ตามเวลาในประเทศไทย
ดาวเคราะห์น้อยพุ่งผ่านโลกไปโดยอยู่ห่างจากโลก 3,600 กิโลเมตร ซึ่งถือว่าใกล้มาก
เหตุการณ์นี้สะท้อนว่า ยังมีดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่อีกหลายดวง ที่ยังซ่อนตัวและเร้นกายอยู่ใกล้โลก และนักดาราศาสตร์ยังไม่ได้ค้นพบพวกมัน
ดาวเคราะห์น้อย 2023 BU ถูกพบโดยนักดาราศาสตร์มือสมัครเล่น ชื่อ เจนนาดีย์ โบริซอฟ ที่สำรวจห้วงอวกาศอยู่ในคาบสมุทรไครเมีย ที่รัสเซียผนวกรวมเข้ามาจากยูเครนเมื่อปี 2014
ยิ่งสำรวจและสังเกตการณ์ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ ก็ยิ่งทำให้นักดาราศาสตร์ทราบข้อมูลเกี่ยวกับดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ ทั้งขนาด และวงโคจรของมัน
- พบระบบดาวฤกษ์ยักษ์ 3 ดวง กลืนกินดาวดวงที่ 4 เป็นครั้งแรก
- พบสัญญาณแสงจากต่างกาแล็กซี เดินทางมาไกลที่สุดเท่าที่เคยเจอมา
- สารพันเรื่องราวน่าพิศวงของสิ่งมีชีวิตต่างดาวในรอบปี 2022
ผลการตรวจสอบอย่างละเอียด ทำให้นักดาราศาสตร์มั่นใจว่า ดาวเคราะห์น้อยจะไม่พุ่งชนโลกแน่นอน อย่างไรก็ดี มันได้พุ่งผ่านโลกเข้ามาใกล้ในระยะที่ใกล้กว่าวงโคจรของดาวเทียมเพื่อการโทรคมนาคม ซึ่งจะอยู่ห่างจากโลก 36,000 กิโลเมตร
โอกาสที่ดาวเคราะห์น้อยจะพุ่งชนดาวเทียมนั้นจึงน้อยมาก
ห้วงเวลาที่ดาวเคราะห์น้อยอยู่ใกล้โลกมากที่สุด คือ 7.27 น. ตามเวลาในประเทศไทย
และแม้ดาวเคราะห์น้อย 2023 BU มีวิถีพุ่งตรงมายังโลกจริง ก็เชื่อว่าความเสียหายต่อโลกจะไม่มากนัก
ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้มีขนาด 3.5 -8.5 เมตร ซึ่งเมื่อเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลก ดาวเคราะห์น้อยจะเผชิญกับความร้อนมหาศาล จนแตกสลายไปในชั้นบรรยากาศ หลงเหลือเพียงลูกไฟขนาดเล็ก พุ่งผ่านเหนือน่านฟ้าให้เราเห็นเท่านั้น

หากเทียบกันแล้ว อุกกาบาตเชเลียบินสค์ ที่เข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลกในพื้นที่ทางตอนใต้ของรัสเซีย เมื่อปี 2013 จะมีขนาดใหญ่ยิ่งกว่า เพราะมีขนาดเกือบ 20 เมตรเลยทีเดียว ทำให้การเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลกของมัน ก่อให้เกิดคลื่นกระแทก ที่ทำให้กระจกแตก
นักวิทยาศาสตร์จากองค์กรบริหารการบินและอวกาศ หรือ นาซา ระบุว่า วงโคจรรอบดวงอาทิตย์ของดาวเคราะห์น้อย 2023 BU ได้ถูกเปลี่ยนวิถีไป จากการพุ่งเข้ามาใกล้โลก เพราะแรงโน้มถ่วงของโลกได้ดึงดาวเคราะห์น้อยเข้ามาใกล้ และเปลี่ยนเส้นทางของมันในอวกาศไปแล้ว
“เมื่อมันเข้ามาใกล้โลก วงโคจรรอบดวงอาทิตย์ของดาวเคราะห์น้อยที่แต่เดิมแทบเป็นวงกลม และใกล้เคียงกับวงโคจรรอบดวงอาทิตย์ของโลก ที่ใช้เวลา 359 วัน เพื่อโคจรรอบดวงอาทิตย์” นาซา ระบุในแถลงการณ์
“การได้เข้ามาใกล้โลก ทำให้วงโคจรของดาวเคราะห์น้อยยืดออกไป ราวครึ่งหนึ่งของระยะทางระหว่างวงโคจรของโลก และวงโคจรของดาวอังคาร… ตอนนี้ ดาวเคราะห์น้อยจะโคจรรอบดวงอาทิตย์เปลี่ยนเป็น 425 วัน”
ตอนนี้ นักวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ พยายามมากขึ้นเพื่อควานหาดาวเคราะห์น้อยที่มีขนาดใหญ่ และอาจเป็นอันตรายต่อโลกได้ เหมือนกับ ดาวเคราะห์น้อย “สัตว์ประหลาด” ขนาดยักษ์กว้างถึง 12 กิโลเมตร ที่เคยพุ่งชนโลกและทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์
อย่างไรก็ดี ดาวเคราะห์น้อยขนาดยักษ์มาก ๆ เหล่านี้ ได้ถูกค้นพบหมดแล้ว จึงหมดความวิตกไปได้ระดับหนึ่ง แต่ดาวเคราะห์น้อยขนาดเล็กกว่า 150 เมตรนั้น ยังมีช่องโหว่ที่ทำให้เรายังหาไม่เจออยู่
สถิติชี้ว่า มนุษย์ค้นพบดาวเคราะห์เหล่านี้เพียง 40% เท่านั้น
ดาวเคราะห์ขนาดเท่านั้น ยังเพียงพอจะสร้างความเสียหาย ทำลายเมืองได้ หากพุ่งชนโลก
ศาสตราจารย์ ดอน พอลลักโก จากมหาวิทยาลัยแห่งวอร์วิค สหราชอาณาจักร บอกกับบีบีซีว่า “มันยังมีดาวเคราะห์น้อยอีกมาก ที่อาจพาดผ่านวงโคจรโลก ที่ยังรอเราค้นพบ”
“มนุษย์เพิ่งค้นพบดาวเคราะห์น้อย 2023 BU ซึ่งมีขนาดเท่ารถมินิบัส ทั้งที่มันคงพาดผ่านโลกมาแล้วหลายพันครั้ง โดยครั้งนี้มันเข้าใกล้โลกในระยะเพียง 3,600 กิโลเมตร หรือคิดเป็น ระยะทาง 1% ของระยะห่างของโลกกับดวงจันทร์ ถือว่าเรียกว่าเฉียดโลกก็ว่าได้”
“ยังมีดาวเคราะห์น้อยอีกมากที่มนุษย์ยังไม่ค้นพบ และอาจมีศักยภาพที่จะทะลวงชั้นบรรยากาศโลก ก่อนพุ่งชนพื้นโลกจนสร้างความเสียหายมหาศาลได้… นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า เราอาจต้องเจอสถานการณ์เช่นนั้นสักวันหนึ่ง”
ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว