นับถอยหลัง เทียนกง-1 ตกใส่ใคร คืน 16 มีค.แห่ส่องดอยอินทนนท์ มองเห็นด้วยตาเปล่า

เมื่อวันที่ 16 มีนาคม น.อ.ฐากูร เกิดแก้ว ผู้อำนวยการกองกิจการอวกาศ ศูนย์วิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการบินและอวกาศ กองทัพอากาศ นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) หรือจิสด้า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) นายสิทธิพร ชาญนำสิน ผู้เชี่ยวชาญด้านกลศาสตร์วงโคจร จิสด้า และ ร่วมสังเกตการณ์การโคจรของสถานีอวกาศเทียนกง 1 และเยี่ยมชมหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ ณ สถานีรายงานดอยอินทนนท์ กองทัพอากาศ จ.เชียงใหม่

น.อ.ฐากูร กล่าวว่า ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ (เพื่อพลาง) ศวอ.ทอ.หรือ LESA มีภารกิจในการวิจัยและพัฒนาระบบสังเกตการณ์โลก (Earth Observation) และระบบเฝ้าระวังดาวอวกาศ (Space Situational Awareness) ได้สังเกตการณ์สถานีอวกาศเทียนกง 1 โดยใช้กล้องโทรทรรศน์ติดตามดาวเทียม (Satellite Tracking Telescope) ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ สถานีรายงานอินทนนท์ ระหว่างวันที่ 25-27 กุมภาพันธ์ 2561 ตรวจพบสถานีอวกาศเทียนกง 1 โคจรข้ามขอบฟ้าของดอยอินทนนท์ ในแนวทิศตะวันตกเฉียงใต้ไปยังทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ระยะสูง 252 กิโลเมตร ด้วยความเร็วเฉลี่ย 28,000 กิโลเมตร/ชม. ซึ่งสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า มีลักษณะคล้ายดาวสว่างสีขาวแล้วจางหายไปเมื่อเคลื่อนที่เข้าสู่เงาโลก สถานีอวกาศเทียนกง 1 จะเคลื่อนที่ผ่านประเทศไทย 4 วัน ต่อครั้ง ก่อนที่จะตกลงสู่พื้นโลกประมาณต้นเดือนเมษายน 2561″ น.อ.ฐากูร กล่าว

สถานีอวกาศเทียนกง-1(ในวงกลมสีแดง) ขณะเคลื่อนที่ผ่าน จ.เชียงใหม่ เมื่อคืนวันที่ 16 มีนาคม 2561

น.อ.ฐากูร กล่าวต่อว่า เนื่องจากสถานีอวกาศเทียนกง 1 เคลื่อนที่รอบโลกหนึ่งรอบใช้เวลา 90 นาที และมีเส้นทางการเคลื่อนที่ที่ผ่านประเทศไทย ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่สถานีเทียนกง 1 อาจจะตกลงในอาณาเขตประเทศไทย ทั้งนี้ LESA ได้นำข้อมูลองค์ประกอบวงโคจรชุดล่าสุด มาสร้างแบบจำลองวิถีการโคจรด้วยซอฟต์แวร์ STK Pro โดยไม่นำสัมประสิทธิ์แรงต้านอากาศมาคำนวณ พบว่า สถานนี้เทียนกง 1 จะโคจรผ่านประเทศไทยครั้งสุดท้ายในวันที่ 25 มีนาคม ก่อนที่จะตกลงบนพื้นโลก

นายสิทธิพรกล่าวว่า จากการติดตามการเคลื่อนไหวของสถานีอวกาศเทียนกง 1 ด้วยข้อมูลจากโปรแกรม EMERALD ที่จิสด้าพัฒนาขึ้น พบว่าสถานีอวกาศเทียนกง 1 โคจรรอบโลกด้วยความสูงเฉลี่ย ณ วันที่ 15 มีนาคม อยู่ที่ 238.03 กิโลเมตร โดยความสูงในแต่ละวันจะลดลงประมาณ 900-1,100 เมตร ทั้งนี้จากข้อมูลล่าสุดของ space surveilance network (SSN) ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ มีการคาดการณ์ว่า สถานีอวกาศเทียนกงจะตกสู่พื้นผิวโลกไม่เกินวันที่ 10 เมษายน ซึ่งความแม่นยำจะมากขึ้น เมื่อความสูงอยู่ใกล้พื้นโลกมากกว่านี้ และทางจิสด้าได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ เพื่อติดตามสถานการณ์ของเทียนกงอย่างต่อเนื่องทุกวัน รวมไปถึงจิสด้าได้แต่งตั้งคณะทำงานติดตามสถานการณ์ ประกอบด้วยหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านกายภาพและการจัดการวัตถุอันตรายเข้ามาร่วมเแนคณะทำงาน ซึ่งคณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการจัดทำคู่มือปฏิบัติการ เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ได้เข้าใจและมีแนวทางในการจัดการกับชิ้นส่วนที่อาจจะตกลงมาในประเทศไทย ถึงแม้ว่าโอกาสที่จะเกิดขึ้นน้อยมากก็ตาม

อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา

นายอานนท์กล่าวว่า ทุกปีจะมีการส่งวัตถุขึ้นไปในชั้นบรรยากาศ ตั้งแต่ชั้นล่างไปจนถึงชั้นบน วัตถุที่ถูกส่งขึ้นไปเมื่อหมดภารกิจชิ้นเล็กจะแตกสลายไปในชั้นบรรยากาศ ส่วนชิ้นใหญ่อาจมีบางส่วนที่สลายไม่หมดและตกสู่พื้นโลก สำหรับสถานีอวกาศเทียงกง เชื่อว่าจะตกลงสู่พื้นโลกประมาณต้นเดือนเมษายนนี้ ชิ้นส่วนโดยส่วนใหญ่แล้วถูกเผาไหม้อาจมีบางส่วนเท่านั้นที่ยังเหลืออยู่ ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง เนื่องจากโอกาสที่จะตกในประเทศไทยมีเพียงร้อยละ 0.1 เท่านั้น

“สำหรับเรื่องสารไฮดราซีน เป็นสารที่เป็นแก๊สมีคุณสมบัติในการบีบอัด ใช้ในดาวเทียมหรือสถานีอวกาศบรรจใส่ถัง แต่ละถังจะมีการบรรจุสารตัวนี้ในปริมาณที่พอดีกับระยะเวลาปฏิบัติภาระกิจ สำหรับสถานีเทียนกงระหว่างการตกลงสู่พื้นโลกเชื่อว่าตัวถังที่บรรจุสารน่าจะเผาไหม้หมดก่อนตกลงสู่ผิวโลก แต่หากยังหลงเหลืออยู่ก็จะมีปริมาณที่เจือจาง ถ้าไม่เข้าใกล้ในระยะ 2-3 เมตรและสูดดมก็น่าจะไม่เป็นอันตราย แต่อย่างไรก็ตามหากพบเห็นวัตถุแปลกปลอมอยากให้ประชาชนรีบแจ้งไปยังหน่วยงานก่อน และไม่เข้าไปสัมผัสกับวัตถุ สุดท้ายนี้สามารถอัพเดทข้อมูลล่าสุดได้ที่เพจ facebook จับตาเทียงกง 1” นายอานนท์กล่าว

 

ที่มา : มติชนออนไลน์