“ซินเนสเทีย” ที่มาของโลก-ดวงจันทร์

Sarah Stewart / UC Davis based on NASA rendering

ที่มา : มติชนรายวัน

นักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์และโลกวิทยา นำเสนอรายงานเพื่อเผยแพร่ทฤษฎีใหม่ว่าด้วยกำเนิดโลกและดวงจันทร์ ซึ่งเป็นดาวบริวารเพียงหนึ่งเดียวของโลก โดยระบุว่า ทฤษฎีใหม่นี้เป็นเพียงทฤษฎีเดียวที่สามารถอธิบายได้ดีที่สุดว่าทำไมองค์ประกอบของดวงจันทร์ถึงได้เหมือนกับที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้

รายงานดังกล่าวตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการ เจอร์นัล ออฟ จีโอฟิสิคอล รีเสิร์ช แพลเน็ตส์ เมื่อเร็วๆ นี้ เขียนโดย ซาราห์ สจวร์ต ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์และโลกวิทยา จากมหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย เดวิส ร่วมกับ ไซมอน ล็อค นักศึกษาปริญญาเอกด้านวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา

ทฤษฎีเดิมที่นิยมใช้อธิบายกำเนิดดวงจันทร์ก่อนหน้านี้ ระบุว่า ดวงจันทร์เกิดขึ้นเมื่อดาวเคราะห์ขนาดพอๆ กับดาวอังคาร (ดาวอังคารมีขนาดราวครึ่งหนึ่งของโลก) ที่ถูกเรียกว่า “เธเอีย” พุ่งเข้าชนกับโลก ทำให้วัตถุและหินที่หลอมเหลวจากการชนกันดังกล่าวนั้นพุ่งขึ้นสู่วงโคจร ก่อนที่จะเย็นลงและจับตัวกันเป็นดวงจันทร์ในที่สุด

แต่ตามทฤษฎีดังกล่าว คุณลักษณะทางธรณีวิทยาของดวงจันทร์ควรแตกต่างออกไปจากโลกมาก ควรมีองค์ประกอบแบบเดียวกับ “เธเอีย” เสียมากกว่า

สจวร์ต กับ ล็อค ตั้งสมมุติฐานใหม่ว่า การที่คุณลักษณะทางธรณีวิทยาของดวงจันทร์คล้ายโลกมาก เพราะครั้งหนึ่งมันเคยเป็นส่วนหนึ่งของโลกนั่นเอง

ตามทฤษฎีใหม่นี้ มีการชนกันเกิดขึ้นเช่นเดียวกัน โดยเชื่อว่าเกิดการชนขึ้นขณะที่โลกเพิ่งเกิดใหม่ๆ เมื่อราว 4,500 ล้านปีก่อน แต่ดาวเคราะห์ที่มาชนไม่ได้มีขนาดเล็กกว่าโลก แต่ใหญ่พอๆ กัน จนเกิดการระเบิดกระจายออกเป็นฝุ่นผงซึ่งมีทั้งที่หลอมเหลวและที่กลายเป็นไอหรือ “โมลเตน เวเพอร์” ที่มีปริมาณมหาศาล โดยที่มีส่วนผสมทั้งจากโลกและดาวเคราะห์ที่มาชนดังกล่าว และหากดาวเคราะห์ทั้งคู่ที่ชนกันนั้นมี “โมเมนตัมเชิงมุม” (แองกูลาร์ โมเมนตัม) มหาศาลพอ โมลเตน เวเพอร์ ดังกล่าวก็จะหมุนวนต่อไปในห้วงอวกาศ กลายเป็นกลุ่มเมฆอวกาศรูปจานขนาดใหญ่ลักษณะคล้ายโดนัทที่หมุนเหวี่ยงอยู่ตลอดเวลา ส่วนที่เป็นไอจะกระจายออกริมด้านนอกสุด

นักวิชาการทั้งสองเรียกจานรูปโดนัทนี้ว่า “ซินเนสเทีย” โดยเชื่อว่าความร้อนจากการชนกันทำให้ซินเนสเทียมีอุณหภูมิสูงมาก ระหว่าง 2,200 องศาเซลเซียส ถึง 3,300 องศาเซลเซียส มีความกดดันสูงกว่าความกดดันบรรยากาศของโลกในเวลานี้หลายสิบหลายร้อยเท่า

ซินเนสเทียเริ่มเย็นลงเมื่อเวลาผ่านไป โดยจะเย็นและจับเป็นก้อนขนาดเล็กๆ บริเวณริมขอบนอกก่อน ก้อนแข็งดังกล่าวจะหลุดร่วงจากริมนอกเข้าสู่ด้านในเหมือนฝนหิน ค่อยๆ สะสมจับตัวเข้าด้วยกันด้านในวงเมฆโดนัทจนกลายเป็นดวงจันทร์ในที่สุด

ส่วนวงเมฆอวกาศที่เหลือเมื่อเย็นตัวลงเรื่อยๆ ก็จับตัวเข้าด้วยกันกลายเป็นโลก ส่วนดวงจันทร์ก็จะหลุดพ้นจากกลุ่มเมฆออกมา แต่ยังคงติดอยู่กับวงโคจรรอบโลกนั่นเอง

ซาราห์ สจวร์ต ระบุว่า ตามทฤษฎีนี้แสดงให้เห็นว่าทำไมโครงสร้างเชิงเคมีของดวงจันทร์ถึงแทบจะเป็นแบบเดียวกับโลก ขาดเพียงแค่บางอย่างเท่านั้นที่ระเหิดหายไปในระหว่างกระบวนการเย็นลงของซินเนสเทีย

อย่างไรก็ตาม “ซินเนสเทีย” ดังกล่าวนี้ ยังคงเป็นเพียงวัตถุทางทฤษฎี ยังไม่เคยมีนักดาราศาสตร์สังเกตหรือตรวจสอบพบในจักรวาลอันไพศาลจริงๆ

ในอนาคต หากมีนักดาราศาสตร์รายใดตรวจสอบพบ “ซินเนสเทีย” ในระบบดาวฤกษ์อื่นๆ ได้จริง ก็เท่ากับหลักฐานยืนยันทฤษฎีใหม่นี้นั่นเอง