มธ.โชว์ระบบ Tracking น้ำท่วม ทวิตเดียวรู้ถึงตัว ช่วยผู้ประสบภัย ทันการณ์เเบบเรียลไทม์ !

มธ.ผุดนวัตกรรมประยุกต์ สร้างระบบ Tracking เเค่ทวิตเดียวรู้จุดผู้ประสบภัยเเบบเรียลไทม์ พร้อมเปิดตัวโดรนตรวจสอบความเสียหายโบราณสถาน 3 มิติ เพื่อการอนุรักษ์ฟื้นฟูหลังเกิดภัยพิบัติ

วันที่ 7 ส.ค 2560 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดตัวสอง ต้นแบบวัตกรรมประยุกต์ โดยใช้วิทยาศาสตร์เพื่อแก้ไขปัญหาผลกระทบจากภัยพิบัติต่างๆที่เกิดขึ้น เช่นให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับภัยพิบัติน้ำท่วมที่ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาอยู่ในปัจจุบัน

โดยสองต้นแบบวัตกรรมประยุกต์ดังกล่าว ได้แก่ “ระบบ Tracking ผู้ประสบภัย” หรือ ระบบแผนที่แสดงตำแหน่งผู้ประสบภัยแบบเรียลไทม์ รายงานความเคลื่อนไหวผ่านเว็ปไซต์แสดงข้อมูลแบบระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ที่สามารถแสดงคำร้องขอความช่วยเหลือ ค้นหาสถานที่และแจ้งจุดเกิดภัยพิบัติหรือเหตุการณ์ต่างๆที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือและต้องการความช่วยเหลือผ่านโซเชียลมีเดีย

นอกจากนี้แล้วยังเปิดตัว “โดรนตรวจสอบความเสียหายโบราณสถาน 3 มิติ” ใช้ภาพถ่ายที่ได้จากโดรนนำมาประมวลผล สร้างเป็นข้อมูลดิจิทัลสามมิติ แสดงได้ถึงรายละเอียดความเสียหายของโบราณสถานหลังประสบภัยพิบัติ ซึ่งผลงานทั้งสองนี้สามารถใช้งานได้จริงแล้ว โดยขณะนี้รอเพียงการสนับสนุนจากภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อต่อยอดนำไปใช้ในการปฏิบัติงานจริง

“ดร.วนิดา พฤทธิวิทยา” อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. กล่าวถึง “ระบบ Tracking ผู้ประสบภัย” หรือ ระบบแผนที่แสดงตำแหน่งผู้ประสบภัยแบบเรียลไทม์ ว่าในส่วนของตัวชี้นำนี้มีชื่อว่า “แพลตฟอร์มบริการสร้างเว็ปไซต์สำหรับแสดงข้อมูลระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์จากเครือข่ายสังคมออนไลน์ (GIS with Crowdsourcing as Service-GCaas)” ซึ่งแสดงถึงระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์สังคมออนไลน์ พัฒนาโดยนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ จำนวน 2 รุ่น รวมทั้งสิ้น 4 คน ซึ่งนักศึกษาเหล่านี้มีข้อสงสัยว่า หากเกิดภัยพิบัติขึ้นมาทางเราจะรู้ได้อย่างไรว่ามีผู้ประสบภัยติดอยู่จุดไหนและสามารถลงไปช่วยเหลือได้ที่จุดไหน

“ในเรื่องของหน่วยงานภาครัฐที่ต้องการแพลนขอความช่วยเหลือ ตั้งศูนย์ในจุดไหนบ้าง คำถามเหล่านี้จะเชื่อมโยงได้ว่า หากไม่มีข้อมูลเหล่านี้ทางเราสามารถจะตอบคำถามในส่วนนี้ไม่ได้เลย ถ้าไม่มีข้อมูลเหล่านี้เราจะเข้าไปให้ความช่วยเหลือได้ไม่เต็มที่หรือเข้าไม่ถึงผู้ประสบภัย นี่คือส่วนที่ยังขาดอยู่”

ดังนั้นจึงมีความจำเป็น จะต้องมีศูนย์กลางขอความช่วยเหลือของผู้ประสบภัยที่จะสามารถรวบรวมข้อมูล ในตรงนี้ต้องมีข้อมูลหลักๆที่ครบถ้วนครอบคลุมพื้นที่ประสบภัย มีความถูกต้องน่าเชื่อถือ เมื่อรวบรวมข้อมูลแล้วต้องแสดงข้อมูลได้อย่างแม่นยำ โดยได้นำร่องด้วยการประยุกต์ใช้กับการรวบรวมข้อมูลของพื้นที่ประสบภัยการร้องขอความช่วยเหลือจากเครือข่ายสังคมออนไลน์อย่างทวิตเตอร์ (Twitter) ที่สามารถแสดงผลได้ทั้งบนคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟน ผู้ประสบภัยที่สามารถเข้าถึงโซเชียลมีเดียจะสามารถขอความช่วยเหลือแบบออนไลน์

