สดร.ชวนชมดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบปี ใครส่องกล้องยังได้เห็นสุริยุปราคาด้วย

วันที่ 3 พฤษภาคม นายศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เปิดเผยว่า ดาวพฤหัสบดีจะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ ซึ่งจะอยู่ในตำแหน่งใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี ในช่วงรุ่งเช้าวันที่ 9 พฤษภาคม เวลาประมาณ 07:10 น. ที่ระยะทางประมาณ 658 ล้านกิโลเมตร หรือ 4.40 หน่วยดาราศาสตร์ วันดังกล่าว ดาวพฤหัสบดีจะปรากฏบนท้องฟ้ายาวนานตลอดคืน ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ตกดินจนถึงรุ่งเช้า สว่างสุกใส สังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่าอย่างชัดเจนทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีค่าความสว่างปรากฏประมาณ -2.5 ความสว่างปรากฏของดวงจันทร์เต็มดวงประมาณ -12.6 และหลังจากนี้เรายังสามารถชื่นชมความสวยงามของดาวพฤหัสบดีได้จนถึงเดือนกันยายน ดาวพฤหัสบดีอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ หมายถึง ตำแหน่งที่ดวงอาทิตย์ โลก และดาวพฤหัสบดี เรียงอยู่ในเส้นตรงเดียวกัน มีโลกอยู่ตรงกลาง จึงเป็นตำแหน่งที่ใกล้โลกที่สุด นอกจากนี้การที่ดาวพฤหัสบดีอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ หมายถึงเมื่อดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้า ดาวพฤหัสบดีก็จะโผล่พ้นขอบฟ้าทางทิศตะวันออก และจะปรากฏบนท้องฟ้าให้เรายลโฉมเป็นเวลายาวนานตลอดทั้งคืน จนถึงดวงอาทิตย์ขึ้นในเช้าวันถัดไป

นายศรัณย์กล่าวว่า วันดังกล่าว ดาวพฤหัสบดีจะขึ้นจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณกลุ่มดาวคันชั่ง ตั้งแต่เวลาประมาณ 19:00 น. สามารถสังเกตเห็นดาวพฤหัสบดีด้วยตาเปล่าอย่างชัดเจนในทุกพื้นที่ของประเทศไทย และจะตกลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ เวลาประมาณ 06.00 น. ในเช้าวันที่ 10 พฤษภาคม 2561 หากสังเกตด้วยกล้องสองตาหรือกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็ก จะเห็นดวงจันทร์บริวารหลักทั้ง 4 ดวงของดาวพฤหัสบดี หรือที่เรียกว่า ดวงจันทร์ของกาลิเลียน ได้แก่ ไอโอ ยูโรปา แกนิมีด และคัลลิสโต รวมถึงแถบเมฆบนดาวพฤหัสบดีได้อีกด้วย และหากใช้กล้องโทรทรรศน์ที่มีหน้ากล้องตั้งแต่ 8 นิ้ว กำลังขยายตั้งแต่ 50 เท่าขึ้นไป จะมองเห็นจุดแดงใหญ่บนดาวพฤหัสบดี ได้อย่างชัดเจน ซึ่งคืนวันที่ 9 พฤษภาคม จะสังเกตเห็นจุดแดงใหญ่ได้ตั้งแต่เวลาประมาณ 19:00 – 20:00 น. และจะปรากฏอีกครั้งในเวลาประมาณ 02:00 – 06:00 น. ของวันที่ 10 พฤษภาคม

นอกจากการสังเกตการณ์ดาวพฤหัสบดีที่ใกล้โลกที่สุดในรอบปีแล้ว วันดังกล่าวยังมีปรากฏการณ์สุริยุปราคาบนดาวพฤหัสบดีให้ได้ติดตามกันด้วย โดยดวงจันทร์ยูโรปาจะโคจรผ่านหน้าดาวพฤหัสบดี เกิดเป็นปรากฏการณ์สุริยุปราคาบนดาวพฤหัสบดี ในช่วงเวลาประมาณ 18:20-20:36 น. นับเป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่น่าติดตามอย่างยิ่ง และยังถือเป็นโอกาสดีในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ดาราศาสตร์นอกห้องเรียนแก่นักเรียนและประชาชนในชุมชนใกล้เคียงได้

 


ที่มา : มติชนออนไลน์