ทดลองการดำรงชีพบนดาวอังคาร ‘จำลอง’ หาคำตอบเรียนรู้-เอาตัวรอดของนักบินอวกาศ

AP Photo/Sam McNeil

ทีมนักวิทยาศาสตร์อาสาสมัคร 6 คน ที่ได้รับการคัดเลือกจากชมรมอวกาศแห่งออสเตรีย (ออสเตรียม สเปซ ฟอรัม-โอดับเบิลยูเอฟ) เริ่มต้นการทดลองการดำรงชีวิตในสภาพแวดล้อมที่จำลองขึ้นให้คล้ายคลึงกับสภาวะแวดล้อมบนดาวอังคารมากที่สุด ภารกิจจำลองบนดาวอังคารดังกล่าวเริ่มต้นเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ในพื้นที่ส่วนหนึ่งของทะเลทรายโดฟาร์ในประเทศโอมาน ซึ่งภูมิประเทศมีลักษณะเวิ้งว้าง ห่างไกลผู้คน โดยอาสาสมัครที่ถูกเรียกว่า “นักบินอวกาศอนาล็อก” ทั้ง 6 คนจะใช้ชีวิตอยู่ในสภาพจำลองของดาวอังคารนี้นาน 3 สัปดาห์

“โอดับเบิลยูเอฟ” เป็นศูนย์รวมของอาสาสมัครที่เป็นนักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านการบินอวกาศจากหลายหน่วยงานอวกาศเอกชน รวมทั้งจากสำนักงานการบินอวกาศของหลายประเทศที่รวมตัวกันขึ้นโดยสมัครใจ มีธุรกิจเอกชนจำนวนหนึ่งให้การสนับสนุนทางการเงิน ช่วยกันจำลองพื้นที่มุมหนึ่งของทะเลทรายโดฟาร์ ให้กลายเป็นอาณานิคมดาวอังคารจำลอง ประกอบด้วย เต็นท์ที่พักทรงกลมแบบอิกลู บ้านของชาวเอสกิโม ห้องทดลองเรือนกระจกสำหรับการเพาะปลูกพืชแบบอัดอากาศและพับเก็บได้ เครื่องพิมพ์สามมิติ สำหรับใช้พิมพ์วัสดุ อุปกรณ์และซ่อมแซมจักรกล เพื่อใช้ในการปลูกพืชในเรือนกระจก รวมทั้งยานหุ่นยนต์สำหรับการสำรวจพื้นผิว “ทัมเบิลวีด”

นักบินอวกาศอนาล็อกทั้งหมดต้องสวมชุดอวกาศ “ออดา” ที่พัฒนาขึ้นมาใหม่ มีน้ำหนักมากเพราะเคลือบผิวด้วยอะลูมิเนียมตลอดเวลาที่ออกมาใช้เวลาอยู่นอกที่พัก

ไรน์ฮาร์ด ทลัสทอส ผู้อำนวยการภารกิจจำลองซึ่งถูกเรียกว่า “อมาดี-18” นี้ ระบุว่า ภารกิจจำลองครั้งนี้ตั้งเป้าหมายว่าจะสามารถพัฒนาเทคนิคต่างๆ รวมทั้งสร้างองค์ความรู้พื้นฐานที่จำเป็นในการช่วยให้มนุษย์จากโลกสามารถเอาชีวิตอยู่รอดได้บนดาวอังคาร ทีมงานที่ประกอบด้วยอาสาสมัครจาก 20 ประเทศทั่วโลกช่วยกันจำลองสภาพต่างๆ ให้ใกล้เคียงกับสภาพบนดาวอังคารให้มากที่สุด

นอกจากนั้นในระหว่างการทดลอง 3 สัปดาห์ นอกเหนือจากนักวิทยาศาสตร์อาสา 6 คนที่ดำเนินการทดลองโดยตรงแล้ว ยังมีทีมงานอีก 200 คน ทำหน้าที่เสมือนเป็นหอบังคับการควบคุมภารกิจภาคพื้นดิน ส่วนหนึ่งอยู่ไม่ห่างออกไปนักจากทะเลทรายที่เป็นสถานที่ทดลอง อีกส่วนหนึ่งประจำอยู่ที่หอบังคับการภารกิจในเมืองอินส์บรุค ประเทศออสเตรีย แม้แต่การติดต่อสื่อสารระหว่างนักบินอวกาศอนาล็อกกับหอบังคับการ

อินส์บรุคก็ถูกจัดการให้จำเป็นต้องกินเวลานานถึง 10 นาทีเพื่อให้เป็นเช่นเดียวกับเวลาที่ใช้ในการติดต่อระหว่างดาวอังคารกับโลกจริงๆ

คาร์ทิค คูมาร์ ผู้เชี่ยวชาญเศษซากในอวกาศ ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมจำลองภารกิจครั้งนี้ เปิดเผยว่า มีคำถามสำคัญในการใช้ชีวิตอยู่บนดาวอังคารที่คาดหวังว่าการจำลองภารกิจครั้งนี้จะช่วยค้นพบคำตอบได้ก็คือคำถามที่ว่า นักบินอวกาศ “รับมือ” กับความท้าทายเชิงกายภาพที่เกิดจากความทุรกันดารและความร้อนแล้งของภูมิประเทศได้อย่างไร และรับมือกับความท้าทายเชิงจิตวิทยาที่เกิดขึ้นระหว่างภารกิจ เช่น ความโดดเดี่ยว หรือการต้องทำงานเป็นทีมได้อย่างไร

คูมาร์เชื่อว่าสิ่งเหล่านี้แม้จะดูเล็กน้อยแต่ตนคิดว่าไม่ควรละเลยความสำคัญในภารกิจอวกาศจริงๆ ในอนาคต

เป้าหมายถึงที่สุดของภารกิจครั้งนี้ คือรวบรวมองค์ความรู้และเทคนิคในการเอาชีวิตรอดต่างๆ ขึ้นไว้และพร้อมให้ความร่วมมือกับภารกิจกับทีมนักบินอวกาศทีมแรกที่เดินทางไปใช้ชีวิตที่นั่นไม่ว่าจะเป็นประเทศใดก็ตาม

 

ที่มา มติชนออนไลน์