โดยระบุพิกัดที่อยู่ปัจจุบัน และติดแฮชแท็ก โดยต้องอาศัยหน่วยงานภาครัฐช่วยเป็นสื่อกลางในการติดแฮชแท็ก ว่าถ้าต้องการขอความช่วยเหลือต้องใส่แฮชแท็กเพื่อให้ข้อมูลเข้ามาอยู่ในระบบของทางเรา ทีมช่วยเหลือผู้ประสบภัยยังสามารถเพิ่มและอัพเดทข้อมูลแบบเรียลไทม์ ทำให้เว็ปไซต์สำหรับบริหารจัดการข้อมูลผู้ประสบภัยสามารถแสดงคำร้องขอความช่วยเหลือ และแจ้งสถานะขอความช่วยเหลือ

ด้าน “รศ.โรจน์ คุณอเนก” อาจารย์ประจำสาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. เปิดเผยถึง “โดรนตรวจสอบความเสียหายโบราณสถานที่ 3 มิติ” ว่าในปัจจุบันนี้ผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติส่งผลความรุนแรงเป็นอย่างมากต่อโบราณสถานที่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แม้ว่ายังไม่ปรากฏชัดเจนมากนักเป็นรูปธรรมในปัจจุบัน แต่ต้องเฝ้าระวังความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

โดยแนวทางในการอนุรักษ์ฟื้นฟูโบราณสถานและเมืองเก่า มีหลักสำคัญ 3 อย่างด้วยกันคือ 1) รักษาความแท้ การยึดโครงสร้างเดิมและรายละเอียดต่างๆของโครงสร้างเดิมเป็นหลัก 2) คงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ รักษาเอกลักษณ์ของสิ่งนั้นไว้ ทั้งทางกายภาพและวัฒนธรรม เเละ 3) ความกลมกลืน ซึ่งนอกจากจะรักษาความแท้ของโบราณสถานแล้วต้องรักษาสิ่งแวดล้อมในบริเวณรอบๆนั้นให้กลมกลืนกับสิ่งบูรณะให้ออกมาเป็นรูปแบบเดิมๆอีกด้วย

ขณะที่ “ดร.พงศกรณ์ วิจิตรเวชไพศาล” อาจารย์ประจำสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. กล่าวว่า อีกหนึ่งผลกระทบของภัยพิบัติที่เกิดขึ้น คือความเสียหายของสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ที่มีมากอยู่ในพื้นที่มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติต่างๆที่เกิดขึ้น เช่น น้ำท่วมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือในปัจจุบัน

ปัญหาดังกล่าวจึงเป็นที่มาของการพัฒนาวัตกรรม โดรนตรวจสอบความเสียหายโบราณสถาน 3 มิติ ใช้ภาพถ่ายจากโดรมบันทึกภาพความละเอียดสูง ที่สามารถเลื่อนดูหรือหมุน ขยายขนาดของตัวโมเดลเพื่อดูความละเอียดแน่ชัดของโบราณสถานได้อย่างชัดเจน ทำให้สามารถวางแผนบูรณะได้ออกมาในรูปแบบเดิมๆได้ มีขนาดเท่าเดิม

สำหรับโดรนตัวนี้มีระบบกันกล้องสั่น อย่างไรก็ตาม โดรนมีข้อยกเว้นหลายอย่าง อย่างเช่น ห้ามบินในที่มีประชาชนเยอะ ห้ามบินเข้าเขตตึกหรืออาคารใกล้กว่า 30 เมตร แต่หากเราต้องใช้ขึ้นมาจริงๆเราต้องขออนุญาติภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเป็นกรณีไป

“ทางเรามีแพลนที่จะไปถ่ายในสถานที่จริงแต่ก็ต้องดำเนินทางในการขอเป็นครั้งๆไป อย่างน้ำท่วมในปีนี้ทางเรายังไม่ได้มีแพลนที่จะไป แต่ทางเราก็อยากที่จะถ่ายสถานที่สำคัญต่างๆไว้ก่อน เพราะทุกอย่างต้องใช้เวลาประมวลผลในระดับหนึ่ง แม้ว่ารอบนี้ไม่ทันแต่ก็ควรที่จะถ่ายไว้เพื่อเก็บสะสมไปเรื่อยๆ ถึงจะไม่ได้ใช้ภาพในการบูรณะในครั้งนี้แต่ก็สามารถประมวลภาพทำเว็ปไซต์ส่งเสริมการท่องเที่ยวได้ ตอนนี้ทางเราได้ทดลองถ่ายภาพโบราณสถานที่ในเขตกรุงเทพฯแล้ว ผลออกมาเป็นที่น่าพอใจ หากภาครัฐหรือผู้เกี่ยวข้องต้องการ ทางเราก็พร้อมที่จะเข้าไปช่วยเหลือทันที” ดร.พงศกรณ์ระบุ